ปาฐกถา นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองการบริหารของไทยในศตวรรษที่ 21

ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ปาฐกถาพิเศษ "การเมืองการบริหารของไทยในศตวรรษที่ 21" โดย ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในเวทีประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่ รร.โลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ ในหัวข้อเรื่อง "โลก รัฐ ท้องถิ่นในศตวรรษที่ 21 : การปะทะทางอารยธรรม ธรรมาภิบาล และท้องถิ่นนิยม"

 

 

โลกศตวรรษที่ 21 มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากำหนดชะตากรรมของมนุษย์

ความจริงแล้วศตวรรษที่ 21 ยังเหลืออีก 93 ปี 24 วัน เป็นเวลานานพอสมควร ถ้าพูดถึงอนาคตที่ยาวไกลก็คงไม่ง่ายเท่าไรนัก วิธีที่จะพูดถึงอนาคต เรามองได้สองอย่างคือ หนึ่ง สิ่งที่น่าจะเป็น คือมองที่ปัจจุบันว่าจะเป็นอย่างไร สอง สิ่งที่เราอยากให้เป็น เป็นสิ่งที่เราจะแยกสองอย่างออกจากกันได้ยาก

 

เพราะว่า ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ สิ่งที่เป็นความอยากและสิ่งที่อยากให้เป็น มันปะปนกัน ซึ่งก็ดีแล้วที่ปะปนกัน เพราะว่าเราคงไม่สามารถเข้าใจอะไรในปัจจุบันได้ ถ้าเราไม่ใช้อัตตวิสัย หรือความอยากเข้าไปวิเคราะห์สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เฉพาะตัวเลขที่เป็นภาวะวิสัยอย่างเดียว ไม่สามารถอธิบายได้เลย นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าอัตตวิสัย ก็คือ ในทางสังคมเราแยกออกเป็นสิ่งที่น่าจะเป็น และที่เราอยากให้เป็นได้ยาก หรือแยกออกจากกันไม่ได้เลย เพราะว่าถ้าเราทุกคนในสังคมอยากอะไรมากๆ มันก็จะทำให้สังคมเป็นอย่างที่เราอยากด้วย

 

ก็เป็นเพียงความหวังว่า ในทศวรรษใหม่ที่เรากำลังเผชิญ ความอยากของมนุษย์น่าจะมีความหมายเหลืออยู่บ้าง ที่ผ่านมา 6 ปี ก็ไม่แน่ใจว่าความอยากของเราจะมีความหมายในการกำหนดโลกของเรามากแค่ไหน เพราะยิ่งนับวันโลกของเรามีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากการควบคุมของมนุษย์เข้ามากำหนดชะตากรรมของมนุษย์หรือชะตากรรมของสังคมตลอดเวลา

 

แต่ว่า 93 ปี 24 วัน ที่เหลือโลกเราจะเปลี่ยนบ้าง ความอยากของมนุษย์สามารถกำหนดชะตากรรมตัวเองได้บ้าง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ศตวรรษที่ 21 คงไม่ใช่ศตวรรษที่อุดมคติตายสนิท และก็หวังว่าจะเป็นศตวรรษที่อุดมคติมีความหมาย โดยการสร้างกลไกทางสังคม หรืออื่นๆ อะไรก็แล้วแต่

 

การที่จะเปลี่ยนทิศทางของสังคมตามที่เราอยากให้เป็น ขอเริ่มต้นที่จะพูดถึงอนาคตของประเทศไทยในเรื่องการเมืองและการบริหาร โดยการดูปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากโลกาภิวัฒน์ ที่เกิดจากรัฐชาติก็ตาม เกิดจากท้องถิ่นก็ตาม ถ้าดูจากแนวโน้มในปัจจุบัน คิดว่ามีปัญหาอยู่ 5-6 อย่างด้วยกัน

 

เป็นยุคที่มีอำนาจข้างนอกเข้ามาตัดสินใจ

อันที่หนึ่งคือ อำนาจการตัดสินใจในเรื่องบางเรื่อง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อท่านทั้งหลาย มันไม่ได้อยู่ในประเทศอีกแล้ว ไม่ได้อยู่ในรัฐชาติอีกแล้ว อยากจะเตือนว่าอำนาจที่หายไปไม่ใช่อำนาจทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ไม่ใช่เพียงว่าเราจะผลิตอะไร เอาไปขายให้ใคร ผมคิดว่ามีอำนาจทางการเมืองที่ห้ามกำหนดการตัดสินใจในบ้านเมืองของเรา เราไม่สามารถกำหนดหรือตัดสินใจอะไรได้เอง ตัวอย่างหลายประเทศในเอเชียตะวันออกกลาง คนไม่ได้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจทางการเงินของตนเอง แต่มีอำนาจจากข้างนอกมาเป็นผู้ตัดสินใจให้

 

ในประเทศไทยก็เหมือนกัน เศรษฐกิจที่ผูกกับโลกาภิวัตน์มากจนเหลือทางเลือกน้อยลงไปแล้ว การเมืองในประเทศไทย ถ้าหากกลับไปสู่รัฐทหารในศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นอีกได้ยากมาก เราไม่สามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศตามใจชอบได้ บางคนอาจคิดถึง Constructive Engagement ที่ทำกับพม่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากเราและอาเซียน ในการร่วมมือในการวางนโยบายกับพม่าในลักษณะ Constructive Engagement ถ้าไม่มีจีนอยู่เบื้องหลังสิ่งนี้ เราทนแรงกดดันของยุโรปและอเมริกาไม่ได้ ที่จะ Constructive Engagement ที่เราอ้างถึงได้

 

เพราะฉะนั้น การจะวางนโยบายต่างประเทศ เราทำตามใจชอบไม่ได้ เพราะมีคนอื่นเป็นผู้มากำหนดให้เรา และคนอื่นเหล่านั้นเราไม่ได้เลือกเขา เราไม่มีสิทธิ์ไปกำกับอะไรเขาเลย เพียงแต่ว่าเขาจะมากำหนดเศรษฐกิจการเมือง แน่นอนว่าจะกระทบไปสู่สังคม และวัฒนธรรมด้วย

 

ประชาธิปไตยมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น

บางเรื่องของการกำกับ ควบคุมจากภายนอกเหล่านี้ เราอาจจะรู้สึกว่าดี เป็นต้นว่า เราจะไม่กลับไปสู่รัฐประหารที่เราเคยผ่านมาได้ ก็ดูว่าคล้ายๆ เป็นหลักประกันให้ประชาธิปไตยได้ดีขึ้น หมายความว่าคนที่หน้ามืด ทำการรัฐประหารในตอนนี้ ลืมตานิดเดียวก็พบว่าทำได้ในเงื่อนไขโลกาภิวัตน์ที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ ฟังดูแล้วอาจรู้สึกดี ขอเตือนว่าให้ระวัง คำว่าประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้มีปัญหามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิทธิมนุษยชน พูดได้ว่าแทบจะไร้ความหมายเลยทีเดียว คุณสามารถที่จะจับนักโทษไปกักขังตามที่ต่างๆ ทั่วโลก แล้วก็ทรมานพวกเขาอย่างไรก็ได้ โดยคุณเองก็ออกหน้าปกป้องสิทธิมนุษยชนของโลก

 

คือประชาธิปไตยในทุกวันนี้ ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงไม่พัฒนาประชาธิปไตย สิ่งที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยทุกวันนี้ก็ไร้ความหมาย แต่มันกลับคุกคามเสรีภาพประชาชนด้วยซ้ำไป

                                   

UN ด้อยประสิทธิภาพในการถ่วงดุลอำนาจ

ทั้งหมดเหล่านี้ กลไกระหว่างประเทศพัฒนาถ่วงดุลกับโลกกาภิวัตน์ไม่ทัน ยูเอ็นที่อยู่ภายใต้มหาอำนาจ ถามว่าเครื่องมือในการยับยั้งการแทรกแซง และการคุกคามสิทธิเสรีภาพของคนในโลกนี้ได้แค่ไหน ผมว่าได้น้อยลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะด่าพ่อยูเอ็น ยูเอ็น ก็ยังคงเป็นองค์กรระหว่างประเทศ คิดว่าน่าจะใช้ประโยชน์จากประเทศเล็กๆ ได้ดีที่สุดนั่นเอง

 

เพราะฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยหนึ่งแล้ว ยูเอ็นจะประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพของคนในโลกได้แย่ลง เพราะโลกาภิวัตน์เกิดขึ้น องค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ หมายจะตั้งกติกาบางอย่างเพื่อปกป้องประเทศเล็กๆ หมายจะอิงอาศัยเป็นเครื่องมือบกพร่อง ก็ไม่ค่อยเกิดผล ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเมื่อเกิด WTO นั้น เมื่อประเทศเล็กๆ รวมตัวกันต่อรองกับประเทศมหาอำนาจได้มากขึ้นนั้น มหาอำนาจก็เลี่ยงที่จะดัน WTO แต่หันไปสร้าง FTA แทน วันหนึ่งข้างหน้าที่จะสามารถมีความสัมพันธ์กับ FTA ในประเทศต่างๆ ได้มากพอสมควรแล้ว ก็เอา FTA กลับมาถล่ม WTO แล้วก็ทำตามเงื่อนไข WTO ได้เลย

 

เพราะฉะนั้น องค์กรระหว่างประเทศที่เราจะสร้างขึ้นสำหรับสร้างสมดุลระหว่างอำนาจที่มีมากเกินไปและอำนาจที่น้อยเกินไปให้พออยู่ร่วมกันได้ คิดว่าจนกระทั่งนาทีนี้ ยังไม่มี หรือมีแต่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำอย่างนั้นได้

 

ประชาชนหา "เสรีภาพ" ได้ในระบอบเผด็จการ

ฉะนั้น จึงจำเป็นที่ต้องพูดถึงไว้ก่อนว่า การเมืองการบริหารของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 จะเป็นอย่างไร สิ่งที่รู้สึกค่อนข้างตลกคือ ในโลกทุกวันนี้ประชาชนเรียกหาเสรีภาพ เสรีภาพหมายถึง การหลุดพ้นจากการแทรกแซง ครอบงำจากมหาอำนาจต่างชาติ ประชาชนกลับหาเสรีภาพได้ในระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเผด็จการที่อยู่ในรูปแบบของรัฐ หรือการก่อการร้ายก็ตาม ในที่ตรงนั้นเป็นที่ๆ เขาปกป้องประชาชนจากการแทรกแซงของมหาอำนาจที่ครอบงำโลกได้ เป็นเรื่องที่น่าประหลาดดี

 

การก่อการร้าย คือเครื่องมือการต่อสู้การถูกครอบงำ

พอพูดถึงเรื่องการก่อการร้าย อยากให้มองให้กว้างขึ้น เราถูกสื่อต่างประเทศครอบงำว่า การก่อการร้ายนั้นเป็นเรื่องของคนอิสลาม ซึ่งไม่ใช่ จริงๆ แล้วอยากให้มองไปรอบโลกที่ใช้การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้มีเยอะแยะไปหมดที่ไม่ใช่มุสลิม เป็นต้นว่า พวกมัลดีฟ ในเนปาล เขาก็ใช้วิธีก่อการร้าย กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็ไม่เกี่ยวกับการก่อการร้าย คนกลุ่มน้อยที่เป็นอิสลามก็มีและไม่เป็นอิสลามก็มี รวมไปถึงชนพื้นเมืองในลาตินอเมริกา เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้น การก่อการร้ายไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามเพียงอย่างเดียว อย่างที่เราถูกครอบงำให้คิดไปอย่างนั้นว่าเป็นสถานการณ์การก่อการร้าย แน่นอนว่า ไม่มีใครเห็นชอบกับวิธีการนี้ วิธีการนี้เป็นการตอบสนองต่อสภาพที่ประชาชนไม่มีทางออก

 

ถ้าเรามองการก่อการร้าย ไม่ใช่เฉพาะมองเรื่องๆ อย่างเดียว มองให้กว้าง อย่ามองเพียงอย่างเดียว มันมีภาวะครอบงำบางอย่างที่ดิ้นไม่หลุด ไม่ออก ไม่รู้จะออกทางไหน ส่งเสริมให้ที่การก่อการร้ายทั้งในประเทศและนอกประเทศมากขึ้น

 

ถามว่าในช่วงศตวรรษที่ 21 สิ่งเหล่านี้จะยังอยู่หรือหายไป คิดว่าจะอยู่ไปอีกนาน แต่ไม่รู้ว่านานเท่าไร เงื่อนไขในการครอบงำจะมีอยู่ต่อไปหรืออาจจะมีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำไป คิดว่าการก่อการร้ายจะขยายตัวขึ้นเหมือนกัน

 

จับขบวนต้านโลกาภิวัตน์เจอผู้ก่อการร้าย

ในทางกลับกันระบบข่าวสารข้อมูลที่เกิดขึ้นพร้อมกับโลกาภิวัตน์ มันกลับเพิ่มพูนอำนาจให้กับประชาชน ระบบข่าวสารข้อมูลที่เราชื่นชมกับมัน ขอเตือนว่า มันมีมหาอำนาจที่พยายามจะเข้ามาควบคุม เช่น อียูในขณะนี้ ที่กำลังจะเข้ามาเสนอว่า ระบบอินเทอร์เนตควรอยู่ภายใต้รัฐบาลโลก คือ อยู่ภายใต้การควบคุมของนานาชาติ ไม่ใช่อยู่ภายใต้ของอเมริกันแต่เพียงอย่างเดียว ประเทศมหาอำนาจจำนวนไม่น้อย เช่น จีน พยายามทำทุกวิถีทางในการขวางกั้นการไหลข้อมูลข่าวสารที่ผ่านทางอินเทอร์เนต เพราะฉะนั้น ถ้าหากเป็นเสรีภาพอยู่ในตอนนี้ ก็เท่ากับว่าเป็นเสรีภาพที่ถูกท้าทายตลอดเวลา

 

ระบบข่าวสารให้อำนาจแก่ประชาชนหลายอย่าง คือ หนึ่ง ทำให้ประชาชนสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในประเทศและนอกประเทศได้มากขึ้น รวมถึงโทรศัพท์ ด้วยองค์กรภาคประชาชนระหว่างประเทศที่รัฐบาลระหว่างประเทศสร้างขึ้นมีมากกว่า

 

สอง ช่วยเพิ่มอำนาจประชาชนในการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ องค์กรภาคประชาชนระหว่างประเทศที่องค์กรระหว่างประเทศสร้างขึ้น กับองค์ที่ประชาชนร่วมกันสร้างขึ้น มีมากกว่ากันเป็นร้อยเท่า ทุกเรื่องจะมีองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานระหว่างประเทศ นับตั้งแต่เรื่องขยะ จนถึงทุกเรื่อง

 

สาม ในขณะเดียวกัน ทำให้การจัดการในภาคประชาชน ซึ่งการจัดการที่เดิมทีมีต้นทุนที่สูงมาก ก็ต่ำลง ทำให้ภาคประชาชนเข้าไปจัดการองค์กรของตนที่มีเครือข่ายกว้างได้ในราคาที่ถูกขึ้น

 

ฉะนั้น ในทัศนะผู้ที่ต้านทานการครอบงำโลกผ่านกระบวนการโลกาภิวัตน์ของทุนอยู่เวลานี้ มีอยู่ 2 พวก คือ ผู้ก่อการร้าย และพวกที่เป็นภาคประชาชน เพราะฉะนั้น การทำงานคล้ายๆ กัน ภาคประชาชนและพวกก่อการร้ายจะถูกเอามารวมกัน และถูกโมเมให้มารวมกันได้ง่ายมาก และถ้าสามารถทำให้เป็นพวกเดียวกัน ก็ปราบได้ง่ายเช่นเดียวกัน

 

ขบวนการที่ทำให้ภาคประชาชนและผู้ก่อการร้ายเข้าหากัน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่จริงๆ แล้ว ในยุโรป จะพบการพยายามที่จะทำให้การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อต้านทานการครอบงำของโลกาภิวัตน์โดยทุน ให้เจอกับกระบวนการก่อการร้าย เราจะพบได้ทั่วไป

 

พยายามสถาปนาวัฒนธรรมสากลครอบงำโลก

อีกอันหนึ่งที่เกิดขึ้นและมีความสำคัญ ก็คือว่า มีการสถาปนาเกี่ยวกับวัฒนธรรมสากลขึ้นอันหนึ่ง วัฒนธรรมสากล คือการจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรต่างๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง มาระบบจัดการในที่ต่างๆ ของโลกอย่างหนึ่ง ปัจจุบันมีความพยายามที่สร้างวัฒนธรรมที่อ้างว่าเป็นสากลเพื่อก่อ ให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเดียว มีการจัดการป่า จัดการน้ำ จัดการดินที่อ้างความเป็นสากลและทำอย่างเดียวและครอบงำไปหมดทั้งโลก จริงๆ เช่น การจัดการเรื่อง ป่า น้ำ ดิน ในแต่ละแห่งมีวิธีการจัดการที่ไม่เหมือนกัน

 

การค้นพบนวัตกรรมก็เหมือนกัน ที่จริงโลกก็มีการค้นพบตั้งแต่ลิงชิมแพนซีด้วยซ้ำไป มาตั้งแต่โบราณแล้ว และก็วิธีการจัดการค้นพบและนวัตกรรมอีกลักษณะหนึ่ง หรือหลากหลายลักษณะ

 

ปัจจุบันวัฒนธรรมสากลที่ว่าพยายามเข้ามาบังคับให้เราใช้การจัดการและการค้นพบเพียงอย่างเดียว อะไรถึงถือว่าเป็นการค้นพบ และอะไรที่ถือว่าเป็นนวัตกรรม สิ่งนี้เขาเป็นคนกำหนด แต่เดิมทีเดียวมีการกำหนดบนพื้นฐานที่หลากหลายมาก เวลาว่างก็เป็นทรัพยากรสิ่งหนึ่ง เวลาว่างเขาก็มากำหนดว่า คุณต้องใช้ทรัพยากรส่วนนี้อย่างไร ใช้วิธีไหน เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้น ก็มีความพยายามสร้างวัฒนธรรมสากลตัวนี้เข้ามาในการกำหนดเรื่องของการจัดการทรัพยากร ทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนขัดกับการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น ความจริงแล้วก็เป็นกระบวนการใหม่อันหนึ่ง เมื่อใดที่คุณเปลี่ยนการจัดการทรัพยากรซึ่งคือหัวใจ เมื่อมีการเปลี่ยนการจัดการทรัพยากรจริงๆแล้วคืออะไร คุณกำลังขจัดคนกลุ่มหนึ่งออกไปจากทรัพยากรนั้น เมื่อใดที่คุณเปลี่ยนการจัดการทรัพยากรแล้วเอาคนกลุ่มหนึ่งออกไป แล้วนำคนกลุ่มอื่นมาใช้ทรัพยากรนั้นแทน

ถ้าเรามองในรูปนี้ ความพยายามในการสถาปนาวัฒนธรรมสากลเพื่อจัดการทรัพยากรลักษณะหนึ่ง หรือลักษณะเดียวในโลก ก็คือการพยายามจะขจัดคนที่ใช้ทรัพยากรในอีกลักษณะหนึ่งออกไปจากทรัพยากรเหล่านี้นั่นเอง

 

ประชาชนจะลุกขึ้นสู้ เพื่อรื้อฟื้นวัฒนธรรมท้องถิ่น

เพราะฉะนั้น เราก็มีกระบวนการที่จะตอบสนองของวัฒนธรรมสากลที่ว่านี้ คือการรื้อฟื้นวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ส่วนใหญ่การรื้อฟื้นวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นเรื่องที่รัฐควรกระทำ วันศุกร์ นุ่งผ้านุ่ง วันจันทร์พูดคำเมือง ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ รัฐหรือจังหวัดจะต้องเป็นคนลงมาทำ ขณะเดียวก็ไม่ปฏิเสธที่ประชาชนทำเองก็มีมากทีเดียว เรื่องของการพูดคำเมือง การไหว้ผีขุนน้ำ เป็นต้น เป็นการกระทำโดยประชาชนเอง เพื่อให้เกิดสิทธิในการจัดการสายน้ำ อันนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย แต่เกิดขึ้นทั้งโลกที่ประชาชนลุกขึ้นมาและพยายามรื้อฟื้นสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมท้องถิ่น จริงๆ การรื้อฟื้นวัฒนธรรมท้องถิ่น คือการที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับการต่อสู้กับวัฒนธรรมสากลนั่นเอง

                                   

แนวโน้ม คนนอกรัฐชาติเพิ่มขึ้น

มีการรวมตัวกันเพื่อสร้างทางเลือกของชีวิต หาทางเลือกของชีวิต เช่น การมีชีวิตอยู่โดยไม่ร่วมอยู่ในรัฐชาติใดชาติหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงพม่า หรือคนอพยพ คนที่เป็นเมือง หรืออเมริกันที่ไม่ร่วมอยู่ในรัฐชาติ ขอมีชีวิตที่อยู่นอกรัฐชาติ มีคนพวกนี้อยู่มากบนโลกนี้ ในรูปแบบของนักท่องเที่ยว เรียกว่าคนเหนือชาติ รวมทั้งองค์กรศาสนาด้วยที่สามารถเป็นที่หลบภัยจากรัฐชาติได้ด้วยเช่นกัน

 

ในทางตรงกันข้าม โลกาภิวัตน์ให้อำนาจกับประชาชน ให้อำนาจในการหลุดจากรัฐชาติได้ โลกาภิวัตน์ก็เพิ่มขีดความสามารถในการกดดันมหาอำนาจมาขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งเห็นได้ชัด ฉะนั้น การบริหารประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ต้องสร้างสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะเราอยู่ในโลกของความเป็นจริงที่มีการครอบงำ การพยายามแสวงหาผลประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีผลประโยชน์ของประชาชนด้วย

 

การเมืองและการบริหารที่สร้างสรรค์ คือ การเมืองการบริหารที่ต้องหาสมดุลที่พอดีระหว่างการยอมกับการกดดันของมหาอำนาจและการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ในปัจจุบันนี้มีรูปแบบที่สร้างสมดุลแบบนี้มาก เช่น ประเทศจีน พม่า คิวบา บราซิล เปรู เป็นต้น

 

วัฒนธรรมสากลที่พยายามเข้ามาแทรกแซงการจัดการทรัพยากรก็ตาม อำนาจที่เพิ่มขึ้นโดยผ่านขบวนการโลกาภิวัฒน์ของมหาอำนาจก็ตาม สามารถผลักดันให้คนมุ่งไปหาสิทธิในการคุ้มครองตนเองในระดับต่างๆ ทั้งโลก หาทางให้มีระดับในการปกครองตนเองมากขึ้น

                       

เศรษฐกิจพอเพียง คือส่วนหนึ่งของการหลุดจากทุนโลกาภิวัฒน์

ที่เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียง ส่วนหนึ่งแล้วเป็นการหลุดออกมาในทางเศรษฐกิจ ทุนโลกาภิวัฒน์ด้วย เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจะเพิ่มพูนก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยจะสร้างสมดุลระหว่าง การต้องยอมกับผลประโยชน์ของมหาอำนาจกับการที่เราจะปกป้องประโยชน์ของประชาชนมากน้อยเพียงใด ที่รวมเอาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของสิทธิในการป้องกันตนเอง ก็เพราะขัดแย้งกับกับการจัดการทรัพยากรสากลที่เกริ่นมาข้างต้น

 

ภาคประชาชนขับเคลื่อนต่อสู้เรื่องการปกครองตนเองมากขึ้น

เรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจก็ตาม สิทธิในการปกครองตนเองก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามมากเท่าใดก็ตาม แต่ก็พบว่า จะมีการถูกกร่อนทำลายโดยแนวโน้มใหม่ๆในการบริหารของโลกมากขึ้น ใน 6 ปีที่ผ่านมา การกระจายอำนาจไทยมีความหมายที่ผิวเผินมาก ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็มีการขับเคลื่อนมาสู่เรื่องการปกครองตนเอง ในขณะที่ภาครัฐนั้นไม่ให้สิทธิในการปกครองตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็จะขัดขวางในเรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างมาก

 

รัฐชาติมองข้ามอัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อย

อีกด้านหนึ่งที่เป็นชนกลุ่มน้อย คำนี้เป็นคำที่ทีปัญหามาก แต่ต้องการให้หมายถึง ผู้ที่มีสำนึกเป็นกลุ่มและมีอัตลักษณ์ตนเอง ว่า มันแตกต่างกับอัตลักษณ์ที่เป็นกระแสหลักของชาติตนเองหรือรัฐที่ตนเองเป็นพลเมืองที่คนเองอาศัยอยู่

 

ที่ผ่านมา เราศึกษาผ่านรัฐชาติจึงมองไม่เห็นชนกลุ่มน้อย แต่ถ้าเรามองไปโดยละเอียด เราจะพบว่ามีคนที่มีสำนึกอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่างจากคนอื่นนั้นมีเยอะแยะมากมาย แบบไม่มีวันจะถูกกลืนอย่างสำเร็จเด็ดขาด และค้างตกบนโลกนี้ได้ และคนเหล่านี้จะใช้อัตลักษณ์ของตนเองเป็นเครื่องมือในการที่จะเข้าไปจัดการทรัพยากรและรักษาทรัพยากร ต่อต้านการสร้างวัฒนธรรมสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ถ้าไม่สร้างการบริหารที่ประนีประนอมกันได้ อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือการปฏิวัติประชาชาติก็เป็นได้ จะทำให้เกิดประเด็นความขัดแย้งในศตวรรษที่ 21 มากขึ้น

 

ศตวรรษที่ 21 โลกเปราะบางมากขึ้น

6 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งในระดับท้องที่สูงมาก เพราะฉะนั้น อาจจะสรุปได้ว่า โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่เปราะบางมากขึ้นกับความรุนแรง ถึงแม้จะไม่ใช่สงครามขนาดใหญ่ก็จริง แต่มีการต่อสู้กันในหลากหลายรูปแบบ ความรุนแรงระดับท้องถิ่นอาจจะขยับขึ้นมาเป็นระดับภาค ระดับประเทศ ไม่ใช่เพียงระหว่างประเทศเอง ภายในประเทศก็จะเกิดสิ่งเหล่านี้ด้วย

 

เราต้องการการเมืองแบบประนีประนอม

การเมืองในศตวรรษที่ 21 ของไทย เราต้องการความสามารถในการสร้างความสมดุลระหว่างโลกาภิวัตน์และในการปรับตัวของประชาชนท้องถิ่นมากขึ้น คือเราปฏิเสธโลกาภิวัฒน์ไม่ได้ แต่เราจะให้โลกาภิวัฒน์เข้ามาในประเทศไทย ผลกระทบที่เข้ามานั้นอย่างชนิดที่เราจะคุมได้บ้าง เพื่อทำให้คนกลุ่มต่างๆ มีโอกาสปรับตัวได้ ความขัดแย้งตรงนี้ก็เกิดขึ้นมากเหมือนกัน

 

ทำอย่างไร ถึงจะทำให้กลุ่มที่ขัดแย้งกันอยู่ร่วมกันได้ เราต้องการเมืองของการประนีประนอม และจะเกิดขึ้นได้โดยการเมืองต้องเปิดทุกกลุ่ม มีอำนาจต่อรองที่ใกล้เคียงกัน มีกลุ่มที่จะสามารถกดดันพรรคการเมืองให้ทำตามที่ตนเองต้องการได้ หรือมีกลไกต่างๆ นานา และหกปีที่ผ่านมาแล้ว และเมื่อไหร่จะเกิดอย่างนี้แก่กรรมกร ชาวเขา ซึ่งเกิดขึ้นยากมาก

 

อีก 94 ปี ข้างหน้าอาจจะเกิด แต่อีก 20-30 ปีข้างหน้าเรายังมองไม่เห็น โอกาสทางการเมืองที่มีการประนีประนอมก็เกิดขึ้นได้ยากเหมือนกัน ถ้าหากไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคม สามารถที่จะเกิดขึ้นกับผู้นำได้เช่นกัน เพราะผู้นำสามารถที่จะสร้างบรรยากาศของการเจรจาต่อรองได้เหมือนกัน แต่ว่าผู้นำเป็นผู้ที่ไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง เพราะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

 

ใครที่คิดตัดสินใจเพียงคนเดียว คนนั้นอันตรายที่สุด

สิ่งที่สังคมต้องเข้าใจก็คือว่า ต้องหลีกเลี่ยงซีอีโอที่สุด ใครที่คิดว่าต้องตัดสินใจเพียงคนเดียว คนนั้นอันตรายที่สุด เพราะว่าไม่เกิดการเมืองประนีประนอม ในบรรดาการปรับตัวในศตวรรษที่ 21 ของประเทศไทย กลุ่มที่เป็นปัญหามากที่สุด และให้โอกาสในการปรับตัว คือกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เพราะเราเป็นชาติเกษตรกรรายย่อยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีมาก และไม่ได้ทำโอกาสที่จะปรับตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว

 

เกษตรกรรายย่อย ปัญหาใหญ่ในศตวรรษที่ 21

ดังนั้น กลุ่มนี้จึงเป็นปัญหามาก ตอนนี้ที่เป็นปัญหา เพราะว่าเขากำลังกดดันพรรคการเมืองไม่ค่อยได้ การเกษตรของไทยจะต้องเปลี่ยน เพราะเกษตรกรรายย่อยผลิตอย่างไรก็ไม่คุ้มทุน ดังนั้นเขาต้องเลิกผลิต เขาอาจจะขายที่ ไม่สามารถทนผลิตต่อไปได้ เพราะฉะนั้นเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ก็จะขยายตัวในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

มีวิธีเดียวคือ หันมาทำวิธีเชิงพาณิชย์ที่เข้มข้นขึ้น ในแง่ของการผลักภาระการผลิตบางส่วนให้กับคนที่จนก็ได้ ในที่สุดแล้ว คนเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ประเทศไทยก็จะคล้ายกับหลายประเทศในลาตินอเมริกา คือ มีคนที่อยู่ในสลัมในเมืองที่อยู่รองาน ปีหนึ่งอาจจะมีงานทำ 3 เดือนครึ่ง ที่เหลือก็จะทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้ชีวิตรอดพ้นไปได้

 

ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยเป็นปัญหาใหญ่ ในศตวรรษที่ 21 เราต้องให้เขาเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปฏิรูปที่ดิน การจัดการเรื่องป่า เรื่องชลประทาน ความจริงแล้วเกษตรกรรายย่อยได้สูญเสียอำนาจในการจัดการที่ดินอย่างมากมายมหาศาล ต้องคิดถึงเรื่องการคืนอำนาจให้เขา ซึ่งถ้าเราทำอย่างนั้นได้

 

ต้องพัฒนาคนโดยเน้นการศึกษานอกระบบ

การศึกษา เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมาก แต่ไม่ใช่การศึกษาที่ฝึกฉลาดให้เขาอย่างเดียว ต้องคิดถึงการศึกษาของตัวเขาเองด้วย การศึกษาในระบบที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ มาจากสมัยหนึ่งที่ระบบข่าวสารข้อมูลไม่ได้ไหลเวียนคล่องแคล่วอย่างปัจจุบันนี้ เมื่อระบบข่าวสารข้อมูลเปลี่ยนไปเราก็ต้องคิดถึงระบบการศึกษาอีกอย่างหนึ่งแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับ Non formal Education การศึกษานอกระบบอย่างไม่เป็นทางการให้มากขึ้น ในที่สุดเขาอาจจะเป็นเกษตรกรรายย่อยที่เข้มแข็ง หรือถ้าเขาจะหลุดจากการเกษตรเขาก็จะเป็นแรงงานฝีมือ ซึ่งจะมีอำนาจต่อรอง

 

เราต้องการการเมืองการบริหารที่มีการพัฒนาตนเอง

เราต้องการการเมืองการบริหารที่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาประชาธิปไตย ที่จะต้องถูกพัฒนา รัฐบาลการบริหารมีการพัฒนาตนเอง ปรับเปลี่ยนรูปแบบตนเอง มิฉะนั้นแล้วประชาธิปไตยเพียงรูปแบบเดียวจะไม่สามารถตอบตำถามของโลกในวันข้างหน้าได้

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ ว่าประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ประเทศไทยที่ Unifromnity เราชอบสับสนระหว่าง Unifromnity กับ Unitiy คนละเรื่องกัน ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 อย่าพยายามกดดันให้เกิด Unifromnity เพราะจะต้องยอมรับความหลากหลายอย่างมาก

 

ผู้นำไทยนักเลง เก่งในบ้าน แต่ไปหน้าซีดนอกบ้าน

รัฐบาลจึงไม่ใช่เป็นเพียงคลื่นลูกที่สามอีกต่อไปแล้ว เพราะว่ากว่าจะมีคลื่นลูกที่สาม ก็เชยเกินไปแล้ว ยิ่งใครคิดว่า ความเป็นนักเลงแบบไทยๆ ทุกคนจะนึกถึง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยิ่งไม่ช่วยอะไรได้ นอกจากจะได้รับความนิยมชั่วคราว เพราะว่าสังคมไทยเห็นชอบนักเลงอยู่ แต่นักเลงแบบนั้นจะไม่ช่วยอะไรเลย นอกจากความนิยมชั่วครั้งชั่วคราว จะไปทะเลาะกับคนทั้งโลกไม่ได้ เพราะการเผชิญหน้าจะไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย ในที่สุดก็แพ้ จะเก่งแต่ในบ้าน และไปหน้าซีดนอกบ้าน และกลายเป็นผลประโยชน์ของมหาอำนาจมาได้

 

เลิกยึดผู้นำเชย ๆ เลือกผู้นำที่มองทะลุสังคมไทย เลิกใช้ความรุนแรง

เราต้องการความสามารถอีกอย่างหนึ่ง คือความสามารถในการมองทะลุสังคมไทย รู้ว่าสังคมไทยมีจุดอ่อนและแข็งตรงไหน สามารถใช้ประโยชน์จากตรงนั้น เพื่อให้เราเสียเปรียบน้อยที่สุด หรือไม่เสียเปรียบเลยก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นนักเลงเชยๆ ไม่ใช่เก่งแต่ในบ้าน และไปหน้าซีดนอกบ้าน ในสตวรรษที่ 21 เงื่อนไขสำคัญของเราเองก็อยู่ที่สังคมด้วย ถ้าสังคมเราไม่เปลี่ยน เราก็จะมีนักเลงเชยๆ เป็นผู้นำเราตลอดไป

 

สังคมไทยจะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเอง ได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่มากับศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่ โดยการที่ต้องเรียนรู้มากขึ้น เลิกนิยมความเป็นนักเลงเชยๆ หลีกเลี่ยงความรุนแรง ถ้าสังคมไทยเองสนับสนุนความรุนแรง ผู้นำก็จะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะทุกอย่างในสังคมไทยและโลกข้างหน้าจะแปรเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายมาก ตรงนี้เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด

 


 กลับหน้าแรกประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท