Skip to main content
sharethis



องค์การอนามัยโลกเปิดรายงานล่าสุดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ชี้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศกับการมีสุขภาพดี โดยย้ำถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการรักษาความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศกับสุขภาพของมนุษย์


 


เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ระยะ 50 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นช่วงที่มนุษย์ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติในระบบนิเวศอย่างรวดเร็วและหนักหน่วง ดร.ลีจองวุก ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า "ความเปลี่ยนแปลงบนโลกได้ส่งผลต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็ใช่ว่าทุกภูมิภาคของโลกจะได้รับผลลัพธ์เท่าเทียมกัน"


 


ราว 60 เปอร์เซ็นต์ของระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ เช่น น้ำ และอากาศที่บริสุทธ์ สภาพอากาศที่ไม่แปรปรวน มีคุณภาพลดต่ำลง หรือถูกใช้อย่างไม่คำนึงความยั่งยืน ในรายงาน นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนถึงอันตรายที่จะเกิดจากคุณภาพของระบบนิเวศที่ตกต่ำลงซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพ ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเป็นปัญหามากยิ่งขึ้นใน 50 ปีข้างหน้า


 


ดร.คาร์ลอส คอวาแลน ผู้จัดทำรายงานนี้ได้ย้ำว่า "ผลกระทบดังกล่าวนี้ไม่ได้ส่งผลถ้วนหน้ากัน แต่จะเป็นปัญหาอย่างมากในประเทศยากจน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาธรรมชาติและนิเวศวิทยาเป็นพื้นฐานในการยังชีพ


 


ขณะที่ผลิตผลจากการปศุสัตว์เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านโภชนาการ แต่การทำปศุสัตว์ก็ได้สร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของเชื้อโรคต่างๆ การที่มนุษย์ล่าสัตว์ป่าและแสวงหาเนื้อสัตว์ป่ามากินมากขึ้นเป็นเหตุให้เกิดการรุกล้ำจนผืนป่าลดน้อยลง กลายเป็นโอกาสให้เกิดการติดต่อของเชื้อโรคได้


 


คาดการได้ว่าในอนาคตจะความรุนแรงของปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากระบบนิเวศที่เลวร้ายลงจะมากยิ่งขึ้น และมีภูมิภาคที่เสี่ยงจะเผชิญปัญหานี้ ประกอบด้วย แอฟริกาใต้ เอเชียกลาง บางส่วนของละตินอเมริกา และค่อนข้างชัดเจนว่าในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเผชิญปัญหาอย่างหนัก


 


ปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นมีตั้งแต่ ภาวะโภชนาการเนื่องจากจับปลาได้น้อยลง และระบบนิเวศของอาหารการเกษตรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีประชากรโลกราว 800 ล้านคนมีภาวะทุพโภชนา การขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับดื่มจะทำให้เกิดการติดเชื้อแก่ประชากร 3.2 ล้านคน คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นของการตายที่เกิดขึ้นในโลก นอกจากนี้ 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมีปัญหาเกี่ยวกับโรคในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุมาจากมลพิษในอากาศแล้ว สาเหตุสำคัญของการเกิดขึ้นของเชื้อโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมีสาเหตุมาจากป่าไม้ที่ลดน้อยลงอันเนื่องจากการตัดไม้มาทำเชื้อเพลิง


 


"สุขภาพของมนุษย์นั้นเกี่ยวข้องอย่างมากกับระบบนิเวศ และมันพาเราไปสู่จุดวิกฤติได้" มาเรีย ไนรา ผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ย้ำก่อนที่จะกล่าวต่อว่า "เราซึ่งอยู่ในฝ่ายสุขภาพจำเป็นที่จะต้องใส่ใจวางแผนและดำเนินการร่วมกับส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเราจะรักษาระบบนิเวศอย่างยิ่งยวดเพื่อสุขภาพที่ดีของเราทั้งในวันนี้และวันหน้า"


 


………………………………………..


ที่มา : www.who.org


 


 กลับหน้าแรกประชาไท


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net