Skip to main content
sharethis


 



 


ประชาไท—30 พ.ย.48      ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ของ กฟผ.ทั่วประเทศ ร่วมแฉความอัปยศของ กฟผ. ระบุกะล่อนเหมือนเดิม ไม่เคยแก้ไขปัญหา จนผู้แทนจาก กฟผ.ทนฟังไม่ได้ พร้อมเรียกร้องให้บอร์ดผู้บริหารเปิดเวทีเจรจากับประชาชน เพื่อแก้ปัญหาให้ทุกฝ่ายพอใจก่อนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์


 


เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากเขื่อนและสายส่งไฟฟ้า ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน)จากทั่วประเทศ อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ โรงไฟฟ้าแก่งคอย สายส่งไฟฟ้าวังน้อย-แก่งคอย ท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย เขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เป็นต้น ได้เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะต่อตัวแทนของ บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) และกระทรวงการคลังในงานเสวนาหัวข้อ "การแปรรูป กฟผ.กับปัญหาการแก้ไขและชดเชยผลกระทบจากโครงการของ กฟผ.ในอนาคต" จัดโดย คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ ห้องประชุม 101 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ โดยมี นายวสันต์ พานิช เป็นประธาน


 


ทั้งนี้ บจม.กฟผ.ได้ส่งตัวแทนนิติกรระดับ 10 มาชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความกังวลต่อการแปรรูปของการไฟฟ้าและแผนการกระจายหุ้นในอนาคต โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ตั้งคำถามพร้อมกับแสดงความเดือนร้อนที่ตนและพวกได้รับ แต่ตัวแทนของ กฟผ.รับปากเพียงว่า จะสรุปให้ฝ่ายบริหารของ กฟผ.ทราบต่อไป โดยไม่สามารถดำเนินการใดๆ หรือตัดสินใจให้ประชาชนหายข้อข้องใจได้ในวันนี้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจและต้องการเรียกร้องให้ บจม.กฟผ.ส่งผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจมารับฟังประชาชนในครั้งต่อไป


 


ขณะที่ ตัวแทนจากกระทรวงการคลังที่ร่วมเวทีด้วย ย้ำว่าจากการถือหุ้นนั้น กฟผ.ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ และรัฐบาลสามารถควบคุมได้ด้วยมติคณะรัฐมนตรี ทั้งยืนยันว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐวิสาหกิจเช่นกัน จึงทำให้ยังเป็นข้อกังขาต่อประชาชนผู้ร่วมเสวนาเป็นอย่างมาก ทั้งต่อประเด็นการเป็นรัฐวิสาหกิจและมติ ครม.ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง


 


นายเรวัตร สุวรรณศิลป์ ฝ่ายจัดการสิ่งแวดล้อมของ บจม.กฟผ.กล่าวแต่เพียงว่า "กำลังดำเนินการแก้ปัญหาตามปกติ ยืนยันว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม และขอยืนยันว่าพันธะสัญญาเช่าต่างๆ หลังแปรรูปแล้วจะยังเหมือนเดิม"


 


ด้านนายชัยพร พิมฆะรัตน์ นิติกร ระดับ 10 บจม.กฟผ. กล่าวว่า "ผมมาชี้แจงอย่างเดียว ถ้าจะถามว่าบริษัทมีนโยบายเปลี่ยนแปลงไหม บอกได้ว่ายังเหมือนเดิม ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดแล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆ ผมไม่ได้เตรียมมาชี้แจง เพราะผู้จัดก็ไม่ได้บอกว่าจะมีพี่น้องในกรณีต่างๆ มาด้วย ผมลงรายละเอียดไม่ได้ และตอบได้เพียงภาพรวมๆ เท่านั้น"


 


หลังจากนั้น นางวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เห็นว่า การที่พนักงาน กฟผ.บอกว่าเหมือนเดิม ก็แสดงว่า กฟผ.จะไม่แก้ปัญหาที่คาราคาซังเหมือนเดิม โดยกล่าวว่า "กฟผ.บอกว่าจะแก้ปัญหาเหมือนเดิมก็คือ ไม่แก้เหมือนเดิม ไม่อยากพูดว่ากะล่อนเหมือนเดิม นิติกรเก่งแต่แจ้งความจับชาวบ้านขึ้นศาล ทั้งๆ ที่ดิฉันเห็นว่า กฟผ.แปรรูปไปแล้วไม่ควรเหมือนเดิม เพราะเท่กับ กฟผ.ได้เปลี่ยนเป็นนายทุนแล้วจะเอาทรัพย์สินของประชาชนไปเป็นสินค้าในตลาดทั้งๆ ที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของยังไม่ยินดี แล้วคนที่จะซื้อหุ้นเท่ากับซื้อของโจรหรือเปล่า?"


 


นางวนิดายังย้ำอีกว่า ถ้า กฟผ.ยังเหมือนเดิมแล้วการแปรรูปจะมีประโยชน์ได้อย่างไร ทั้งนี้ เห็นว่า  กฟผ.ควรสะสางเรื่องต่างๆ ให้สิ้นสุดก่อนกระจายหุ้น โดยจะต้องทำให้ทุกฝ่ายพอใจเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้ก็ไม่มีวันจบ และควรมีเวทีเปิดการเจรจาระหว่างผู้บริหาร กฟผ.กับประชาชนอย่างจริงจัง


 


ขณะเดียวกัน นายทองเจริญ สีหาธรรม ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี มีข้อเสนอให้กับ กฟผ.2 ทางเลือกด้วยกัน คือ ทางแรก ให้เปิดเขื่อนตลอดปี เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้แก่สายน้ำและวิถีชีวิตชาวบ้าน และทางที่สองคือ ปิดเขื่อน ซึ่งเท่ากับปิดปากประชาชน ดังนั้นควรจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวละ 500 บาทต่อวัน แต่ กฟผ.ไม่เลือกปฏิบัติทั้งสองทาง


 


ด้านนางจันดา นิยมพานิช ชาวบ้านห้วยคิง ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ต.แม่เมาะ จ.ลำปาง เรียกร้องให้ กฟผ.ทำตามมติ ครม.เมื่อวันที่  9 พ.ย.47 ซึ่งกำหนดให้ กฟผ.ใช้เงินจำนวน 662 ล้านบาทในการอพยพชาวบ้านรอบเหมืองแม่เมาะ โดย กฟผ.ได้ขอพื้นที่ป่าสงวนไว้รองรับผู้อพยพแล้วจำนวน 11,000 ไร่ แต่ขณะนี้ กฟผ.กลับยังไม่ดำเนินการใดๆ


 


อย่างไรก็ตาม บรรยากาศภายในห้องเสวนาเป็นไปอย่างมีสีสัน เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบได้แสดงความคิดเห็นและสะท้อนผลกระทบที่ตนได้รับอย่างไม่ขาดระยะ แม้พนักงานของ กฟผ.และเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังจะไม่สามารถตอบคำถามได้และได้ออกจากเวทีเสวนาไปแล้วก็ตาม แต่ประชาชนก็ยังคงอยู่แลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net