วิเคราะห์ : ข้อเท็จจริงบางประการใต้ซากจลาจลฝรั่งเศส

ภาพจาก www.manager.co.th

 


เพลิงไหม้ที่เผาผลาญอาคารสถานที่และยวดยานพาหนะในกรุงปารีสมอดลงแล้ว และเมื่อประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัค แห่งประเทศฝรั่งเศสออกอากาศพูดคุยกับประชาชนผ่านสื่อเป็นครั้งแรก ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 เหตุจลาจลครั้งใหญ่ในปารีสที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 20 วันก็สิ้นสุดลง

 

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา ฌาคส์ ชีรัค เสนอว่า รัฐบาลจะขอยืดเวลาเคอร์ฟิวต่อไปอีก 3 เดือน และกฏนี้จะมีผลบังคับใช้ในพื้นที่ชานเมืองปารีสที่เกิดปัญหาเรื่องการจลาจลขึ้น พร้อมทั้งให้คำปฏิญาณด้วยว่ารัฐบาลจะยินยอมปรับเปลี่ยนนโยบายบางประการเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน และเพิ่มความรัดกุมด้านการป้องกันผู้ลักลอบเข้าเมืองซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงครั้งนี้ขึ้น

 

ท่ามกลางบรรยากาศที่ผ่อนคลายความตึงเครียดลงบ้างแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นและรายงานว่ารถยนต์ 8,973 คันถูกเผา มีผู้ก่อความไม่สงบถูกจับกุม 2,888 ราย

 

แม้จะยังไม่มีบทสรุปว่าการจลาจลครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างไรบ้าง แต่นักวิเคราะห์มากมายตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่มีบทบาทในการยุติการจลาจลครั้งนี้ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง และการกระทำดังกล่าวอาจมีนัยยะสำคัญต่อการกำหนดนโยบายสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบต่อไปที่กำลังจะมาถึงในปี 2550

 

อาจกล่าวได้ว่าวิกฤตจลาจลครั้งนี้สร้างโอกาสดีๆ ให้แสงสปอตไลท์ได้สาดส่องลงไปยังผู้ที่ต้องการแจ้งเกิดในเวทีการเมืองแบบเต็มๆ

 

คลื่นลูกใหม่ปะทะคลื่นลูกเก่า

ชื่อที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในเหตุการณ์นี้คงจะหนีไม่พ้น "นิโคลาส์ ซาร์โคซี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงภายในประเทศ (กระทรวงมหาดไทย) สมาชิกพรรคยูเอ็มพี (UMP: Union for the Presidential Majority) ซึ่งเป็นพรรคเดียวกับที่ประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัคสังกัดอยู่

 

ท่าทีที่โดดเด่นดุดันจนถึงขั้นปากไวของซาร์โคซีได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐจากประชาชนในเวลาเดียวกัน เพราะในสายตาของผู้ชุมนุมประท้วงและสื่อมวลชนทั่วโลกต่างลงความเห็นว่า ซาร์โคซีใช้วิธีรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า การกระทำเช่นนั้นไม่ต่างอะไรกับการสาดน้ำมันเข้าไปในกองไฟ

 

เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ในวันที่ 29 ตุลาคม 2548 ที่ผู้ชุมนุมประท้วงราวๆ 500 คน ในเขตกลิชีส์-ซูส์-บัวส์ (Clichy-sous-bois) เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยผลการสอบสวนคดีของเด็กวัยรุ่นชาวฝรั่งเศส เชื้อสายแอฟริกา 2 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตกลิชี-ซูส์-บัวส์ และเสียชีวิตขณะพยายามหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

เงื่อนงำการตายที่น่าสงสัยทำให้ผู้ชุมนุมเหล่านั้นสวมเสื้อยืดสกรีนลายที่มีคำว่า Mort Pour Rien (ความตายไม่ช่วยอะไร) ออกมาเดินในเมือง แต่ไม่ได้กระทำการรุนแรงใดๆ ทั้งนี้เพื่อต่อต้านเจ้าหน้าที่ ข้อเรียกร้องเพียงหนึ่งเดียวที่มีคือการขอให้เจ้าหน้าที่สืบสวนการเสียชีวิตของเด็กทั้งสองคนอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ครอบครัวผู้เสียหาย

 

ทว่า ซาร์โคซี ผู้ได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีชิรัคให้จัดการเรื่องนี้ได้ประกาศต่อหน้าสื่อว่าจะจัดการกับผู้ชุมนุมประท้วงด้วยวิธีที่เด็ดขาด และจะ "กวาดล้าง" ผู้ชุมนุมออกไปให้หมดในฐานะ "เจ้าบ้าน" ที่ดี และมีรายงานจากสำนักข่าวบีบีซีด้วยว่า ซาร์โคซีเรียกผู้ชุมนุมเหล่านี้ด้วยคำว่า "ชนชั้นต่ำ" ผลก็คือเหตุจลาจลรุนแรงได้ปะทุขึ้นทันทีกลางดึกวันที่ 29 ตุลาคม 2548

 

ไม่เพียงเท่านั้น ความไม่พอใจของผู้คนในชุมชนชานเมือง ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายแอฟริกาและอาหรับได้แผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง จนกระทั่งลุกลามไปสู่ย่านชานเมืองอื่นๆ ของกรุงปารีสและทวีความตึงเครียดจนกลายเป็นเหตุการณ์จลาจลที่รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปีของฝรั่งเศส

 

ระหว่างที่ผู้ชุมนุมประท้วงออกเผาทำลายทรัพย์สมบัติสาธารณะแถบชานเมืองราว 14 เขต ประธานาธิบดีชีรัคไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีอะไรต่อหน้าสื่อ จะมีก็แต่รัฐมนตรีซาร์โคซีที่แสดงความไม่พอใจต่อผู้ชุมนุมประท้วงอยู่ตลอดเวลา และมักใช้ถ้อยคำกล่าวหารุนแรงเช่น "เดนสังคม" หรือ "คนใจทราม"

 

ทุกครั้งที่ซาร์โคซีแสดงความคิดเห็นในทางลบออกมา ปฏิกริยาของผู้ชุมนุมประท้วงก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเป็นเท่าตัว

 

สถิติเสียหายจากการจลาจลที่รุนแรงที่สุดคือวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 มีรถยนต์ถูกเผามากกว่า 1,200 คัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บกว่า 40 นาย และมีชายชราเสียชีวิตจากลูกหลงอีก 1 ราย ไม่รวมผู้บาดเจ็บอีกหลายร้อยชีวิต และผู้ชุมนุมประท้วงที่ถูกจับกุมอีกเป็นจำนวนมาก

 

การโต้ตอบชนิดตาต่อตา-ฟันต่อฟันของซาร์โคซีดูจะถูกอกถูกใจผู้สนับสนุนพรรคยูเอ็มพีอย่างมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าตัวแทนรัฐบาลควรจัดการเรื่องนี้อย่างเฉียบพลัน แม้ว่ามันจะทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมาก็ตามที 

 

ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนและคนรุ่นใหม่ที่ประสบปัญหาว่างงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากลับรู้สึกว่าท่าทีประนีประนอมและยอมรับฟังปัญหาของประธานาธิบดีชีรัคเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า แม้ว่าการบริหารรัฐบาลในสมัยที่ผ่านมาของชีรัคจะไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเหมือนที่เคยบอกไว้ก็ตาม แต่การออกมารับปากว่าจะแก้ไขปัญหาและยอมรับสิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องก็ช่วยให้สถานการณ์คลายความตึงเครียดลงไปได้

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองว่าประธานาธิบดีชีรัคอาศัยจังหวะที่ผู้ก่อจลาจลเริ่มอ่อนกำลังลงออกมาหาคะแนนเสียงเข้าตัวมากกว่าต้องการจะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่ท่าทีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างซาร์โคซีและชีรัค (ซึ่งเป็นตัวเก็งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งคู่) พอจะบอกได้ว่าถ้าประชาชนฝรั่งเศสไม่เลือกใช้กำลังและความรุนแรงแบบสุดโต่งไปเลย พวกเขาก็มีแนวโน้มว่าจะต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจต่อไปอีกนาน

 

ความคับข้องใจของคนพลัดถิ่นรุ่นที่ 3

เรื่องปัญหาเศรษฐกิจเป็นประเด็นใหญ่และเป็นจุดอ่อนซึ่งประธานาธิบดีชีรัคดูจะตระหนักดี จึงมีการประกาศออกมาในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการพัฒนาและฝึก อบรมด้านอาชีพแก่เยาวชน 50,000 คน ในปี 2550 และจะควบคุมการไหลทะลักของผู้ลักลอบเข้าเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานชาวฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน และปัญหาของชาวฝรั่งเศสไม่ได้มีแค่เรื่องว่างงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางด้านสวัสดิการและโอกาสทางสังคม รวมถึงปัญหาการเหยียดผิวที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน

 

แม้คำขวัญของฝรั่งเศสจะพูดถึงความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ แต่ความเป็นจริงก็คือลูกหลานของผู้อพยพจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาในฝรั่งเศสตลอด 50 ปีที่ผ่านมา กำลังประสบปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม โดยปัญหาที่เรื้อรังข้อที่หนึ่งคือ "คุณภาพการศึกษา" ที่แตกต่างกันของแต่ละชุมชน เพราะโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเขต "รอบนอก" ของปารีส เทียบไม่ได้เลยกับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำที่กระจุกตัวอยู่ในใจกลางเมือง

 

ทั้งประสิทธิภาพของบุคลากรหรือเครื่องไม้เครื่องมือประกอบการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาย่านชานเมืองก็อยู่ในขั้นต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด คุณภาพของนักเรียนนักศึกษาที่จบออกมาจึงล้าหลังกว่ากันมากพอสมควร ประกอบกับอัตราการว่าจ้างงานมีน้อยลง ผู้ว่าจ้างมักจะคัดเลือกผู้สมัครจากสถาบันที่มีชื่อเสียงเท่านั้น ผู้สมัครที่จบการศึกษาจากสถาบัน "รอบนอก" แทบไม่มีสิทธิ์ได้งานเลย

 

นอกจากนี้ ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอฟริกา อาหรับ ละตินอเมริกา และเอเชีย ก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอฟริกาและอาหรับจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เพราะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด และมีวัฒนธรรมชุมชนที่แข็งแรงที่สุด โดยจะเห็นได้จากเขตชานเมืองของปารีสซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองออกไปในแต่ละด้าน ล้วนเป็นชุมชนของชาวแอฟริกาและอาหรับที่อพยพมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พื้นที่สีแดงในแผนที่)

 

 


 


เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้น ณ ตึกเวิลด์เทรด สหรัฐอเมริกา สายตาแห่งความไม่ไว้วางใจก็เพ่งเล็งไปยังชุมชนชาวอาหรับด้วยความกังขาว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ก่อความรุนแรงและความไม่สงบ ผลก็คือบริษัทห้างร้านในฝรั่งเศสพากันปฏิเสธที่จะรับชาวฝรั่งเศสต่างเชื้อชาติเข้าทำงาน ทำให้สถิติว่างงานของชาวฝรั่งเศสเชื้อชาติอาหรับสูงเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเซียตามลำดับ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชาวฝรั่งเศสแท้ๆ ที่สืบเชื้อสายยูโรเปียนของตัวเองอย่างเหนียวแน่นก็เจอกับภาวะตกงานเช่นเดียวกัน (ร้อยละ 12) แต่เป็นอัตราที่ต่างกันค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับชาวฝรั่งเศสเชื้อสายอาหรับและแอฟริกา (ร้อยละ 36)

 

ถ้ามองจากสายตาของชาวฝรั่งเศสแท้ๆ พวกเขาย่อมต้องการมีสิทธิมากกว่าในฐานะ "เจ้าบ้าน" และผู้อพยพพลัดถิ่นก็ควรจะอยู่ในฐานะ "ผู้อาศัย" ที่สมควรเกรงอกเกรงใจผู้ให้ที่พักพิงบ้าง ซึ่งตรรกะนี้เคยใช้ได้ผลเมื่อมีผู้อพยพรุ่นแรกๆ เข้ามาในฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ผู้อพยพรุ่นแรกไม่ค่อยมีปากเสียงอะไร และคนฝรั่งเศสวางสถานะผู้อพยพเหล่านี้ไว้ในฐานะชนชั้นแรงงานซึ่งทำงานหนักอย่างไม่เกี่ยงงอน

 

แม้กระทั่งรุ่นที่ 2 หรือบรรดาลูกหลานของผู้อพยพชุดแรกก็ยังหนีไม่พ้นสถานะนี้และไม่ค่อยกล้าเรียกร้องอะไรมากนัก แต่สำหรับลูกหลานผู้อพยพรุ่นที่ 3 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวัย 15-36 ปี ณ เวลาปัจจุบัน จะไม่มีความรู้สึกผูกพันกับมาตุภูมิเดิมของคนรุ่นก่อนหน้า แต่พวกเขาจะรู้สึกว่าตนเองคือชาวฝรั่งเศส เพราะเกิดและเติบโตมาในฝรั่งเศสเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

 

เมื่อต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมหนักๆ เข้า คนรุ่นนี้ก็พร้อมจะระเบิดความไม่พอใจออกมาได้ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคนรุ่นก่อนที่สำนึกว่าตนคือผู้พลัดถิ่น และ (ถ้าเลือกได้) ก็มักจะอยู่อย่างสงบ เพราะไม่อยากมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลโดยไม่จำเป็น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้ก่อความไม่สงบในฝรั่งเศสจึงอยู่ในวัยที่อายุยังน้อยกันเหลือเกิน  

 

นอกจากนี้ นโยบายกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นที่รัฐบาลฝรั่งเศสผ่านออกมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2520 ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะในขณะที่ศูนย์กลางของเมืองที่เต็มไปด้วยชาวฝรั่งเศสผิวขาว เจริญรุดหน้าและพรั่งพร้อมด้วยสาธารณูปโภค แต่ห่างไปแค่ไม่กี่สิบไมล์ ชุมชนชาวฝรั่งเศสต่างเชื้อชาติกลับขาดแคลนทั้งสาธารณูปโภคและสวัสดิการที่ดี

 

เรื่องนี้ฟรานซิส โกดาร์ด ศาสตราจารย์นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสให้ความเห็นไว้ว่า "สิ่งที่เกิดขึ้น (หลังจากนโยบายกระจายอำนาจการปกครอง) ก็คือนายกเทศมนตรีของเมืองใหญ่ๆ พากันเข้าไปเรียกร้องขอเงินงบประมาณจากรัฐบาลไม่มีหยุดหย่อน ในที่สุดก็กลายเป็นว่ารัฐบาลได้หลงลืมชนชั้นรากหญ้าไปเลย"

 

ขณะเดียวกัน ฟาเบียง โจบาร์ด นักวิจัยด้านสังคมวิทยาของสภาที่ปรึกษาแห่งชาติกลับมองกันคนละอย่าง เพราะเขาลงความเห็นว่า "ถ้าหากไม่มีนโยบายกระจายอำนาจนี้ขึ้นมา บางทีเหตุจลาจลพวกนี้อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 15 ปีก่อนแล้วก็เป็นได้"

 

Angry Young Men

ระหว่างที่จลาจลในฝรั่งเศสซึ่งก่อเหตุโดยเยาวชน (เป็นส่วนใหญ่) กำลังระอุ ก็มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรปอีก 2 แห่ง นั่นก็คือเหตุการณ์เผารถยนต์ 5 คันใน เมืองการ์ดูมิดีร์ ซึ่งเป็นย่านที่มีผู้อพยพอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และตั้งอยู่ทางใต้ของกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548

 

อีกแห่งหนึ่งก็คือประเทศเยอรมนี และเหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2548 รถยนต์ 5 คันถูกเผาในเขตโมบิต ซึ่งเป็นย่านผู้ใช้แรงงานในกรุงเบอร์ลินเช่นกัน โดยจุดเกิดเหตุกระจายอยู่ตามถนนสายต่างๆ ในย่านดังกล่าว และยังมีเหตุลอบจุดไฟเผารถยนต์และตึกร้างอีกหลายแห่งในเมืองเบรเมิน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเยอรมนีด้วย

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจของเบลเยียมยังไม่สามารถระบุได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไร ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองเบรเมินระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะมีแรงจูงใจจากเหตุการณ์จลาจลในฝรั่งเศส เพราะความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันของโอกาสทางสังคมคือปมปัญหาที่เรื้อรังมานานแทบจะทุกภูมิภาค และรอวันปะทุออกมาเป็นความรุนแรงอย่างที่เห็น

 

ข้อเท็จจริงที่ว่าเหตุการณ์รุนแรงตลอดปีสองปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่สเปน อังกฤษ และล่าสุดก็คือการจลาจลที่ฝรั่งเศสครั้งนี้ (ยังไม่ได้นับรวมประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มีแนวโน้มว่าผู้เกี่ยวข้องและผู้ต้องสงสัยจะอยู่ในวัยที่อายุยังน้อยๆ กันทั้งนั้น

 

คงไม่มีใครตอบได้ว่าเรื่องนี้เป็นเพียงความบังเอิญหรือเป็นความรู้สึกร่วมของพลเมืองโลกในยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 กันแน่

 

................................................

ข้อมูลอ้างอิง

บทความ "Why Paris is burning" โดย Jame Graff (Time, Issue 14 Nov. 2005)

บทความ "The Fire This Time" โดย Christopher Dickey (Newsweek, Issue 14 Nov. 2005) http://news.bbc.co.uk/1/hi/in_depth/4417096.stm

http://news.bbc.co.uk/1/hi/world/europe/4441246.stm

http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9480000154173

http://news.bbc.co.uk/1/hi/world/europe/4437206.stm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท