ชาวบ้านต.ปทุมทดลองการท่องเที่ยวหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาที่จ.อุบลฯ

 

ชาวตำบลปทุม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เผยผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านเป็นที่ต้องการของตลาดสูงขึ้น ด้านคณะวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวกลุ่มเครื่องปั้นดินเผา ทดลองการท่องเที่ยวเป็นครั้งแรก

 

ชุมชนตำบลปทุมเป็นชุมชนที่อยู่ชานเมือง มีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน กระจายอยู่รอบๆ อ่างเก็บน้ำห้วยวังนอง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีทัศนียภาพสวยงาม ในอดีตชาวบ้านได้นำดินเหนียวซึ่งมีอยู่ในหมู่บ้านมาทำเครื่องปั้นดินเผา และต่อมาได้กลายเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนจำนวนมาก หลายครอบครัวได้หันมาเรียนรู้และประกอบอาชีพนี้มากขึ้น เป็นผลทำให้มีจำนวนเตาเผาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2540 มีผู้ทำอาชีพดังกล่าวจำนวนถึง 201 ราย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ล้นตลาด ราคาสินค้าตกต่ำ การผลิตไม่มีคุณภาพ มีการแข่งขันและการตัดราคากัน นำไปสู่การลดลงของอาชีพดังกล่าว ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 เหลือจำนวนผู้ประกอบอาชีพนี้เพียง 50 ราย ที่สามารถประคองตัวเองไม่ล้มเลิกกิจการในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนั้น และในปี 2544 "โครงการการศึกษาการดำรงอยู่และการล่มสลายของอาชีพเครื่องปั้นดินเผาของชุมชนบ้านปากห้วยวังนอง" นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เวช หกพันนา ได้ให้ความสนใจและพาคณะวิจัยลงพื้นที่ศึกษาถึงปัญหาของการทำเครื่องปั้นดินเผา จนเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมแรงงานคนและเกิดการรวมกลุ่มกัน

 

ล่าสุดได้มีโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวกลุ่มเครื่องปั้นดินเผา เข้ามาศึกษาเรียนรู้วีถีชีวิตของชาวชุมชนปทุมเกี่ยวกับการทำเครื่องปั้นดินเผา โดยทำการทดลองใช้รูปแบบการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ตลอดจนส่งเสริมให้เยาวชนหันมาอนุรักษ์และให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาของชุมชนบ้านเกิด

 

อาจารย์กาญจนา ทองทั่ว ผู้ช่วยนักวิจัย มูลนิธิประชาสังคม จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นโครงการ 1 ใน 4 โครงการที่ร่วมกันทำอยู่ โดยโครงการส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการนำจุดเด่นของแต่ละชุมชนมาร่วมกันศึกษาและทดลองการท่องเที่ยว ซึ่งได้ทดลองการท่องเที่ยวไปแล้วครั้งหนึ่งในพื้นที่ 4 โซนที่รับผิดชอบ ได้แก่ บ้านปะอาว อ.เมือง, บ้านซีทวน, บ้านหนองผือ อ.สำโรง,และที่ ต.ปทุม อ.เมือง โดยรูปแบบการท่องเที่ยวจะจัดเป็น 3 รอบ รอบแรกเป็นการทดลองนำชาวบ้านมาท่องเที่ยวและเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ รอบที่สองเป็นการนำนักศึกษามาเยี่ยมชมและเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา และรอบสุดท้ายเป็นการนำคณะอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทดลองการท่องเที่ยวเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งแต่ละชุมชนจะมีระยะเวลาในการทดลองการท่องเที่ยว 1 ปี โดยสำนักงานสนับสนุนการวิจัยระดับอุดมศึกษาทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุน ซึ่ง ต.ปทุมได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้ 100,000 บาท

 

"จากการสำรวจทำให้ทราบว่าชุมชนตำบลปทุมมีการยึดอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพหลักและเยาวชนในชุมชนยังไม่ให้ความสำคัญและมองอาชีพดังกล่าวเป็นอาชีพที่ไม่ทันสมัย ทำให้ทางคณะวิจัยต้องเข้าไปศึกษาและใช้รูปแบบการท่องเที่ยวเป็นตัวเชื่อมให้ชุมชนได้ร่วมกันสนับสนุนการทำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เพื่อให้มีสินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ตลอดจนส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และได้เลือกวันที่ 26 พฤศจิกายน 2548 ทดลองการท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกที่ตำบลปทุม โดยฝากให้ทางจังหวัด กลุ่มวิจัย และผู้ที่อยู่ในแวดวงของการท่องเที่ยว ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมภูมิปัญญาของชาวบ้าน เนื่องจากศักยภาพของคนในชุมชนไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนหรือทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายได้ หากขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ" อาจารย์กาณจญา กล่าว

            ด้านนายบวร พงษ์พีระ ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผา ต.ปทุม กล่าวว่า ตำบลปทุมถือเป็นตำบลที่มีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวชุมชนเกิดแนวคิดที่จะนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำมาปั้นเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาแบบต่างๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ชาว ตำบลปทุม สามารถทำเครื่องปั้นดินเผาขายเป็นอาชีพกลักได้ แต่ยังมีตลาดที่ส่งออกไม่กว้างพอ ในขณะที่มีพ่อค้าคนกลางเดินทางมารับเองจนชาวบ้านผลิตสินค้าไม่ทัน แต่ชาวบ้านก็อยากให้เครื่องปั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่านี้ ในรูปแบบของการท่องเที่ยว หากนึกถึงตำบลปทุม จังหวัดอุบลราชธานี ก็ขอให้นึกถึงเครื่องปั้นดินเผา

            นอกจากนั้นนายบวร ยังได้กล่าวต่อไปว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ทางคณะวิจัยได้เข้ามาทดลองการท่องเที่ยวที่ตำบลปทุม ซึ่งในอนาคตคาดว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้านจะเป็นที่รู้จัดเพิ่มขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท