Skip to main content
sharethis


 



ยับเยิน - ชายฝั่งบ้านบ่อฝ้าย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่พังยับเยินจากการสร้างคันดักทราย (รอ) ปิดกั้นการเคลื่อนตัวของทรายตามธรรมชาติ


 



ประชาไท - สำรวจชายฝั่งนครศรีฯ พังตลอดแนว พบที่ดินชาวบ้านปากพนัง - หัวไทร 4 พันไร่ ถูกกัดเซาะกลายเป็นทะเล ป่าชายเลนพินาศ สัตว์น้ำทยอยสูญพันธุ์ แฉ 4 สาเหตุร้ายทำลายชายหาด "ตัว T กันคลื่น - ท่อสูบน้ำป้อนนากุ้ง - ขุดลอกร่องน้ำปากคลอง - ปิดประตูเขื่อนอุทกวิภาชฯ"

 


นายดำรงค์ โยธารักษ์ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ขณะนี้การกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ถึงตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทาง 59 กิโลเมตรอยู่ในสภาพวิกฤติ จากการเก็บข้อมูล เมื่อเดือนกันยายน 2547 พบว่าชายฝั่งบริเวณดังกล่าว ถูกน้ำทะเลกัดเซาะไปแล้ว 3,917.5 ไร่ โดยจุดที่ถูกกัดเซาะมากที่สุด ลึกเข้าไปในแผ่นดินประมาณ 200 เมตร


 


นายดำรงค์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับความเสียหายในพื้นที่อำเภอปากพนัง แยกเป็น ตำบลตะลุมพุก ชายหาดถูกกัดเซาะยาว 16 กิโลเมตร กว้างเฉลี่ย 100 เมตร เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่, ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก ยาว 15 กิโลเมตร กว้างเฉลี่ย 70 เมตร เนื้อที่ประมาณ 568 ไร่, ตำบลบางพระ ยาว 3 กิโลเมตร กว้างเฉลี่ย 30 เมตร เนื้อที่ 56 ไร่, ตำบลบานเพิ่ง ยาว 1 กิโลเมตร กว้างเฉลี่ย 50 เมตร เนื้อที่ 31 ไร่, ตำบลท่าพระยา ยาว 7 กิโลเมตร กว้างเฉลี่ย 200 เมตร เนื้อที่ 875 ไร่, ตำบลขนาบนาก ยาว 4 กิโลเมตร กว้างเฉลี่ย 200 เมตร เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่


 


"ส่วนความเสียในพื้นที่อำเภอหัวไทร ประกอบด้วย ตำบลเกาะเพชร ยาว 8 กิโลเมตร กว้างเฉลี่ย 20 เมตร เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ตำบลหน้าสตน ยาว 21 กิโลเมตร กว้างเฉลี่ย 20 เมตร เนื้อที่ 262.5 ไร่" นายดำรงค์ กล่าว


 


นายดำรงค์ เปิดเผยว่า สาเหตุการกัดเซาะมาจาก 4 ประการ คือ 1. การสร้างรอกันคลื่นรูปตัว T ทำให้คลื่นทะเลนำทรายมาทับถมด้านใต้ของตัว T ขณะที่ทางด้านเหนือตัว T ชายฝั่งจะถูกคลื่นกัดเซาะ โดยไม่มีทรายมาทับถมแทน 2. การวางท่อสูบน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากยื่นออกไปในทะเล เพื่อสูบน้ำทะเลเข้านากุ้ง ทำให้คลื่นเปลี่ยนทิศทางเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง 3. การขุดลอกร่องน้ำตรงปากคลอง 3 แห่ง ของกรมชลประทาน เพราะมีทรายมาทับถมในช่วงมรสุม ได้แก่ คลองฉุกเฉิน คลองหน้าโกศ และประตูระบายน้ำคลองชะอวด - แพรกเมือง โดยนำทรายที่ได้จากการขุดลอกไปถมที่อื่น ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง 4. เกิดจากการปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งแต่ปี 2542 ทำให้กระแสน้ำจากแม่น้ำปากพนังไม่แรงพอที่จะผลักกระแสน้ำจากทะเล ซึ่งนำทรายมาด้วยออกไป ทำให้อ่าวปากพนังตื้นเขินมากขึ้น


 


นายดำรงค์ เปิดเผยต่อไปว่า พื้นที่ที่น่าเป็นห่วง คือ บริเวณชายหาดตำบลหน้าสตน เพราะมีการกัดเซาะรุนแรง ตนลงไปเก็บข้อมูลบริเวณนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 เปรียบเทียบกับผลการสำรวจเมื่อปี 2547 พบมีการกัดเซาะเพิ่มขึ้น 3 เท่า  จากการสอบถามชาวบ้าน พบว่าการกัดเซาะเกิดขึ้น หลังจากการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากคลองชะอวด - แพรกเมือง ขณะนี้การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ยังคงใช้วิธีการถมหินกันคลื่น ซึ่งได้ผลเฉพาะพื้นที่ แต่ทำให้พื้นที่ด้านเหนือของจุดถมหินถูกกัดเซาะแทน


 


นายดำรงค์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น ตนยังไม่ได้สำรวจ แต่ในทางนิเวศวิทยาน่าจะได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะป่าชายเลนบริเวณแหลมตะลุมพุก เนื่องจากเมื่อชายฝั่งถูกกัดเซาะ ทำให้น้ำทะเลไหลเข้าไปในป่าชายเลน ทำให้มีความเค็มมากขึ้น ส่งผลให้ต้นโกงกาง รวมทั้งต้นจากตาย และยังทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนตายไปด้วย เนื่องพื้นที่ป่าชายเลนจะเป็นพื้นที่น้ำกร่อยและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำตามธรรมชาติ ที่ผ่านมามีปลาหลายชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2548 พบว่าป่าชายเลนบริเวณดังกล่าวเริ่มฟื้นตัว ขณะนี้ผู้ได้รับความเดือดร้อน ได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net