Skip to main content
sharethis

โดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"


 


โครงการสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ ที่บ้านแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ผ่านความเห็นชอบและได้รับอนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2547 ด้วยวงเงินลงทุนที่สูงถึงเกือบ 18,000 ล้านบาท มีกำลังผลิตที่มีกำลังการผลิต 25,000 ล้านมวนต่อปี


ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีในปี 2534 ที่มีมติให้ย้ายโรงงานยาสูบไปสู่ภูมิภาคและพัฒนาพื้นที่เดิมไปเป็นสวนสาธารณะ


 


คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องการสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ตามที่กระทรวงการคลังเสนอแล้วมีมติว่า อนุมัติให้โรงงานยาสูบฯ ดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่พร้อมเครื่องจักรที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยวิธีการจัดหาผู้รับจ้างแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและใช้ดำเนินการการค้าต่างตอบแทนตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้นามในสัญญาระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล (G To G)


 


และได้ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแจ้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อกำหนดตัวบุคคลและมอบอำนาจลงนามในสัญญาทั้งระดับรัฐบาลและระดับผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ ผู้ลงนามในระดับผู้ดำเนินการนั้น ผู้อำนวยการยาสูบได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว


 


โดยบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างร่วมกับประเทศไทยคือบริษัท ซีวายซี จากประเทศจีน


 


สำหรับวงเงินลงทุนโครงการ อนุมัติปรับเพิ่มวงเงินลงทุนสำหรับโครงการก่อสร้าง โรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ (จังหวัดเชียงใหม่) ตามรายการที่ปรากฏใน TOR จาก 13,014.00 ล้านบาท เป็น 14,733.50 ล้านบาท เพิ่มจำนวน 1,719.50 ล้านบาทอนุมัติวงเงินลงทุนเพิ่มเติมจำนวน 2,736.30 ล้านบาท ตามระบบในกระบวนการผลิตบางระบบ ซึ่งบริษัท ซีวายซี เสนอเพิ่มเติมจาก TOR เนื่องจากเป็นระบบที่จะช่วยทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพและมีความสมบูรณ์โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและช่วยลดต้นทุนในการผลิตและรองรับการแข่งขันในอนาคต


 


ขณะเดียวกันยังได้อนุมัติวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาจำนวน 200 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 17,749.80ล้านบาท  ซึ่งเป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับโครงการและเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการบริการโครงการ พร้อมทั้งอนุมัติให้โรงงานยาสูบฯเบิกจ่ายเงินสำหรับวงเงินลงทุนที่เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามอัตรแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง


 


ความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐต่อโครงการนี้ เช่น กระทรวงการคลัง แสดงความเห็นว่า โรงงานยาสูบเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่เหมาะสมที่จะตั้งอยู่บนพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร การก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ที่บ้านแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับแหล่งผลิตใบยาจึงเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสม และการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ที่มีเครื่องจักรทันสมัยจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตและการสูญเสีย ทำให้โรงงานยาสูบมีศักยภาพในการแข่งขันได้สูงขึ้น ซึ่งสถานที่ตั้งของโครงการก็เป็นที่ดินของโรงงานยาสูบ


 


เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ขัดข้องในการสร้างและย้ายโรงงานใหม่ของโรงงานยาสูบ แต่ไม่ควรเป็นการดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความต้องการยาสูบ ในเรื่องการพัฒนาสูตรส่วนประกอบของยาสูบ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนติดบุหรี่มากขึ้นส่งผลให้จำนวนและอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ การพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยีและขยายโรงงานยาสูบใหม่ ควรจะเป็นไปตามขอบเขตแห่งกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ และพระราชบัญญัติควบคุมทั้ง 2 ฉบับ


 


ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นชอบในหลักการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สำหรับการย้ายโรงงานไปตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม จะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า ส่วนการจัดจ้างเป็นในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล จะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ


 


ในส่วนของสำนักงบประมาณ เห็นชอบในหลักการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สอดคล้องกับสภาพัฒน์ ที่ระบุว่าเห็นควรสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เพราะการย้ายและลงทุนใหม่ของโรงงานยาสูบมายังจังหวัดเชียงใหม่ แม้เป็นโครงการที่มีการลงทุนสูง แต่แหล่งเงินจะมาจากรายได้ของโรงงานยาสูบเอง โดยจะขอกันเงินนำส่งคลังจากผลกำไรประจำปี ซึ่งเพียงพอต่อการลงทุน โดยผลประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมบุหรี่และสร้างรายได้ให้แก่โรงงานยาสูบ และรัฐบาลต่อไปในอนาคต


 


อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ ยังได้นำเสนอประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาคือ พิจารณาความเหมาะสมด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ เนื่องจากแนวโน้มในเรื่องการรักษาสุขภาพ และสภาวะการแข่งขันของบุหรี่จากต่างประเทศในอนาคต อาจส่งผลต่อความคุ้มค่าของโครงการ


 


ขณะที่การก่อสร้างโรงงานยาสูบในพื้นที่บ้านแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตชุมชนอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนควรมีการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และควรมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย


 


หวั่นขบวนการคอรัปชั่น จับตา ซีวายซี เป็นใคร ?


ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 9 ที่จัดขึ้นที่สวนลุมพินี เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกรณีโครงการโรงงานยาสูบที่จ.เชียงใหม่ ว่า ประเทศจีนมีอุตสาหกรรมโรงงานยาสูบ ซึ่งใหญ่มาก และเมื่อทราบว่าประเทศไทยกำลังจะย้ายโรงงานยาสูบ ทางการจีนก็เลยเสนอตัวในฐานะเป็น G To G หรือรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยระบุว่า ทางการจีนสนใจจะสร้างให้ประเทศไทยเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ เพราะจีนชำนาญเรื่องนี้มาก แต่เผอิญนายเหยียน ปิง ซึ่งไปอ้างว่าตัวเองเป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไทยในเรื่องเกี่ยวกับประเทศจีน ไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ก็เลยดำเนินการประสานงานจากประเทศจีน บริษัทหนึ่ง ชื่อ ซีวายซี หรือ ไชน่า หยุนหนาน คอร์ปอเรชั่น บริษัทนี้เป็นบริษัทที่อยู่ในเมืองคุนหมิง ซึ่งจากการประสานงานดังกล่าว ในที่สุดซีวายซีก็ได้รับการประสานงานจากนายเหยียน ปิง บุคคลที่อ้างว่าเป็นที่ปรึกษานายกฯ จนกระทั่งได้สัญญาเป็นแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ในการดำเนินการออกแบบก่อสร้างโรงงานยาสูบที่ จ.เชียงใหม่ ได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อเดือนมกราคม 2548 ที่ผ่านมา มูลค่าการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 18,000 ล้านบาท หรือประมาณ 450 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา


 


นายสนธิ ชี้ให้เห็นว่ามูลค่าเงินลงทุน 18,000 ล้านบาทในการก่อสร้างโรงงานยาสูบ ได้มีการร้องเรียนขึ้นมา การร้องเรียนครั้งนี้มาจากบริษัทที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโรงงานการผลิตยาสูบที่มีชื่อว่า เมสเซติ พาร์ตเนอร์ส โทแบ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลติ้ง ได้ทำหนังสือถึงท่านนายกฯ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา ในจดหมายร้องเรียนบระบุว่า จากประสบการณ์เป็นเวลานาน ทางที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโรงงานยาสูบ ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโรงงานยาสูบทั่วโลก และยืนยันว่าไม่เคยเห็นประสบการณ์ของบริษัทซีวายซีเลยแม้แต่น้อย ไม่เคยเห็นว่าซีวายซี อยู่ในสารบบของเขา


 


ขณะที่ ซีวายซีไม่เคยมีความทันสมัยทั้งในด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีใดๆ ทั้งสิ้นที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ และผลผลิตให้ได้มีคุณภาพ ซึ่งราคาในการลงทุนที่ซีวายซีเสนอกับโรงงานยาสูบของประเทศไทยนั้นมีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือ ค่าก่อสร้างตัวโรงงาน ข้อที่ 2 เครื่องจักรในสายการผลิตทั้งหมดรวมเบ็ดเสร็จเป็นมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 450 ล้านเหรีญสหรัฐ โดยเฉพาะเครื่องจักร เครื่องจักรอย่างเดียวเป็นมูลค่าถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทั้งหมด เครื่องจักรมีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งราคาที่ว่านี้ที่ปรึกษาดังกล่าวบอกว่าผิดทั้งหมดอย่างแน่นอน


 


นายสนธิ กล่าวว่า บริษัทที่ปรึกษายกตัวอย่างให้ฟังว่า เมื่อปี 2543 และ 2544 บริษัทในระดับนานาชาติ อย่างฟิลิปมอ ริส ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่างดีในธุรกิจโรงงานยาสูบ ได้ลงทุนสร้างโรงงานยาสูบใหม่ด้วยกำลังการผลิตที่เท่ากับเชียงใหม่ที่ปัจจุบันลงทุน 1.8 หมื่นล้าน เขาลงทุนแค่ 8.8 พันล้านบาทเท่านั้น โรงงานนี้อยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีเครื่องจักรที่ทันสมัยมากกว่าเครื่องจักรที่ซีวายซีเสนออีก ทั้งๆ ที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2543 และ 2544 หากจะคิดจากอัตราค่าเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นในปัจจุบันปรับไปแล้ว จาก 8,800 ล้านบาทที่ฟิลิปมอริส ลงทุนไปเมื่อเกือบ 6 ปีก่อน ปัจจุบันเงินลงทุนอาจเพิ่มเป็น1.2 หมื่นล้าน ส่วนโรงงานที่เชียงใหม่สร้างกันถึง 1.8 หมื่นล้าน เป็นสัดส่วนที่ต่างกันถึง 50 เปอร์เซ็นต์ คำถามถามว่า ส่วนต่าง 6 พันล้านเข้ากระเป๋าใคร


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง ในฐานะกำกับดูแลโรงงานยาสูบ ดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องจักรที่ผลิตยาสูบสำหรับโรงงานยาสูบ ที่จ.เชียงใหม่ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้กระทั่งการร่างสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทซีวายซี ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนและรับรองจากรัฐบาลจีน ก็เป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้น


 


ด้านนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การดำเนินการก่อสร้างโรงงานยาสูบ ที่จ.เชียงใหม่ ได้ดำเนินการก่อสร้างมานานหลายรัฐบาลแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ และรัฐบาลชุดนี้ได้มีการตกลงกับรัฐบาลจีน เพื่อดำเนินการขอสนับสนุนเครื่องมือการก่อสร้างแต่ยังไม่มีการลงนามสัญญากัน ซึ่งไทยและจีนจำเป็นต้องมีการศึกษารายละเอียดในหลายด้าน จึงจะสามารถทำสัญญาได้


 


โครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบมูลค่าเฉียด 18,000 ล้านบาท เป็น 1 ในโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลที่จะนำมาถมที่จังหวัดเชียงใหม่ ทว่า บทเริ่มต้นของโครงการนี้คงต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนแบบรอบด้าน และต้องพิสูจน์ความโปร่งใส เพราะการตั้งข้อสังเกตของผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เกี่ยวกับกรณีนี้ ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องหยุดรับฟัง เป็นอีก 1 คำถาม ที่รัฐบาลต้องรีบออกมาตอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net