Skip to main content
sharethis


วันพุธที่ 14 ธันวาคม 2005 19:40น. 

นาซือเราะ เจะฮะ : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ชาวสวนยางพาราในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รุมค้านนโยบายของ นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะส่งทหารเกณฑ์หลายร้อยนายไปช่วยกรีดยางในพื้นที่เสี่ยง เพราะจะสร้างความหวาดระแวงมากกว่าความสบายใจ ขณะที่ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย เตือนรัฐบาลคิดให้รอบคอบ เพราะทักษะการกรีดยางไม่ใช่ฝึกกันง่ายๆ


 


ทั้งนี้ ศูนย์ข่าวอิศราได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของชาวสวนยางพาราในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังรัฐบาลเตรียมส่งทหารเกณฑ์ผลัดแรก 200 นาย ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านกรีดยาง เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตยางพาราตกต่ำจากสถานการณ์ความไม่สงบ


 


นายมาหามะ ยูโซะ อายุ 32 ปี ชาว ต.เนินงาม อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า ถ้าส่งทหารลงมา น่าจะทำให้ยุ่งและลำบากมากกว่าเดิม จะตัดยางก็รู้สึกกลัว ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่ถูกต้องเลย


 


"ถ้าจะให้ดี ผมว่าน่าจะให้ทหารมาอบรมความรู้เกี่ยวกับการสร้างอาชีพเสริมมากกว่า เช่น การเพาะเห็ด หรือทำเฟอร์นิเจอร์ เพื่อที่ชาวบ้านจะได้นำไปประกอบอาชีพเพิ่มรายได้" มาหามะ เสนอ 


 


นายฮาซัน สาแม อายุ 29 ปี ชาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งมีสวนยางถึง 50 ไร่ กล่าวว่า ไม่อยากให้ทหารลงมา เพราะคนใต้อยู่กันดีๆ อยู่แล้ว ไม่สมควรนำคนนอกมายุ่งเกี่ยวด้วย ยิ่งเป็นทหารยิ่งน่ากลัว ใครจะกล้าไปตัดยาง


 


"ขนาดสวนยางอยู่ใกล้ฐานของทหารยังไม่กล้าไปตัดเลย ดังนั้นถ้าส่งทหารเข้ามาในพื้นที่อีก ใครจะกล้าออกไปตัด เพราะชาวบ้านกลัวทหารกันทั้งนั้น" นายฮาซัน ระบุ


 


ขณะที่ นางมีเนาะ หวังนิ อายุ 36 ปี ชาว อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งมีสวนยาง 40 ไร่ และจ้างคนงานช่วยกรีดยางอยู่ด้วย กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่อยากให้มีทหารลงมา เพราะรู้สึกกลัวทหาร ไม่อยากยุ่งกับพวกทหาร


 


นายโมฮำหมัด มีนา อายุ 27 ปี ชาวบ้าน ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย ตั้งคำถามว่า ทหารจะมายุ่งอะไรด้วย งานกรีดยางเป็นงานของพวกเรา เราทำของเราเองได้ แม้จะเหนื่อยก็ตาม


 


"ขณะนี้ชาวบ้านทุกคนกำลังอยู่ในภาวะหวาดระแวง กลัวทหาร กลัวเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงไม่ต้องการให้ทหารมายุ่ง ผมว่ายิ่งบ้านไหนที่มีลูกสาว จะยิ่งกลัวปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา" นายโมฮำหมัด กล่าว


 


อย่างไรก็ดี ยังมีชาวสวนยางพาราที่เห็นด้วยกับนโยบายในเรื่องนี้เช่นกัน คือ นายยูรา (ไม่เปิดเผยนามสกุล) อายุ 30 ปี เป็นชาว อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะชาวบ้านจะได้อุ่นใจที่มีทหารมาคอยมาอารักขาดูแล


 


"ทุกวันนี้ชาวบ้านกำลังต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่อย่างมาก ทั้งในด้านการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง และบุคคลต้องสงสัย" นายยูรา กล่าว


 


ด้าน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จริงๆ แล้วแนวคิดนี้ ถ้ารัฐบาลทำได้ จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาได้รับข้อมูลจากนายกสมาคมชาวสวนยาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ชาวบ้านมีความหวาดกลัวสถานการณ์ความรุนแรง จนไม่กล้าออกไปกรีดยาง หรือไม่ก็หันไปกรีดตอนกลางวัน ซึ่งจะได้น้ำยางน้อยกว่าปกติ


 


อย่างไรก็ตาม นายอุทัย เตือนว่า การฝึกอบรมทหารเกณฑ์ให้มีทักษะในการกรีดยางนั้น ไม่ใช่ฝึกกันแค่ 7-10 วันตามที่มีแนวคิดกันอยู่ในขณะนี้ เพราะหากกรีดไม่ชำนาญ จะทำให้หน้ายางของชาวบ้านเสียหาย ดังนั้นต้องใช้เวลาฝึกเป็นเดือนๆ เพื่อให้ชำนาญจริงๆ


 


"เรื่องนี้ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะหากเสียหายขึ้นมา เกษตรกรก็ต้องออกมาเรียกร้องให้ชดใช้ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหม่ตามมาอีก ที่สำคัญจะทำให้ชาวบ้านเสียความรู้สึก และมองทหารในแง่ไม่ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรทบทวน หรือถ้ายังยืนยันจะดำเนินนโยบายนี้ต่อไป ก็ต้องฝึกฝนให้ชำนาญ เพราะลำพังแค่ลับมีดกรีดยางให้คม ก็ใช้เวลาถึง 2 วันแล้ว"


 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net