Skip to main content
sharethis

ประชาไท 12 พ.ย. 2548 นายวิศาล บุปผเวส ผู้อำนวยการโครงการวิจัยรูปแบบเขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นงานวิจัยศึกษาเพื่อใช้ในการร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ......กล่าวนำการสัมมนาเรื่อง "ร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ......" ซึ่งจัดขึ้นโดยกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2548 ชี้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความสะดวกและมีธรรมภิบาล แต่ได้แสดงความไม่แน่ใจว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ นั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือไม่ พร้อมระบุถ้าร่างฯ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ไม่เห็นด้วย


 


"ลักษณะสำคัญคือการลดขั้นตอนความล่าช้าของระบบราชการ โดยบูรณาการทุกสายงานทุกมิติให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิส เป็นวิธีภายใต้กรอบของกฎหมายที่ยังแก้ไม่ได้ แต่ไม่ได้ไปทดแทนกฎหมายที่มีอยู่ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเพียงเครื่องมือบริหารจัดการ เพราะการปฏิรูปต้องคิดถึงการเปิดเสรี การลดหย่อนกฎเกณฑ์ต่างๆ การกระจายอำนาจจากศูนย์กลางไปสู่ท้องถิ่น" นายวิศาลกล่าว พร้อมอธิบายต่อไปว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงไม่ใช่องค์กรการปกครอง เพราะเป็นเพียงวิธีคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ สนองวัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละพื้นที่ แต่ต้องอยู่ในกรอบแม่บทของประเทศ โดยที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ยังมีอำนาจเต็ม เก็บภาษีได้เหมือนเดิม


 


ผอ.โครงการวิจัยรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษกล่าวต่อไปว่า ในการจัดการแต่พื้นที่นั้นขึ้นกับศักยภาพซึ่งแต่ละพื้นที่มีแตกต่างกัน บางแห่งควรเป็นอุตสาหกรรม บางแห่งควรเป็นเกษตรกรรม ในส่วนของเกษตรกรรมนั้นควรต้องปรับเปลี่ยนจากที่เคยเป็นเกษตรรายย่อย แข่งขันยากเป็นเกษตรกรรมสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ


 


อย่างไรก็ตาม ในวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ คนที่อาศัยอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่สนองการลงทุนเพียงอย่างเดียว ต้องเป็นต้นแบบให้ชุมชนและท้องถิ่นให้เห็นว่าคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ต้องมีการบริการสาธารณะที่ดี เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ที่สำคัญคือเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ต้องมีธรรมาภิบาล


 


"จุดเริ่มต้นของพ.ร.บ.นี้คือ ผมไม่ต้องการเห็นใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นคนพิเศษ ตอนนี้ในโครงสร้างที่เป็นอยู่ เต็มไปด้วยคนพิเศษ" นายวิศาล บุปผเวส ผอ.โครงการวิจัยรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ กล่าว


 


ส่วนประเด็นที่อ่อนไหวนั้น นายวิศาลยกตัวอย่างการอนุญาตให้ถมทะเลว่า หลายประเทศถมทะเลเป็นว่าเล่น ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ก็ควรทำได้ และการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตนั้นจะกว้างขวางแค่ไหนก็ได้ อยู่ที่ว่าเพื่ออะไร มีเหตุผลเพียงพอไหม ซึ่งการได้มาซึ่งที่ดินก็เน้นว่าไม่มีการบังคับชุมชน" ผอ.โครงการวิจัยฯ กล่าว ขณะที่เรื่องการมีส่วนร่วมนั้น เขาระบุว่า หัวหน้าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย


 


ทั้งนี้นายวิลาศกล่าวว่า ประเด็นอ่อนไหวของแต่ละพื้นที่นั้นก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องช่วยพิจารณาเนื่องจากตนไม่สัดทัดเรื่องถ้อยคำในตัวบทกฎหมาย ดังนั้น ร่างฯ ที่เขียนขึ้นก็อาจจะต้องปรับแก้อีกในรายละเอียด และอาจจะปรับอีกถึง 4-5 รอบก็ได้


 


อย่างไรก็ตาม ภายหลังนายวิศาลได้กล่าวบรรยายแล้ว ก็ถูกตั้งคำถามจากผู้เข้าร่วมการเสวนาอย่างหนักในประเด็นรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้นว่า กรณีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลภายนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษในการเดินทางเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีอยู่เดิม ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งร่างฯ บัญญัติยกเว้นไม่ให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบหากเป็นภาระมากเกินไป การถมทะเลซึ่งจะก่อผลกระทบต่อนิเวศทางทะเล เป็นต้น


 


ซึ่งนายวิศาลอธิบายว่าตนเองไม่รู้ในรายละเอียดและตนไม่ใช่นักกฎหมาย แม้ว่าตนจะอยู่ร่วมในกระบวนการร่างกฎหมายก็ไม่ได้เข้าใจถ้อยคำที่บัญญัติลึกซึ้ง จนกระทั่งนายสัก กอแสงเรือง ส.ว. กรุงเทพฯ กล่าวว่า เนื้อหาของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่นายวิศาลได้บรรยายมากับเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นเป็นคนละเรื่องกัน จึงอยากให้นายวิศาลได้ชี้แจงในฐานะส่วนตัวว่าเมื่อร่างฯ ดังกล่าวดำเนินมาถึงขั้นผ่าน ครม. แล้ว นายวิศาลเห็นด้วยหรือไม่


 


โดยนายวิศาลกล่าวยืนยันว่า ตนไม่ใช่นักกฎหมายจึงไม่เข้าใจถ้อยคำที่มีนัยทางกฎหมายลึกซึ้ง แต่เท่าที่ ตนเองได้อยู่ร่วมในกระบวนการร่างฯ มาแต่ต้นก็ยังไม่เห็นประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ที่ประชุมหยิบยกขึ้นมา และไม่เห็นว่าร่างฯ ฉบับนี้ผิดแผกไปจากเจตนารมณ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ถ้าหากร่างฯนี้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษจริงๆ ตนก็ไม่เห็นด้วย


 


"เป็นได้อย่างไรที่ผมจะเข้าใจฟั่นเฟือนไปขนาดนั้น แต่ถ้ากฎหมายเขียนออกมาต่างจากเจตนารมณ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษจริงๆ ผมก็ไม่เห็นหรอก" นายวิศาลกล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net