Skip to main content
sharethis




 


 


 


            


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


ท่านอาจารย์พุทธทาส  ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์  บุรุษ ๓ ท่านนี้เป็นเกลอกันมานาน  ต่างสิ้นชีวิตจากโลกไปแล้วทั้ง ๓ คน  โดยที่ยูเนสโกได้ยกย่องให้ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นบุคคลดีเด่นของโลกในปีนี้


            ทั้ง ท่าน ได้กระทำความดีเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวโลก ไม่แสวงหาประโยชน์ที่เกินเลยใส่ตัว  แล้วยังช่วยโลก ให้คนมีความรู้ รู้จักธรรม และรู้จักความยุติธรรมมากขึ้น  โดยที่อาจารย์สัญญากับอาจารย์จิตติ ต่างก็มักจะเดินทางโดยรถไฟไปเยือนอาจารย์พุทธทาสที่อำเภอไชยา อยู่เป็นระยะๆ


            ผมโชคดี ที่มีโอกาสติดตามท่านอาจารย์จิตติ ไปสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์พุทธทาสหลายครั้ง  และก่อนท่านจะมรณภาพ  ผมก็เคยยกทีมถ่ายทำโทรทัศน์ไปสัมภาษณ์ท่านที่สวนโมกข์พลาราม  ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาส ได้กรุณาให้ถ่ายทำนานถึง ๓ ชั่วโมงเศษ และก็ได้นำออกอากาศเผยแพร่ไปแล้ว


            คำของอาจารย์พุทธทาส ยังติดก้องอยู่ในใจตลอด


 


"ประชาธิปไตยจะพัฒนา  นักการเมืองต้องไม่เห็นแก่ตัว"


            ครั้งแรกที่ได้ยินคำนี้จากท่านอาจารย์พุทธทาส  ผมรู้สึกงงๆ ยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง  แม้จะเคยได้ยินท่านอธิบายถึงคำว่า "ตัวกู ของกู" ก็ยังนึกไม่ออกว่าสัมพันธ์กับประชาธิปไตยอย่างไร  แต่จนล่วงมาถึงยุคปัจจุบัน มายุคนี้ ผมถึงเข้าใจแจ่มแจ้ง  เพราะเมื่อนักการเมืองเห็นแก่ตัว ยึดตัวกูของกู เงินของกู เขตเลือกตั้งนี้เลือกพรรคกู จะให้เงินงบประมาณเขตไหนมากมันก็เป็นเรื่องของกู  เมื่อมีการเห็นแก่พวกของตัว ญาติของตัวเสียแล้ว ประชาธิปไตยไทยมีสภาพเป็นอย่างไร  เหลืออะไร  พัฒนาหรือปฏิรูปแล้วหรือไม่


 


"การศึกษาของเรา เหมือนหมาหางด้วน"


ผมงงมาก  เมื่อได้ยินคำนี้จากท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นครั้งแรก แต่เมื่อซักถามท่านจึงได้ความเข้าใจขึ้นมาว่า ท่านต้องการเปรียบเทียบให้ได้คิดว่า "หางหมา" ก็เหมือน "หางเสือ"(เรือ)  ซึ่งมีไว้คัดท้าย  คัดทิศทาง  ประคับประคองไปสู่จุดหมาย  เมื่อขาดหาง(เสือ) เรือก็วิ่งสะเปะสะปะ


            กระทั่ง มายุครัฐบาลปัจจุบัน ยิ่งเข้าใจดียิ่งขึ้น ว่าปฏิรูปการศึกษาของเรา ที่พยายามสร้างทิศทาง  ถึงขนาดกำหนดเอาไว้ในกฎหมาย  แต่ถ้าลองได้นักการเมืองที่เห็นแก่ตัว ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่แน่วแน่  ทิศทางที่วางแผนปฏิรูปไว้ก็ไม่เป็นผล  การศึกษาไทยก็จะไม่ไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ ไม่มีการคัดท้าย คัดทิศทาง เสมือน "หมาหางด้วน" นั่นเอง


            หรือปัญหาที่เกิดกับการปฏิรูปการศึกษาทั้งหมด จะเป็นเพราะ "สุนัขตัวนั้น"  ตามชื่อหนังสือของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ หรือเปล่าก็ไม่รู้


 


"ตายเสียก่อนตาย"


            คำสอนของอาจารย์พุทธทาสคำนี้ สร้างปริศนาธรรมให้ได้ขบคิด ติดใจตลอดมา


ถึงอย่างไรเราก็ต้องตายใช่ไหม?  เราควรตายเสียก่อนที่ร่างกายจะดับดีไหม?


            ถ้าดี เราจะตายจากอะไร?  ตายจากความโลภได้ไหม?


ไม่ว่ายุคสมัยไหน  ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน คนรวยแล้วไม่พอ  รวยแล้วอยากรวยอีก  รวยแล้วก็ต้องโกงเพื่อให้รวยอีก  แล้วก็สร้างวิธีโกงเพื่ออธิบายปลอบใจตัวเองและปกปิดผู้อื่น  สะกดจิตตัวเองว่าโกงแบบนี้ไม่เป็นไร สังคมก็ยังได้ประโยชน์  ธุรกิจตัวเองก็ได้ประโยชน์  คนอื่นเขาก็โกงและโกงมากกว่านี้อีก


ถ้านักการเมืองที่อ้างว่ายึดปฏิบัติตามแนวทางของอาจารย์พุทธทาสอย่างลึกซึ้ง  เขาควรจะ "ตายเสียก่อนตาย" ดีไหม?   หรือจะรอให้  "ตายตัวก่อนที่ตัวตาย" ?


 


ทั้งหมด  เป็นปริศนาธรรมที่มีคุณค่า เป็นการตั้งโจทย์ในทางธรรมเพื่อให้ผู้คนขบคิดอย่างถูกทิศทาง ถูกหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางธรรมหรือทางโลก  การตั้งโจทย์ก็เป็นเรื่องสำคัญ  เพราะถ้าลองตั้งโจทย์ผิดเสียแล้ว ก็ไม่มีวันพบคำตอบที่ถูก หรือถ้าผู้นำประเทศตั้งโจทย์ผิด การกำหนดทิศทาง การแก้ปัญหา ก็จะนำสังคมเดินในทิศทางที่มีปัญหา


ผมเคยเรียนถามอาจารย์พุทธทาสว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ค่ายทุนนิยม เขาสอนให้เข้าใจความจริงของสังคมมนุษย์ว่า 


๑.ปัญหา คือ "การมีทรัพยากรธรรมชาติ มีอยู่จำกัด แต่ ความต้องการของมนุษย์มีไม่สิ้นสุด"  


๒.โจทย์หรือทิศทางออก คือ เราจะจัดสรรทรัพยากรอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อสนองความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์นั้นได้


ท่านอาจารย์พุทธทาสตอบว่า คิดอย่างนั้นก็ถูกเพียงส่วนหนึ่ง คือ เมื่อมนุษย์มีความต้องการไม่สิ้นสุด เราก็แสวงหาจัดสรรทรัพยากรให้สนองให้ดีที่สุด  แต่ความคิดนี้ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะเมื่อทรัพยากรมีจำกัด เราก็ควรลดและจำกัดตัวความต้องการของมนุษย์ให้ลดลง


ผมตาสว่าง!  มองเห็นว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมตั้งโจทย์โดยมองปัญหาและการแก้ปัญหาว่า เมื่อทรัพยากรมีจำกัด ความต้องการของมนุษย์มีไม่สิ้นสุด เราก็เอาทรัพยากรจำกัดมาแบ่งปันให้สนองความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ  เพราะเราไปยอมรับเอาความต้องการที่ว่ามีไม่สิ้นสุด ให้เป็นของคงที่ตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่กลับเอาทรัพยากรที่คงที่ตายตัว มาจัดสรรสนองตอบความต้องการ(ที่ไม่คงที่ตายตัว ไม่มีสิ้นสุด)


แต่ ท่านอาจารย์พุทธทาส บอกให้ตั้งโจทย์กลับกัน คือ เมื่อทรัพยากรมีอยู่จำกัด เราจะจำกัดความต้องการของมนุษย์อย่างไร โดยที่มนุษย์ก็มีความสุขอย่างที่สุดไปด้วย


เมื่อโจทย์ต่าง แนวทางการแก้ปัญหาก็แตกต่าง!


            ลองดูกรณีศึกษาบางกรณี ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งโจทย์ผิด ซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ ในยุคนี้


 


            ๑. เมื่อมีปัญหาคนเล่นหวยใต้ดิน  มีคนจนเสียรู้ เสียเปรียบเจ้ามือ  เจ้ามือหวยรวยขึ้นๆ รัฐบาลนี้ก็แก้ปัญหาด้วยการเป็นเจ้ามือหวย หวังเอาเงินคนจนเสียเอง  แทนที่จะตั้งโจทย์หาทางออกของปัญหาว่า เราจะลดการซื้อหวย จะให้คนขายและคนซื้อเลิกทำกิจการอันเลวทรามนี้อย่างไร


            ๒. เมื่อคนไทยชอบเข้าบ่อน เล่นการพนันตามบ่อนชายแดน รัฐบาลนี้ก็ตั้งโจทย์ว่าเราจะเปิดบ่อนการพนันในประเทศอย่างไรดี  เงินจะได้อยู่ในประเทศ แทนที่จะคิดแก้ไขไม่ให้คนไปเข้าบ่อนเล่นการพนัน  ลดละเลิกการพนัน


            ๓. เมื่อจะทำธุรกิจผูกขาด เช่น กิจการดาวเทียมในประเทศไทย รัฐบาลก็ตั้งโจทย์ว่า เมื่อประเทศไทยได้ประโยชน์จากดาวเทียมนี้  สังคมและประเทศไทยจะสนับสนุนธุรกิจนี้อย่างไร จะยกเว้นภาษีให้ จะส่งเสริมการลงทุน  แทนที่จะตั้งโจทย์ว่า  คนที่ได้ครอบครองธุรกิจผูกขาดของประเทศ ทำให้คนอื่นแข่งขันกับตนไม่ได้ เราควรจะตอบแทนประเทศชาติให้มากที่สุดได้อย่างไร


            ๔. เมื่อเยาวชนต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ต้องแข่งขันเพื่อให้ได้เข้าเรียนในจำนวนที่นั่งจำกัด  พ่อแม่คนรวยซึ่งมีอำนาจก็ไปตั้งโจทย์ว่า จะใช้เส้นขอเพิ่มคะแนนสอบ ๔ คะแนน จากปลัดทบวงอย่างไร หรือจะล่วงรู้ข้อสอบล่วงหน้าได้อย่างไร  แทนที่จะหาหนทางให้ลูกฝึกฝน  คิดให้เป็น เรียนรู้วิธีเรียนรู้ ไม่ต้องยึดติดว่าจะต้องเรียนที่เกษตรฯ อีกคนเรียนที่จุฬาฯ เพื่อชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล  แต่สามารถที่จะเข้าไปเรียนที่อื่นเพื่อจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาสถานศึกษา


            ๕. เมื่อสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ สะท้อนภาพตนและคนในรัฐบาลว่ามีปัญหา กลับไปตั้งโจทย์ว่า จะยุติการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร?  จะต้องควบคุมโดยใช้เงินทองแค่ไหน? จะต้องข่มขู่คุกคามใครบ้าง  แทนที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น มองการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนว่าเป็นข้อมูลหรือขุมทรัพย์ที่จะต้องเลือกนำมาใช้


 


ดูแล้ว  ก็ไม่แปลกใจ ที่ท่านผู้นำของเรา จะอ้างว่า รู้ซึ้งถึงแนวทางพุทธศาสนาและรู้ซึ้งคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส   แต่นิยม  แก้ปัญหายาเสพติดด้วยการฆ่าตัดตอน  แก้ปัญหาไข้หวัดนกด้วยการฆ่าไก่ทิ้งและกินไก่โชว์  แก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ด้วยการอุ้ม ฆ่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน  แก้ปัญหาคอรัปชั่นสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยการบิดประเด็นไปที่มหานครสุวรรณภูมิกับการมีสนามบินยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ฯลฯ


ผู้นำของเรา ช่างรู้แจ้งถึงแก่นพุทธศาสนา และรู้ซึ้งถึงคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส เสียจริง


สาธุ....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net