Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท—9 พ.ย. 48 ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำไต่สวนฉุกเฉินกรณี กฟผ. พรุ่งนี้ ขณะที่องค์กรภาคประชาชนเดินหน้าระดมพลังประชาชนอย่างต่อเนื่อง หวังเพิ่มแนวร่วมระงับกระจายหุ้น โดยวันนี้แจกโปสการ์ดคัดค้านหมดเกลี้ยง 4,000 ใบ บริเวณหน้าอาคาร ซีพี ทาวเวอร์ ถนนสีลม



หลังจากที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 11 คน ได้ฟ้องนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี ฐานกระทำการมิชอบและขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ คือ พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 และ พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2548 เนื่องจาก พ.ร.ฎ.ทั้ง 2 ฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล


 


เมื่อวันที่ 9 พ.ย. องค์กรภาคประชาชนได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้พิจารณาคดีดังกล่าวให้เป็นกรณีฉุกเฉิน และขอคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวที่จะหยุดการดำเนินการใดในการกระจายหุ้นขายในตลาดหลักทรัพย์ระหว่าง 16-17 พ.ย.นี้ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาตัดสิน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินในวันพรุ่งนี้ (10 พ.ย.)


 


ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก ได้ยื่นร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวนเป็นกรณีฉุกเฉิน ตามคำฟ้องหมายเลขคดีที่ ฟ 14/2548 โดยระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วน ดังต่อไปนี้ 1.มีการโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับการชี้ชวนให้ซื้อหุ้นของการไฟฟ้าในตลาดหลักทรัพย์ 2.พนักงานได้รับการจัดสรรหุ้นไปแล้ว 510.311 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ10 บาท (25-27 ต.ค.48) ขณะที่จะขายในราคาเบื้องต้นราคาหุ้นละ 25-28 บาท ทำให้รัฐรับภาระค่าใช้จ่าย 7,654.65-9,185.58 ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายจะผลักเป็นภาระของผู้ใช้ไฟ ทั้งยังจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองหุ้นจำนวน 1,245 ล้านหุ้นในวันที่ 16-17 พ.ย.นี้


 


3.หนังสือชี้ชวนได้เสนอผลประโยชน์ในการปันผลหุ้นสิ้นปีนี้ หุ้นละ 75 สตางค์ จะทำให้มีกำไรต่อนักลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท ทำให้การไฟฟ้าต้องควักกำไรสะสมของตนออกมาซึ่งส่งผลต่อผู้ใช้ไฟฟ้า 4.หากปล่อยให้ กฟผ.กระจายหุ้นตามวันที่กำหนดไว้ จะส่งผลให้บริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ต้องทำหน้าที่รับประกันกำไรไว้ที่ร้อยละ 8.3 โดยจะทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าอีกประมาณร้อยละ 4


 


5.กฟผ.มีการลงทุนในระบบสื่อสาร โดยที่รัฐลงทุนจากเงินกู้และเงินที่เก็บจากค่าไฟฟ้าของประชาชนประมาณ 25 % ซึ่งการแปรรูปได้ตีมูลค่าไว้ประมาณ 2,241.4 ล้านบาท โดยไม่มีการประเมินมูลค่าในอนาคตหรือโอกาสการสร้างรายได้ ขณะที่ปัจจุบันเอกชนได้เช่าดำเนินการไปแล้ว6.ปัจจุบัน กฟผ.ไม่มีหลักประกันให้กับผู้บริโภค โดยยังไม่มีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระสาขาก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด ขณะที่ กฟผ.เป็นทั้งผู้ซื้อไฟฟ้า ผู้ส่งไฟฟ้า และขายส่งไฟฟ้าแต่เพียงรายเดียว


 


7.รัฐให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับประชาชน เกี่ยวกับการเปรียบเทียบค่าไฟฟ้ากับประเทศอื่น 8.ในวันที่16 พ.ย.นี้จะมีการจองหุ้นโดยจ่ายเงินด้วยเช็ค จึงมีความจำเป็นในการพิจารณากรณีนี้เป็นการฉุกเฉินก่อนที่จะถึงวันดังกล่าว เพื่อป้องกันความวุ่นวายในตลาดหลักทรัพย์ เพราะผู้ซื้อหุ้นอาจจะได้รับผลกระทบในกรณีนี้ได้จากกำหนดการเดิมที่จะนำ กฟผ.ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สิ้นเดือนนี้


 


ด้านนางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง กลุ่มพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ได้ร่วมรณรงค์คัดค้าน กฟผ.เข้าตลาดหุ้นในวันนี้ด้วย กล่าวว่า "พวกเราต้องทำประชามติโดยล่ารายชื่อจากโปสการ์ด ซึ่งวันนี้นำมาแจกจ่ายประชาชนจำนวน 4,000 ใบเพื่อให้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยขณะนี้บางคนอาจยังไม่เข้าใจเนื่องจากไม่ได้ข้อมูลที่เพียงพอ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อโดยใช้สื่อต่างๆ"


 


สำหรับการที่ประชาชนไม่ค่อยออกมาคัดค้านนั้น นางสาววัชรี มองว่า นอกจากคนไม่รู้เรื่องราวส่วนหนึ่งแล้ว ยังมีคนที่รู้แต่ไม่ยอมแสดงตัวคัดค้านออกมา ซึ่งมีหลายสาเหตุ อาทิ ความเดือดร้อนที่ยังมาไม่ถึงตัว เช่น ค่าไฟขึ้นทีละ 10-30 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟที่บ้านเพิ่มเพียงเดือนละ 40-50 บาทก็ไม่รู้สึกได้รับผลกระทบ ขณะที่คนชั้นกลางอาจมองไม่เห็นว่าเดือดร้อน ส่วนคนรวยเขาก็มีเงินจ่าย ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีคนสนใจพอสมควรแต่ยังมีปัญหาคือไม่ยอมแสดงตัวออกมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net