ร่าง พ.ร.บ.กทช ผ่าน กมธ.วุฒิฯ ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 49%

ประชาไท—14 พ.ย. 48     กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม (กมธ.) ไฟเขียวให้ต่างชาติถือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ส.ว. หลายคนแสดงความเป็นห่วงต่างชาติจะเข้ามาครอบงำกิจการโทรคมนาคมของไทย ด้านนายโสภณ สุภาพงศ์ สว. กรุงเทพฯ และนายสมเกียรติ อ่อนวิมล ส.ว. สุพรรณบุรีเสนอแปรญัตติทุกมาตราแต่ถูกปฏิเสธ


ที่ประชุม กมธ.ฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม ในสาระสำคัญให้ยกเลิกความใน (1) ของมาตรา 8 วรรค 3 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เดิมให้เพิ่มการถือหุ้นของคนต่างด้าวจากเดิมถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 25 เป็นถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 และยกเลิกสัดส่วนของกรรมการบริษัทที่เดิมกำหนดให้ต้องมีกรรมการที่เป็นคนสัญชาติไทยในสัดส่วน 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

นายวีรวร สิทธิธรรม ส.ว.นครพนม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ชี้แจงว่า ในการพิจารณาร่างฯ ดังกล่าว นายโสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.กรุงเทพฯ และนายสมเกียรติ อ่อนวิมล ส.ว.กรุงเทพฯ ได้ขอแปรญัตติตัดทุกมาตราและให้กลับไปใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 แต่คณะกรรมาธิการเห็นว่าคำแปรญัตตินี้มีผลทำให้ไม่เป็นไปตามหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่วุฒิสภามีมติรับไว้พิจารณา ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงได้มีมติไม่รับคำแปรญัตติดังกล่าว ขณะเดียวกันสมาชิกวุฒิสภาหลายคนได้แสดงความข้องใจต่อการปฏิเสธที่จะแปรญัตติตามข้อเสนอของนายโสภณและนายสมเกียรติ

ทั้งนี้ นายวีรวร ชี้แจงว่ากรรมาธิการได้พิจารณาไปตามเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยไม่ได้นำข้อมูลว่าใครจะซื้อจะขายหุ้นมาพิจารณาแต่อย่างใด ส่วนในมาตรา 3 ที่แก้ไขสัดส่วนของการถือหุ้นจากของเดิมคนไทยถือได้ร้อยละ 75 ต่างชาติถือได้ร้อยละ 25 มาเป็นสัดส่วน 51: 49 นั้นกรรมาธิการเห็นประโยชน์ที่จะให้มีผู้เข้ามาลงทุนในกิจการโทรคมนาคมมากขึ้น และจะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ

สำหรับด้านผลเสียนั้น นายวีรวร กล่าวว่าก็มีบ้างโดยเฉพาะที่มองว่าการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างชาติจะทำให้คนต่างชาติเข้ามาครอบงำกิจการโทรคมนาคมของไทยได้ง่าย แต่เมื่อมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เกิดขึ้นแล้วก็เชื่อว่า กทช.จะมีข้อกำหนดหรือข้อห้าม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาครอบงำกิจการดังกล่าวได้

นายสมเกียรติ อ่อนวิมล กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยให้กลับไปสู่ร่างเดิมเมื่อปี 2544 นั้นเป็นเพราะว่าต้องการให้สาธารณชนรู้ว่าเหตุผล 2 ประการ คือ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้แก้ไขโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ากิจการโทรคมนาคมต้องใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ใช่ของกลุ่มนักธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง การแก้ไขมาตรา 8 (1) ให้การถือหุ้นของคนต่างด้าวเป็นไม่เกินร้อยละ 49 จะทำให้ต่างชาติสามารถครอบงำกิจการโทรคมนาคมของไทยได้ และจะใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเยาวชน คนด้อยโอกาสที่จะสามารถใช้กิจการประเภทนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่รัฐอ้างว่าจะมีเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นนั้นก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก( WTO) ที่ให้เปิดเสรีโทรคมนาคมก็ไม่ถูกต้อง เพราะจากรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า"WTOกำหนดให้เปิดเสรีการค้าด้านกิจการโทรคมนาคมได้ไม่เกินร้อยละ 25 โดยจะต้องมีใบอนุญาตการประกอบธุรกิจจากรัฐบาล ซึ่งในหลายประเทศให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 25 บางประเทศก็ให้แค่ร้อยละ 20 เท่านั้น แต่ประเทศไทยกลับเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 49 ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้องและไม่มีความจำเป็นอะไร นอกจากนี้ การแก้ไขที่ให้เก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าได้ ตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนเอาไปลงทุนด้านอื่น

"สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของธุรกิจโทรคมนาคมไทยที่ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ ต้องไปดึงคนต่างชาติมาลงทุน ทั้งนี้ ธุรกิจที่ให้คนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ถึง 49% ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ปรึกษา บริษัทจำหน่ายเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมเท่านั้น ซึ่งผมแปลกใจว่าทำไมต้องแก้ไขกฎหมายฉบับนี้" นายสมเกียรติ กล่าว

ด้านนายวงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ส.ว.พังงา ผู้ขอแปรญัตติตัดมาตรา 3 ออกทั้งหมด อภิปรายว่ากฎหมายเดิมได้ล็อกไม่ให้คนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมไทยดีแล้ว รวมถึงการกำหนดสัดส่วนของกรรมการบริษัทด้วย เพื่อไม่ให้ต่างชาติเข้ามาครอบงำกิจการนี้ เพราะปัจจุบันต่างชาติมีอำนาจซื้อสูง ซึ่งหากเปิดให้คนต่างชาติเข้าถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งซึ่งไม่เข้าใจว่า ส.ว.บางคนที่เคยลงมติให้คนต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 25 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เหตุใดครั้งนี้จึงเปลี่ยนมติของตนเอง แต่ขอแสดงจุดยืนว่าธุรกิจนี้ต้องเป็นของคนไทย

ขณะที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กรุงเทพฯ ระบุว่า อยากทราบข้อเท็จจริงและเหตุผลในการลงมติของคณะกรรมาธิการที่เห็นด้วยกับร่างของสภาผู้แทนราษฎร และขอถามกรรมาธิการว่ากรรมาธิการทราบหรือไม่ว่าขณะนี้มีบริษัทใหญ่ที่ประกอบธุรกิจประเภทนี้กำลังจะขายหุ้นของบริษัทของตนเองให้กับต่างชาติ จึงมีความพยายามที่จะให้ออกกฎหมายนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการขายหุ้นของบริษัท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท