Skip to main content
sharethis

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทาง "ศูนย์ข่าวอิศรา" สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำข่าวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยได้เชิญบรรณาธิการ และผู้สื่อข่าวจากภาคเหนือและภาคอีสานเข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนในด้านการทำข่าว พร้อมเสนอแนวทางการทำงานด้านสื่อในภูมิภาค


 


"วันดี สันติวุฒิเมธี" บรรณาธิการนิตยสาร สาละวินโพสต์ เป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสลงไปร่วมแลกเปลี่ยน มุมมองระหว่างปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กับปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่า และทาง "ประชาไท" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เธอ ซึ่งได้เสนอมุมมองของปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่า กับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้อย่างน่าสนใจ


 


0 0 0


 


คิดเห็นอย่างไร กรณีคนไทยมองคนชนกลุ่มน้อยจากพม่า กับคนสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทยว่ามีปัญหาเหมือนกัน


ปัจจุบัน ยังมีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่เข้าใจผิด คิดว่าปัญหาชนกลุ่มน้อยของประเทศพม่ากับปัญหาของสามชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยนั้นเหมือนกัน โดยมองว่าปัญหาของชนกลุ่มน้อยในพม่าที่เข้ามาอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย คล้ายคลึงกับปัญหาของกลุ่มก่อการร้ายในเขตชายแดนภาคใต้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งจริงๆ แล้ว มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน


 


ช่วยอธิบายความแตกต่างระหว่างปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่า กับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย?


ประเด็นแรกก็คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งชนกลุ่มน้อยในพม่าทุกกลุ่มต่างถูกรัฐบาลทหารละเมิดสิทธิ ไม่ให้การยอมรับในฐานะที่เป็นประชาชน มีนโยบายที่เข้าคุกคามสิทธิเสรีภาพสิทธิพื้นฐานในชีวิต เช่น การเกณฑ์ชาวบ้านให้เป็นลูกหาบ ให้เดินนำหน้า เอามาเป็นที่บังกระสุนในสนามรบ หรือมีนโยบายอพยพโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ที่มีกองกำลังชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ เพราะเกรงกลัวว่าประชาชนจะเข้าไปสนับสนุน ซึ่งประชาชนชนกลุ่มน้อยในพม่านั้นจะถูกละเมิดสิทธิแทบจะทุกพื้นที่


 


ปัญหาในประเทศพม่านั้น เป็นการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งคลอบคลุมทั้งประเทศ และปัญหานี้ไม่ได้เกิดเพียงแค่คนกลุ่มน้อยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเดียว แต่จะเกิดขึ้นกับประชาชนแทบทั้งประเทศ


 


เพราะฉะนั้น โครงสร้างของปัญหาในพม่านั้น จะค่อนข้างใหญ่ ซึ่งตอนนี้เวลาคิดจะแก้ปัญหาในพม่า จะต้องมองไปถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศ เพื่อนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หรือนำไปสู่ระบบการปกครองที่เลิกกดขี่ประชาชน ทั้งประชาชนชาวพม่าและประชาชนที่เป็นชนกลุ่มน้อย ให้เขาได้มีโอกาสได้พูดในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


 


แต่กับปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นปัญหาในพื้นที่ซึ่งค่อนข้างซับซ้อน เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายของรัฐไทย ในรัฐที่เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ได้ให้ความเท่าเทียมกับประชาชนที่อยู่ในเขตชายแดนภาคใต้ในเรื่องของการพัฒนา นอกจากนั้นยังมีเรื่องของประวัติศาสตร์ของคนในพื้นที่ ที่มีความคิดอยู่แล้วว่า พื้นที่ที่อยู่ตรงนี้เขาเคยเป็นเจ้าของ เคยเป็นพื้นที่ที่เขาเคยมีความสำคัญมาก่อน


 


แต่ว่ารัฐไทย ซึ่งมีนโยบายสมัยใหม่ กลับไม่ได้เคารพความเป็นเจ้าของพื้นที่ของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เขารู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกับคนที่อยู่ส่วนกลาง เกิดความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า ทำให้คนชายแดนภาคใต้จำนวนหนึ่งรู้สึกว่า ไม่อยากที่จะอยู่ภายใต้รัฐไทย


 


แล้วเชื่อไหมว่า มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จริง?


จริงๆ แล้ว ตามความคิดเห็นของตัวเอง คิดว่า คนที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนนั้นมีจำนวนน้อย ที่มีความผูกพันกับดินแดนในอดีต ที่คิดว่าคนมุสลิมเป็นเจ้าของพื้นที่ และได้เรียกร้องกับรัฐไทยมานาน แต่ไม่เคยได้รับ และคนจำนวนนี้ซึ่งมีเพียงแค่เล็กน้อย จึงเริ่มจุดกระแสว่า ไม่อยากไปอยู่ภายใต้รัฐไทย และอาจไปขยายความคิดนี้กับประชาชนทั่วๆ ไป ที่รู้สึกว่าตนเองถูกกดขี่ข่มเหงจากการบริหารงานของรัฐไทย จึงอาจทำให้มีการขยายวงกว้างทางความคิดที่จะแบ่งแยกดินแดนเพิ่มมากขึ้น


 


มองการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยอย่างไรบ้าง?


ถ้าจะแก้ปัญหาในชายแดนภาคใต้ ก็จะต้องเริ่มที่จะต้องเคารพในความสำคัญของมุสลิมในพื้นที่เสียก่อน ให้เขารู้สึกว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นประเทศไทยอยู่มาได้จนทุกวันนี้ ให้เขาอยู่ร่วมกับรัฐไทยด้วยความภาคภูมิใจ มิใช่ว่า เป็นคนมุสลิมที่น่ารังเกียจ หรือว่าเป็นคนภาคใต้ที่มีแต่ปัญหา


 


เพราะฉะนั้น ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยเชิงจิตวิทยา และนโยบายการปกครองต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับเขา อย่างกรณีเกิดปัญหาความรุนแรง ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีและให้ความเป็นธรรมกับคนในพื้นที่ ไม่ใช่เหมารวมว่าทุกคนเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ซึ่งน่าจะค่อยๆ แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้


 


เราจะต้องทำให้เขารู้สึกภูมิใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย มิใช่ว่า เมื่อเขามีปัญหา เราก็ยิ่งไปตอกย้ำ คนไทยที่เหลือที่ไม่ใช่เป็นคนภาคใต้ก็ไปมองว่าพวกนี้สร้างปัญหา และก็ด่าๆ ๆ และก็เกลียดคนมุสลิม ซึ่งหากเรามีความรู้สึกเช่นนี้มากเท่าไร ปัญหาภาคใต้ก็ไม่มีวันจบ เพราะว่าคนทางภาคใต้ก็จะเกิดความรู้สึกว่า ไม่มีใครชอบเขาแล้ว เพราะฉะนั้น คนที่ไม่เคยคิดจะแบ่งแยกดินแดน ก็อาจจะเข้าไปร่วมขบวนการด้วย เพราะไม่มีใครยอมรับ


 


รู้สึกว่าทุกวันนี้ กระแสความรุนแรงทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยิ่งเกลียดชังมากขึ้น?


คนไทยส่วนใหญ่ ควรจะลดอคติต่อคนที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และควรพยายามมองถึงปัญหาชายแดนภาคใต้ให้เข้าใจ ว่าปัญหานี้มันซับซ้อน เข้าใจว่ามันมาจากปัญหาอะไรบ้าง และก็ขอให้ความเป็นธรรมกับคนในพื้นที่ ที่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้ เพราะในขณะนี้ ชาวมุสลิมจะถูกมองในแง่ลบค่อนข้างเยอะ ซึ่งอาจเป็นการกดดัน และอาจทำให้คนที่ต้องการใช้ความรุนแรงได้เข้าไปยั่วยุทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น


 


ได้ข่าวว่าลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้?


ใช่ ล่าสุด ทางศูนย์ข่าวอิศรา เชิญลงไปพูดในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งของชายแดนตะวันตกกับชายแดนภาคใต้ ได้พูดถึงเรื่องการทำข่าวตามแนวชายแดนว่า ควรต้องทำอย่างไร และระวังตัวอย่างไรบ้าง ได้ร่วมรับฟังถึงปัญหาของนักข่าวชายแดนภาคใต้ พร้อมกับร่วมรับรู้ปัญหาของคนมุสลิมว่า ทุกวันนี้ เมื่อเขาออกมานอกพื้นที่ มักจะถูกมองเหมือนกับว่าพวกเขาเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เหมือนเป็นเชื้อโรค เหมือนเป็นความชั่วร้ายของสังคมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ถ้ารัฐบาลไทยไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ ว่าความจริงมันเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดการปะทุรุนแรงมากขึ้น


 


หากคนไทยที่อยู่อีก 70 จังหวัด มองคน 3 จังหวัด ว่าเป็นพวกสร้างปัญหา แน่นอน ปัญหานี้จะไม่มีวันแก้ได้ ต้องให้คนที่เหลือหันมามองและทำความเข้าใจ และอย่าไปเกลียด อย่าไปรู้สึกมีอคติปะปนทั้งหมด แต่ควรหาวิธีการที่จะแก้ไขปัญหากันดีกว่า เพราะฟังดูแล้วรู้สึกน่าเป็นห่วง ซึ่งจุดนี้คล้ายๆ กับปัญหาของพม่า ที่คนไทยส่วนใหญ่จะยังคงมีอคติต่อคนพม่าและชนกลุ่มน้อยจากประเทศพม่ากันอยู่


 


อยากให้มีการปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนกับการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ ถ้าคนไทยยังมีอคติกันอย่างนี้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่า ปัญหาความเกลียดชังมันจะนำไปสู่ความรุนแรง


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net