Skip to main content
sharethis


นับจากวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 8 ปีทีเดียวที่คำว่า "ปฏิรูปการเมือง" เป็นคำที่ไม่ค่อยจะมีใครพูดถึง ตราบจนกระทั่งวันนี้ วันที่เกิดการชุมนุมภายใต้การนำของ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และผู้ก่อตั้งสื่อในเครือ "ผู้จัดการ" คำว่า "การปฏิรูปการเมือง" จึงได้กลับมาเป็นวาระทางสังคมอีกครั้ง


 


แล้วเจตนารมณ์ในการปฏิรูปการเมืองและความปรารถนาจะเห็นการเมืองที่ดีของคนชั้นกลางทั่วสารทิศที่แสดงออกด้วยการ "ชูธงเขียว" ในการรณรงค์ให้รัฐสภาผ่านร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 คืออะไร


 


สรุปแบบรวมๆ อาจจะได้เป็น 3 เรื่องคือ เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีกระบวนการตรวจสอบอำนาจรัฐที่เป็นอิสระยุติธรรม และประการสุดท้ายคือ การมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง (Strong Prime Minister)


 


แต่บางทีสังคมไทยอาจจะโชคร้าย เพราะเพียงรัฐบาลชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ เราก็ได้รัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ  ทำการควบรวมพรรค ครองเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และอำนาจอันล้นฟ้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับกลายเป็นปัญหาทันที เมื่อใช้อำนาจก้าวล่วงไปละเมิดหลักการใหญ่ๆ อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นเครื่องมือ คือการละเมิดสิทธิเสรีภาพ การแทรกแซงและควบคุมสื่อสารมวลชน รวมไปถึงการแทรกแซงกลไกการตรวจสอบ ตั้งแต่วุฒิสภา องค์กรอิสระทุกองค์กร จนทำให้รัฐบาลทักษิณก้าวเกินขีดของรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สู่เส้นของการเป็น "เผด็จการรัฐสภา"


 


และแน่นอน ที่กลายเป็นชนวนสำคัญของ "ม็อบสนธิ" คือหลักที่ได้รับการชูขึ้นมาในภายหลัง นั่นคือ หลัก "พระราชอำนาจ"


 


แม้ข้อหานี้ รัฐบาลจะรุกกลับด้วยการออกทีวีของผู้เกี่ยวข้องชี้แจงถึง "การทำบุญประเทศ" ในวัดพระแก้ว พร้อมกับการโยนข้อหา "ดึงฟ้าต่ำ" เข้าใส่ม็อบสนธิ จนเกือบกลายเป็นจุดอ่อน แต่จุดอ่อนนี้ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นจุดแข็งได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อสนธิเขยิบประเด็นการเปิดโปงความเลวร้ายของรัฐบาลทักษิณ และการละเมิดพระราชอำนาจ ให้ก้าวข้ามไปสู่ "การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2" ตามแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม ที่เสนอโดย ศ.อมร จันทรสมบูรณ์


 


โดยเริ่มต้นด้วยการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 313 เพื่อ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" แด่องค์พระมหากษัตริย์ เพื่อทรงใช้ร่วมกับประชาชน ในการจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมืองใหม่ ผ่านทางการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งเป็นประเด็นที่หนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ" ชูและขยายความรู้เรื่องนี้มาตลอดไม่น้อยกว่า 5 ปี


 


มาตรา 313 ที่จริงก็คือ มาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมกระทำได้โดยการเสนอของคณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.จำนวน 1 ใน 5 ที่พรรคมีมติให้เสนอ หรือจะเป็นการร่วมเสนอของ ส.ส. และส.ว. โดยใช้เสียง 1 ใน 5 ของจำนวนที่มีอยู่ทั้งสองสภา นอกนั้นก็เป็นเรื่องของข้อกำหนดทั่วๆ ไป เช่น การเสนอแก้ไขต้องเสนอมาเป็นร่างแก้ไข เพราะคงไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนมีข้อกำหนดอนุญาตให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดได้ (ยกเว้นฉบับปี 2534 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 211 ปี 2540 เพื่อเปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทางอ้อม)


 


ว่าไปแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มีบทบัญญัติใดๆ ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากแต่อย่างใดเลย


 


แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้กุมและบงการ ส.ส. ส่วนใหญ่ผ่านพรรคจะยอมแก้ไขหรือไม่ หรือหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมแก้ไข แล้วการแก้นั้นจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ใคร หากผู้พิจารณาแก้ไขยังคงเป็นรัฐสภาซึ่งมีรัฐบาลครองเสียงข้างมากอยู่


 


ร้ายไปกว่านั้น สำหรับ ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ ยังมองด้วยว่า การจะบรรลุเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงและมีผลในทางปฏิบัติให้องค์กรอิสระทำงานตรวจสอบได้ ให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง แต่ไม่ก้าวเกินขีดเผด็จการรัฐสภา ไม่สามารถทำได้โดยการแก้ไขรายมาตรา หากแต่จะต้องทำการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือเรียกว่า "การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2"  โดยเริ่มต้นจากการแก้ไขมาตรา 313 ทำนองเดียวกับการแก้ไขมาตรา 211 ในปี 2540 เพื่อเปิดประตูให้มีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับนั่นเอง


 


แต่ความต่างในข้อเสนอ ศ.อมร ให้แก้ไข มาตรา 313 กับเมื่อครั้งแก้ไข มาตรา 211 ในปี 2540 อยู่ตรงไหน...ก็อยู่ตรงที่ "ใคร" ที่จะมาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


เมื่อครั้งยกร่างในปี 2540 ผู้ยกร่างคือสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม


 


แต่ข้อเสนอของ ศ.อมร นั้นเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องของ "ผู้เชี่ยวชาญ" และคนในระดับมากบารมีหรือ "รัฐบุรุษ" (stateman) อาจจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี 2-3 คน โดยอาศัยความชอบธรรมจาก "พระราชอำนาจ" หรือก็คือ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะบุคคลเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้


 


และเมื่อยกร่างเสร็จ จึงนำมาทำประชามติ ตามหลักของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ซึ่ง "เซี่ยงเส้าหลง" แห่งผู้จัดการรายวัน เคยระบุว่า หมายถึง "...ยึดอำนาจจากกลุ่มทุนผูกขาดที่ครองอำนาจรัฐปัจจุบัน ถวายคืนแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อทรงใช้ร่วมกับประชาชน ในการจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมืองใหม่ ผ่านทางการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ" นั่นเอง


 


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการแก้ไข มาตรา 313 จะเป็นไปได้หรือไม่ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ


แต่ตัวอย่างและข้อเสนอแก้ไขสไตล์ ศ.อมร ที่ออกมาใน 4 ประเด็นคือ ไม่บังคับ ส.ส.สังกัดพรรค, ไม่บังคับนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. รวมถึง นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้ 1 สมัย โดยขยายวาระให้ยาวเป็น 6 ปี และ การลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ มีผลเท่ากับการยุบสภา เพื่อให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้ยากขึ้น เพื่อสร้างให้นายกฯเข้มแข็งและเป็นอิสระจากการต่อรองของ ส.ส. ก็เพียงพอที่จะทำให้ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจุดติด (สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546 โดย www.pub-law.net เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย)


 


โดยเฉพาะการบังคับให้ ส.ส. ไม่สังกัดพรรค ก็ได้รับการรับลูก จาก ส.ส.ในซีกฝ่ายของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายแฝงเพียงแค่หวังจะปลดล็อก กรณีผู้สมัคร ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนการเลือกตั้ง (มาตรา 107 (4)) ที่เป็นเหมือนโซ่ล่าม ส.ส.ให้เป็นทาสพรรคนั่นเอง


 


ผลของ "ม็อบสนธิ" ซึ่งเขย่าเสถียรภาพของรัฐบาล โดยการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 จึงอาจจะลงเอยแค่การปลดพันธการของ ส.ส.ในพรรคไทยรักไทย โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น


 


แต่แค่นั่นก็ยากมากแล้ว ในวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยิ่งใหญ่อย่างในวันนี้


 


...........................................................


หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์" ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม 2548


 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net