Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


            ตั้งแต่ปี 2541  เป็นต้นมา  จังหวัดเชียงใหม่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำหน้าที่การแก้ไขปัญหาขยะทั้งระบบ  โดยต่อมากระทรวงวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี  และสิ่งแวดล้อม  ได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย ในรูปแบบศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร จังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่จึงได้ร่วมกันโดย  นายประวิทย์ สีห์โสภณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  (ในเวลานั้น)  ได้ทำบันทึกความเข้าใจ ( MOU) กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยตามนโยบายดังกล่าว โดยแบ่งพื้นที่จัดการออกเป็น 3 เขต ประกอบด้วย

            1. โซนเหนือ โดย เทศบาลตำบลเวียงฝาง เป็นผู้ประสานท้องถิ่น 3 เทศบาลตำบล และ 17 อบต. ในพื้นที่อำเภอฝาง ไชยปราการและแม่อาย


            2. โซนกลาง โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ประสานท้องถิ่น 5 เทศบาลตำบล และ 31 อบต. ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด สันทราย และสันกำแพง


            3. โซนใต้ โดย เทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นผู้ประสานท้องถิ่น 6 เทศบาลตำบล ในพื้นที่อำเภอเมือง หางดง สันป่าตองและกิ่งอำเภอดอยหล่อ


            องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของโซนกลาง  ได้ศึกษาการจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมกับพื้นที่ และได้จัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่ตั้งโครงการ คือ ในหมู่ที่ 1 บ้านป่าตึงน้อย ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่


            ต่อจากนั้นได้มีการออกแบบและนำเสนอของบประมาณ โดยได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการจากสำนักงานงบประมาณ เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.. 2545 - 2549 จำนวนทั้งสิ้น 465 ล้านบาท ตามแผนงานส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โครงการถ่ายโอนการสนับสนุนแผนการปฏิบัติการ เพื่อจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด หมวดเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ รายการเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายโครงการฟื้นฟูและบำบัดปัญหาความเสื่อมโทรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในพื้นที่ก่อสร้างโครงการนี้ได้ผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว


            ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่  ระบุว่ารูปแบบการจัดการของโครงการเป็นการใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานโดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ มุ่งเน้นให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงกันนำขยะมูลฝอยมากำจัดหรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ร่วมกัน โดยให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกับรัฐ ร่วมกันบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การคุ้มครองและได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


            โดยกระบวนการกำจัดขยะประกอบด้วย การคัดแยกขยะมูลฝอยแบบรีไซเคิล การนำขยะมาหมักทำปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยน้ำชีวภาพ การอัดขยะเป็นแท่งด้วยเครื่องอัดแรงดันสูง การฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาลตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษและการบำบัดน้ำเสียในรูปแบบของโรงกำจัดขยะแบบปิด และในอนาคตยังมีแผนการนำขยะอัดแท่งมาบดทำเป็นวัสดุมวลเบาเพื่อใช้ในการก่อสร้างและทำพื้นปูถนนโดยจำหน่ายในราคาถูก เป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอีกด้วย
            นอกจากนั้นยังจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เกิดความสวยงาม เพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์ และประชาชนในพื้นที่ยังสามารถใช้ประโยชน์กับโครงการได้ เช่น ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ หรือ สนามกีฬาประจำตำบล นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ยังจะได้จัดทำโครงการปลูกป่าเศรษฐกิจ เน้นพืชพันธ์ที่บริโภคได้และไม้อนุรักษ์พื้นถิ่น โครงการปรับภูมิทัศน์ และโครงการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชผักสวนครัว โดยจะใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยน้ำชีวภาพจากโครงการ มาบริหารจัดการให้ครบวงจรด้วย


            ก่อนหน้านี้ได้มีเสียงคัดค้านของกลุ่มชาวบ้านในอำเภอดอยสะเก็ด  ซึ่งเป็นห่วงว่าโครงการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านด้วย  ประกอบกับในเวลานั้นชาวบ้านไม่ทราบรายละเอียดของโครงการที่ชัดเจน  ทำให้ต้องการทราบข้อเท็จจริงและคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย


            ในที่สุดทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยุติปัญหาข้อพิพาททั้งหมด โดยให้กระบวนการยุติธรรม โดยศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงงานขยะ เพราะถือว่าทุกฝ่ายได้ชี้แจงเหตุและผลด้วยกันทั้งคู่อย่างเป็นธรรมที่สุด


            ทั้งนี้  นายคณพล  ปิ่นแก้ว  ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่  เปิดเผยเมื่อวันที่ 6  ..  ที่ผ่านมาว่า  เวลานี้อยู่ระหว่างการรอคำตัดสินจากทางศาลปกครอง  ว่าจะชี้ขาดอย่างไร  ซึ่งคาดว่าคำตัดสินจะออกมาภายใน 60 วันนี้


            ในส่วนของการก่อสร้างพื้นที่กำจัดขยะโซนกลางที่ อ.ดอยสะเก็ด  มีเพียงการปรับพื้นที่ไปบางส่วน  และการสั่งซื้อเครื่องจักรจากญี่ปุ่นเท่านั้น  ซึ่งเครื่องจักรดังกล่าวมีระบบคล้ายกันกับระบบของโซนเหนือ  แต่สามารถลดกลิ่นได้มากกว่า


            ทั้งนี้ในอนาคต  อาจมีการเพิ่มเติมการแปรรูปขยะบางชนิดให้เป็นวัสดุก่อสร้าง  เช่นขยะพวกที่เป็นแก้ว  หรือแม้แต่ผ้าบางอย่าง  ซึ่งเท่าที่มีการศึกษามา  วัสดุก่อสร้างจากขยะพวกนี้  มีคุณสมบัติในการเกาะยึดพื้นผิวทุกชนิด  และยังมีน้ำหนักเบาด้วย  อย่างไรก็ตามยังไม่ได้บรรจุลงในแผนโครงการ  เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น


            นายคณพล  ยังได้กล่าวอีกว่า  ในแผนโครงการจะกำหนดให้มีการรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน  และรถเก็บขยะก็ต้องมีการแยกขยะด้วย  ซึ่งจะช่วยลดภาระในการกำจัดขยะได้อย่างมาก


            ในส่วนของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายขยะ  ข้อเท็จจริงคือรถที่ใช้ขนขยะไม่ใช่รถของ อบจ.  แต่เป็นของ อบต. ในพื้นที่  ซึ่งต้องมีการกำชับทาง อบต.ให้มีการจัดเก็บขยะให้มิดชิด  รถขนขยะต้องขนถ่ายขยะเข้าสู่โรงกำจัดในเวลาราชการเท่านั้น  นอกจากนั้น อบต. บางแห่งได้ขอการสนับสนุนจาก อบจ. ในส่วนของรถขนขยะ  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับไว้พิจารณาต่อไป.


                                                                                           กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net