Skip to main content
sharethis



"เด็กสมัยนี้รู้น้อยมากเกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับชีวิตคุณธรรมพื้นฐาน เขาถูกปั๊มมาเหมือนจักรกลบางอย่างที่เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน อาจจะกระตือรือร้นประกวดโน่นประกวดนี่ ทำเยอะกว่าเรา แต่คิดน้อยลงเยอะ ถ้าถามว่าใครรู้เรื่องทุนฮุบสื่อบ้าง หลายคนอาจจะส่ายหัว แต่ถ้าถามเรื่องดาราตั้งท้องก็จะรู้กันทุกคน ช่องรับของเขามันจำกัดเสียแล้ว" จิระนันท์ พิตรปรีชา อดีตแกนนำนักศึกษาในยุค 14 ตุลาฯ แสดงความเห็นเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ไว้ในนิตยสาร a day ประจำเดือนตุลาคม 2548

 


จิระนันท์ ไม่ใช่ผู้ใหญ่คนแรกที่รู้สึกทอดถอนใจกับความเป็นไปของคนหนุ่มคนสาวที่กำลังจะก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลสังคม เพราะก่อนหน้านี้ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอนาคตของเยาวชนเหล่านี้ ประหนึ่งว่าไม่มีวันที่พวกเขาจะสามารถหยัดยืนอยู่บนสังคมที่ผู้ใหญ่หลายคนรู้สึกอึดอัด และคงไม่มีวันที่พวกเขาจะตระหนักรู้เกี่ยวกับ "การให้" และ "การพัฒนาสังคม"


 


แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ ?


 


มอส. ก่อนเก่าหนุ่มสาวเคยเล่าขานตำนาน "การให้"


มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือ มอส. เป็นองค์กรเล็กๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ให้แก่คนหนุ่มสาว เพื่อให้พวกเขาได้ตระหนักและเข้าใจในปัญหาสังคม


 


ครั้งหนึ่งเคยมีคนหนุ่มคนสาวมากมายมุ่งหมายเข้ามาด้วยอุดมการณ์ แต่เมื่อวันเวลาผันผ่านมา 25 ปี วันนี้กลุ่มอาสาสมัครวัยมัน ก็พลันลดจำนวนลง ซึ่ง กรรณิการ์ ควรขจร ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ให้ข้อมูลว่า


 


"ถ้ามองจากการประสบการณ์ 25 ปีที่ผ่านมาของ มอส. เราพบว่า การเข้ามาทำงานในสายงานพัฒนาสังคมของคนหนุ่มสาวสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางสังคม


 


"อย่างใน พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ.2525 เป็นช่วงที่นักศึกษาจะให้ความสำคัญกับการมีบทบาททางสังคม เพราะฉะนั้นในช่วงแรกที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมก่อตั้งขึ้น (พ.ศ.2523) จึงมีคนหนุ่มสาวมาสมัครเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตั้งแต่รุ่นหนึ่งถึงรุ่นแปด (2523 - 2529) มีผู้สนใจมาสมัครเกิน100 คน และบางปีก็มีผู้มาสมัครถึง 1,000 คน


 


"แต่พอมาถึงรุ่นที่ 10 (ประมาณปี พ.ศ. 2530) คนหนุ่มสาวที่สนใจเข้ามาเป็นอาสาสมัครเพื่องานพัฒนาก็ลดลง... ยิ่งในปัจจุบัน คนที่มาสมัครยิ่งน้อยลง อย่างปีที่แล้วมีประมาณ 50 กว่าคน


 


"ปีนี้ (2548) รุ่นที่ 27 มีคนมาสมัครเพียง 30 กว่าคน อันนี้อาจจะเป็นเพราะว่างานพัฒนาอาจจะไม่ได้อยู่ในสายตาของคนรุ่นใหม่ หรืออาจเป็นเพราะกิจกรรมทางสังคมของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันมันสามารถปรากฏในหลายรูปแบบ


 


"พี่คิดว่าคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งยังให้ความสนใจกับประเด็นทางสังคมอยู่ แต่ปริมาณอาจจะลดลง และมีการสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นโมเดล (ต้นแบบ) ให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากทำความดีให้กับสังคม


 


ส่วนสาเหตุที่คนหนุ่มสาวให้ความสนใจในประเด็นทางสังคมลดลง ผอ.มอส. ให้ความเห็นว่า "มันต้องดูจากสภาพสังคมโดยรวม เพราะด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ กระแสบริโภคนิยม กระแสแฟชั่น อาจทำให้คนหนุ่มสาวกระจัดกระจายกันอยู่ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เขามีเสรีทางความคิด ซึ่งพอมีกระแสมาเขาก็ไหลไปตามกระแสที่เขาสนใจ แต่เราไม่สามารถไปประเมินว่าเขาไม่ดี


 


"ปัจจุบันกระแสการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยก็มีหลายรูปแบบ คนที่คิดทำงานเพื่อสังคมแบบตั้งคำถามก็อาจจะมีแต่คงไม่มากนัก ขณะที่คนที่อยากจะทำดีเพื่อสังคมอาจจะมีมากหน่อย แต่ละกลุ่มก็มีความโดดเด่นเฉพาะของกลุ่ม แต่มันยังจับรวมความหลากหลายให้เป็นพลังไม่ได้ หรือส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์ทางสังคมก็ไม่มีอะไรมาเป็นตัวผลักให้เกิดการรวมพลังเพื่อทำอะไรสักอย่าง"


 


จากข้อมูลของกรรณิการ์ แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วการลดลงของจำนวนอาสาสมัครรุ่นใหม่ อาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการขาด "สถานการณ์ทางสังคม" ที่จะผลักดันให้เกิดการรวมพลังของคนหนุ่มสาวอย่างจริงจัง จึงต้องอาศัยสถานการณ์ที่มีลักษณะเป็นภัยพิบัติอย่างเหตุการณ์ "สึนามิ" หรือ "สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้" เป็นแรงขับ (Drive) ในการรวมตัวเพื่อสังคมแบบชั่วครั้งชั่วคราว


 


นอกจากนี้ในเรื่องของ "ยุคสมัย" ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนหนุ่มสาว หันหลังให้กับการเป็นอาสาสมัครตามกรอบปฏิบัติขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ


 


"เพราะกิจกรรมทางสังคมของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันสามารถปรากฏในหลายรูปแบบ"  จึงทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะปฏิเสธจุดยืนเดิมๆ เพราะในวันนี้พวกเขามีที่ทางใหม่ๆ เพื่อแสดงออกถึงความมีตัวตน ในแบบฉบับที่พวกเขาสามารถรับรู้และเข้าใจกันในกลุ่ม ซึ่งบางครั้งมันอาจจะแตกต่างจากความคาดหวังของผู้ใหญ่ (ไม่มากก็น้อย)


 


งานพัฒนาสังคม บนโลกที่เปลี่ยนไป


"ตอนที่ยังทำกิจกรรมในฐานะนักศึกษา เราคิดว่าเวลาทำงานแบบนี้เราได้ช่วยเหลือคนอื่น แต่พอมาถึงวันนี้รู้สึกว่า สิ่งที่เราทำมันเป็นการตอบสนองความต้องการของตัวเราเอง ตอบสนองความสนใจของเราเอง"  ภาวิณี ไชยภาค นักศึกษาจากโครงการ "สตรีศึกษา" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สมาชิกกลุ่ม Urban Media Society (กลุ่มคนที่พยายามบอกเล่าความเป็นไปของสังคมด้วยภาพยนตร์) เล่าถึงประสบการณ์ ความรู้สึกเกี่ยวกับงานพัฒนาสังคมในมุมมองของคนรุ่นใหม่


 


"ยิ่งช่วงหลังมันกลายเป็นอาชีพ ก็เลยรู้สึกว่า เวลาที่คุณจะพูดว่า คุณทำเพื่อสังคม คุณต้องนับตัวคุณอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งอันนี้อาจเป็นมุมแบบสตรีศึกษา เพราะฉะนั้นในฐานะคนรุ่นใหม่ ถ้าคิดจะทำอะไรก็คงต้องเริ่มจากความสนใจของตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง เพราะถ้าเราเอาตัวเองออกมาแล้ว มันจะทำให้รู้สึกถึงความสัมพันธ์แบบที่เราเหนือกว่าคนที่เราช่วยเหลือ


 


"อย่างเรื่องเด็กไร้สัญชาติที่ทำอยู่ตอนนี้ ก็เป็นอาชีพที่ได้ค่าตอบแทน ความรู้สึกร่วมเราก็มี แต่พอมีค่าตอบแทนด้วย การทำงานของเราก็จะอยู่ได้นาน เหตุที่ความคิดเราเปลี่ยนอย่างนี้ เพราะเราเปลี่ยนบทบาทจากอาสาสมัคร มาทำเป็นอาชีพ เลยคิดว่าสิ่งที่จะทำให้เราเข้มแข็งในการทำงานประเภทนี้มันเป็นเรื่องของตัวเราเองด้วย อารมณ์ที่ว่ามีจิตใจอย่างเดียวมันอาจไม่พอ


 


"อย่างบางกลุ่มบางองค์กรที่ต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใส่ใจทำงานเหล่านี้ (งานอาสาพัฒนาสังคม) ถ้าอยากให้เขาเข้าใจ ไม่น่าจะทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นปัญหา แต่น่าจะให้เขาเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างตัวเขากับสิ่งที่เขาเข้าไปร่วม อยากให้คนที่ทำก็รู้สึกว่า คุณได้อะไรมาจากตรงนั้นเยอะมาก เพราะฉะนั้นอย่ามาอ้างว่า การเข้าไปร่วมกับกิจกรรมเหล่านั้นเป็นการเสียสละอะไรมากมาย


 


"สมัยก่อนนักศึกษาอาจจะลงมาทำงานในลักษณะเอ็นจีโอ แต่วิธีการลักษณะนั้นอาจไม่ใช่คำตอบของคนในวันนี้ แต่สิ่งที่นักศึกษาในปัจจุบันนี้ทำออกมา ก็ยังเห็นไม่ชัดว่าเขาต้องการทำอะไร...แต่ช่วงหลังเท่าที่พอจะจับความสนใจของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ ก็คือเรื่องหนังสั้น แม้ยังไม่ชัดว่าเขาต้องการสื่ออะไร แต่ก็เชื่อว่าคนรุ่นนี้เขาทำอะไรได้อีกเยอะ ถ้าเขาได้ทำแบบที่เขาสนใจจริงๆ"


 


ด้าน ไพรัตน์ วิเศษหมอ ชายหนุ่มวัย 23 ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปฏิเสธการเรียนรู้ตามระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย และเลือกเส้นทางการเข้าใจชีวิตด้วยการเป็นอาสาสมัคร (ปัจจุบันเขาทำงานอยู่กับมูลนิธิกระจกเงา ในโครงการ "ต่อต้านการค้ามนุษย์") เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เลือกเดินอยู่บนเส้นทางสายนี้ว่า "ผมชอบทำงานกับชาวบ้าน อาจเป็นเพราะว่าผมชอบให้คนรัก"


 


เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่น่าพิสมัยระหว่าง "เขา" กับสิ่งไม่มีชีวิตที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัย" ว่า "ตอนผมเรียนอยู่ปี 2 ผมรู้สึกเคว้งคว้างและสับสนมาก ผมผิดหวังกับชีวิตในมหาวิทยาลัย เพราะผมเคยคิดว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นแหล่งเพาะความฝันสำหรับผม แต่ปรากฏว่ามันกลายเป็นแหล่งเตรียมความพร้อมสำหรับการทำตัวเหลวไหลไปกับโลก" และนั่นเองคือสาเหตุที่เขาเลือกที่จะหันหลังให้กับมัน


 


"เหตุที่ผมเลือกที่จะทำงานกับมูลนิธิกระจกเงา เพราะผมคิดว่าที่นี่จะเป็นที่อนุบาลอุดมคติของผม และสิ่งที่ผมหวังจากการทำงานที่นี่มีอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกผมรู้ว่า บนถนนสายนี้ผมยังพอมีเพื่อนที่จะทำให้อุ่นใจ


 


อย่างที่สอง ผมคิดว่าการเรียนรู้ทำให้ชีวิตมีคุณค่า และคนเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ทุกสถานการณ์ เพราะฉะนั้นที่นี่จึงเป็นสถานที่เรียนรู้อีกแห่งหนึ่ง อย่างที่สามคือความร่าเริงจากการทำงาน ซึ่งจะทำให้เราไม่ท้อ"


 


ไพรัตน์ ยังแสดงความเห็นในเรื่องที่ผู้ใหญ่มักชอบวิจารณ์เยาวชนรุ่นใหม่ว่า "การที่เด็กเป็นอย่างนี้ผู้ใหญ่ก็มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นจะมาว่าเด็กฝ่ายเดียวไม่ได้"


 


หากสังเกตจากข้อมูลคำอธิบายของ ภาวิณี  ที่ว่า "ตอนที่ยังทำกิจกรรมในฐานะนักศึกษาเราคิดว่าเวลาทำงานแบบนี้เราได้ช่วยเหลือคนอื่น แต่พอมาถึงวันนี้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นการตอบสนองความต้องการของตัวเราเอง ตอบสนองความสนใจของเราเอง ยิ่งช่วงหลังมันกลายเป็นอาชีพ ก็เลยรู้สึกว่าเวลาที่คุณจะพูดว่าคุณทำเพื่อสังคม คุณต้องนับตัวคุณอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งอันนี้อาจเป็นมุมแบบสตรีศึกษา" เปรียบเทียบ กับคำอธิบายถึงแรงจูงใจในการทำงานด้านสังคมของ ไพรัตน์  "ผมชอบทำงานกับชาวบ้าน อาจเป็นเพราะว่าผมชอบให้คนรัก" จะพบว่าทั้งสองคำอธิบายมีความน่าสนใจทั้งในความเหมือนและความต่าง


 


สิ่งที่เหมือนก็คือ การที่ทั้ง 2 คนเลือกทำงานทางด้านสังคมก็เพราะ "ความต้องการ (Needs)" ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเพื่อตอบสนองความสนใจของตัวเอง (Self-Actualization Needs) หรือความต้องการความรัก หรือมิตร (Belongingness and Love Needs) เพราะความต้องการนี่เองที่เป็นแรงขับ (Drive) สำคัญ ที่ทำให้มนุษย์เลือกที่จะทำ หรือไม่ทำอะไร


 


ส่วนสิ่งที่แตกต่างก็คือ "ประสบการณ์" ซึ่งทำให้ทั้ง 2 คนอธิบายรายละเอียดของความต้องการและสิ่งที่ตนเองกระทำได้ต่างกัน เพราะคำอธิบายที่ว่า "เวลาที่คุณจะพูดว่าคุณทำเพื่อสังคม คุณต้องนับตัวคุณอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งอันนี้อาจเป็นมุมแบบสตรีศึกษา" เป็นคำอธิบายที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากประสบการณ์การเรียนรู้ทางด้านทฤษฎี ในขณะที่ "ผมชอบทำงานกับชาวบ้าน อาจเป็นเพราะว่าผมชอบให้คนรัก" เป็นคำอธิบายที่ถูกประดิษฐ์ด้วยความรู้สึก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้พูดทั้งสองคนมีประสบการณ์ไม่เท่ากัน (แต่ไม่ได้หมายความว่าใครเหนือกว่าใคร)


 


เหตุที่ต้องยกเรื่องความต่างของ "ความต้องการ" และ "ประสบการณ์" ขึ้นมาเป็นข้อสังเกต เพราะต้องการจะสื่อให้เห็นว่า แม้มนุษย์แต่ละคนจะมี "ความต้องการ" เหมือนกัน แต่ในรายละเอียดของความต้องการนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ "ประสบการณ์" ที่แต่ละบุคคลพึงมี เมื่อเป็นดังนี้การที่มนุษย์ผู้หนึ่งไม่เลือกปฏิบัติตามแบบมนุษย์อีกผู้หนึ่ง จึงไม่สามารถระบุได้ว่า เขา "ชั่ว" หรือ "ดี" "โง่" หรือ "ฉลาด"


 


สิ่งสำคัญก็คือในความต้องการและประสบการณ์ที่แตกต่าง พวกเขาต่างถูกคาดหวังด้วยสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าซึ่งเราเรียกมันว่า "สังคม"


 


หลักสูตร "ป้องกัน อุดมคติ" กับการพัฒนาสังคม


ส.ว.กรุงเทพมหานคร จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ปลุกปั้นชีวิตมากับงานอาสาสมัคร แสดงความเห็นในเรื่องคนรุ่นใหม่กับงานพัฒนาสังคม ว่า


 


"ผมไม่ได้มองว่าการทำงานทางด้านสังคมเป็นเรื่องที่ต้องเสียสละ ผมว่ามันเป็นงานที่สนุก เป็นงานที่ได้ประโยชน์ และเป็นงานที่ทำแล้วชอบ ปัญหาคือเราไม่ค่อยเปิดโอกาสให้กับเยาวชน เพราะว่าระบบการศึกษาตอนนี้เน้นการแข่งขันสูงมาก แล้วก็เน้นการเอาดีทางด้านการเรียน แต่ไม่ได้เน้นให้คนเรามีจิตใจที่จะทำงานเพื่อสังคม คือไม่ได้ส่งเสริมให้เรียนรู้สนใจสังคมที่เขาอยู่ ไม่ได้ส่งเสริมให้เข้าใจสังคมรอบด้าน แล้วก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เขารู้จักรักกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสังคม ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปคลุกคลีไปเรียนรู้ปัญหา เราเรียนแต่ทฤษฎี แต่ไม่มีการปฏิบัติ


 


"อย่างคนที่มุ่งไปทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้มารู้เรื่องสังคม อันนี้เป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะว่ามนุษย์เราถึงที่สุดเราก็คือคน แล้วเราอยู่ในสังคม เรื่องของสังคมมันเป็นปัญหาของเราทุกคน ถ้าเราสร้างมนุษย์ที่ไม่รู้เรื่องทางสังคม ผมถือว่าอันนั้นเราสร้างมนุษย์ที่ไม่ครบส่วน มันเป็นการทำให้เกิดมนุษย์เพี้ยนๆ แล้วสังคมปัจจุบันมักจะสร้างมนุษย์เพี้ยนๆ เพราะว่าเราต้องการให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่เราไม่สนใจจะให้เขารู้เรื่องสังคมมนุษย์ที่เขาอยู่ทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย"


 


"เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องพยายามผลักดันนโยบาย หากผลักดันนโยบายไม่สำเร็จ เราก็ต้องช่วยกันเปิดเวทีการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ให้เขามาเรียนรู้เรื่องทางสังคม แล้วให้เขามามีบทบาทในการเป็นอาสาสมัคร


 


"จริงๆ แล้วเราต้องปรับหลักสูตรของการศึกษาให้เป็นไปตามแนวทางของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ คือเน้นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้มากกว่าการเอาอะไรมาครอบงำหรือมาสอน แล้วก็ต้องเปิดโอกาสให้เรียนรู้อย่างกว้างขวาง เรียนรู้สังคม เรียนรู้สิ่งแวดล้อมของตนเอง เพราะเด็กเยาวชนเขาเป็นคนดีมีความตั้งใจ มีอุดมคติสูง


 


"ผมคิดว่าอุดมคติของคน มันสูงสุดตอนที่เป็นเยาวชน เมื่อเข้าไปทำงาน จะค่อยๆ เสียอุดมคติไปเรื่อยๆ...เมื่อเสียไปแล้ว อุดมคติมันเรียกกลับคืนยาก เพราะฉะนั้นผมยืนยันว่า ตอนที่ยังไม่เข้าทำงานนั่นแหละ คือตอนที่มีอุดมคติสูงสุด ทำอย่างไรคนเราจะรักษาอุดมคติอย่างนั้นได้ ผมคิดว่าเราต้องสร้างเวทีอาสาสมัคร เวทีการเรียนรู้ที่ทำให้เขารักษาอุดมคติเอาไว้"


 


จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา จะพบว่าบางครั้งปัญหาที่ผู้ใหญ่บางคนมองเห็นอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาเป็นคนรุ่นไหน และไม่ว่าในวันหนึ่ง "หน้าที่พัฒนาสังคม" จะไปอยู่ในกำมือของใคร จะผิดแผกแตกต่างจากอุดมคติในวันก่อนจนถึงวันนี้ไปมากน้อยแค่ไหน แต่ท้ายที่สุด "มนุษย์" ก็ยังคงต้องเป็น "มนุษย์" ที่ต้องการ "การพึ่งพา" และรู้จัก "การตอบแทน" ไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net