Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมวังธารรีสอร์ท อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เครือข่ายชนเผ่าภาคเหนือ โดยศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนพื้นที่สูง (ศปส.) ร่วมกับองค์กรพันธมิตรและเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือกว่า 20 องค์กร ได้ร่วมกันสรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อหาทิศทางการทำงานและแผนยุทธศาสตร์รองรับแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เตรียมรับกำหนดเวลาผ่อนผันตามมติ ครม. กำลังจะหมดลง


 


มติ ครม.ผ่อนผันคนไร้สัญชาติอาศัยอยู่ในไทยชั่วคราว?


ตามที่ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2547 อนุมัติผ่อนผันให้กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนบนพื้นที่สูงที่ไม่สามารถกำหนดสถานะตามกฎหมายได้ และผู้ที่อพยพเข้ามาหลังวันที่ 3 ต.ค.2528 ซึ่งได้จัดทำประวัติไว้แล้ว ให้อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 25 ส.ค.2548


 


และให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับการให้สถานะตามกฎหมายแก่กลุ่มบุคคลที่ขอลงรายการสัญชาติไทย จำนวน 90,739 คน ขอสัญชาติไทยและขอสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 66,411 คน ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว


 


สำหรับกลุ่มผู้ที่อพยพเข้ามาหลังวันที่ 3 ต.ค.2528 จำนวนทั้งหมด 220,527 คน ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งประสานงานกับกระทรวงต่างประเทศเพื่อรับไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งผู้อพยพกลุ่มดังกล่าวกลับภูมิลำเนาต่อไป ทั้งนี้ ในระหว่างการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว ให้หน่วยงานต่างๆ ได้ประสานและให้ความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการดำเนินการอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้กำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหารองรับตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอนั้น


 


ต่อมา กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยบอกเหตุผลความจำเป็นว่า เนื่องจากการดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2547 นั้น ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ จึงมีความจำเป็นต้องขอผ่อนผันให้กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง และชุมชนบนพื้นที่สูงที่ไม่สามารถกำหนดสถานะตามกฎหมายได้ และผู้ที่อพยพเข้ามาหลังวันที่ 3 ต.ค.2528 ซึ่งได้จัดทำประวัติไว้แล้ว ให้อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวต่อไปอีก 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันในวันที่ 25 ส.ค.2548 นั้น


 


โดย พลอากาศเอก คงศักดิ์ วันทนา รมว.กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอให้ ครม.อนุมัติผ่อนผัน ไปจนถึงวันที่ 24 ส.ค.2549 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล


 


ทว่ากลับมีจุดพลิกผัน เมื่อ ครม.มีมติ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2548 อนุมัติผ่อนผันให้กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง และชุมชนบนพื้นที่สูงที่ไม่สามารถกำหนดสถานะตามกฎหมาย และผู้ที่อพยพเข้ามาหลังวันที่ 3 ต.ค.2528 ซึ่งได้จัดทำประวัติไว้แล้ว ให้อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวต่อไปอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า อนุมัติผ่อนผันไปจนถึงวันที่ 24 พ.ย.2548 นี้ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการโดยเร็ว


 


คนพื้นที่สูงต้องกลายเป็นคนผิดกฎหมาย


จากมติ ครม.ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เป็นอย่างมาก เพราะนั่นย่อมหมายความว่า หากครบกำหนดการผ่อนผัน ก็จะทำให้กลุ่มคนดังกล่าวตกเป็นผู้มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทันที


 


นอกจากนั้น ยังทำให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องอึดอัดลำบากใจอย่างยิ่ง เนื่องจากระยะเวลาการผ่อนผันชั่วคราวเพียง 3 เดือน ทำให้การดำเนินการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายของกรมการปกครอง ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด


 


กรมการปกครองเตรียมชี้แจง ครม. ทำไม 3 เดือน แก้ปัญหาไม่เสร็จ


นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย หัวหน้างานชนกลุ่มน้อยและสัญชาติ กรมการปกครอง เปิดเผยถึงสาเหตุปัญหาการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในรอบ 3 เดือนล่าช้า ไม่แล้วเสร็จว่า เพราะบุคลากรที่ทำงานมีจำนวนน้อย แต่ต้องรับคำร้องพิจารณาสถานะบุคคลเป็นจำนวนมาก


 


และต้องแยกการพิจารณาคำร้องออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กรณีขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรแก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 ซึ่งมีบุคคลเป้าหมายทั้งหมด 90,739 ราย


 


2. กรณีการขอสัญชาติไทย มีกลุ่มบุคคลเป้าหมายตามมติ ครม. อีก 29,115 ราย


และ 3. กรณีขอสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายอีก จำนวน 37,296 ราย


 


"ทั้ง 3 กรณี กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนนำเรียน รมว.มหาดไทย เพื่อพิจารณาใช้ดุลยพินิจตามกฎหมาย และต้องยื่นคำร้องให้ที่ประชุมได้พิจารณาให้สัญชาติไทยและให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่ชนกลุ่มน้อย และกำลังอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบพฤติการณ์ด้านยาเสพติดและอาชญากรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอยู่" นายอุดมเขต กล่าว


 


ด้าน นายรองรัตน์ จงอุตส่าห์ เจ้าพนักงานปกครอง 6 ตัวแทนกรมการปกครอง กล่าวว่า อีกสาเหตุที่กระบวนการติดขัดล่าช้า เพราะต้องมีการตรวจสอบทุกคำร้องว่า เอกสารที่จังหวัดส่งมา ครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ และยังต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ กองทะเบียนอาชญากรรมและยาเสพติด จึงทำให้การดำเนินการล่าช้าลงไปอีก


 


"ที่เป็นปัญหาในขณะนี้ ก็คือเอกสารยื่นคำร้องไม่ครบถ้วน เช่น ตรวจสอบพบว่า แผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือเลอะเลือน และมีบางจังหวัดไม่ได้ส่งแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือแนบมาให้ ก็ต้องกลับไปทำใหม่ บวกกับบางพื้นที่ประสบกับภาวะน้ำท่วม ไม่สามารถดำเนินอย่างต่อเนื่องได้ และปัญหาที่สำคัญที่สุด ก็คือ เมื่อทางอำเภอประกาศให้ไปยื่นคำร้อง แต่บุคคลเป้าหมาย ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ จึงทำให้การดำเนินการล่าช้าไปอีก" นายรองรัตน์ กล่าว


 


กรมการปกครองพ้อ คณะรัฐมนตรีไม่เข้าใจชัดเจน


ตัวแทนกรมการปกครอง ได้กล่าวตัดพ้อต่อ ครม.ว่า มติ ครม. 23 ส.ค. 2548 ที่ได้อนุมัติผ่อนผันให้กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง และชุมชนบนพื้นที่สูงที่ไม่สามารถกำหนดสถานะตามกฎหมายได้ และผู้ที่อพยพเข้ามาหลังวันที่ 3 ต.ค.2528 ซึ่งได้จัดทำประวัติไว้แล้ว ให้อยู่อาศัยในประเทศไทย เป็นการชั่วคราวต่อไปอีกเพียง 3 เดือนนั้น อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจข้อมูลที่ชัดเจน ว่าทำไมต้องมาขอผ่อนผันเป็นรายปีอีก ซึ่งการเร่งรัดให้เสร็จภายใน 3 เดือนนั้น ในทางปฏิบัติจริงไม่อาจทำได้


 


อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 พ.ย. 2548 ที่จะถึงนี้ ทางกรมการปกครอง จะนำข้อมูลปัญหาการดำเนินการแก้ไขสถานะบุคคลกลุ่มดังกล่าว รีบนำเสนอต่อ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (นอส.) ซึ่งมี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนนำเสนอ ครม.ได้พิจารณาอีกครั้ง


 


"มติ ครม.ล่าสุด อนุมัติให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล จำนวน 157,000 คนเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มผู้อพยพเข้ามาหลังวันที่ 3 ต.ค.2528 จำนวน 220,527 คนนั้น ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น เรากำลังเสนอเข้าครม.ใหม่ ให้ผ่อนผันได้เท่าเทียมกัน เพื่อหาทางแก้ไข ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2548 เพราะมิฉะนั้น จะถือว่าเป็นการเข้าเมืองโดยมิชอบไปโดยปริยาย" ตัวแทนกรมการปกครอง กล่าว


 


หวั่น ครม.ไม่อนุมัติให้ผ่อนผันต่อ คนกว่า 2 แสน ต้องถูกส่งตัวกลับ


ตัวแทนกรมการปกครอง ชี้ให้เห็นอีกว่า ในวันที่ 22 พ.ย.2548 นี้ จะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสภา หาก มติ ครม.ไม่อนุมัติผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว ก็จะทำให้คนกลุ่มเหล่านี้กลายเป็นคนผิดกฎหมายทันที และการดำเนินการก็คงจะกลับไปนับหนึ่งใหม่


 


"โดยเฉพาะกลุ่มผู้อพยพเข้ามาหลังวันที่ 3 ต.ค.2528 จำนวน 22,0527 คน จะต้องมีการส่งกลับออกนอกประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้ว ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.รู้ดีว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งตัวกลับ แต่อย่างไรก็ตาม หาก ครม. ซักถาม ทางกรมการปกครองก็คงชี้แจงให้ทราบถึงข้อเท็จจริง" ตัวแทนกรมการปกครอง กล่าวทิ้งท้าย


 


ตัวแทนชนเผ่า เสนอให้คุ้มครองระหว่างรอการพิจารณา


ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่า ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มดังกล่าวอย่างมาก และในขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายพื้นที่ ได้อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเข้าทำการจับกุมกลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงกันหลายรายแล้ว ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่า จึงเสนอกรมการปกครองไปว่า ในระหว่างที่เรารอมติ ครม. อยากเสนอให้ไม่มีการจับกุมบุคลสองกลุ่มเป้าหมาย และหามาตรการให้ความคุ้มครองในระหว่างรอการพิจารณา


 


ซึ่งตัวแทนกรมการปกครองรับปากว่า จะนำข้อเสนอของเครือข่ายชนเผ่าไปเสนอใน ครม.และได้ชี้แจงว่า ตามคำสั่งของ มติ ครม. ดังกล่าวนั้น อนุญาตให้ผ่อนผันชั่วคราว โดยไม่มีการจับกุม แต่ในทางปฏิบัติในทางกฎหมาย จะสามารถดำเนินการจับกุมได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net