Skip to main content
sharethis


คลิ๊กที่ภาพ



สถานการณ์บ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมชนที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากผลงานการต่อสู้ต่อต้านโรงไฟฟ้า ยังคงหนักหนาสาหัสหลังเผชิญน้ำท่วมฉับพลันครั้งใหญ่เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา จนบัดนี้พวกเขากำลังถูกคุกคามครั้งใหม่ จากการฉวยโอกาสของอำนาจท้องถิ่น "ประชาไท" จะชวนคุณไปถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ จินตนา แก้วขาว ผู้นำชุมชนแห่งนี้


 


0 0 0


 


สถานการณ์หลังน้ำลดตอนนี้เป็นอย่าไรบ้าง ความช่วยเหลือลงไปถึงหรือยัง


ความช่วยเหลือ ยังไม่ถึงนะ คิดว่าเกือบ 100 % อย่างวันนี้มีข้าวของเครื่องใช้มาแจกชาวบ้าน ก็แจกกันเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เขาอ้างว่าจะให้เฉพาะคนที่บ้านพัง คนที่บ้านพังบางส่วนได้ แต่บางส่วนที่ถือของมานั้นบ้านไม่ได้พัง


 


พี่กล้าให้ออกข่าวได้เลยว่าคนที่เดือดร้อนยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ พี่ก็ได้รับผลกระทบแต่เราไม่เคยได้รับบริจาคของ แล้วเราก็เป็นจุดที่ตั้งเต็นท์แจกของให้ชาวบ้านอีกด้วย


 


แล้วมันก็มีการสำรวจความเสียหายอยู่ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งก็บอกว่าครั้งเก่าไม่เอา ครั้งเก่าไม่เอาตลอดเวลา พอสำรวจครั้งที่สองก็มาบอกว่าครั้งที่หนึ่งไม่เอาแล้ว เข้ามาสำรวจครั้งที่สามก็บอกว่าครั้งที่แล้วไม่เอา ครั้งล่าสุด บอกว่าความเสียหายที่จะได้รับการชดเชยคือ บ้าน  เครื่องนุ่งห่มเสียหาย ได้ เครื่องมือทำกินเสียหาย ได้ แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้ พี่บอกว่าเครื่องมือทำกินของพี่คือ ตู้เย็นแช่สองลูก เพราะบ้านเป็นร้านค้า แต่เขาบอกเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้  พวกช่างไม้ ก็ไม่ได้ เพราะเครื่องมือเขา พวกสว่านอะไรพวกนี้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า


 


สำรวจไปสามครั้งสี่ครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการชดเชย


 


ชาวบ้านกลุ่มที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือนี้มีประมาณเท่าไร


ไม่เห็นตำบลอื่นของอำเภอบางสะพานนะ แต่ที่บ้านกรูดนี้ เห็นเป็นรูปธรรม มีเป็นร้อยหลังคาเรือนที่ไม่ได้ แล้วคนที่ได้กว่า 50 หลังคาเรือนไม่ใช่คนเดือดร้อน


 


ลักษณะของบ้านกรูด มันท่วมทั่วถึง ตั้งแต่ตาตุ่ม หัวเข่า บั้นเอว อก คอ หรือว่าหายไปทั้งหลัง หย่อมบ้านพี่นี่แค่อก แต่ไม่มีใครได้รับชดเชยข้าวของ แม้แต่ข้าวสารอาหารแห้งก็ไม่ได้  ก็ไปถามว่าทำไมไม่ได้ เขาบอกไม่ได้เสียหายทั้งหลัง แต่เห็นคนถือของกลับมาหลายคนไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย คนสำรวจก็คือผู้ช่วยผู้ใหญ่ มันเป็นปัญหาว่าไม่มีการสำรวจจริงว่าใครเสียหายบ้าง ใครมากใครน้อย


 


ความช่วยเหลือที่ลงมาเป็นของหน่วยงานไหนบ้าง


ช่วงแรกๆ เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่หลังๆ นี่เป็นเอกชน แต่เขาก็ประสานมากับหน่วยงานท้องถิ่นทั้งนั้น


 


แล้วชาวบ้านที่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออยู่ยังไง ใครช่วย


ส่วนใหญ่มาจากองค์กรพันธมิตร อย่างกลุ่มอนุรักษ์ของเราแจกให้ชาวบ้านทั่วถึง ก็จะใช้วิธีว่ากลุ่มดอนสูงมีกี่คน แกนนำเอาไป กลุ่มหนองจันทร์มีกี่คน แกนนำเอาไป กลุ่มในสวนมีกี่คน แกนนำเอาไป เราจะจ่ายให้ทุกคนเท่าที่เรามีของในมือ


 


ของมาจากไหนบ้าง


มาจากชาวบ้านบ่อนอก กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก สภาทนายความ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เมืองกาญจนบุรี มอส. -มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม แล้วก็กลุ่มพลังงานทางเลือก กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ฯ แล้วก็มูลนิธิโลกสีเขียว เป็นกลุ่มพันธมิตรทั้งหมดที่เอามาให้ ไม่มีของจากหน่วยงานของรัฐเลย ไม่มี ไม่มีก็ไม่ว่านะ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า ในความคิดของคนเหล่านี้ มองเราเป็นพวกขัดแย้ง เทศบาลไม่เอาของมาแจกเราไม่ว่า แต่มายืมน้ำดื่มเราอีก 11 โหล ที่เราได้รับบริจาคมา ทุกวันนี้ทวงมาสามสี่รอบแล้ว ยังไม่ได้คืนเลย ชาวบ้าน 200 หลังคาเรือนไม่มีน้ำจะกิน เราต้องดิ้นรนเอาเงินกองกลางที่ได้รับบริจาคไปซื้อน้ำให้ชาวบ้านกิน โดยบังคับว่าบ้านหนึ่งได้แค่ 6 ขวด


 


น้ำ 6 ขวดต่อวันหรือ


ต่อวัน ยกเว้นว่าบ้านหนึ่งมีมากกว่า 5 คน ถึงจะ 2 แพ็ค เพราะเราได้น้ำมาน้อย ต้องแบ่งกันตั้ง 200 ครัวเรือน โดยที่รัฐไม่ได้ให้เราแม้แต่ขวดนึง แล้วยังมาเอาของเราไป 11 โหล ทวงไปหลายรอบแล้ว นี่คือสิ่งที่เราเห็นว่าไม่ให้ แล้วยังเอาไปอีก


 


ของที่มีอยู่ จะพอประทังไปซักเท่าไหร่


วันนี้นะ ข้าวสารที่ได้เป็น 5 โล แล้วก็ได้เป็นกระสอบที่เราตักแบ่งให้ชาวบ้านโดยใช้กิโลชั่ง ทุกคนจะได้ 5 โลหมด แต่ถ้าไม่ถึงก็จะเฉลี่ยให้ได้เท่ากันทุกคน ทุกคนต้องได้ข้าวเท่ากัน ปลากระป๋องเท่ากัน มาม่าเท่ากัน แต่วันนี้เราเหลือข้าวอยู่ไม่ถึง 30 โล เราเหลือมาม่าอยู่ประมาณ 8 กล่อง แล้วเราก็เหลือน้ำปลาอยู่ไม่ถึงลัง วันนี้เราจ่ายให้ชาวบ้านไม่ได้ เราต้องหุงเลี้ยงคนที่ยังไม่มีหม้อข้าว กินกองกลางกันอยู่ แต่ทีนี้เรายังมีเงินกลุ่ม ก็คิดกันว่าถ้าตรงนี้หมดคงต้องเบิกเงินกลุ่มมาซื้อของ เพราะกว่าเขาจะซื้อหม้อข้าวได้ กว่าจะทยอยออกไปจากกองกลางได้ จาก 100 กว่าคน ตอนนี้ก็เหลือราวๆ ซัก 30 กว่าคน ใครพึ่งตัวเองได้ ยืนด้วยตัวเองได้ ก็ให้เอาอาหารแห้งไปแล้วช่วยเหลือตัวเอง


 


ที่เคยแจกให้ชาวบ้าน ไม่เหลือแจกแล้ว แล้วเขาจะไปเอาจากไหนกัน


ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ตอนนี้เงินกองกลางก็เหลืออยู่ 6,000 กว่าบาทเอง เราก็ไม่พอหรอกที่จะรองรับมันได้ ก็ต้องฟังข่าวตลอดว่าตอนนี้ท้องถิ่นให้อะไร เราก็ช่วยเต็มกำลังที่เราทำได้ นี่คือข้อเท็จจริงเลย นี่ก็ลำบากแล้ว


 


แล้วคุณยังมาบีบบังคับกับชาวบ้านอย่างบุญจันทร์ น้อยผล เนี่ย เขาตัดไม้ไผ่มายกบ้านเขา เขาไม่ประสงค์จะอยากมีบ้านเอื้ออาทร แล้วท้องถิ่นทำไมไม่สนับสนุนให้เขาพึ่งตัวเองได้ ไม่สนับสนุนให้เขาไม่มีหนี้ นี่คือข้อถกเถียงของพวกเรา คุณไปบังคับให้เขาเป็นหนี้ทำไม จะให้ไปอยู่บ้านนอคดาวน์หมดไม่ได้ ถ้าใครสมัครใจก็ให้เขาไป ใครไม่สมัครใจก็ต้องให้เขาอยู่ที่เดิม เขาบอกว่าไม่ได้ ยังไงก็สร้างใหม่ไม่ได้ ก็ไม่รู้แหละ ถ้ารื้อพวกเราก็ไม่ยอม มันเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ชาวบ้านอยู่ได้ คุณจะปล่อยให้นายทุนมารุกเอาไปอีก ถมไปตั้งเยอะ


 


เรื่องไล่รื้อบ้านบุญจันทร์นี่เป็นมายังไง เห็นว่าเป็นประเด็นขัดแย้งใหญ่ในพื้นที่


คือ เราทราบข่าวมาว่า เทศบาลเขาจะทำถนน แล้วก็ท่าเทียบเรือ เพราะบริเวณนี้เป็นที่น้ำท่วมถึง เป็นป่าเลน แล้วชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่ก็ไปอาศัยอยู่ที่ตะกาด ตะกาดคือที่สาธารณะที่น้ำท่วมถึง ซึ่งชาวบ้านอยู่กันมา 40 50 ปีแล้ว ไม่มีการลงทะเบียน แต่ชาวบ้านอยู่กันเยอะ หลังจากน้ำท่วมเที่ยวนี้ ทางนายกฯ (นายกเทศมนตรี) เขาก็มีความเห็นว่าต้องทำท่าเทียบเรือ แล้วต้องขุดลอกคลอง ขุดลอกอ่าวเข้ามา โดยทำถนนเว้าเป็นรูปอ่าว จากฝั่งหัวสะพานไปขึ้นตรงบ้านปากคลอง ซึ่งถนนเส้นนี้ถ้าทำได้ มันจะกั้นน้ำที่ไหลจากตะกาดที่จะไหลลงคลองหรือลงทะเลโดยสิ้นเชิง ธรรมดาเป็นคลองใหญ่ เวลาน้ำหลากจะไหลลงคลองได้เลย  มันจะไม่ท่วม ยกเว้นน้ำทะเลหนุน เหมือนสถานการณ์เมื่อวันก่อนที่น้ำทะเลหนุนแล้วน้ำป่ามันหลากมา แต่ธรรมดาที่นี่จะท่วมยากมาก ถ้าเทศบาลมาสร้างถนนตัดปิดน้ำจะไหลลงคลองใหญ่ไม่ได้ ชาวบ้านที่อยู่ในตะกาดทั้งหมดจะถูกน้ำท่วม


 


มีประมาณกี่หลังที่อยู่ตรงนั้น


ประมาณ 50 หลังคาเรือน มันจะถูกน้ำท่วม ซึ่งพอพวกเรารู้ข่าว เราก็ไปถามนายกฯ ว่า มีเหตุผลอะไรในการทำ เนื่องจากทำแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างสูงกับระบบนิเวศ เนื่องจากจะเกิดตะกอนทรายต่างๆ แล้วก็จะมีปัญหากับการไหลของน้ำ


 


ตอนนายกฯ มาบอกกับชาวบ้านเขายืนยันว่าจะทำ ให้ชาวบ้านย้ายบ้านออก แต่พอเราทำเป็นหนังสือไปถามความคิดเห็น นายกฯ ก็ชี้แจงว่ายังไม่ทำตอนนี้ แต่ระหว่างนายกฯ ชี้แจงนี้ นายกฯ จัดให้มีการชี้แจงในที่เอกชน ซึ่งมีความขัดแย้งกับชาวบ้านในตะกาดอยู่ หลังจากชี้แจงไปได้ไม่ถึง 10 นาทีก็มีคนของนายกฯ ลุกขึ้นตะโกนท้าทายชาวบ้าน เราก็ถามนายกฯว่า เมื่อเชิญชาวบ้านมาประชุม ทำไมไม่ยุติปัญหาวุ่นวายนี้  พี่ก็ได้ถามนายกฯ ว่าโครงการนี้จะไม่ทำใช่หรือเปล่า ถ้าฟังนายกฯ พูดแล้วมันเหมือนจะไม่ทำ แต่นายกฯ ก็ไม่ตอบ ถามซ้ำสองครั้งก็ไม่ตอบ แต่จากการชี้แจงเบื้องต้นก่อนจะมีปัญหาวุ่นวายนี้ นายกฯ บอกว่าจะขุดลองคลอง ซึ่งพวกเราเห็นด้วยกับการขุดลอกคลองให้น้ำระบาย แต่นายกฯ บอกว่าต่อไปข้างหน้าอาจต้องทำถนนกันคลื่นหรือท่าเทียบเรือ ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่พวกเราไม่เห็นด้วย แต่ยังเจรจากันไม่ถึงไหนก็มีการพาลหาเรื่องของฝ่ายเทศบาลขึ้นมาก่อน


 


เวลาชี้แจงนี่ คือ ให้ไปชี้แจงในพื้นที่ของเอกชนที่อยู่ข้างๆ ซึ่งมีปัญหากันอยู่


ใช่ จุดตรงนั้นนายกฯ เป็นคนกำหนดว่าจะประชุม ซึ่งชาวบ้านจะไม่ไปกัน เพราะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้ข้อให้ย้ายที่ประชุม เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาส่วนรวมไม่อยากจะจุกจิก


 


มีการทำหนังสือชี้แจงจากเทศบาลไหม


ไม่มีหนังสือเป็นเรื่องเป็นราว แต่เรามีหนังสือไปถามนายกฯ นายกฯ ก็มีหนังสือตอบกลับมาว่าจะนัดประชุมเมื่อวานนี้ (30พ.ย.) แต่มันก็ยังสรุปไม่ได้ เพราะกลุ่มนั้นด่าพวกเราว่า "ไม่มีเรือแล้วเสือก" ด่าเราแบบหยาบคาย


 


ที่บอกว่ากลุ่มของนายกฯ นี่หมายถึงข้าราชการที่เทศบาลหรือเปล่า


เป็นพวกกรรมการชุมชน แล้วก็เป็นที่ปรึกษานายกฯ เป็นชาวบ้านนี่แหละ แต่เขาตั้งให้เป็นที่ปรึกษา เขาอ้างว่าเป็นตัวแทนชาวประมง ทางเราก็เป็นตัวแทนชาวประมง แต่เป็นชาวประมงที่เห็นแย้ง ถ้าเป็นฝ่ายชาวบ้านแสดงท่าทางกักขฬะ มันพอทนได้ มันเป็นชาวบ้าน แต่เราไม่เข้าใจว่าตัวนายกฯ ทำไมปล่อยให้คนของตัวเองแสดงท่าทางกักขฬะ


 


แล้วจะดำเนินการยังไงต่อ จะประชุมอีกไหม


นายกฯ บอกว่าจะประชุมอีกพรุ่งนี้ตอน 5 โมงเย็น แต่ว่าที่ปรึกษาตะโกนใส่ไมค์มาว่า คนที่ไม่มีเรืออย่าเสือกมา ซึ่งที่สุดแล้วชาวบ้านในชุมชนทั้งที่เป็นชาวประมงและไม่ได้ออกเรือก็มาสรุปกันว่า ถ้าเขาพูดจาอย่างนั้นก็จะไม่ไป ถ้าไปแล้วเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกน่าจะมีปัญหา เราไม่อยากให้มันเกิดปัญหาขัดแย้งมากขั้น เราจะใช้ท่าทีเหมือนที่ค้านโรงไฟฟ้าก็ได้ แต่นี่คือคนในพื้นที่ ไม่ใช่คนข้างนอก


 


แต่มีจุดยุติว่าจะเฝ้าจุดที่จะขุดรอก หรือทำถนน ท่าเทียบเรือนี้ เพราะถือว่าได้ชี้แจงนายกฯ ไปแล้วว่าเราไม่เห็นด้วยในการทำ นายกฯ ไม่สามารถยุติปัญหาวุ่นวายได้ แล้วก็ไม่ยืนยันว่าจะไม่ทำ แสดงว่ามันมีโอกาสทั้งทำและไม่ทำ ชาวบ้านก็พร้อมที่จะเฝ้าพื้นที่ของเขา เพราะจุดที่จะสร้างมันก็อยู่ในมือเรา ถ้าจะสร้างก็ผ่านเราก่อน


 


แต่ขุดลอกคลองชาวบ้านเห็นด้วยไม่ใช่หรือ


ชาวบ้านเห็นด้วยกับการขุดลองคลองร่องใน แต่ร่องนอกไม่เห็นด้วย คลองมันมีสองร่อง ร่องนอกมันมีสภาพเป็นดอน แต่รองในยังเป็นร่องน้ำอยู่ แต่แม้จะขุดสองร่องเราก็ไม่ค้าน แต่ประเด็นการทำถนนกันคลื่นนี้เราไม่เห็นด้วย


 


มันมีประเด็นปัญหาซับซ้อนมากไปกว่านั้น ตัวนายกฯ เองต้องการให้ชาวบ้านที่โดนผลกระทบจากการถูกน้ำท่วมครั้งนี้รื้อบ้านออก 6 หลัง ในจำนวนนี้มีบ้านของนายบุญจันทร์ น้อยผล ถูกน้ำท่วมหายไปทั้งหลัง อย่างที่มีข่าวออกมว่ามีน้ำท่วมเสียหายทั้งหลังอยู่ 20 กว่าหลัง บ้านนายบุญจันทร์เป็นหนึ่งในนั้น แล้วนายกฯ บอกว่าคนที่บ้านถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหลังให้ไปอยู่บ้านนอคดาวน์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นที่หน้าวัดธงชัย 25 หลัง


 


ทีนี้ที่บ้านนอคดาวน์มีข้อตกลงว่าอยู่ได้ปีเดียว แล้วหลังจากนั้นให้ขยับขยาย หรือซื้อบ้านเอื้ออาทรของรัฐ ทีนี้นายบุญจันทร์ เป็นชาวบ้านที่มีฐานะยากจน แล้วก็มีเรือประมงอยู่ในคลองที่ตัวเองยกบ้านอยู่  นายบุญจันทร์ก็เลยแจ้งความประสงค์ว่าขออยู่ที่เดิม โดยไม่ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ ก็ไปเอาไม้ไผ่แล้วก็เครื่องไม้เครื่องมือที่ลอยน้ำไป ได้จากทะเลมา โดยมีนักศึกษาไปช่วยทำเป็นแพ แล้วเอาไม้กลับมา พอกำลังยกบ้านอยู่ นายกฯ เขาก็สั่งให้รื้อ


 


มันมีปัญหาความขัดแย้งมาจากบ้านนายบุญจันทร์นี่แหละ เพราะนายกฯ จะไม่ยอมให้คนที่บ้านพังเสียหายได้กลับมาอยู่ที่เดิม บังเอิญบ้านนายบุญจันทร์นี่ อยู่ติดกับนายทุนที่เป็นญาติของนายกฯ เป็นนายทุนที่มีที่ดินติดกับแปลงที่เป็นที่สาธารณะซึ่งนายบุญจันทร์อยู่  นายกฯ ก็เลยไม่อยากให้นายบุญจันทร์ยกบ้าน


 


จวบกับถนนที่จะต้องตัดจากหัวสะพานนี้นะ ที่ของเถ้าแก่คนนี้ติดหัวสะพาน ถ้าลากถนนจากหัวสะพานไปบ้านปากคลอง จะทำให้ที่แปลงนี้มีราคา เพราะเดิมที่แปลงนี้มันติดคลอง พอทำถนน คลองก็จะกลายเป็นถนน แล้วที่แปลงนี้ก็จะติดถนน ไม่ใช่ติดคลองแล้ว นี่คือแผนของเขาที่จะเอาชาวบ้านออกจากตรงนั้นไป


 


จวบกับที่ผ่านมาเถ้าแก่คนนี้จะซื้อที่ที่อยู่ข้างๆ กับที่สาธารณะทั้งหมด แล้วก็ขยายไปทางหัวไร่ปลายนา นี่คือปัญหาที่เราคิดว่าต้องเจออย่างนี้แน่นอน เราก็เลยไม่ให้นายบุญจันทร์รื้อบ้าน เพราะเขาต้องอยู่ที่เดิม เขาจน พวกเราก็ไม่เห็นว่าเขาจะต้องไปเช่าบ้านเอื้ออาทรอีก


 


ส่วนคนอื่นๆ ในจำนวน 20 กว่าหลังส่วนใหญ่ที่ดินมันโดนน้ำพัดหายไปด้วย ก็ต้องไปอยู่บ้านนอคดาวน์ แต่ในส่วนของนายบุญจันทร์ ที่ดินมันยังอยู่ ยังพอสร้างบ้านได้อยู่ ก็เลยอยากจะอยู่ที่เดิม


 


ที่ปลูกบ้านนายบุญจันทร์นี่กว้างขวางมากไหม


ก็ปลูกกระต๊อบหลังหนึ่ง ยกเสาสูงน่ะ มันอยู่ในคลอง แต่เป็นคลองที่น้ำแห้งน้ำลงได้ มันจะมีหน้าน้ำคือช่วงมรสุม ถ้าไม่ใช่หน้าน้ำ มันก็จะเป็นที่ดิน บ้านเขาหน้ากว้างไม่น่าเกิน 6 เมตร เขาไม่อยากสร้างตรงนี้เพราะเขาจะสร้างถนน ถ้านายบุญจันทร์ยังอยู่มันจะทำไม่ได้ ที่นายทุนก็ไม่มีราคา เพราะไม่มีทางออก ไม่มีทางออก ในคลองก็ต้องเดินย้ำเลอะเทอะไป


 


บ้านพี่บุญจันทร์สร้างต่อไหม


กำลังสร้างอยู่ อีก 4 วันก็น่าจะเสร็จ เพราะก็สร้างเป็นแค่กระต๊อบ


-------------------------------------------------------------------------------------


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สิทธิสตรีในมุมมองของนักต่อสู้หญิง


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net