Skip to main content
sharethis


ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ




ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วย "ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูงในประเทศไทย" ที่ รร.ฮอลิเดย์การ์เด้น อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา


................................................................................


 


เรื่องที่จะพูด คือคุณค่าความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อการ NRM คุณค่าความสำคัญ คงไม่ต้องลงลึกว่าเรามีอะไร เราได้พูดกันมานาน จนเป็นที่รู้จัก ไม่ใช่เพียงภายในประเทศ แต่ในระดับโลก แต่เป็นกระแสที่ยังมีความอ่อนแอ ต้องตีโจทย์ ขยายจากโจทย์เดิมต่อไปอีกว่า องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่ว่านี้ นอกจากเนื้อหาสาระเพื่อให้โลกภายนอกได้เข้าใจแล้ว ความเข้าใจที่เคยเข้าใจกันอยู่มีเพียงพอหรือไม่


 


อยากจะตั้งโจทย์ต่อไปอีก ว่าคุณค่าความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นคุณค่าความสำคัญอะไร ต่อใคร เพื่ออะไร และอย่างไรด้วย นี่เป็นโจทย์และประเด็นที่อยากจะลองขยายความนำเสนอ


 


ตนได้จับเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิชุมชน เป็นเรื่องหลัก ที่เราเห็นว่ามีความสำคัญกว่าด้านอื่นๆของสิทธิ เวลาเราพูดเรื่องนี้เราหมายถึงสิทธิของคน แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพียงหลักการ อุดมการณ์ หรือสิ่งที่อยู่ในกฎหมาย ไม่ว่าจะในรูปแบบใด มันเป็นเพียงหนึ่งมิติเท่านั้น


 


แต่อีกหนึ่งมิติ ก็คือ กลุ่มเจ้าของสิทธิมีความเข้มแข็ง ที่จะนำออกมาให้เป็นยอมรับของสังคมในวงกว้างได้อย่างไร สังคมตอนนี้ต่างจากสมัยก่อน ที่เราอยู่กันในชุมชนและระหว่างชุมชน เราสามารถจัดการได้ แต่ขณะนี้ สิทธิ องค์ความรู้นี้ จะต้องได้รับการพิสูจน์ เพื่อให้สังคมในวงกว้างที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย กรณีภาคใต้ ก็เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ ซึ่งมองเห็นเรื่องของอคติและวัฒนธรรมอำนาจ ของนักวิชาการและปัญญาชนส่วนใหญ่


 


ตนพูดจากประสบการณ์ ไม่ใช่จากตำรา การที่จะนำเอาองค์ความรู้นี้ให้เป็นที่ยอมรับ จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิด้วย


 


ความเข้มแข็งของชนกลุ่มต่างๆ อยู่ในกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นพลังที่ทำให้เรามีอำนาจที่จะถ่วงดุลในสังคม สิ่งที่พอจะพูดได้ ก็คือ เงื่อนไขของการสร้างความถ่วงดุลเชิงอำนาจ ถ้าไม่มีก็ยากที่จะทำให้สิทธิของเรา หรือภูมิปัญญาเป็นที่ยอมรับนับถือได้ มากกว่าเพียงวรรณกรรมของชุมชนที่ศึกษากันเรียนรู้กัน เช่น เรื่องแพทย์แผนไทย เป็นเรื่องที่เราได้เก็บเกี่ยวกับภูมิปัญญาในชนบท แต่พอจะส่งเสริมก็อยู่ในวงการกระทรวงสาธารณสุข


 


พลังดังกล่าวจะเกิดได้ ต้องมีรวมกลุ่มกัน ปัญหาคือ ปัจจุบันยังมีการแบ่งเขาแบ่งเรา แม้ในหมู่คนที่ถูกปกครองทำให้ถูกปกครองได้ง่าย องค์ความรู้ที่มีอยู่ นำไปสู่การมีอำนาจของคนกลุ่มอื่นในสังคม น่าจะเป็นโจทย์ให้ได้คิดกัน


 


ถ้าเช่นนั้น จากเงื่อนไขของสังคม ทำให้เป็นกลุ่มที่มีพลังเป็นที่ยอมรับนับถือ ไม่มีสิทธิมนุษยชนใดจะได้รับการยอมรับโดยไม่มีการต่อสู้ เราพูดถึงอนุสัญญาฯ หรือรัฐธรรมนูญ จะเป็นเพียงความว่างเปล่า ไม่มีเนื้อหาคุณค่าความสำคัญขององค์ความรู้ภูมิปัญญา ทำให้เราต้องถามตัวเองต่อไปว่า เราเข้าใจเรื่องทรัพยากรเพียงใด


 


แต่ในสายตาโลกแล้วจะมองเป็นองค์ความรู้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเมือง จึงเป็นเป้าหมายของการช่วงชิงและครอบงำของประเทศมหาอำนาจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา


 


พวกเราคงเคยได้ยินเรื่องชีวภาพ ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นอาวุธสำคัญ จะมีคนมาพูดในเวทีการเมืองโลก จะไม่จำกัดอยู่ที่เรื่องอุตสาหกรรม แต่ละเป็นเรื่องอาหารและยา


 


ลัทธิจักรวรรดินิยมมุ่งขยายดินแดน แต่เนื้อหาคือ การมุ่งครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสมัยนั้น อาจมองเพียงเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบัน มองเห็นกันว่าเป็นฐานอำนาจทางการเมืองทั้งระดับชาติและโลก คือการครอบครององค์ความรู้นี้


 


ปัญญาชนไทย แสวงความรู้ภายใต้กรอบของประเทศมหาอำนาจ ปีที่แล้วมีข้อตกลงไทย-สหรัฐฯ ที่จะจัดตั้งกองทุนวิจัยป่าเขตร้อน สหรัฐฯ จะหาเงินมาให้ แต่จะมีสิทธิที่จะวิจัยป่าเขตร้อนของประเทศไทย ถือเป็นการครอบครองทรัพยากร แต่นักวิชาการและหน่วยราชการกับมองในแง่ดีว่า จะได้ทุนวิจัยและได้โอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการวิจัย พูดกันในหมู่พวกเขาว่าจะต้องไม่ให้พราดขบวนไฟรถด่วน พวกเขาจึงขานรับอย่างเต็มที่ ทั้งที่กระบวนการวิจัยนั้น จะต้องมีการทำงานกับชาวบ้าน แต่ปัญญาชนไทยหรือราชการไทย กลับไม่สนใจที่จะทำงานกับชาวบ้าน


 


นี่คือสิ่งที่อยากจะย้ำถึงความสำคัญ ที่เราจะต้องพยายามทำให้เกิดการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ แต่การจัดการเพื่อจะนำไปสู่งานวิจัยที่จะเกิดความสร้างสรรค์ให้ชาวโลกได้เห็นคุณค่าและความสำคัญ มันไม่ได้จำกัดอยู่ในชุมชน อนุสัญญาฯ พยายามจะทำให้กลายเป็นทรัพยากรเพื่อมวลมนุษยชาติ องค์ความรู้ที่จะสร้างขึ้นมา หากทักษะเครื่องมือการวิจัยไม่เพียงพอ คงจะต้องมองหาพันธมิตรจากคนชั้นกลาง จากนักวิชาการ ที่พอจะมีอยู่ โดยชาวบ้านเป็นตัวหลัก


 


เช่น ผลงานวิจัยของนักวิชาการอินเดียที่พบว่า ไม่น้อยกว่า 80% ของยาที่ขายโดยบริษัทต่างประเทศล้วนมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เราจะต้องมองที่จุดนี้ แล้วต้องร่วมทำวิจัยกับชาวบ้าน


 


สกว.เริ่มพูดถึงการสร้างความเข้มแข็ง แต่มักเน้นเรื่องการรักษาอัตลักษณ์ ที่เราเปิดงานด้วยพิธีกรรมก็ถือเป็นการรักษา อัตลักษณ์ แต่ละทำอย่างไรให้เป็นอัตลักษณ์ที่จะเป็นฐานของการทำประโยชน์เรื่องอาหารและยา โดยเรายังยึดกุมสิทธิ ไม่ได้พูดเพียงเรื่องสิทธิบัตรที่จำกัดเฉพาะชนชั้นหนึ่งเท่านั้น


 


 เรื่องนี้โยงกับเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่หากจะพูดเพียงโฉนดที่ดินที่มาทีหลัง จะต้องแสวงหาพันธมิตรทั้งสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ชุมชนบ้านปากมูน และในกรุงเทพฯ ที่ลุกขึ้นต่อสู้และเชื่อมโยงเข้าสู่ระดับโลก ให้โลกมองเห็นองค์ความรู้ภูมิปัญญา เราเป็นเจ้าของต้องสงวนสิทธินี้


 


นอกเหนือจาก อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตนได้นำเอาอนุสัญญาต่างๆ ในร่างปฏิญญาหน้า 7 ที่เป็นเพียงร่างอยู่ อย่าเพียงมองอนุสัญญา เพราะสิทธิต่างๆของประชาชนหรือชุมชนจะอยู่ที่ส่วนกลาง นิยามโดยศูนย์อำนาจซึ่งมีอคติต่อชุมชนชายขอบ เราจึงต้องนำประเด็นเหล่านี้มาใช้เป็นแนวทางในการเดิน


 


องค์กร IUCN ได้นำเสนอ แต่ยังไม่มีการแปลเป็นไทย ในร่างปฏิญญา ได้เปิดโลกทัศน์ ให้รู้ว่า เรามีอาณาเขตที่จะต้องขยาย โดยเฉพาะคุณค่าและความสำคัญ และเราจะนำเอาภูมิปัญญา เริ่มมองเรื่องของการใช้โดยเฉพาะอาหารกับยา ถ้ามีวิชาการที่นักวิชาการไทยนำ จะต้องตระหนักและวางเงื่อนไขให้ดี ขณะนี้อำนาจเงินมากมายมหาศาล


 


สุดท้าย ซึ่งก็สำคัญก็คือ ไม่มีสิทธิมนุษยชนไหนจะได้มาจากการไม่ดิ้นรนต่อสู้ ขอนำเสนอแบบที่เคยเสนอกับวงการสิทธิโดยทั่วไป ก็คือ เราจะต้องขจัดความขัดแย้ง ทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนพื้นที่สูงหรือพื้นที่ราบเป็นฐานทรัพยากรผืนเดียวกัน ในแวดวงวิชาการก็พยายามทำ แต่ชุมชนโลกก็ยังไม่เข้าใจ ในการประชุมด้านสิ่งแวดล้อม ตนได้วางผังความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด เป็นเครือข่ายที่จะต้องสร้างขึ้น


 


สุดท้าย นโยบายของรัฐบาล มักจะมีแนวโน้มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อต้านชุมชน อคติอยู่บนฐานของหน่วยงานรัฐบาลที่มุ่งครอบครองทรัพยากร และล้มล้างสิทธิในครอบครองตนเอง นักวิจัยจำนวนไม่น้อยที่รับเงินจากต่างประเทศ เราจะต้องผนึกเข้ากับสิทธิการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้


 


ในหลวงได้พระราชทานความคิดเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ตนเคยเขียนบทความเรื่องนี้ขยายความไปถึง เศรษฐกิจชุมชน ที่เป็นเครือข่ายแห่งการแลกเปลี่ยน แต่ละชุนไม่พอเพียงที่เลี้ยงตัวเองได้


 


ฐานของโจทย์การประชุมครั้งนี้จะต้องผลักดันต่อ ยังมีภารกิจที่จะต้องทำอีกมาก แต่จะไม่เกินความพยายามของพวกเรา ได้พูดคุยกันถึงเรื่อง ภาษาพูด ภาษาเขียน การรักษาอัตลักษณ์เหล่านี้ เพียงเป็นจุดเริ่ม จำต้องนำไปสู่ความเข้มแข็งในขั้นต่อไปอีกมากมาย


 


ในกระแสโลกาภิวัตน์นี้ อาจฟังว่าซับซ้อน แต่ต้องนำไปใช้ให้ได้ ต้องใช้วิธีคิดว่า เราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร


 





ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net