ปอเนาะเยียวยาชุมชน เติมเต็มกระบวนการดับไฟใต้

 

 

บอนิเลาะ บาโงซิแน 

 

ความหวาดกลัวและความหวาดระแวงยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเป็นอุปสรรคขัดขวางการนำเงินงบประมาณของรัฐซึ่งมาจากภาษีของประชาชนไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ


 

รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบจากภาครัฐด้วย ทำให้การการช่วยเหลือเยียวยายังขาดตกบกพร่องด้วย

 

ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานประสานชุมชนเพื่อสนับสนุนภารกิจประธาน (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้โครงการส่งเสริมบทบาทปอเนาะและอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 70 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นศูนย์กลางการเยียวในชุมชน

 

ทั้งนี้ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือปอเนาะเป็นที่เชื่อถือของคนชุมชน โดยจะทำงานร่วมกับอาสาสมัครฟื้นฟูและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงด้วยกระบวนการชุมชน 140 คน กระจายใน 3 จังหวัด

 

ถึงกระนั้นก็ตาม ในวันที่ 2 ของการสัมมนา เรื่องบทบาทผู้บริหารและสถาบันปอเนาะกับการบริการชุมชน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 4 ธันวาคม 2548 ที่โรงแรมอิมพีเรียลนราธิวาส ได้มีโต๊ะครูบางคนแสดงความกังวลต่อการดำเนินโครงการนี้

 

"เราเกรงว่าจะทำให้ว่ากลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบจะเข้าใจผิดว่า โต๊ะครูจะกลายเป็นคนของรัฐ โดยนำเงินของรัฐไปให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนที่เกิดจากกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเอง หรืออาจคิดว่าโต๊ะครูตกเป็นเครื่องมือของรัฐได้ ซึ่งมันไม่เป็นผลดีต่อตัวโต๊ะครูเอง"

 

ในขณะที่โต๊ะครูส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและมีความยากลำบาก เป็นข้อบัญญัติในทางศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงสอดคล้องกับหลักศาสนา

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ บาบอนิเลาะ บาโงซิแน โต๊ะครูจากอำเภอยะหา จังหวัดยะลา บอกว่า ศาสนาอิสลามสอนให้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือนร้อน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีสอดคล้องกับคำสอนทางศาสนาอิสลามในเรื่อง "ตะอาวุน"หรือการช่วยเหลือซื่งกันและกัน จะทำให้ผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนได้มีที่พึ่ง เปรียบเสมือนต้นไม้ที่เมื่อโตขึ้น จะมีสัตว์นานาชนิดมาเกาะอาศัยเป็นที่พึ่งพิง

 

อย่างไรก็ตามนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะทำงานชุดนี้ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า เป็นโครงการที่ชุมชนร่วมกันคิดและร่วมกันทำงาน เพื่อให้การเยียวยาเป็นไปในลักษณะชาวบ้านกับชาวบ้าน และเน้นการเยียวยาจิตใจด้วยน้ำใจของคนในชุมชนเอง และจะทำงานแบบการชาดสากล ที่ทำงานในพื้นที่สงคราม ซึ่งเมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบอาสาสมัครจะเข้าไปช่วยเหลือทันทีไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ฝ่ายใดก็ตาม

 

"เราช่วยเติมเต็มกระบวนการเยียวยาของภาครัฐในชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการเยียวยาผู้ที่เดือดร้อน ไม่ใช่ไปจับผิดใคร เป็นการเชื่อมต่อให้เกิดกระบวนการเยียวยาโดยชุมชนเอง ทั้งชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน" เป็นคำยืนยันของนายแพทย์พลเดช

 

การให้เวทีแก่โต๊ะครูและให้ปอเนาะเป็นศูนย์กลาง นับเป็นการเติมเต็มกระบวนการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นด้วย โดยเริ่มจากการการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบในชุมชนก่อนนั่นเอง

กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท