Skip to main content
sharethis


วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2005 13:27น. 

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


แนวคิดของ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม ที่จะยกร่างกฎหมายลดโทษให้กับแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบที่เข้ามอบตัวและรับสารภาพกับทางราชการนั้น ถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจจากนักกฎหมาย เพราะเกรงว่าจะเป็นการซ่อนปมนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิชาวบ้านในคดีสลายม็อบตากใบ และอุ้มทนายสมชาย ขณะที่นักรัฐศาสตร์มองต่างมุมว่า จะเป็นผลดีในแง่การเมืองเหมือนนโยบาย 66/23


 


นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การออกกฎหมายเพื่อลดโทษให้กับผู้กระทำความผิดมีอยู่ 2 แนวทางที่ต้องทำความเข้าใจ  คือ 1.แนวทางอภัยโทษ กับ 2.แนวทางนิรโทษกรรม ซึ่งบางทีฝ่ายบริหารเองก็ยังสับสนว่าจะใช้แนวทางไหน เพราะแต่ละแนวทางมีผลทางกฎหมายแตกต่างกัน


 


สำหรับแนวทางอภัยโทษนั้น หมายความถึงผู้กระทำความผิดที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษแล้ว อาจจะถูกจำคุก หรือประชารชีวิต เมื่อถึงโอกาสสำคัญของบ้านเมือง ก็จะออกกฎหมายอภัยโทษให้ ซึ่งจะส่งผลคือความผิดที่กระทำไปแล้วนั้นยังถือเป็นความผิดอยู่ แต่รัฐไม่เอาโทษ พูดง่ายๆ ก็คือถ้าติดคุกอยู่ ก็ให้ปล่อยตัวออกมา


 


ส่วนแนวทางนิรโทษกรรม แปลตรงตัวว่า กรรมหรือการกระทำใดๆ ที่ได้กระทำลงไป ไม่ถือเป็นความผิด ไม่ว่าผู้กระทำการนั้นจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วหรือไม่


 


"กฎหมายนิรโทษกรรมเคยออกมาแล้วหลายฉบับ ที่สำคัญๆ ก็เช่น หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการออกกฎหมายให้การกระทำที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่เป็นความผิด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกระทำหรือฝ่ายผู้ถูกกระทำก็ตาม เช่นเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535"


 


อย่างไรก็ดี นายปรีชา ตั้งข้อสังเกตว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรม มักอ้างการยกโทษให้กับฝ่ายผู้ถูกกระทำ คือประชาชน แต่ส่วนใหญ่จะซ่อนนัยเพื่อเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ และทหาร ให้รอดพ้นจากการกระทำที่เป็นความผิด ดังนั้นจึงเป็นเงื่อนงำที่ต้องตรวจสอบให้ดีว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะไหนกันแน่


 


"ถ้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมจริง เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการอุ้มฆ่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่คดีอุ้มทนายสมชาย (นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม) และเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกันสลายม็อบตากใบ จนมีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน ก็จะพ้นผิดไปด้วย"


 


เขาบอกอีกว่า อย่าลืมว่าเหตุการณ์ตากใบมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองร่วมอยู่ในเหตุการณ์ และถูกตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจสลายม็อบด้วย และคดีนี้อายุความยังเหลืออีกเกือบ 20 ปี หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาจมีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่ก็ได้ ดังนั้นถ้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมในวันนี้ การกระทำทุกอย่างก็จะไม่เป็นความผิด ไม่สามารถรื้อคดีขึ้นมาได้อีกต่อไป


 


ส่วนที่รัฐบาลออกมาเน้นย้ำว่า จะออกกฎหมายเพียงแค่ลดโทษให้กับบรรดาแนวร่วมที่ยอมสารภาพผิดกับทางราชการ โดยไม่ใช่การนิรโทษกรรมนั้น นายปรีชา กล่าวว่า ก็ต้องขีดวงให้ชัด แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพราะต้องการให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้ประโยชน์ไปด้วย


 


"รัฐบาลมักอ้างว่าออกกฎหมายเพื่อลดโทษให้ผู้ที่ยอมมอบตัวและรับสารภาพ โดยไม่รวมถึงผู้ที่มีหมายจับในคดีอาญาร้ายแรง ผมก็อยากจะถามว่า ถ้ายังไม่มีหมายจับ ไม่มีการกล่าวโทษ แล้วคนพวกนั้นเขามีความผิดอะไรถึงจะต้องไปออกกฎหมายลดโทษให้เขา"


 


"ที่สำคัญแม้แต่ผู้ต้องหาที่มีหมายจับชัดเจน เมื่อฟ้องร้องคดีสู่ศาล ศาลก็พิพากษายกฟ้องเกือบทุกราย แสดงว่าพยานหลักฐานของฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอที่จะเอาผิดอยู่แล้ว" นายปรีชา กล่าว


 


นักรัฐศาสตร์ชี้เป็นมิติใหม่


ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) กล่าวเรื่องเดียวกันว่า หากมองในแง่รัฐศาสตร์ แนวคิดนี้ถือเป็นมิติใหม่ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจะแสดงถึงความใจกว้างของรัฐบาล และเป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการประนีประนอมกันมากยิ่งขึ้น


 


"ผมมองว่าเป็นการส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ของรัฐบาล เพื่อแสดงให้เห็นถึงท่าทีที่เปิดเผยมากขึ้น โดยหันมาใช้วิธีประนีประนอมกับฝ่ายก่อเหตุ ลดหย่อนโทษให้กับผู้หลงผิดที่มาสารภาพผิดกับทางการ" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว


 


และว่า ข้อดีอีกประการหนึ่งหากมีการออกกฎหมายลักษณะนี้จริง ก็คือจะเป็นช่องทางให้ผู้ก่อการในอดีต ซึ่งปัจจุบันอายุมากแล้ว และส่วนใหญ่พำนักอยู่ในต่างประเทศ ได้กลับมาใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตที่บ้านเกิด เพราะคนเหล่านี้ก็คงอยากกลับประเทศไทย และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในระยะหลัง


 


แนะศึกษาโมเดล 66/23


ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า ในอดีตที่ผ่านๆ มา ก็เคยมีการออกกฎหมายในลักษณะนิรโทษกรรมมาบังคับใช้แล้วหลายครั้ง ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษประการหนึ่งของการเมืองไทยที่ยอมให้อภัยกับฝ่ายตรงข้าม


 


อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความไม่เข้าใจของประชาชนนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาจมองแบบแบ่งแยกว่าไม่ควรให้อภัย ดังนั้นรัฐบาลต้องทำการศึกษาอย่างรอบคอบ โดยยึดแนวทางของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์


 


"คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 นั้น เปิดโอกาสให้ปัญญาชน นิสิต นักศึกษาที่เข้าป่าไปร่วมอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม ออกมาร่วมพัฒนาชาติไทย  โดยไม่ถือเป็นความผิด ซึ่งผมคิดว่านโยบายดังกล่าว น่าจะเป็นต้นแบบให้รัฐบาลศึกษาเพื่อปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้"


 


อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ศรีสมภพ ย้ำว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ จะต้องศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะปัญหาภาคใต้ถือเป็นกรณีพิเศษ เป็นปมขัดแย้งที่เกิดจากเชื้อชาติ ศาสนา และชาติพันธุ์ ซึ่งแตกต่างกับความขัดแย้งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


"จุดที่จะต้องเตรียมการไว้ให้ดีก็คือ การจัดการหลังการมอบตัวว่าจะทำอย่างไร จะให้คนเหล่านั้นอยู่อย่างไร ซึ่งต้องเน้นความเป็นธรรม และลดความหวาดระแวง รวมทั้งต้องพิจารณาด้วยว่า จะจัดตั้งองค์กรรูปแบบพิเศษขึ้นมารองรับหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวในตอนท้าย


 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net