ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องป่าชุมชน

 

1. ป่าชุมชน คืออะไร
ป่าชุมชน คือ พื้นที่ป่าทั้งที่เป็นป่าบก และป่าชายเลน (รวมทั้งผืนดิน ต้นไม้ ทุ่งหญ้า พันธุ์พืช สัตว์ป่า แหล่งน้ำ และสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด) รอบชุมชน หรือใกล้เคียงกับชุมชน (อาจจะเป็นชุมชนทางการ เช่น หมู่บ้าน , อบต . หรือชุมชนตามประเพณีก็ได้ และก็อาจจะเป็นหนึ่งชุมชน หรือหลายชุมชนที่มาจัดการร่วมกันก็ได้) โดยที่ชุมชนใช้อาศัย ทำมาหากิน และเลือกใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และการรักษาระบบนิเวศ โดยชุมชนเป็นผู้วางแผน ตัดสินใจว่าต้องการอะไรจากป่า ต้องการเมื่อไร จะดูแลรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาป่าชุมชนอย่างไร มีขอบเขตขนาดไหนที่ชุมชนจะดูแลได้ทั่วถึง โดยทั้งนี้แผนการจัดการป่าของชุมชน อาจจะกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นจารีตประเพณี เป็นวิถีชีวิตในการจัดการป่าก็ได้ขึ้นอยู่กับชุมชนเป็นผู้กำหนด

2. ทำไมชาวบ้านถึงต้องมีป่าชุมชน
โดยพื้นฐานสังคมชนบทไทย ชาวบ้านล้วนอาศัยพึ่งพาป่าทั้งในแง่ปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร สมุนไพร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยมาช้านาน นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้พึ่งพาน้ำจากป่าใช้ทำนา อาศัยผลผลิตจากป่าเป็นเพื่อสร้างรายได้พอยังชีพ อีกทั้งป่ายังเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อ ประเพณี ซึ่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์ของชุมชน บทบาทของป่าต่อความอยู่รอดชุมชนจึงมีมาช้านาน ชุมชนพื้นเมืองจำนวนไม่น้อยจึงมีวัฒนธรรมในการรักษาป่า เช่น รูปแบบความเชื่อเรื่องผีที่ดูแลป่า ต้นน้ำ แบบแผนการผลิต การเกษตร การใช้ทรัพยากรที่ใช้ป่าอย่างทะนุถนอม ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายไปตามภูมินิเวศและวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง

เมื่อป่าอันเป็นฐานชีวิตของพวกเขากำลังถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการสัมปทานไม้ในยุคก่อน การขยายตัวของพืชพาณิชย์ที่ต้องการใช้พื้นที่มาก การเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมที่เข้ายึดครองพื้นที่ป่า การเข้ามาตัดไม้ เก็บผลผลิตจากป่าจากบุคคลภายนอก หรือแม้กระทั่งภายในชุมชนเองที่จะทำให้ป่าเสื่อมโทรมได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่สามารถเข้ามาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ได้ หรือหลายกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกลับปล่อยปละละเลยให้เกิดการทำลายป่า หรือยึดพื้นที่ป่าเป็นของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ การมีโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เข้ายึดครองพื้นที่ป่าของชุมชนและกีดกันไม่ให้ชุมชนพึ่งพาป่าได้อีกต่อไป

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของป่า และของชุมชนอย่างมาก ทำให้ชุมชนจำนวนไม่น้อยต้องดำเนินการรักษาป่าอย่างจริงจัง เพื่อให้ระบบนิเวศ แหล่งอาหาร สมุนไพร แหล่งต้นน้ำสำหรับการเกษตร และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวบ้านยังคงอยู่ต่อไป และฐานทรัพยากรดังกล่าวยังเป็นทุนทางสังคมของชาวบ้านที่ใช้ในการพัฒนา เศรษฐกิจพอเพียง เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของชุมชนได้
 

3. ชาวบ้านจัดการป่าชุมชนกันอย่างไร
ชาวบ้านจะดำเนินการรักษาป่าของตนเอง โดยจำแนกป่าที่ชุมชนพึ่งพาออกเป็นประเภทต่างๆ ตามแต่วัตถุประสงค์ในการจัดการ เช่น ป่าต้นน้ำ ที่จะสงวนให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ป่าพิธีกรรม ป่าช้า ป่าศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน ป่าใช้สอยทั่วไป และอื่นๆ อีกมาก ชุมชนแต่ละแห่งจะจำแนกประเภทป่าไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม สภาพนิเวศ และเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ

แต่ไม่ว่าจะเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไหน หรือภูมิภาคไหนก็ตาม ชุมชนจะใช้ประโยชน์จากป่าในทุกพื้นที่ แต่จะใช้อย่างไร หนักเบาแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประเภทป่าที่ชุมชนจำแนก ชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีความคิดแบ่งแยกพื้นที่ตายตัว ว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามใช้สอย แตะต้อง หรือเป็นพื้นที่ป่าใช้สอย ที่ใช้สอยอย่างเดียวไม่ต้องอนุรักษ์ แต่ทุกพื้นที่ป่าของชุมชนล้วนมีการใช้สอยในเชิงอนุรักษ์ เช่น พื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชน ที่มีข้อห้ามเข้มงวดที่สุด แต่ก็ยังสามารถให้ชาวบ้านเก็บผักสมุนไพรที่ไม่กระทบต่อสภาพป่า

การดูแลรักษาป่าของชาวบ้านกระทำผ่านสถาบัน หรือองค์กรในชุมชน ซึ่งอาจจะเป็นองค์กรที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เป็นคณะกรรมการป่าชุมชนประจำหมู่บ้านหรือตำบล หรือใช้องค์กรที่มีอยู่เช่นคณะกรรมการหมู่บ้าน ตำบล หรือเป็นสถาบันทางประเพณี เช่น สถาบันผู้อาวุโส สถาบันความเชื่อ วัด และอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองดูแลป่า เช่น การออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้ และการลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน การตะเวนตรวจตราป่า การทำแนวกันไฟ การสงวนกันพื้นที่บางแห่งที่เป็นป่าอนุรักษ์ชุมชนไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สภาพ หรือสงวนให้เกิดการฟื้นตัว การกำหนดวิธีการใช้ทรัพยากรในป่า เช่น จะใช้ประโยชน์จากต้นไม้ส่วนไหน อย่างไร เวลาไหน จำนวนเท่าใด โดยใคร ที่จะไม่เกิดผลกระทบต่อป่า และจะใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมในชุมชน เอื้ออำนวยต่อคนยากจนในชุมชนด้วย

การกำหนดกฎเกณฑ์ การวางแผนจัดการป่าชุมชน และการจัดตั้งกลไกเพื่อจัดการป่าชุมชนของชาวบ้าน เกิดขึ้นมาได้ด้วยการวางแผนร่วมกันของคนในชุมชน หากชุมชนไหนวางแผนจัดการโดยขาดการมีส่วนร่วมของสมาชิกอย่างแท้จริง ก็อาจทำให้การจัดการประสบผลสำเร็จได้ยาก นอกจากนี้การวางแผนจัดการของชุมชน ยังต้องเป็นที่รับรู้ และยอมรับของชุมชนรอบข้างด้วย หรือกระทั่งชุมชนในพื้นที่ป่าร่วมกันต้องมาวางแผนกัน มิเช่นนั้นก็อาจเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนขึ้นได้ ดังนั้นการจัดการป่าชุมชนของชาวบ้านที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้น มักจะเกิดขึ้นในรูปเครือข่าย เช่น เครือข่ายลุ่มน้ำ เครือข่ายป่าชุมชน เป็นต้น

4. ประเภทของป่าชุมชน

4.1 ป่าชุมชนตามประเพณีที่สืบทอดกันมา ได้แก่
- ป่าหวงห้าม อนุรักษ์เพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ
- ป่าต้นน้ำ เป็นพื้นที่ป่าที่ชุมชนเก็บรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธาร
- ป่าใช้สอย เป็นพื้นที่ป่าทีแยกไว้เพื่อชุมชนได้ใช้ประโยชน์โดยเฉพาะ เช่น เลี้ยงสัตว์ เก็บผลผลิตจากป่า เป็นต้น

4.2 ป่าชุมชนที่ริเริ่มโดยท้องถิ่น มักเป็นกรณีชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ผสมผสานกันหลากหลายวัฒนธรรม อาจไม่ใช่ประเพณีดั้งเดิม แต่ชุมชนท้องถิ่นเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาป่าขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ บางอย่าง เช่น คัดค้านการทำลายป่า การรักษาแหล่งต้นน้ำ การสร้างความมั่นคงทางอาหารและปัจจัยใช้สอย การสงวนพื้นที่ดินไว้ให้แก่ชุมชน เป็นต้น

4.3 ป่าชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอก เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน รัฐ วัด เป็นต้น จากการสำรวจป่าชุมชนในภาคเหนือตอนบนพบว่า มีป่าชุมชนตามประเพณีร้อยละ 15 ป่าชุมชนที่เกิดจากการริเริ่มท้องถิ่นร้อยละ 29 โดยมีป่าชุมชนที่เกิดจากการต่อต้านการแย่งชิงทรัพยากรจากภายนอกร้อยละ 41 และป่าชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกร้อยละ 10 (เสน่ห์ และยศ, เล่ม 2, 2536)


5. หลักการสำคัญในการบ่งชี้ความเป็นป่าชุมชน
5.1 เชื่อมโยงระบบสังคมวัฒนธรรม เข้ากับเรื่องป่าและทรัพยากรในป่า ป่ายังคงอยู่ได้ และปรับตัวร่วมกับชุมชน คนสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาป่า และป่าก็สร้างสรรค์วัฒนธรรมชุมชน คนกับป่าอยู่ด้วยกัน พึ่งพากัน ไม่แยกจากกัน

5.2 เป็นการจัดการทรัพยากรแบบองค์รวม ที่มองทรัพยากรต่างๆ ของชุมชนล้วนสัมพันธ์กัน แม้จะพุ่งประเด็นที่ป่าแต่ไม่แยกส่วนกับการจัดการทรัพยากรทั้งหมด

5.3 รูปแบบการจัดการหลากหลาย เป็นได้ทั้งป่าอนุรักษ์และป่าเพื่อเศรษฐกิจ จัดการแบบประเพณี หรือสร้างสรรค์ใหม่ได้ โดยมีเงื่อนไขของชุมชนเป็นตัวกำหนด

5.4 ป่าที่ชุมชนใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไม่ใช่ป่าชุมชน เพราะชุมชนได้เลือกที่จะดูแลรักษาป่าแทนการล้างผลาญเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า ดังนั้นชุมชนมี " ค่าเสียโอกาส " ที่ไม่ล้างผลาญ ชุมชนจึงควรได้ประโยชน์จากป่าเป็นแรงจูงใจ ตราบใดที่ไม่ได้ทำลายทรัพยากร

5.5 เป็นป่าธรรมชาติหรือป่าปลูกขึ้นมาใหม่ก็ได้ แต่ต้องมีขอบเขตที่ชาวบ้านสามารถจำแนกขนาดของพื้นที่ได้ การกำหนดขอบเขตอาจจะกระทำร่วมกันระหว่างชุมชนก็ได้

5.6 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจะเป็นของรัฐหรือสาธารณะก็ได้ แต่ชุมชนมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างอิสระ โดยองค์กรตัวแทนที่แท้จริงของชุมชน

5.7 เป็นการจัดการโดยชุมชน สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วม จุดประสงค์และเป้าหมายของการจัดการป่าสอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในชุมชน

5.8 เป็นระบบการจัดการร่วมที่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบภายในชุมชน และให้รัฐและสาธารณะสามารถตรวจสอบได้

5.9 กฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการป่าและทรัพยากรกำหนดและตัดสินใจโดยองค์กรชุมชน


6. ป่าชุมชนอยู่ที่ไหนบ้าง แตกต่างกันอย่างไร

ป่าชุมชนในประเทศไทยมีกระจายทั่วทุกภาค ในรูปแบบการจัดการที่แตกต่างหลากหลายไปตามสภาพนิเวศ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ สังคม ได้แก่

6.1 ป่าชุมชนภาคเหนือ เนื่องจากสภาพพื้นที่ภาคเหนือเป็นที่สูง มีที่ราบเพียงร้อยละ 14 ชุมชน จึงต้องสงวนรักษาพื้นที่ป่าเพื่อเป็นต้นน้ำลำธาร และเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร และประกอบพิธีกรรม ชาวบ้านในแต่ละลุ่มน้ำจึงสงวนรักษาป่าชุมชนร่วมกันในหลายแห่ง ชาวบ้านจำแนกประเภทป่าออกเป็น ป่าขุนน้ำ ป่าความเชื่อ ป่าใช้สอย จากการสำรวจของเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือเมื่อปี 2543 พบว่า มีป่าชุมชนไม่ต่ำกว่า 700 แห่ง ชุมชนผู้รักษาป่ามีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง (ปกากะญอ) ลั้วะ ไทย หรือม้งบางกลุ่มก็มีการรักษาป่าชุมชน

6.2 ป่าชุมชนภาคอีสาน พื้นที่อีสานมีลักษณะเป็นที่ราบสูง พื้นดินเป็นโคกดอน ชาวบ้านรักษาป่าไว้ตามหัวไร่ปลายนา เพื่อเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร และเป็นป่าวัฒนธรรม ป่าช้า ป่าดอนปู่ตา นอกจากป่าบก ก็ยังมีป่าบุ่ง ป่าทาม ซึ่งเป็นป่าในพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีการสำรวจจำนวนที่แน่นอนของป่าชุมชนในภาคอีสาน

6.3 ป่าชุมชนภาคกลาง (รวมตะวันตกและตะวันออก) พื้นที่ตะวันตกเป็นป่าผืนใหญ่ยาวติดต่อมาจากภาคเหนือไปจนถึงภาคใต้ ส่วนมากเป็นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีวัฒนธรรมการดูแลป่ามาช้านาน ป่าชุมชนของชาวกะเหรี่ยงส่วนมาก ไม่ได้แบ่งแยกตามหมู่บ้าน แต่เป็นการใช้และดูแลป่าร่วมกันทั้งผืน เช่น กะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร ขณะที่ในภาคกลางซึ่งเป็นชุมชนไทยพื้นราบก็มีป่าชุมชนกระจัดกระจายอยู่แถบ อุทัยธานี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ในส่วนภาคตะวันออก ก็มีพื้นที่ป่าชุมชนแถบอยู่หลายที่ แต่ยังไม่มีการสำรวจ

6.4 ป่าชุมชนภาคใต้ มีทั้งป่าต้นน้ำบนยอดเขา ไปถึงป่าพรุชุมชน ป่าชายเลนชุมชน นอกจากนี้ในระดับครอบครัวก็มีการดูแลป่าผสมกับการทำสวน เป็นสวนสมรม สวนยางดั้งเดิมผสมป่า จากการสำรวจของคณะทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2536 มีป่าชุมชนไม่น้อยกว่า 101 ป่า เป็นพื้นที่ 1.79 แสนไร่ เมื่อรวมกับป่าครอบครัวอีก 3 หมื่นไร่ รวมเป็น 2 แสนไร่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท