ภาคใต้วิกฤตชายฝั่งอ่าวไทยพังตลอดแนว

 

ประชาไท - สำรวจชายฝั่งภาคใต้ด้านอ่าวไทยพังตลอดแนว จากสุราษฎร์ฯถึงสงขลา 300 ก.ม. ถูกกัดเซาะยับเยิน 40 พื้นที่ ชายหาดพังแล้ว 230 ก.ม. ทรัพย์สินชาวบ้านจมหายอยู่ใต้ทะเล กรมทรัพย์ฯ ยอมรับ 20 พื้นที่กัดเซาะรุนแรง มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 3 หมื่นคน เผย 6 พื้นที่วิกฤต ต้องเร่งแก้ปัญหาด่วน แฉสาเหตุก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานชายฝั่ง รุกป่าชายเลนทำนากุ้ง ตัวการสำคัญทำชายฝั่งพัง

 

เมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 ที่ห้องประชุมราชมังคลา โรงแรมราชมังคลา พาวิลเลียน บีช รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โครงการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยมีนักวิชาการ ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน

 

ดร.สุทัศน์ วีสกุล หัวหน้าโครงการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน นำเสนอต่อที่ประชุมว่า จากการสำรวจพบว่า ชายฝั่งภาคใต้ ด้านอ่าวไทย บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา ความยาวประมาณ 300 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะเสียหายประมา 230 กิโลเมตร รวม 40 บริเวณ แยกเป็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี กัดเซาะมาก 1 บริเวณ ความยาว 8 กิโลเมตร กัดเซาะปานกลาง 7 บริเวณ ความยาว 15.5 กิโลเมตร กัดเซาะน้อย 8 บริเวณ ความยาว 10.7 กิโลเมตร จังหวัดนครศรีธรรมราช กัดเซาะมาก 3 บริเวณ ความยาว 60 กิโลเมตร กัดเซาะปานกลาง 6 บริเวณ ความยาว 52 กิโลเมตร กัดเซาะน้อย 3 บริเวณ ความยาว 14 กิโลเมตร จังหวัดสงขลา กัดเซาะมาก 1 บริเวณ ความยาว 4 กิโลเมตร กัดเซาะปานกลาง 10 บริเวณ ความยาว 33.5 กิโลเมตร กัดเซาะน้อย 1 บริเวณ ความยาว 31.5 กิโลเมตร

 

"การกัดเซาะทั้งหมดมาจาก 3 สาเหตุ คือ สาเหตุจากปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล, คลื่นลมรุนแรงผิดปกติ สาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขื่อนกันทราย อ่างเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำ เป็นต้น และสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อม จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการลดลงของป่าชายเลน ที่เป็นผลมาจากการทำนากุ้ง ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งขาดความสมดุล" ดร.สุทัศน์ กล่าว

 

ดร.สุทัศน์ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 พบชายฝั่งทะเลที่ได้รับความเสียหายรุนแรง มีความยาว 110 กิโลเมตร รวม 12 พื้นที่ มีผู้ได้รับผลกระทบ 31,812 คน ส่วนใหญ่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหาย ประกอบด้วย ชายฝั่งทะเลบ้านพอด อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี, บ้านทางขึ้น - บ้านเราะ อำเภอท่าศาลา บ้านบางใบไม้ - บ้านสระบัว อำเภอท่าศาลา บ้านปลาทราย - บ้านเนินน้ำหัก อำเภอปากพนัง บ้านเนินน้ำหัก - บ้านชายทะเล - บ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง บ้านหน้าโกฏิ - บ้านบ่อคณฑี อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช, บ้านอู่ตะเภา - บ้านปากแตระ อำเภอระโนด บ้านหาดแก้ว อำเภอสิงหนคร บ้านเก้าเส้ง - บ้านทุ่งใหญ่ อำเภอเมือง บ้านบ่ออิฐ - บ้านนาทับ อำเภอเมือง บ้านในไร่ - บ้านบ่อโชน อำเภอจะนะ บ้านเกาะจีน - บ้านปากน้ำเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

 

ดร.สุทัศน์ กล่าวอีกว่า ในจำนวนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายรุนแรงดังกล่าว เป็นพื้นที่ชายฝั่งวิกฤตเสี่ยงภัย ที่ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน 6 พื้นที่ คือ ชายฝั่งทะเลบ้านพอด จังหวัดสุราษฎร์ธานี บ้านทางขึ้น - บ้านเราะ, ชายฝั่งบ้านแหลมตะลุมพุก ตรงชายฝั่งบ้านปลาทราย - บ้านเนินน้ำหัก จังหวัดนครศรีธรรมราช ชายฝั่งบ้านเก้าเส้ง - บ้านทุ่งใหญ่, ชายฝั่งบ้านอู่ตะเภา - บ้านปากแตระ ชายฝั่งบ้านเกาะจีน - บ้านปากน้ำเทพา จังหวัดสงขลา รวมความยาว 31 กิโลเมตร

 

ดร.สุทัศน์ กล่าวด้วยว่า ทั้ง 6 พื้นที่ข้างต้น เป็นชุมชนชาวประมง, ที่ว่างชายฝั่ง, ที่เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ, ร้านอาหารและรีสอร์ท ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และอาชีพส่วนตัว มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน รายจ่ายสูงกว่ารายได้เล็กน้อย อยู่บนที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่มีบ้านพักหลังคากระเบื้องขนาดเล็กไม่เกิน 50 ตารางเมตร ทั้งหมดได้รับผลกระทบทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายจากการกัดเซาะชายฝั่ง

 

"สำหรับการแก้ปัญหาจะดูจากความรุนแรงของการกัดเซาะ อัตราการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง ผลกระทบต่อประชาชน ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนจากหาดทรายเป็นหาดโคลน การร้องเรียนของประชาชน การดำเนินการและวางแผนงานแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ" ดร.สุทัศน์ กล่าว

 

นายปรีชา รัตนะอุไร นายกเทศมนตรีเทศบาลสทิงพระ เสนอว่า การแก้ปัญหานำภูมิปัญญาชาวบ้านมาปรับใช้ร่วมกับงานวิชาการ เพราะชาวบ้านรู้เรื่องในท้องถิ่นดี ถ้าทำได้อย่างนี้ คิดว่าแก้ปัญหาได้ 100% การแก้ปัญหาด้วยการสร้างคันกั้นคลื่น หรือถมก้อนหินดักทางน้ำ แก้ได้เฉพาะจุด คลื่นยังคงเคลื่อนตัวไปกัดเซาะบริเวณอื่นอีก

 

นายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เป็นขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาใช้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะแต่พื้นที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างกัน โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2548 เพื่อนำเสนอกรมทรัพยากรธรณีต่อไป              

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท