ข้อเสนอแนะ มุสลิมกับพิธีกรรมการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์

โดย..อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ) shukur2003@yahoo.co.uk

นักศึกษาปริญญาเอกศาสนาเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

 

...................................

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณา ปราณี เสมอ ขอความสันติมีแด่ศาสดามูฮัมหมัด และสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน 

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก พระองค์ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจต่างๆ อันเป็นประโยชน์โดยตรงแก่พสกนิกรของพระองค์ โดยไม่ทรงถือความแตกต่างในด้านศาสนาแต่ประการใด

ทุกศาสนาในประเทศไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์โดยทัดเทียมกัน ทำให้ความรู้สึกกตัญญูของพสกนิกร ทุกศาสนา ที่มีต่อพระองค์ ประหนึ่งความรู้สึกกตัญญูของลูกที่มีต่อพ่อ

ความแตกต่างทางศาสนาไม่ได้กร่อนทำลายความรู้สึกดังกล่าวแม้แต่น้อย ชนชาติไทยประกอบด้วยเชื้อชาติดั้งเดิมหลายเชื้อชาติ ซึ่งความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ แห่งชนชาติดั้งเดิมนั้น ไม่ได้บ่อนเซาะความรู้สึกจงรักภักดีต่อพระองค์เลย

ด้วยพระองค์ทรงมีพระจริยานุวัตรอันเปี่ยมล้นด้วยทศพิธราชธรรม ซึ่งทรงแผ่ขยายไพศาลออกไปทั่วทุกสารทิศ ประดุจดังสายลมรำเพย เมื่อสัมผัสสิ่งใด ก็ยังความสดชื่นแก่สิ่งนั้นอย่างท่วมท้น เป็นอานุภาพที่ชำแรกสู่จิตวิญญาณของพสกนิกร สถิตอย่างถาวร มั่นคงไม่สั่นคลอน และแน่นแฟ้นไม่หวั่นไหว

พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์นั้น มิใช่เป็นเพียงนามธรรมที่หวังจำนรรจ์ เพื่อความไพเราะทางภาษา แต่เป็นรูปธรรมที่สามารถสัมผัสได้นั้นคือ พระกรณียกิจที่กำหนดเป็นโครงการแผนงานดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน กระจายออกไปทั่วราชอาณาจักร ปรากฏเป็นหลักฐานที่เด่นชัด เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก

โครงการในพระราชดำริที่ดำเนินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพี่น้องมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ โครงการเหล่านั้นอำนวยประโยชน์โดยตรงแก่พี่น้องมุสลิม ด้วยมูลค่าทางวัตถุมหาศาล แต่มูลค่าทางจิตใจยิ่งใหญ่กว่ามากมาย

มุสลิมจำนวนมากที่ได้รับพระมหากรุณาทรงอุปถัมภ์โดยตรง ไม่ว่าในด้านการรักษาพยาบาลการอาชีพ การศึกษา หรือ การศาสนา ก็ตาม

ทรงพระราชทานรางวัลครูสอนศาสนาดีเด่นทุกปี ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ

ทรงพระราชทานรางวัลมัสยิดดีเด่นทุกปี ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย

ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างมัสยิดหรือสมทบทุนก่อสร้างมัสยิดหลายแห่ง

ทรงมีพระราชดำริให้รัฐบาลจัดสร้างมัสยิดประจำจังหวัด 4 จังหวัด จนครบถ้วน คือ มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี มัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา มัสยิดกลางประจำจังหวัดสตูล และมัสยิดกลางประจำจังหวัดนราธิวาส

ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่นายต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี อธิบายความหมายอัลกุรอาน เป็นภาษาไทย

ทรงสนับสนุนให้รัฐบาลจัดงบประมาณก่อสร้างศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลาม ในสมัยนายประเสริฐ มะหะหมัด อดีตจุฬาราชมนตรี

ทรงวางพระองค์เป็นกันเองกับพสกนิกรมุสลิมที่เข้าเฝ้าฯ และทรงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ทุกคนเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับพสกนิกรที่เข้าเฝ้าฯ อย่างสนิทสนมไม่ถือพระองค์

มุสลิมจำนวนไม่น้อยที่รับพระมหากรุณา และไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำงานสนองพระบรมราชโองการอย่างใกล้ขิด และต่อเนื่องยาวนาน

ทรงสนใจศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและศึกษาวัฒนธรรมนั้นอย่างให้เกียรติ ทรงทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างตั้งพระทัยด้วยเวลาอันยาวนาน

ทรงศึกษาภาษามลายูท้องถิ่น จนทรงมีพระปรีชาสามารถสนทนากับชาวพื้นเมืองด้วยภาษาดังกล่าว จนบางครั้งทรงสัพยอกชาวเมืองด้วยภาษาของเขา จนเขาต้องหลั่งน้ำตาด้วยความตื้นตัน

ความสนิมสนมต่อพสกนิกรมุสลิมชาวภาคใต้ที่ทรงพระราชทานแก่พวกเขา ได้ทำให้ทำนบทางจิตใจที่ขวางกั้นด้วยวรรณะ ระหว่างพสกนิกรกับพระองค์พังทลาย จนพสกนิกรกล้าทักทายพระองค์ ด้วยการเรียกพระองค์ว่า "ในหลวง" และบางคนทักทาย พระองค์ด้วยภาษามลายูว่า "ราญอ" เมื่อพระองค์ทรงได้ยินการทักทายอันบริสุทธิ์นั้น พระองค์ทรงพระราชดำเนินแหวกวงล้อมของเจ้าหน้าที่ เข้าไปยังพสกนิกรที่ทักทายนั้นทันที และทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับเขา อย่างไม่ถือพระองค์ ท่ามกลางความตระหนก ของเจ้าหน้าที่อารักขาพระองค์
 
(โปรดดูคุตบะห์ เฉลิมพระเกียรติ 2542 : 21-23)

 

ในประเทศไทยมีพสกนิกรของท่านจากหลากหลายเชื้อชาติและศาสนา ดังนั้น การแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ ทางกิริยาหรือวาจา จึงขึ้นอยู่กับหลักศาสนาและวัฒนธรรมของแต่ละคน ซึ่งอาจจะแตกต่างกัน อาจจะคล้ายกัน หรือ ผิดแผกกัน จนคนไม่เข้าใจ อาจจะตีความไปคนละอย่าง แบบหน้ามือเป็นหลังมือก็เป็นได้

ตามหลักศาสนาอิสลาม ถือว่าการเคารพภักดีและนับถือ เป็นคุณธรรมที่ดีของมนุษย์ทุกคน อันพึงมีต่อผู้มีพระคุณ เช่น ต่อพระมหากษัตริย์ ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ ต่อพ่อแม่ ในฐานะผู้ให้กำเนิด ต่อคุณครู ในฐานะผู้ให้ความรู้ และอื่นๆ มิใช่ในฐานะพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในอิสลามถือว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเอกองค์อัลลอฮฺ (อัลกุรอาน 2 : 255)

ซึ่งหลักการเคารพนับถือต่อพระเจ้านั้น จะต้องผนวกไปกับการกราบนมัสการต่อพระองค์ด้วย ซึ่งการแสดงความเคารพของมุสลิมต่อสิ่งอื่น หรือบุคคล ด้วยการกราบ ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

 

คำตอบจุฬาราชมนตรี

เกี่ยวกับการเคารพภักดีต่อพระบรมฉายาลักษณ์ พระมหากษัตริย์ของมุสลิม

 

คำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลามถือเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อให้ทุกคนโดยเฉพาะข้าราชการนำเป็นคู่มือในการปฏิบัติอันจะนำไปสู่ความเข้าใจ( โปรดดูคำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลามจากการรวบรวมโดย ศอ.บต).

 

ปัญหาที่ ๑๙       ปัญหาเรื่องการทำความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ การแสดงความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพิธีการต่างๆ จะขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ ใคร่ขอทราบข้อเท็จจริงและความเห็น

คำตอบ              - การยืนตรงต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม

- การก้มศีรษะไม่ถึงขั้นรุกัวะ ถือเป็นการกระทำที่ไม่บังควร (มักรูฮ)

การก้มศีรษะถึงขั้นรุกัวะ บางทัศนะว่าต้องห้าม(หะรอม) บางทัศนะว่าไม่บังควร(มักรูฮ)


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงหลักการของศาสนาอิสลามในข้อนี้ดี เพราะพระองค์ทรงศึกษาหลักการศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง ทรงมีรับสั่งให้แก้ไขระเบียบที่ขัดกับหลักการอิสลาม สำหรับพสกนิกรมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ในวันที่ ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2540) โดยทรงมีรับสั่งให้ประธานรัฐสภาปฏิบัติตนให้ตรงตามหลักการศาสนา อันใดที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม ก็ไม่ต้องปฏิบัติ

จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้เราได้ทราบว่า ในจิตใจของมุสลิม ถึงแม้ว่า การเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์แบบกราบไม่ได้ แต่ความจงรักภักดีในพระองค์ท่าน ก็มีอย่างครบสมบูรณ์ ไม่ได้แตกต่างไปจากคนศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่น ที่แสดงความจงรักภักดี ด้วยการกราบ ดังนั้น หน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เชิญข้าราชการมุสลิม บรรดาโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และประชาชนมุสลิม ในพระราชพิธีต่างๆ ควรคำนึงถึงข้อนี้ เพื่อขจัดปัญหาความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะแก่นแท้สาระของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มิได้อยู่ที่การกราบ แต่อยู่ที่การประพฤติดีต่างหาก

ในพจนานุกรมไทย หน้า 285 ได้ให้ความหมายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไว้ว่า "ผูกใจรักด้วยความเคารพนับถือหรือรู้คุณอย่างยิ่ง"

จากประโยคดังกล่าว เราสามารถให้ความหมายได้ดังนี้

กล่าวคือ รัก หมายถึง มีจิตใจผูกพันด้วยความห่วงใย (พจนานุกรมหน้า 939)
เคารพ หมายถึง แสดงอาการนับถือ (พจนานุกรม หน้า 264)
นับถือ หมายถึง เชื่อถือยึดมั่น (พจนานุกรม หน้า 571)

ดังนั้น ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จุดเริ่มต้นคือ การเริ่มด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และแสดงเป็นภาคผลของการกระทำ ที่ตรงกับจิตใจ การแสดงความจงรักภักดีทางพิธีกรรมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่มีทั่วประเทศ การปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้ง ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ จะไม่มีค่าใดๆ เลย หากการแสดงออกของบุคคลเหล่านั้น ไม่ตรงกับใจ

การให้สัมภาษณ์ทางวาจาของรัฐบาลและข้าราชการว่า จะน้อมรับกระแสพระราชดำรัสแต่ละครั้ง จะไม่มีผลเช่นกัน หากนโยบายและการกระทำยังคงสวนทางกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ปัญหาภาคใต้โดยสันติวิธี การไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และอื่น ๆ

นี่แหละ คือแก่นแท้ของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์

กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท