Skip to main content
sharethis



ประชาไท—14 พ.ย. 48 อธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะให้นักศึกษามี"เพื่อนสนิท"หวังป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ห่วงสื่อชี้โพรงให้กระรอก พร้อมให้ทุกมหาวิทยาลัยมีนักจิตวิทยาประจำสถาบัน


สำนักข่าวไทยรายงานว่า น.พ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงแนวทางป้องกันการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นภายหลังเกิดการฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาว่า เรื่องนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยและมอบหมายให้กรมสุขภาพจิตดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อน ผู้ใกล้ชิดต้องสังเกตเพื่อนในกลุ่มหากมีพฤติกรรมผิดสังเกต เช่น ซึมเศร้า หรือเก็บตัวอยู่คนเดียว ควรเข้าไปพูดคุยช่วยผ่อนหนักเป็นเบาและให้กำลังใจ


"สำหรับเพื่อนในมหาวิทยาลัยนั้น อยากให้นักศึกษามีการจับคู่กันแบบที่เรียกว่า "บัดดี้" ซึ่งให้ความไว้วางใจ เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟังทุกเรื่อง ทั้งชีวิตส่วนตัวและการเรียน เพื่อที่เวลาเกิดปัญหาจะได้มีคนรับรู้และช่วยหาทางออก" น.พ.ม.ล.สมชาย กล่าว


นอกจากนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต มองว่า สื่อมวลชนควรมีส่วนร่วมในการลดการนำเสนอภาพหรือวิธีการฆ่าตัวตาย ซึ่งเปรียบเสมือนการชี้โพรงให้กระรอก ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยควรมีนักจิตวิทยาให้เพียงพอเพื่อรองรับกับนักศึกษาที่มีจำนวนมากขึ้น


"จากสถิติการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นพบว่า วัยรุ่นไทยมีสถิติฆ่าตัวตายสำเร็จ 8.1 ต่อแสนประชากร ส่วนผู้พยายามฆ่าตัวตาย 24.3 ต่อแสนประชากร มากเป็นอันดับสองรองจากวัยผู้ใหญ่ และพยายามฆ่าตัวตายเป็นอันดับสองรองจากวัยผู้ใหญ่ ส่วนผู้หญิงกับผู้ชายนั้น พบว่า ผู้ชายมีสถิติฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงมีความพยายามมากกว่าผู้ชาย" น.พ.ม.ล.สมชาย กล่าว


ทั้งนี้ ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้วัยรุ่นตัดสินใจฆ่าตัวตาย คือการเกิดภาวะเครียดอย่างเฉียบพลัน ได้แก่ ปัญหาการเรียนร้อยละ 40 ความรักความหึงหวงร้อยละ 30.76 ทะเลาะกับคนใกล้ชิดร้อยละ 29.77 ร้องขอไม่ได้ร้อยละ 27.27 น้อยใจคนใกล้ชิดร้อยละ 26.73 ในจำนวนนี้มีโรคทางกายเรื้อรังและมีโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตแฝงอยู่ด้วย ส่วนวิธีการที่กลุ่มวัยรุ่นใช้ในการพยายามฆ่าตัวตาย คือ การกินยาเกินขนาด การกินสารเคมี ใช้ของมีคม กระโดดจากที่สูง วิ่งให้รถชน ผูกคอ ใช้อาวุธปืน กระโดดน้ำ


อย่างไรก็ดี น.พ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายได้ดีหากเปรียบเทียบกับหลายประเทศ โดยในอดีตการฆ่าตัวตายของคนไทยเฉลี่ย 15-17 คนต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 13-14 คน ขณะที่บางประเทศนับร้อยคนต่อวัน แต่ในช่วงนี้ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนบ่อย ทำให้เหมือนเกิดขึ้นมาก


สำหรับองค์การอนามัยโลกระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติการฆ่าตัวตายอยู่ในอันดับที่ 90 กว่าของโลก ส่วนในเอเชียไม่สามารถระบุได้ เพราะบางประเทศไม่มีฐานข้อมูล แต่ประเทศที่รู้ เช่น เกาหลี จีน ญี่ปุ่น สถิติสูงกว่าไทย 3-4 เท่า สำหรับผู้ประสบปัญหาด้านจิตใจสามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยพูดคุยให้คำปรึกษาแบบสดๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net