ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ : "เอดส์" การเมืองเรื่องเพศในสังคมไทย

 

20 ปีผ่านมาแล้ว ทำไมการแก้ปัญหาเอดส์ ยังไม่ไปถึงไหน นักรัฐศาสตร์ซึ่งเชี่ยวชาญด้านสตรีศึกษาท่านนี้ จะช่วยชำแหละอุปสรรคสำคัญเกี่ยวกับอคติเรื่องเพศที่ซ่อนอยู่ในนโยบายรัฐ และการฉวยใช้เอดส์ให้เป็นเพียงเครื่องมือควบคุมชีวิตทางเพศของคนในสังคม โดยละเลยการแก้ที่รากของปัญหา  

..........................................

 

สังคมไทยเป็นสังคมที่เชื่อมเอชไอวี-เอดส์ กับเรื่องเซ็กส์หนักกว่าสังคมอื่น ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่โดยไม่เจตนาให้รัฐเข้ามาจัดการเกี่ยวกับเพศวิถีของคนโดยชอบธรรม โดยผ่านนโยบายควบคุมเอดส์

 

นโยบายควบคุมเอดส์ของรัฐมาจากรากฐานความเชื่อที่น่ากลัวเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์แบบชนชั้นกลางกลุ่มเล็ก ที่มองเซ็กส์ในกรอบที่คับแคบเพียงระหว่าง ชาย-หญิง เพียงเพื่อการเจริญพันธุ์ ทั้งยังต้องอยู่ภายใต้สถาบันผัวเดียวเมียเดียวอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ดังนั้น เอดส์จึงกลายเป็นเครื่องมืออันชอบธรรมให้กับความเชื่อแบบเผด็จการไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยไม่ใช่สังคมสยบยอม เราสามารถเห็นการขัดขืนโต้แย้งในเรื่องเพศวิถีอย่างมีสีสัน โดยเฉพาะยามที่รัฐเข้ามาจัดการเรื่องเอดส์ในเชิงระบาดวิทยา ซึ่งเป็นเพียงการเข้าข้างคนกลุ่มเล็กแต่ทำให้เข้าใจว่าเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ จึงกลายเป็นความอุบาทว์ของประชาธิปไตยไทยไป โดยที่คนกลุ่มเล็กๆ นี้พูดเสียงดังเพราะเขามีเครื่องมือจึงทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่านั่นเป็นเสียงสวรรค์ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วกรอบการมองนี้มาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสังคมไทยเท่านั้น

 

แนวนโยบายของรัฐกลายเป็นเครื่องมือกลไกควบคุมเรื่องเพศของคนในสังคม ขณะที่ความจริงแล้วเอดส์น่าจะช่วยให้เกิดการปล่อยเรื่องเพศอิสระมากขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยกลับยิ่งทำให้การโต้เถียงทางเพศเงียบสนิทมากขึ้น เพราะมีการหยิบยกการเสียชีวิตมาเป็นข้ออ้าง

 

สำหรับข้อเสนอก็คือ บางทีการได้คิดถึงต้นตอของแนวนโยบายนั้น ทำให้ได้เห็นว่ามีการกุมความเชื่ออย่างมหาศาลไว้เบื้องหลัง เราจะได้พบความแปลกประหลาดของสังคมโดยไม่สามารถมองเห็นสังคมอย่างที่มันเป็นจริงๆ ได้เลย เพราะนโยบายรัฐอาศัยการคาดหวังบางอย่างบนฐานความมุ่งมาดปรารถนาแทนที่จะเห็นถึงความหลากหลาย จึงนำไปสู่การรังแกกดขี่ในเชิงจิตวิทยาและร่างกาย จนทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่มีแม้แต่ที่อยู่ในกรอบเรื่องเพศ

 

"การเมืองเรื่องเพศ" นั้น โดยทั่วไปเราเข้าใจกันว่าเพศปลอดจากการเมือง เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวที่เชื่อว่ารัฐและประชาสังคมไม่ควรเข้ามาแทรกแซง แต่ว่าความจริงแล้วเรื่องเพศกลับถูกจำกัดควบคุมเข้มงวดเสมอ โดยไม่เคยถูกตัดสินจากความพึงพอใจของเราเอง

 

เพศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพูดได้ อีกทั้งการกระทำในเรื่องเพศได้ถูกตัดสินโดยกรอบบางอย่างจากคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรา จึงเป็นเหตุให้เรื่องเพศลักลั่นมาตลอด และเราก็ถูกสั่งสอนปลูกฝังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกรอบการมองเรื่องเพศนั้นเป็นเชิงลบและเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวสำหรับคนไทย ทั้งยังพบว่าคนไทยกลัวเซ็กซ์และทำให้เซ็กซ์ถูกดึงอยู่ในกรอบแคบๆ เสมอมา

 

ในที่สุดเซ็กซ์กลายเป็นเรื่องของการรับประทานอาหารที่บ้านเท่านั้น เป็นเรื่องระหว่างผัวเมียหรือเฉพาะพ่อแม่ลูก ซึ่งก็จะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นถ้าเรายึดกรอบเคร่งครัด แต่ฟันธงว่าไม่มีใครแฮปปี้กับเซ็กซ์เพราะแต่ละคนบกพร่องคนละเล็กละน้อยไม่เป็นไปตามกรอบเพศที่ชอบธรรมถูกต้อง แต่เราจะมองว่าคนอื่นเขาเป็นไปตามกรอบกันหมด ทำให้เรารู้สึกว่าผิดปกติ ที่สำคัญก็คือกรอบทางเพศได้ทำร้ายตัวตนของคนในสังคมมาโดยตลอด

 

นอกจากนี้เราจะเห็นว่า ไม่เคยมี ณ เวลาไหนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่มนุษย์จะอยู่ในกรอบเรื่องเพศ มนุษย์เตร็ดเตร่ออกไปนอกกรอบเรื่องเพศที่ชอบธรรมมาโดยตลอด เพียงแต่เราไม่บอกกันเท่านั้นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นความพยายามของรัฐ ที่จะดึงคนมาอยู่ในกรอบเรื่องเพศที่ถูกครรลองครองธรรม โดยใช้วิธีการควบคุมทั้งทางกาย เช่น การลงโทษผู้แหกคอกสารพัดวิธีมาตั้งแต่อดีต รวมทั้งการควบคุมทางจิตวิญญาณ โดยการปลูกฝังความเชื่อ ผ่านระบบการศึกษา สื่อมวลชนสมัยใหม่

 

มาถึงวันนี้ รัฐและกลุ่มพันธมิตรได้ผู้ช่วยที่น่ากลัวยิ่งขึ้น คือ วิทยาศาสตร์การแพทย์  ซึ่งมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงในการควบคุมเรื่องเพศของคนในสังคม ทั้งนี้ เพราะวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นมีอำนาจที่จะหยุดยั้งความตาย

 

ปัญหาก็คือ วิทยาศาสตร์การแพทย์นี้ สามารถใช้ได้กับอาณาบริเวณของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยหลงใหลในวิทยาศาสตร์การแพทย์มากอย่างแปลกประหลาด มองว่ามันเป็นคำตอบของทุกเรื่อง แม้กระทั่งกับเรื่องเซ็กส์

 

เราอย่าลืมว่าแพทย์เองก็ไม่ได้เป็นกลางในทางค่านิยม แต่กลับอาศัยความรู้ของตนสนับสนุนอคติทางสังคมของเธอและเขา ตีความบนอคติและบนฐานของชนชั้นกลาง ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่สังกัด และเมื่อเอชไอวี/เอดส์ ปรากฏตัวขึ้นอย่างโกลาหล เราก็ยิ่งสยบยอมต่อวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

แนวนโยบายเรื่องเอดส์ มีอคติเรื่องเพศของผู้เชี่ยวชาญอย่างไรบ้าง

 

1. ความหวาดกลัวเซ็กส์

แผนเอดส์ของรัฐไทยตั้งแต่แผนแรกจนถึงทุกวันนี้ ไปดูได้เลยทุกแผนพูดว่า รัฐต้องจำกัดควบคุมสื่อประเภทต่างๆ ที่กระตุ้นเร้าความต้องการทางเพศของคน เพราะทำให้คนเสพไปมีพฤติกรรมเสี่ยง

 

ถามหน่อยว่า ความต้องการทางเพศ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ง่ายหรือ มันเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เราเป็นคนไม่ใช่หรือ

 

น่าเวทนา ที่แนวนโยบายของรัฐ เน้นให้มนุษย์ปฏิเสธความต้องการทางเพศของตนเอง ทำให้ร่างกายของเรากลายเป็นศัตรูของเรา นี่ไม่ใช่นิมิตรหมายที่ดีของสุขภาวะของผู้คนในสังคมเลย

 

2. การนิยามกลุ่มเสี่ยง

เรื่องนี้มันเข้าทางคนบางประเภท เพราะพอเราจัดประเภทคนว่า ใครคือกลุ่มเสี่ยงแล้ว มันมาพร้อมกับการประณาม และความชอบธรรมที่จะเข้าไปควบคุมกำกับ

 

แนวนโยบายเอดส์ของรัฐไทย จะเห็นความมั่วแบบชนชั้นกลางอีกบางเรื่อง เช่น การระบุว่าพฤติกรรมนอกกรอบการแต่งงานทั้งหมดเป็นพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งที่รสนิยมทางเพศที่แตกต่างหลากหลายนั้น ไม่ใช่โดยตัวมันเองเสี่ยง แต่มันต้องมีองค์ประกอบเฉพาะมากๆ บางอย่าง จึงจะเสี่ยง

 

ถามว่าในที่สุดคนแล้วกลัวไหม?

 

เราจะพบว่าเซ็กส์นอกกรอบไม่หายไปเลย แถมแปรรูปไปอย่างน่ารัก เช่น ไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอายุน้อยลง เพราะเชื่อว่าจะปลอดภัยมากกว่า รัฐพยายามบอกไม่ให้นอกกรอบแบบหนึ่ง ก็เขาเชื่อแล้วไปทำนอกกรอบแบบอื่น

 

เรื่องเอดส์กับเซ็กส์นอกกรอบจึงยังคงเป็นโจทก์ใหญ่ต่อไปสำหรับสังคมไทย

 

สาเหตุสำคัญเพราะผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีอำนาจในรัฐไทย ไม่เคยเงยหน้าขึ้นมองว่า คนในรัฐเป็นอย่างไร แต่กำหนดแนวนโยบายจากความปรารถนาของตัวเองว่าอยากให้คนเป็นอย่างไร คือ เปลี่ยนคนให้อยู่ในกรอบ

 

แนวนโยบายสาธารณะเป็นอย่างนี้ไม่ได้ แนวนโยบายสาธารณะต้องสะท้อนและให้ที่ทางของความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งไม่ได้แปลว่า ให้ที่ทางแล้วต้องชอบสิ่งเหล่านั้น ไม่ต้องชอบก็ได้ ใครชอบสถานบันการแต่งงานก็อยู่อย่างนั้นไป ไม่ชอบ LGBT (lesbian Gay Bisaxual & Transgender)  ก็ไม่ชอบต่อไป แต่ต้องยอมรับ ให้ที่ทางเขา และอดทนอดกลั้นต่อ LGBT อย่างที่ LGBT อดทนต่อท่าน

 

อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณเอชไอวี/เอดส์ ที่สร้างคุณูปการบางอย่าง เพราะทำให้เราตระหนักว่าปรากฏการณ์ระบาดวิทยา การระบาดของเชื้อโรคอย่างโกลาหล ไม่ใช่อะไรที่เราจะจัดการได้โดยไม่หันกลับมามองความแตกต่างหลากหลาย และความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม นำไปสู่ความพยายามในการปรับโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจอย่างมหาศาล

 

20 ปีที่เราต่อสู้กับปัญหาเรื่องเอดส์มา น่าจะพิสูจน์ได้แล้วว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเมินเฉยต่อโครงสร้างและอคติต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเพศ

 

- - - - - - - - - - - - - - -  - - -

 

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรียบเรียงจากงานประชุมเรื่อง สองทศวรรษเอดส์ : จินตนาการใหม่ความหลากหลายทางเพศ

จัดโดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย

เป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมเอดส์ภาคประชาชน

24 พฤศจิกายน 2548

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท