Skip to main content
sharethis

โดย เบญจา ศิลารักษ์ : สำนักข่าวประชาธรรม ภายใต้แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 


ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีข้อเสนอให้บริษัทต่างชาติเข้ามาบริหารจัดการน้ำ 25 ลุ่มน้ำ เช่นการก่อสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ การจัดทำโครงการอาหารปลอดภัยเพื่อการส่งออก โครงการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น


 


แม้ยังไม่มีมติ ค.ร.ม.ออกมารองรับ แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าแนวคิดดังกล่าวจะกลายเป็นการเปิดทางให้บรรษัทข้ามชาติมาทำประเทศไทยป่นปี้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามจากนักวิชาการ เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่าบรรดาคนต่างชาตินั้นไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทย สัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะไม่สามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับคนไทยได้ และคำถามสำคัญคือการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นที่กำไรสูงสุด จะก่อประโยชน์กับผู้บริโภคได้อย่างไร ?


 


เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมาแม้ยังไม่เปิดให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาบริหารจัดการอย่างจริงจัง แต่คนของเราที่ไปร่ำเรียนจากต่างประเทศ ก็รับเอาทฤษฏี แนวคิดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศตะวันตกมาบริหารจัดการทรัพยากรจนเกิดปัญหาอย่างหนักอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งเราไปเชื้อเชิญให้เข้ามาจัดการ จะมิยิ่งเละเทะไปกันใหญ่หรือ ?


 


เฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่ให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนบริหารจัดการ 25 ลุ่มน้ำนั้น ยิ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนเพราะการบริหารจัดการทรัพยากรแต่ละลุ่มน้ำนั้นเกี่ยวข้องกับผู้ใช้น้ำหลากหลายกลุ่มทั้งเกษตรกร ผู้บริโภคในเมือง และภาคอุตสาหกรรม             


 


และก็เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ใช้น้ำกลุ่มใหญ่เป็นเกษตรกร ยังมีข้อกังขาว่าหากบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งความจริงอาจจะหมายรวมถึงบริษัทเอกชนสัญชาติไทยก็ได้นั้น หากสามารถประมูลงานจัดทำโครงการขนาดใหญ่ในแต่ละลุ่มน้ำไปได้ จะสามารถบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้น้ำได้มากแค่ไหน และจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้น้ำได้หรือไม่ เพราะประเทศไทยเองก็มีบทเรียนกับเรื่องนี้มาแล้ว


 


ประสิทธิภาพ กับ ความเป็นธรรม


รัฐมนตรีสุดารัตน์อ้างว่าการที่เปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาประมูลโครงการขนาดใหญ่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการบริหารจัดการ แต่กรณีที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะผู้ใช้น้ำในเมืองและภาคเกษตรกรรมประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการที่ภาคเอกชนไม่ว่าจะไทยหรือต่างชาติเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากร ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพ ก็ยังมีข้อกังขาว่าจะจัดสรรน้ำอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร หมายถึงให้ทุกภาคส่วนได้มีน้ำใช้ มีสิทธิในการน้ำอย่างเท่าเทียมอย่างไร


 


ที่ผ่านมาการประปาส่วนภูมิภาคได้ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการมาแล้วในหลายพื้นที่ เช่นที่ปทุมธานี-รังสิต บางปะกง ฉะเชิงเทรา นครสวรรค์ รวมถึงการให้บริษัทอีสต์ วอเตอร์ หรือบริษัท บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) รับสัมปทานส่งน้ำและจำหน่ายน้ำดิบแต่เพียงผู้เดียวในภาคตะวันออก โดยวางท่อส่งน้ำและรับซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ส่งขายให้บริษัทขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง ๆ ที่อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกตอนแรกที่สร้างขึ้นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อนำน้ำไปให้แก่ภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่กลับปรากฏว่าชาวสวนแถบระยอง ชลบุรีกลับไม่ได้รับน้ำ ทั้งนี้เพราะเมื่อเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ สิ่งแรกที่ภาคเอกชนคำนึงถึงมากที่สุดคือ กำไร จึงกลายเป็นว่าบริษัทอีสต์ วอเตอร์จึงทำทุกวิถีทางเพื่อนำน้ำมาบริการให้แก่นิคมอุตสาหกรรมในจ.ระยอง เพราะถือเป็นผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุด เป็นต้น


 


นอกจากกรณีในประเทศไทยแล้ว ยังมีกรณีการแปรรูปกิจการน้ำไปให้แก่บริษัทเอกชนในต่างประเทศอีกหลายประเทศที่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อกิจการเป็นของเอกชน โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยของ แมรี่ แอน มานาฮาน นักวิจัยจากโฟกัส ออน โกลเบิ้ลเซาท์ ที่ศึกษาประสิทธิภาพของกิจการประปา เน้นที่ อัตราน้ำรั่วในระบบ พบว่า เมืองโอซาก้ามีเพียง 7% เท่านั้น เกาะปีนัง 19% กรุงพนมเปญ 26% ขณะที่กรุงจาการ์ตา ที่น้ำประปาดำเนินการโดย บริษัทเทมส์ วอเตอร์ ของประเทศเยอรมัน มีน้ำสูญเสียในระบบถึง 51% ส่วนที่กรุงมะนิลาดำเนินการโดย บริษัทซูเอซ ลียองเน ของฝรั่งเศส มีน้ำสูญเสียถึง 62%


 


นอกจากจะไม่มีประสิทธิภาพแล้ว คำถามเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดสรรน้ำก็ยังเป็นคำถามใหญ่ที่รัฐบาลต้องตอบด้วยว่า ถ้าให้เอกชน โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติเข้ามาดำเนินการแล้วภาคเกษตรกรรม ผู้บริโภคในเมืองจะได้รับการจัดสรรน้ำอย่างเท่าเทียมกับภาคอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่ ?


 


เทคโนแครตกับภูมิปัญญาท้องถิ่น


เป็นที่ทราบกันดีว่าทิศทางการจัดการน้ำที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมุ่งเน้นเป็นอย่างมากคือ การทำโครงการขนาดใหญ่ ในช่วงปีที่ผ่านมามีการเสนอโครงการขนาดใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำออกมาหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างเขื่อน โครงการผันน้ำ ซึ่งรวมงบประมาณสูงถึง 2 แสนล้านบาท ลำพังประเทศไทยคงไม่สามารถมีเงินลงทุนได้ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลชักชวนให้บรรษัทต่างชาติเข้ามาประมูลงานดังกล่าว


 


การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาประมูลทำโครงการขนาดใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ประชาชนในแต่ละลุ่มน้ำเองก็ยังไม่เห็นด้วยกับโครงการขนาดใหญ่ ๆ เช่น กรณีที่ชาวบ้านลุ่มน้ำยมคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ชาวบ้านในเขตลุ่มน้ำปิง คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่ขาน โครงการผันน้ำ เป็นต้น จึงเท่ากับว่ารัฐบาลเองก็ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง มีแต่ความคิดว่าจะต้องดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในเม็กกะโปรเจ็คเท่านั้นเอง


 


น่าสนใจว่าเสียงของประชาชนในแต่ละลุ่มน้ำนั้นสะท้อนมาคล้ายคลึงกันคือว่าการจัดการน้ำนั้นไม่ต้องการให้มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ๆ เพราะโครงการขนาดใหญ่ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ไม่ว่าจะน้ำท่วม หรือว่าน้ำแล้งแต่อย่างใดเลย กลับกลายเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในแต่ละลุ่มน้ำอย่างหนักด้วย เช่น การอพยพโยกย้ายชุมชนเพื่อก่อสร้างเขื่อน การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำ เช่นทำให้พันธุ์ปลาหายไป นอกจากนี้ยังมีประเด็นใหม่ ๆ เช่น ความหวั่นเกรงของประชาชนต่อเหตุการณ์เขื่อนแตกในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา การก่อสร้างโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหว ยิ่งทำให้ประชาชนไม่มั่นใจ


 


มีข้อเสนอหลาย ๆ ประการของประชาชนในแต่ละลุ่มน้ำ เช่น ในลุ่มน้ำปิง ประชาชนเสนอให้มีการรื้อฟื้นการจัดการเหมืองฝายดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับมา ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในแต่ละลุ่มน้ำได้ ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเสมอไป


 


สองขั้วความคิดระหว่างนักเทคโนแครต ที่มุ่งเน้นที่เทคโนโลยี โดยไม่ได้สนใจว่าจะเหมาะสมกับท้องถิ่นหรือไม่ กับ การหันกลับมาใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ยังเป็นขั้วความคิดที่มีอยู่ทั่วทุกลุ่มน้ำ เหตุไฉนรัฐบาลจึงไม่เปิดรับฟังเสียงเหล่านี้ดูก่อน แล้วค่อยมาคิดว่าจะเปิดให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาจัดการน้ำแทนเราหรือไม่ ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net