ศาลปกครองกลางชี้ขาดสรรหา กสช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประชาไท—24 พ.ย.2548 ศาลปกครองกลางมีคำตัดสินว่ากระบวนการสรรหา กสช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน เห็นควรให้เพิกถอนรายชื่อกรรมการสรรหา 17 คน


 

วานนี้ (23 พ.ย.) นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระหว่าง นายประมุท สูตะบุตร (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ที่ 1 และคณะกรรมการสรรหา กสช.ที่ 2 (ผู้ถูกฟ้องคดี) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (กระบวนการสรรหา กสช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย)

 

โดยศาลปกครองได้วินิจฉัยใน 3 ประเด็นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมการสรรหากับผู้สมัครรับเลือกเป็นกสช. ในกรณีของ พล.อ.สุนทร โสภณศิริ กรรมการสรรหา กับนางสุพัตรา สุภาพ และ พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล ประเด็นคุณสมบัติของกรรมการสรรหาคือ นายสมพร เทพสิทธา ซึ่งระบุว่าเป็นตัวแทนขององค์กรภาคเอกชนที่เป็นนิติบุคคลแต่ขาดคุณสมบัติก่อนการแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา และประเด็นเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร กสช. บางรายซึ่งไม่ตรงกับที่กฎหมายบัญญัติ

 

โดยศาลปกครองเห็นว่า กรณีความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.สุนทร กับ นางสุพัตรา และ พล.อ.ธงชัยนั้น ทำให้ พล.อ. สุนทรไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นกลางกับผู้สมัคร 2 รายดังกล่าว และไม่มีเหตุที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ หรือสิทธิของบุคคล หรือไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานแทน ซึ่งเป็นข้อยกเว้น ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 การที่ พล.อ.สุนทร ได้ลงมติกรณีนางสุพัตรา กับ พล.อ.ธงชัย ย่อมส่งผลให้การพิจารณาทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะปรากฏว่ามีกรรมการสรรหา กสช. เพียงคนเดียวมีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง

 

ประเด็นต่อมาคือ กรณีที่ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 บัญญัติให้ กสช.ต้องเป็นผู้มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ความมั่นคง กฎหมายมหาชน หรือกิจการท้องถิ่น อันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และมาตรา 10 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการสรรหา กสช.พิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ตามมาตรา 7 เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้งเสนอต่อประธานวุฒิสภา พร้อมทั้งรายละเอียดของบุคคลดังกล่าว ซึ่งต้องระบุให้ชัดเจน หรือมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมในด้านใดด้านหนึ่งตามมาตรา 7 เเละความยินยอมเป็นหนังสือของผู้ได้รับการเสนอชื่อ
       
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการสรรหา กสช.คัดเลือกผู้สมัคร 2 คนในจำนวน 14 คนโดยกล่าวอ้างว่ามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ โดยบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญจริง จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

และประเด็นสุดท้าย ในส่วนของกรรมการที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านสื่อสารมวลชนหรือใช้สื่อสารมวลชน ทั้งนี้ เนื่องจากศาลเห็นว่าคุณสมบัติของนายสมพร เทพสิทธา กรรมการสรรหาฯ ซึ่งระบุว่าเป็นตัวแทนขององค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลนั้น ขาดคุณสมบัติดังกล่าวเนื่องจากฐานะผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์ได้หมดลงก่อนการประกาศรายชื่อเป็นกรรมการสรรหารอบที่ 2 จึงถือว่าได้หมดคุณสมบัติการเป็นกรรมการสรรหา ฉะนั้น การที่นายสมพรไปใช้สิทธิเลือก กสช. จึงมีผลทำให้รายชื่อผู้ได้รับการเลือกทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

และจากประเด็นทั้งหมด ศาลตัดสินว่ากระบวนการสรรหา กสช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอนและศาลปกครองเห็นสมควรต้องเริ่มกระบวนการสรรหา กสช.ตั้งแต่ชั้นการแต่งตั้งกรรมการสรรหา กสช.

       
นายประมุท สูตะบุตร ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเปิดเผยภายหลังคำตัดสินว่า ยินดีกับคำพิพากษาศาลปกครองที่ออกมา และขอฝากไปยังรัฐบาลด้วยว่า ให้ดูกฎหมายให้ดี และควรที่จะทำให้ถูกต้องก่อนที่จะเสนอเรื่องใดขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ก็ยังมีศาลปกครองสูงสุดอีก ซึ่งไม่แน่ใจว่าเขาจะอุทธรณ์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนจะอุทธรณ์ และจะต่อสู้ต่อไป เนื่องจากเห็นว่าไม่ถูกต้องในหลายกรณี

 

โดยภายหลังมีคำตัดสิน สำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีได้คัดสำเนาเพื่อตรียมอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 4 ภายในระยะเวลา 30 วัน

 

ทั้งนี้ เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล ว่าที่ประธาน กสช. ซึ่งถูกศาลมีคำสั่งเพิกถอนการสรรหาเปิดเผยความรู้สึกว่า เบื่อหน่ายแล้วกับกระบวนการสรรหา กสช. และระบุว่าใครอยากทำอะไรก็ทำไป ใครอยากแต่งตั้งอะไรก็แต่งตั้งไป และหากจะมีการอุทธรณ์ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล และว่า หากกระบวนการสรรหา กสช. ไม่ชอบ กรรมการสรรหาก็ควรลาออก         

 

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ธงชัยยอมรับว่า การตัดสินของศาลเป็นหน้าที่ที่ต้องเคารพ และคำตัดสินที่ออกมา กสช. ไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ความเสียหายเกิดขึ้นในชั้นของกรรมการสรรหา โดยส่วนตัวก็ทราบดีว่ากระบวนการแต่งตั้ง กสช. นั้นต้องผ่านกระบวนการ 2 ขั้นคือ ต้องรอคำตัดสินของศาลปกครอง และต้องรอการโปรดเกล้าฯ

 

ทั้งนี้ พล.อ. ธงชัยระบุว่า เรื่องต่อจากนี้ก็คือความน่าเป็นห่วงของการปฏิรูปสื่อซึ่งกำลังมีปัญหามาก ทั้งในประเด็นของวิทยุชุมชน และเคเบิลทีวี

 

ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว. กรุงเทพมหานคร แสดงความเห็นว่า คำตัดสินของศาลปกครองแสดงให้เห็นว่าศาลปกครองยังเป็นที่พึ่งของประชาชน และขอให้คำตัดสินของศาลเป็นบทเรียนสำหรับกรรมการสรรหา กสช. ชุดต่อไปว่าควรปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้นายเจิมศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า กรรมการสรรหาชุดนี้จะไม่ยื่นอุทธรณ์เพราะเคยระบุแล้วว่า หากเกิดปัญหาในกระบวนการสรรหาก็จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป พร้อมกันนี้นายเจิมศักดิ์ได้เสนอว่า สำนักนายกรัฐมนตรีควรทำการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ทั้งคณะอย่างเร่งด่วนและหากสำนักนายกรัฐมนตรียังเลือกที่จะให้กรรมการสรรหาชุดเก่าดำเนินการต่อไป ก็คงต้องหาวิธีการตรวจสอบสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธาน กสช.ตกกระป๋องบ่นเบื่อ ใครทำอะไรทำไป

http://www.bangkokbiznews.com/2005/11/23/c001l2_55048.php?news_id=55048

กสช.ป่วน! ศาลปกครองสั่งเพิกถอน-ชี้มิชอบต้องสรรหาใหม่

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9480000162171

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท