Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.thairath.co.th



นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวปาฐกถาในงาน

สัมมนานิติฯวิชาการ ครั้งที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548 ความว่า


...................................................................


 


ถ้าอยากแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ได้ 2 ทาง ทางหนึ่งโดยฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาผู้แทนราษฎร อีกทางหนึ่งคือ ครม.ขอแก้ไข


 


รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยอมรับความเปลี่ยนแปลงและยอมรับความเหมาะสมในอนาคต ต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีตที่มองว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และวางไว้บนพาน อยู่บนอนุสาวรีย์ คนก็มองรัฐธรรมนูญว่ามีไว้เพื่อบูชา


 


ผมเป็นคนที่สนใจรัฐธรรมนูญมากตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ตอนเรียนที่ธรรมศาสตร์ก็เรียนเป็นพิเศษตอนปี 4 อ่านรัฐธรรมนูญเป็นพิเศษ ตอนร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็บอกแก่ประชาชนว่า ถ้าจะอ่านรัฐธรรมนูญให้เข้าใจ อย่าอ่านทั้งเล่ม อ่านทั้งเล่มไม่รู้เรื่อง แล้วเบื่อ ไม่รู้อะไรมันปนไปหมด ดังนั้นอยากรู้เรื่องไรให้อ่านเฉพาะเรื่องนั้น เข้าใจในเรื่องนั้น จะทำให้จำและเข้าใจดี


 


อย่ามองว่ารัฐธรรมนูญเป็นของศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นของที่เอามาปฏิบัติ เอามาคุ้มครองเรา เอามาใช้ประโยชน์ได้ ต้องมองว่าเป็นของใช้ อย่ามองว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่งั้นจะไม่กล้าใช้


 


ถ้าเราเอามาใช้ก็จะได้ใช้ประโยชน์ คืออะไรไม่ได้ใช้จะได้เอาไปปรับแก้ เป็นที่น่ายินดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยอมให้แก้ไขได้ง่ายมาก


 


ในอดีตมีเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญมาก เช่นต้องมีสมาชิกจำนวนมากจึงจะแก้ได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบอกว่า ครบ 5 ปี อยากแก้อะไรในองค์กร  3 องค์กรก็ตั้งมาเลย ประชาชนก็แก้ได้ แต่บนความง่ายก็ต้องดูด้วยว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่ จากนั้นจะไปถึงฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่


 


ส่วนที่จะแก้ไขที่ใครรวบรวมไว้ก็เอาเลย แต่ขอให้ดูหน่อยตรงจุดที่จะแก้ว่า ตรงนั้นมาอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนที่ผมภูมิใจ ไม่ใช่ในการเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่ภูมิใจว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีที่สุดในโลก  แต่ภูมิใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีคำตอบทุกมาตรา


 


ทำไมภูมิใจตรงนี้ เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตตอบไม่ได้สักมาตราเลยว่าทำไมจึงเขียนอย่างนี้ พอตอบก็เจ๊งเลย คนเขียนก็เจ๊ง เพราะรัฐธรรมนูญเขียนให้ผู้มีอำนาจ เขียนด้วยคน 5 คน 10 คน ก็เขียนกันไป คิดไป เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนให้ฉันอยู่ได้


 


ตอนที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็แก้รัฐธรรมนูญให้มีเลือกตั้ง แก้อยู่มาตราหนึ่ง เวลามีเรื่องสำคัญก็สามารถให้วุฒิสมาชิกมาโหวตเป็นสภาผู้แทนได้


 


แล้ววุฒิฯคือใคร ก็คือคนที่นายกฯเป็นคนตั้ง นายกฯคือคนเลือกแล้วเสนอต่อพระเจ้าแผ่นดิน แล้วเวลาเสนอร่างกฎหมายที่ต้องพิจารณาร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร เป็น 3 ใน 4 วุฒิก็เข้าไปส่วนหนึ่งแล้ว ในสภาผู้แทนก็มีพวกตัวเองอีก โหวตทีไรก็ต้องแพ้รัฐบาลทุกที เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลหรือตัวเองอยู่ได้


 


รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอบได้หมด แม้แต่เรื่องที่อ่านในหนังสือพิมพ์มติชน เรื่องการศึกษาระดับปริญญาตรีที่พูดกันหนาหูมากว่า กีดกันสิทธิของประชาชนที่จะเข้าไปเป็น ส.ส. แต่ถามว่ามีคนรู้กี่คน ว่าทำไมรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องเป็นปริญญาตรี นี่เป็นตัวอย่าง แต่อยากให้รู้ว่า ที่เขียนแบบนั้นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากประชาชน ซึ่งต่างจากในอดีตที่เขียนโดยผู้มีอำนาจ เพื่อรักษาอำนาจ แต่ฉบับนี้ต้องใช้โดยประชาชน เพื่อประชาชน ของประชาชน


 


ส.ส.ร.99 คน เลือกตั้งมาจากคน 3 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเลือกจากตัวแทนของคนทั้งประเทศ 76 คน คือจังหวัดละ 1 คน อีก 23 คน มาจากผู้มีความรู้เรื่องกฎหมายมหาชน เลือกจากคณบดีที่จบกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเลือกจากผู้มีประสบการณ์การบริหารราชการแผ่นดินในระดับสูงมาแล้ว เช่น เป็นอดีตรัฐมนตรีเป็นอดีต ส.ส. ก็เป็น 99 คน ผมและท่านอานันท์ ปันยารชุน อยู่ในส่วนหลังนี้


 


เราก็ไม่กล้าร่างในตอนแรก กลัวจะกลายเป็นฉบับ 99 อรหันต์ จึง ให้ไปฟังเสียงประชาชน 6 เดือน ตั้งอนุกรรมาธิการแต่ละจังหวัด ก็ง่ายขึ้นในการทำงาน มีการเรียกชาวบ้านประชุม มีการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ บางจังหวัดก็ไปด้วยตัวเอง


 


ที่เชียงรายมีคนใส่ชุดม่อฮ่อม งัดกระดาษมาเป็นปึก บอกเลยว่า รัฐธรรมนูญขอให้เป็นแบบนี้ ชาวบ้านเขามาจริงๆ ให้ความเห็นมาเยอะ


 


หลังฟังเสียง เหลือเวลาประมาณ 3 เดือน ก็ไปร่างที่พัทยา เหตุที่ไปที่นั่น ก็เพราะต้องการขังให้ไปไหนไม่ได้ กินนอน เคาะประตูให้มันครบองค์ประชุม พอถึงมาตราเรื่องวุฒิการศึกษา 11 คน บอกอะไรก็ได้ 11 คนบอกต้องปริญญาตรี ท่านอานันท์ต้องชี้ขาดตรงนี้ ท่านชี้ขาดไปทางว่า ไม่ต้องจบอะไรก็ได้


 


พอเรียงออกมาเป็นร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ทำประชาพิจารณ์ฉบับร่าง ทุกจังหวัดถามกลับมาว่าทำไมเขียนว่า จบอะไรก็ได้ ทำไมไม่ต้องจบปริญญาตรี เขาให้ความเห็นไป ทำไมไม่ใส่ในรัฐธรรมนูญ เมื่อแปรญัตติเข้าสู่สภาใหญ่ ก็เอาตัวที่ชาวบ้านเขามาทบทวน เขาติอะไรได้ก็แปรญัตติแก้ไขได้ เรื่องนี้ก็ตรงกันหมด คือถูกต่อว่าเรื่องปริญญาตรี ถูกว่าแบบนี้ทุกจังหวัด จึงต้องแก้ตาม


 


เพราะฉะนั้นจึงได้เรียนต่อท่านผู้มีเกียรติว่า จะแก้อะไรก็แก้เถอะ แต่ขอให้ถามที่มาเสียหน่อยว่ามันมาอย่างไร จะได้แก้ไขได้สบายใจขึ้น


 


ตอนที่เป็นประธาน ส.ส.ร.กลุ้มใจมาก เพราะแต่ละคนล้วนแต่มีความรู้เหนือกว่าเราทั้งนั้น แล้วร่างรัฐธรรมนูญจะไปอย่างไร แต่ละคนก็มือหนึ่งทั้งนั้น เลยบอกว่า ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญจะไปคนละทิศ ดังนั้นต้องมาตกลงกันก่อนว่าเราจะไปทิศไหนกัน


 


ผมตั้งทิศ ก. ไว้ 2 ตัว คือ ก.ก้าว กับ ก.แก้ เอา ก.แก้ก่อน เหตุที่เราต้องปฏิรูปการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญมีสิ่งที่ต้องแก้ไขเยอะ จึงเอารัฐธรรมนูญฉบับเดิมเป็นที่ตั้งก่อน ว่าต้องแก้หรือต้องตัดอะไรออก ใครอยากแก้อะไรให้นึกไว้ในใจ แนวคิดใหม่ก็ถือโอกาสใส่ไป


 


ก.ก้าวคืออะไร ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยก็ดูประเทศประชาธิปไตยที่เขาก้าวไปแล้ว เขาทำอย่างไร เขาอยู่อย่างไร เราจะทำจะอยู่อย่างเขาได้หรือไม่ อย่าไปจำว่า ไอ้นี่ลอกฝรั่งมา แล้วอย่าอายตรงนี้ที่จะบอกว่ามาจากไหน อย่าอ้างมาลอยๆ ไม่อย่างนั้นจะมีคนสงสัยในความคิดนั้น เพราะการที่เราสรรเสริญรัชกาลที่ 5 ว่าทรงพระอัจฉริยภาพ ก็เพราะไปเห็นเมืองนอกมาแล้วเอามาทำ เช่นรถไฟ ระบบทหารต่างๆ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำไมไม่ว่าชาตินิยม ว่าเพี้ยน ก็สรรเสริญกันดี ดีๆ ท่านก็เอามา ไม่เห็นท่านอาย แม้แต่การเลิกทาส ท่านว่าดี เป็นพื้นฐานสู่ระบบประชาธิปไตย นี่เป็นความใจกว้างของท่าน


 


ตรงนี้เป็นตัวอย่างเบื้องหลังการสร้างรัฐธรรมนูญว่ามาอย่างไร ในเรื่องปลดล็อค ส.ส. 90 วัน เรื่องอภิปรายนายกฯ ก็ให้คำตอบเลยว่า ทำไมต้องอัปลักษณ์อย่างนี้ มันมาจากสิ่งที่เห็น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างบนพื้นฐานของกอไผ่ ให้แก้ปัญหาว่า รัฐบาลประเทศไทยที่มาจากการเลือกตั้งไม่เคยมีเสถียรภาพเลย 18 วันล้ม 1 เดือนล้ม 1 ปีล้ม


 


รัฐบาลขึ้นอยู่กับพรรคเล็ก ถ้าถอนตัวก็ล้มทันที เสนออะไรก็ทำไม่ได้ พรรคเล็กได้อะไรมากกว่าพรรคใหญ่ เพราะพรรคใหญ่ต้องเอาใจ นี่เป็นอดีตที่เกิดและเราบ่นกันว่า บ้านเมืองไม่พัฒนา เพราะพรรคการเมืองไม่มีเสถียรภาพ


 


หรือการเป็นพรรคใหญ่ก็ไม่สงบ เพราะมีก๊กเหล่า จึงคิดเรื่องเสถียรภาพและการพัฒนาพรรคการเมืองด้วย เพราะคนเก่ง ดัง ดี ย้ายพรรคได้ ก็ไม่คิดพัฒนาที่อยู่ให้ดีขึ้น บางคนย้ายก่อนวันเลือกตั้งไม่นาน พรรคก็เสียหาย ถ้าเป็นหัวหน้าพรรคและมีความตั้งใจดีที่จะพัฒนาจะรู้สึกอย่างไร ดังนั้นถ้าไม่มีเรื่อง 90 วัน ผมว่าก็มีปลาไหลเกิดขึ้น แต่เมื่อมีตรงนี้ก็ต้องอยู่เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น


 


นอกจากนี้ ยังต้องการให้คนที่อยู่ด้วยกันได้เข้าใจกันด้วย แต่ตรงนี้ก็ไม่ถูกใจพวกที่ไม่อยากอยู่ กูไปไหนไม่ได้ ก็ให้เลือกว่าจะเอาใจพวกไหน ก็คิดกันดู ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่เป็นไร ผมชอบเพราะยุ่งกับรัฐธรรมนูญมาตลอด


 


รัฐธรรมนูญจะแก้ก็แก้เถอะ เคยบอกกับ ส.ส.ร.ด้วยกัน ที่ว่าจะตั้ง สมาคม ชมรมรัฐธรรมนูญก็บอกอย่าตั้งเลย อย่าให้เขารู้ว่าใครเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ  เพราะถ้ารัฐธรรมนูญดี แต่คนอ่านเกลียดคนร่างก็มีผล รัฐธรรมนูญไม่ดี แต่นับถือคนร่างอยากแก้อยากติก็ไม่กล้าติ


 


เราพูดถึงรัฐธรรมนูญ 8 ปี เรารู้ว่ารัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ มันก็เป็นจริง แต่ก็มีคนบ่นว่าไม่ไหว เป็นเผด็จการรัฐสภา แต่ก่อนหน้านั้นเรียกร้องเสถียรภาพ แล้วจะเอาอย่างไร นี่เป็นคำถาม เขากลัวรัฐบาลลุแก่อำนาจเหมือนกัน จึงตั้งเป็นองค์กรอิสระขึ้นมามากมาย เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญป้องกันไว้


 


แต่ภายหลังมีเสียงหน้าหูว่ามีการคอรัปชั่นกันมากมาย ก็เริ่มรังเกียจรัฐธรรมนูญ ถามว่าเป็นความผิดของรัฐธรรมนูญหรือว่าเป็นเพราะความอ่อนด้อยขององค์กรนั้นที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้แล้ว แต่ทำไมไม่ดำเนินการให้เข้มแข็งอย่างที่รัฐธรรมนูญต้องการ เหมือพ่อแม่มอบอำนาจให้ลูกแล้ว ให้ไปเรียนต่างๆ ทุกด้าน แต่เวลาลูกเฮงซวยก็ไปโทษพ่อแม่ ไม่รู้มันถูกหรือไม่


 


ในสายตาผม ถ้าดูรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่าความบกพร่องทั้งหลาย ณ เวลานี้อยู่ที่องค์กรอิสระ ลองหันไปที่แต่ละองค์กรให้ชัดว่า ทำอะไรบ้าง ดูไปทีละองค์กร มีอะไรขาด เข้มแข็งหรือไม่ ตรงนี้ถ้าจะตั้งหัวข้อเสวนาส่ององค์กรอิสระ ผมว่าคนมีอำนาจไม่อยากให้เขาเติบโต จำไว้ก็แล้วกัน องค์กรอิสระดูแลในแง่ผู้มีอำนาจเฮงซวย


 


อยากให้ดู ช่วยเขา เผื่อบางทีผลพวงจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง อย่าดูตัวรัฐธรรมนูญมากนัก เพราะได้ออกลูกให้มาดูแลประชาชนแล้ว แต่ตัวลูกดูแลไม่ได้ องค์กรอิสระมีอำนาจเยอะแยะไปหมด เราไปโทษพ่อแม่อยู่นั่นเอง


 


เห็นชัดเรื่องหนึ่ง เรื่องกรรมการคัดสรรว่ามีการบล็อกโหวต แต่ที่มาน่าสนใจว่า องค์กรอิสระทำประโยชน์ได้มากกว่ารัฐธรรมนูญ จะทำอะไรให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิ ทรงคุณธรรม และอิสระจริงๆ จะเอาคนดีมีคุณธรรมส่งให้วุฒิสภา จากไหน เลยเอาพรรคการเมืองคัดสรรตามสัดส่วนพรรคส่งให้วุฒิสภา ก็เหมือนเป็นบล็อกโหวต ตอนนั้นคิดไม่ออกจะเอาใครมาคัดสรร ก็เริ่มมาแก้กันอีก ตอนนี้เริ่มเห็นแล้ว


 


ถ้าถามผม ผมว่าน่าจะเอาคนที่เป็นองค์กรอิสระปัจจุบันมาคัดสรรก่อน ให้องค์กรอิสระเป็นกรรมการคัดสรร เพราะก่อนหน้านั้นไม่มี น่าเสียดาย พอเข้ากรรมาธิการก็เปลี่ยนไป คือให้เอาฝ่ายรัฐบาล 1คน ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลอีก 1 คน สรุปก็พรรคการเมืองอีก 1 คน ก็ฮุบเหยื่อไป


ถ้าไม่เอาก็ไม่เอาเลย


 


สรุปว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาจากพื้นฐานแก้และก้าว แก้คือความล้มเหลวของการเมืองในอดีต ส่วนก้าวคือไปตามแนวประเทศประชาธิปไตยที่ไปก่อนเรา การกลัวรัฐบาลเหลิงอำนาจหรือใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ก็แก้โดยมีองค์กรอิสระคอยควบคุมผู้มีอำนาจโดยเฉพาะ


 


ตรงนี้อยากจะกล่าวว่า องค์กรอิสระได้ทำหน้าที่สมกับความภาคภูมิใจของประชาชนหรือยัง ถ้ายัง เขาขาดอะไร เติมให้เขา ก็จะเป็นองค์กรที่สร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ และความภาคภูมิใจแก่สังคม อย่าไปเล็งรัฐธรรมนูญมากนัก


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net