Skip to main content
sharethis



 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


หลังจากทำงานมา 7 เดือน คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ได้ยกร่างรายงาน "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์" เพื่อเตรียมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ต่อรัฐบาล โดย กอส.ได้จัดประชุมหาข้อสรุปที่สมบูรณ์นัดแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ขณะเดียวกัน ศูนย์ข่าวอิศรา ได้ตั้งวงพูดคุย โดยเชิญปัญญาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้สัมผัสกับชุมชนในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง มาแลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างดังกล่าว ประกอบด้วย


 


นายนิมะนาเซ สามะอาลี นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย(ยมท.) นายอับดุลสุโก ดินอะ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษา อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอกด้านศาสนาเปรียบเทียบ ที่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย และอ.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักวิจัยในโครงการ "ดับบ้าน ดับเมือง" ซึ่งทั้ง3 คนนี้เป็นผู้อยู่ในพื้นที่เป็นผู้ได้พบปะกับชุมชนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เป็นประจำ


 


พวกเขากลั่นประสบการณ์สะท้อนความเห็นต่อแนวทางการแก้ปัญหาของ กอส.ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้


 


นิมะนาเซ : มูลเหตุของปัญหากอส.แตะหลายเรื่อง แต่สิ่งที่กอส.ไม่ลงลึกเลยคือเรื่องแบ่งแยกดินแดน ซึ่ง กอส. แตะน้อยมาก ไม่มีสถิติที่แน่นอนหรอกว่าคนมลายูคิดเรื่องแบ่งดินแดนเป็นตัวเลขเท่าไร มีแต่พูดลอยๆ บอกว่าไม่คิด...แต่ผมว่ามีคนคิดนะ อยู่ที่ว่าจะคิดระดับไหน คนที่คิดแบบสุดโต่ง คือต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการรุนแรง น่าจะมีสัก 10-20% คิดแบบแนวร่วม 25% แบบที่ไม่คิดเลยในส่วนนี้มีกลุ่มที่เป็นข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายอยู่ 25% ส่วน 50 % ที่เหลือจะไปข้างไหน ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์


 


อีกเรื่องที่ กอส.พูดน้อยไปก็คือเรื่องของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ยังไม่ลึก ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าประวัติศาสตร์ที่นี่นั้นคืออะไร การที่มาบอกว่าความหลากหลายของวัฒนธรรม ปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย คนที่นี่เขารับไม่ได้ แต่ก็ไม่กล้าเปิด


 


เรื่องของอาณาจักรมลายูซึ่งกอส.ไม่ได้พูด ความรู้สึกของคนที่นี่มองว่ามลายูไม่ใช่แค่นี้ ไม่ใช่แค่คนปัตตานี ปัจจัยของภูมิภาคน่าจะมีส่วนต่อความรู้สึกของคนที่นี่


 


กอส.ไม่ได้พูดถึงอำนาจรัฐ ที่มีการยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เรื่องยาเสพติดก็ไม่มีการพูดถึง คนที่เสียชีวิตในระหว่างที่รัฐบาลดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติด เป็นคนบริสุทธิ์ เป็นสายตำรวจ ทหาร เป็นเรื่องแปลกที่เขาไม่พูดถึง


 


อิทธิพลของภูมิภาคก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่มีอิทธิพลต่อคนในพื้นที่ แนวคิดอิสลามที่เกิดขึ้นและแพร่ขยายเริ่มจากภูมิภาคนี้ เป็นแนวคิดในการต่อสู้กับทุนนิยมของมลายู เป็นไปได้ไหมว่าปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทุนนิยมมาบล็อกก่อน เพราะหากไม่สกัดไว้ก่อนแนวคิดนี้จะขยายไปยังจีน ซึ่งมีประชากรมุสลิมอยู่เยอะมาก


 


ในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะที่ประชุมมุสลิมโลก (โอไอซี) ที่พูดถึงเรื่องการปกครองตนเอง แต่ประเทศไทยมาล็อบบี้ก่อน ล็อบบี้อินโดนีเซีย บาห์เรนให้ลบออก แนวทางของกอส. จะไม่พูดถึงเรื่องอิทธิพลแนวคิดเรื่องทุนนิยมกับอิสลาม เป็นการแก้ปัญหาพื้น ๆ อย่าลืมว่ากระบวนการในพื้นที่มีการพัฒนาความคิด เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงความคิดของเขาก็เปลี่ยน แรกๆ ชาตินิยมแล้วเปลี่ยน มีการการชูประเด็นอิสลามแล้วมีชาตินิยมมาหนุนหลัง


 


การแก้ไขเรื่องการกระจายอำนาจในระดับท้องถิ่น อยู่ในกรอบเดิม แต่ไม่ได้รักษาความเป็นอัตตลักษณ์ของคนที่นี่เอาไว้ การนำเสนอแนวคิดของกอส.ไม่ได้ข้ามความเป็นดั้งเดิม คือ ต้องให้กล้าเสี่ยง ยอมรับความจริง ว่าที่นี่มีประวัติศาสตร์ จินตนาการการเมืองใหม่ การปกครองตนเอง ซึ่งจะต้องพูดให้ชัด แต่ที่เขาพูดคือ การเมืองใหม่ที่กระจายสู่ชุมชน ต้องเสี่ยงถ้าต้องปกครองตนเอง ประเทศไทยรับได้หรือไม่


 


กอส.เองก็ยังไม่ชัดน่าจะฟันธงไปเลยดีกว่า การวินิจฉัยโรคเป็นสิ่งสำคัญถ้าวินิจฉัยให้ละเอียดสามารถแก้ได้ไม่ยาก


 


อ.เกื้อ : เห็นด้วยว่าในเมื่อวินิจฉัยโรคไม่ชัด ก็ให้ยาไม่ชัด การแก้ปัญหา3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ชัดเพราะการหาข้อมูลไม่ละเอียดพอ คือเริ่มตั้งแต่เรื่องแรก ที่ว่าเราไม่แตะเรื่องแนวคิดการแบ่งแยกดินแดน รัฐไม่แตะเรื่องนี้เพราะไม่แตะเรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ต้นไม่มองว่าจะใส่ใจอย่างไร พอมันเกิดก็ไม่ลงลึก ยังมีคนที่อยากแบ่งแยกดินแดน นายรัฐมนตรีคนเดียวยังสั่งเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ แล้วคน 25 % เหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงประเทศได้ ถ้าเขามีความชัดเจน


 


ความขัดแย้งพุทธ-มุสลิม ที่ผ่านมาในอดีตไม่มีก็จริง แต่วันนี้สถานการณ์ทำให้คนพูดด้วยกันน้อยที่สุด ถ้าคนภายนอกมองก็ไม่เห็นความขัดแย้ง เพราะคนพูดน้อยลง หากเขาไม่ลงมาแตะเพราะสิ่งเหล่านี้หาในงานวิจัยไม่ได้ กอส .เองลงมาแค่ระยะสั้น ๆ


 


การพูดถึงประวัติศาสตร์มันก็ไม่ชัดว่า ประวัติศาสตร์ปัตตานีคืออะไรไม่มีหนังสือไหนชี้ชัดสักเล่ม และก็อยู่ที่แง่มุมของคนที่นำเสนอว่าจะนำเสนอเพื่ออะไร หากจะนำประเด็นศึกษาเพื่อความสมานฉันท์จะต้องให้ประวัติศาสตร์อีกมุมมองหนึ่ง หรือจะศึกษาเพื่อหาความจริงในตอนนี้ เราอยู่ในยุคนี้แล้ว เราจะหาความจริงไปเพื่ออะไร ในที่สุดเราจะเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นความจริงแท้แน่นอน มันอาจจะเป็นความจริง ณ วันนี้ หรือประวัติศาสตร์เมื่อ 200 ปีที่แล้ว ทุกอย่างล้วนมีเวลา พื้นที่ในความเป็นจริงของมัน ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่ายอมรับความจริง ยอมรับความเสี่ยง เราจะต้องมาคิด เพื่อที่ว่าเราจะเดินอย่างไร


 


เรื่องชาตินิยมเป็นเหมือนฐานแข็ง โดยเอาศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่ง ชาตินิยมที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของศาสนา 100 % เราจะแตะเรื่องนี้อย่างไรเพื่อจะคลี่คลาย และคนมีความลึกซึ้งไม่เท่ากันทุกคน อย่างเราเป็นคนนอกที่ต่างวัฒนธรรมต่างศาสนา เราก็ยังเข้าใจไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มีเงื่อนไขอะไร ต้องมีหลายส่วนที่ช่วยกันคลี่คลาย และจะต้องมีวิธีคิดที่ชัด มีองค์ความรู้ที่กำกับอย่างชัดเจน สู้ความจริงอย่างมีคุณธรรม คลี่คลายแล้วทุกคนต้องสามารถเข้าหากันได้


 


เห็นด้วย ที่ว่า กอส.แก้ปัญหาไม่ชัดจริง มีข้อมูลแค่นี้ การแก้ปัญหาแค่นี้ พยายามเอาอะไรไปฉายให้ออก แต่ก้อนร้ายยังแข็งอยู่เหมือนเดิมและพร้อมที่จะขยาย


 


สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ดูพฤติกรรม แนวคิดนี้ก็พูดแบบนี้ แต่การมีส่วนร่วมมีหลายระดับ ดูคุณภาพและบริบทของชุมชนทางสังคมด้วย วันนี้มองว่าความเป็นชุมชนลดลง แต่ก่อนที่มีความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ผู้นำพูดคำไหนเป็นคำนั้น เป็นผู้นำที่ทรงคุณธรรมจริงๆ สังคมนั้นจะไม่มีปัญหา แต่ปัจจุบันผู้นำในชุมชนจะมีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชน หรือชุมชนเกิดขึ้นตอนไหน ร่วมทำอะไร แล้วคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมมีบทบาทใด รูปธรรมที่เห็นไม่นำไปสู่ความแท้จริงของแนวคิด แต่ตอนที่ให้ร่วมคิด หรือให้มีส่วนร่วมบางครั้งคิดมาให้แล้วค่อยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เราเห็นว่าคุณภาพของการมีส่วนร่วมยังไม่เพียงพอ


 


คุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนที่ตอบรับได้ดีคือผู้นำ แล้วแต่ละพื้นที่มีผู้นำไม่กี่คน คนที่อยู่ในชุมชนฟังผู้นำแค่ไหน แล้วแต่ละชุมชนก็แตกกัน ไม่มีความเป็นเอกภาพ มีการแบ่งแยกหลายฝ่าย ส่วนคนที่มารับลูกต่อก็ต้องมาต่อสู้กับพลังอำนาจเหล่านี้อีก การมีส่วนร่วมนำมาใช้ ก็ดี แต่การมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือของรัฐ ที่บอกว่าผ่านการมีส่วนร่วมแล้ว เหมือนกับว่าหลักการถูกต้องขบวนการถูกต้อง แต่ชาวบ้านกลับเป็นเพียงเครื่องมือของหลักการนี้


 


อับดุลสุโก : ร่างที่ออกมาต้องสร้างความสมดุลในสังคมไทย ขั้นตอนแรกนี้เป็นฐานที่ดีในการสร้างสมานฉันท์ เช่น การยอมรับความจริง ประวัติศาสตร์ทำด้วยจุดประสงค์อะไร


 


การสร้างความสมดุลคือ คือ คนในพื้นที่ที่อยู่ได้ คงอัตลักษณ์วิถีชีวิต และการยอมรับของคนอื่นที่แตกต่างออกไปได้


 


50 % หรือ 20 % ที่พูดกัน ทั้งหมดพร้อมจะเททางไหน การต่อสู้ในปัจจุบัน เขาบอกกับตนเองว่า กู้อิสรภาพ ไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน


 


การที่เขาได้รัฐปัตตานี คือเขามีสิทธิมากกว่าที่เขาอยู่ในประเทศไทย แต่ถ้ารัฐไทยให้ได้มากกว่า เขาก็อยู่ ประชาชนพร้อมที่เททางไหนก็ได้ แต่ปัจจุบันถ้าถามว่าเขาจะแยกหรือเปล่า เขาจะแยกอยู่แล้ว เพราะเหตุการณ์


 


คนเหล่านี้เขาต้องการสร้างรัฐอิสลามขึ้นมา เขาต้องการของเขากลับมา อยากมีรัฐที่ปกครองตนเอง เขามองมาเลเซียมีมัสยิดใหญ่โต แต่ถ้าเขาอยู่ในรัฐไทย กว่าจะได้ต้องใช้เวลาจะทำอย่างไรคน 50 เปอร์เซ็นต์ สามารถคงอัตลักษณ์ของเขาได้ เพราะที่นี่มีศาสนาเป็นตัวดำเนินชีวิต ดังนั้นถ้าเขาสามารถปกครองด้วยตนเอง เขาก็คิดว่าน่าจะดีกว่า


 


ร่างกอส.เป็นการสร้างอัตตลักษณ์ ก็คือต้องให้ประชาชนคิดว่าต้องการอย่างไร หรือจะปฏิบัติอย่างไรให้ประชาชนมาคิด ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง


 


แนวคิดชาตินิยมที่ประทุมาอีกครั้งหนึ่ง ก็เพราะความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในชุมชน เช่น การนำเสนอของรัฐบาลที่ตันหยงลิมอ ที่ไม่ได้นำเสนอเรื่องความเสียหายของชาวบ้านที่โดนยิงที่ร้านน้ำชา


 


สิ่งที่ควรเพิ่มเติมประเด็นเพื่อให้คนในพื้นที่เข้าใจ ควรที่จะพูดประเด็นของอิสลามที่ถูกต้อง ในหลักการศาสนาอิสลาม หรือพุทธ กล่าวไว้อย่างไร เพราะคนในพื้นที่เขายึดศาสนาเป็นหลัก แท้ แต่ต้องสร้างความเข้าใจเรื่องเชื้อชาติ มลายู คือเชื้อชาติ การลดความรุนแรงทั้งสองฝ่าย ที่ประชาชนอยู่ตรงกลาง เราต้องพูดและยอมรับว่าที่นี่เป็นมลายู แต่ไมใช่ 100 % และมีคนพุทธอยู่ในพื้นที่ ดังนั้น การเสวนาต้องมองข้ามเชื้อชาติ หรือที่ยึดติดคือ อิสลาม พุทธ แต่ต้องยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ให้มาก ใช้หลักคิดของศาสนาเข้าไปช่วยในการผลักดัน


 


คัมภีร์อัล-กุรอาน บัญญัติไว้ว่า "เรา(พระเจ้า)ไม่ได้ส่งท่านนบีมูฮำหมัดเพื่ออื่นใดเลย แต่เพื่อสรรพสิ่งทั้งมวล" ส่งท่านนบีเพื่อโลกจักรวาล ในการพูดคุยต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์


 


วัยรุ่นเปอมูดอ มีแนวคิดอิสลามนิยม แต่เขาใช้วิธีการอย่างไร ถ้าใช้ความรุนแรง มันอาจจะได้เลย แต่มีผลร้ายที่มีบาดแผล ถ้าสันติวิธีไม่ทันใจ ดังนั้นถ้าไม่ใช้แนวคิดของกอส. ต้องมีความรุนแรงมากกว่านี้ และมีความเสียหายมากกว่านี้


 


นิมะนาเซ : กอส.ระบุว่ามีกระบวนการสร้างความสมานเกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่สำหรับประเทศไทย สิ่งที่แตกต่างกับประเทศต่างๆ ก็คือ เรามีเรื่องชาตินิยมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งประเด็นนี้กอส.ไม่ได้พูดถึง


 


แนวทางสมานฉันท์ 9 ข้อของกอส. อย่างการเปิดเผยความจริง มีการเปิดเผยผลการสอบสวนกรณีที่กรือเซะ ตากใบ แต่รัฐบาลไม่ได้รับผิด ไม่ยอมรับความผิด ไม่ได้ขอโทษ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ายังไม่ยอมรับความผิด ก็ไม่สามารถแก้ได้


 


การเยียวยา เป็นรูปธรรมที่เด่นชัด ในการลงพื้นที่ แต่ก็ต้องโดนมองว่า เข้าข้างโจร ซึ่งอย่าถือเป็นสาระมาก


 


ศูนย์ข่าวอิศรา : พอใจกับร่างข้อเสนอของกอส.ที่ออกมาหรือไม่


 


นิมะนาเซ : บางส่วน แค่ 50 % เพราะเขานำเสนอวิธีการแก้ปัญหาแบบพื้น ๆ หรือเท่าที่เห็นอีก 50 % ก็เรื่องที่เสนอข้างต้น


 


อ.เกื้อ : ความจริงไม่ได้ถูกเปิดเผย ความจริงแท้ไม่มีใครสามารถบอกเสียที คนก็พยายามหาข้อมูลเพื่อให้ได้ความจริง บางครั้งความจริงค่อย ๆ เปิดด้วยวิถีทางอื่น


 


ทางหนึ่งที่น่าสนใจ คือการนำศาสนามาเป็นสากล ที่นี่มีความอ่อนไหวในเรื่องของศาสนามาก โดยเฉพาะอิสลาม จะทำอย่างไรให้เรื่องตรงนี้ นำไปสู่ความเป็นสากล คิดว่าหลักคิดมีเป้าหมายที่เหมือนกัน คือนำไปสู่เป็นคนดี มีความเป็นธรรม มีคุณค่าในความเป็นมนุษย์


 


ถ้าเราไมพูดว่า มุสลิม พุทธ แต่พูดว่า คุณค่ามนุษย์ เราจะไปสู่จุดนั้นอย่างไร เราต้องพูดว่า เราเป็นมนุษย์ ที่ต้องการศักดิ์ศรีเหมือนกัน ซึ่งจะคลี่คลายชาตินิยมได้ เพราะคนที่ต้องการชาตินิยม ต้องการให้คนในพื้นที่รู้ว่าเขายังอยู่ในมาตุภูมิแห่งนี้


 


กอส.ต้องเพิ่มรายละเอียด ให้ใช้ศาสนามาบูรณาการ ต้องยอมรับว่า ทุกคนมีแนวคิดหลักศาสนาที่แท้จริง ศาสนาพุทธ จุดเด่น คือให้เรียนรู้ รับเองด้วยเหตุผล จุดเด่นอิสลาม ต้องทำตามหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้เหนือมุสลิมทุกคน ดังนั้นต้องนำจุดเด่นของแต่ละศาสนามาใช้ในการแก้ปัญหา



 


ศูนย์ข่าวอิศรา : การคงอัตลักษณ์ มีหลักการอยู่ร่วมกันอย่างไร


 


อ.เกื้อ : ในระดับมหาวิทยาลัยมีการเรียนศาสนาเปรียบเทียบ เพื่อต้องการให้รู้ว่าศาสนาเป็นอย่างไร เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ และถ้าปอเนาะสามารถให้มีหลักสูตรการเรียนศาสนาเปรียบเทียบเพื่อต้องการให้เขาอยู่ร่วมกันได้ ให้เขายอมรับได้


 


ปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหารุนแรง คือการเมือง การเป็นพรรค เป็นเรืองที่ดี แต่กระบวนการเมือง นำสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาสู่ชุมชน ต่างประเทศที่มีพรรคที่มีนโยบายที่ชัดเจน แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายเกี่ยวกับสามจังหวัดที่ชัดเจน


 


นิมะนาเซ : ถ้ากอส.จะกล้าคือ พยายามฟื้นข้อเสนอของหะยีสุหลง(โต๊ะมีนา) ที่เสนอ เพราะเป็นแนวทางสันติวิธี


 


การเมืองเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ยากที่จะแก้ สิ่งที่แก้ได้ คือการปกครองท้องถิ่นตนเอง แต่ไม่สามารถผลักดันในระดับการเมืองระดับชาติได้ การดึงให้อยู่ในระดับประเทศยาก แต่ถ้าระดับท้องถิ่นสามารถถูไถกันได้ ในระดับอบต. อบจ.รัฐบาลยังไม่กล้าเลย อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ไม่กล้า เพราะกลัวเรื่องปัตตานีนี่แหละ แต่ก็น่าจะลอง แต่เบื้องต้น ผมคิดว่าเละ เพราะคนในพื้นที่ยังไม่พร้อม


 


ระบบ วิธีการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะวิธีการเลือกตั้ง เป็นตัวหนึ่งที่ทำลายชุมชนมาก ตามหลักการอิสลามจะใช้ระบบซูรอ หรือ กรรมการสรรหา การเลือกตั้งเป็นการทำลายชุมชน เกิดการแบ่งแยก แบ่งพวก แบ่งฝ่าย


 


อ.เกื้อ : วิธีการเลือกตั้งนั้น ถ้าใครสามารถโฆษณาได้เร็ว ก็ได้เปรียบ แต่ไม่ได้สร้างสภาซูรอ ที่เปิดตัวด้วยความดี ให้คนอื่นเขาโฆษณาให้ แต่ถ้าระบบการเลือกตั้งในปัจจุบันจะใช้การโฆษณา แต่ไม่ได้เห็นคุณธรรมของคนๆนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net