Skip to main content
sharethis


ก็คงจะไม่ใช่เรื่องผิดอะไรถ้าใครต่อใครจะคิดว่าโรคติดต่ออย่าง เอชไอวี/เอดส์ และ โรคร้ายตัวใหม่อย่างไข้หวัดนก จะเป็น 2 โรคหลักตัวการคร่าชีวิตคนเอเชียในทศวรรษหน้า เพราะว่าที่ผ่านมานั้นการประชุมเอเปคก็ได้เจาะจงลงถึงเรื่องของไข้หวัดนก  นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังหมกมุ่นกันอยู่ในเรื่องของวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก และการที่มีคนเอเชียบาดเจ็บและล้มตายไปเพราะไข้หวัดนก ก็เป็นสัญญาณถึงแนวโน้มของการระบาดที่จะหนักหนาสาหัสขึ้น

 


ในขณะเดียวกันทุกๆ ปีเราก็ได้ยินการพยากรณ์ที่ว่า จะมีชาวเอเชียเสียชีวิตเนื่องจากเอชไอวี/เอดส์ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเอดส์ยังคงมีความรุนแรงในการแพร่ระบาดในภูมิภาคนี้ต่อไปเรื่อยๆ


 


แต่ว่าจะมีใครคิดบ้างหรือไม่ว่ามีโรคๆ หนึ่งที่หลายคนมองข้ามไป และจริงๆ แล้วก็เป็นโรคที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเพิ่มขึ้นอย่างมากและเป็นปัญหาสุขภาพมากกว่าทั้งสองโรคที่ว่านั้นเสียอีก นั่นก็คือ เบาหวาน


 


เบาหวานนั้นสามารถระบุไว้ล่วงหน้าได้อย่างแน่นอนกว่าไข้หวัดนกเสียอีกว่า จะเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไปนับล้านๆ คน เช่นเดียวกัน การเสียชีวิตอันเกี่ยวเนื่องกับเบาหวานในเอเชียในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้านี้ก็จะสูงกว่าการเสียชีวิตจากเอชไอวี/เอดส์เสียอีก


 


จากรายงานที่เพิ่งเปิดเผยออกมาขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่าในบรรดาโรคเจ็บป่วยเรื้อรังนั้นเบาหวานนั้นมีตัวเลขสูงสุด ปัจจุบันนี้การเสียชีวิตจากเบาหวานคิดเป็นสองเท่าของการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อต่างๆ (รวมทั้ง เอชไอวี) ครรภ์เป็นพิษ และโรคทุพโภชนาการรวมกัน


 


ในรายงานชื่อ "Prevention Chronic Disease: A Vital Investment" (การป้องกันโรคเรื้อรัง :การลงทุนกับชีวิต) ก็ได้ชี้ว่า แนวโน้มเช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไป


 


ในทศวรรษหน้า จำนวนคนที่เป็นโรคเบาหวานในโลกนี้จะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งในสี่ เนื่องจากโรคอ้วนและการเคลื่อนไหวน้อย โรคนี้อาจยังเป็นสาเหตุที่จะทำให้ การประมาณอายุของคนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 200 ปี และที่เจอปัญหานี้มากที่สุดก็ไม่มีที่ใดเกินเอเชีย


 


ปัจจุบันมีประชากรกว่า 90 ล้านคนในเอเชียเป็นเบาหวาน และเอเชียก็เป็นอาศัยของประชากรที่เป็นเบาหวานสูงสุด 4 ใน 5 แห่งของผู้เป็นที่เบาหวานมากที่สุดในโลกอาศัยอยู่  นั่นคือ อินเดียมีคนที่เป็นเบาหวาน 33 ล้านคน จีน 23 ล้านคน ปากีสถาน 9 ล้านคน และ ญี่ปุ่น 7 ล้านคน


 


จากการประมาณการของ WHO ประชากรที่เป็นเบาหวานในโลกนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 ล้านคนในปี 2010 และเป็น 330 ล้านคนในปี 2025  ภาระในเอเชียก็จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากภายในอีกไม่ถึงทศวรรษ จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ป่วยเบาหวานในโลกนี้จะอยู่ที่เอเชีย


 


ดังนั้น เอเชียไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เพราะอันที่จริงแล้วเบาหวานนั้นเป็นโรคที่รักษาได้ ทว่าการขาดการเข้าถึงการรักษา หรือ การเข้าถึงการรักษาอย่างจำกัดนั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนต้องตายไปก่อนกำหนด


 


บางครั้งแม้ว่าจะได้รับการรักษา แต่เบาหวานก็อาจสามารถคร่าชีวิตคนไปได้ก่อนกำหนด รวมทั้งขโมยคุณภาพชีวิตของมนุษย์ไป และยังสร้างปัญหาในเรื่องของทรัพยากรอย่างเห็นได้ชัด


 


มีความเข้าใจที่ผิดๆ อยู่ว่าโรคเบาหวานนั้นไม่ใช่โรคที่เป็นแล้วตาย  ด้วยว่าความตายนั้นมาจากความซับซ้อนของอาการต่างๆมากกว่าจากตัวโรคเอง แต่ว่า เบาหวานนั้นทำให้คนอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ มากมาย และทำให้ตายก่อนวัยอันควร เนื่องจากได้เป็นสาเหตุให้เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายถูกทำลายลงไป เพิ่มการอุดตันของเส้นเลือดในสมอง โรคหัวใจ ไตวาย ตาบอด ติดเชื้ออื่นๆได้ง่าย และต้องถูกตัดขาเนื่องจากสูญเสียระบบการไหวเวียนโลหิต


 


เบาหวานคืบคลานเข้ามาสู่เอเชียพร้อมกับความก้าวหน้าในการทำประเทศให้เป็นอย่างตะวันตก ซึ่งมีการรับเอาอาหารที่มีไขมันสูงและวิถีชีวิตที่นั่งอยู่กับที่มากๆ เข้ามา  เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (ประเภท 2 ) ซึ่งปกติแล้วในส่วนอื่นๆของโลกนั้นจะพบในวัยผู้ใหญ่ตอนปลายแต่ว่ากลับเริ่มพบในเด็กในเอเชีย


 


เนื่องจากกลัวว่าจะขาดแคลนทรัพยากรทางด้านสุขภาพ เอเชียล้มเหลวในการเตรียมการที่จะรับมือกับเบาหวานอย่างมีประสิทธิภาพ และดูเหมือนว่าจะไขว้เขวไปให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไข้หวัดนก ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาโดยประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค


 


นอกจากนั้นดูเหมือนว่ารัฐบาลเองหรือในระดับผู้บริหารด้านสาธารณสุขในเอเชียก็ขาดความตระหนักต่อปัญหานี้ และไม่ได้ใส่ใจถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนและเบาหวานในอนาคต รวมทั้งประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่จะมาพร้อมกับเบาหวานและโรคอ้วนด้วย


 


หากว่าสถานการณ์นี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข เอเชียจะประสบกับปัญหาใหญ่เกี่ยวกับภาระทางเศรษฐกิจแน่ ทั้งจากการดูแลรักษาโดยตรง และจากการที่ความสามารถในผลิตภาพลดลงในที่ทำงาน นอกจากนั้นยังจะมีความสูญเสียอันเกิดจากความเจ็บป่วยและการตายก่อนวันอันควรด้วย


 


โรคเบาหวานจะทำให้งบประมาณของชาติในเอเชียถึงขั้นเป็นง่อยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนา  เบาหวานนั้นจะสร้างความสูญเสียในทางเศรษฐกิจเอเชียอย่างมหาศาลคาดว่าจะสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2 ล้านล้านบาท ในทศวรรษหน้าเนื่องจากการสูญเสียผลิตภาพในการทำงานและการตายก่อนวัยอันควร


 


ศาสตรจารย์พอล ซิมเม็ต ผู้อำนวยการสถาบันโรคเบาหวานนานาชาติ และหัวหน้าศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการระบาดวิทยาของโรคเบาหวาน ซึ่งได้เข้ามาร่วมประชุมสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติเพื่อเอเชีย ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เขียนไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ใน เดอะ เจแปน ไทม์ว่า  เขาคาดว่า หากมีการเขียนประวัติศาสตร์ในรอบศตวรรษว่าโรคที่ได้คร่าชีวิตคนในภูมิภาคเอเชียไปมากที่สุดนั้นคงจะเป็น เบาหวาน หาใช่ไข้หวัดนกหรือ เอเชไอวี ไม่


 


อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากไข้หวัดนกนั้นเป็นเรื่องที่ร้ายแรงถึงขั้นที่จะต้องนำมาพูดถึงในที่ประชุมเอเปคที่จะมาถึง การประชุมเช่นเดียวกันนี้เรื่องเบาหวานนั้นก็ควรเป็นเรื่องที่ต้องทำมาตั้งนานแล้ว


 


เบาหวานควรจะถูกพูดถึงในแนวทางที่มีนัยสำคัญในเอเชีย เพราะว่าเบาหวานนั้นเป็นฆาตกรที่มีศักยภาพที่จะคร่าชีวิตมนุษย์นับล้านๆ ชีวิตที่เราไม่ได้เตรียมการเพื่อจะรับมือกับมัน


 


...................................................


ที่มา : The Japan Times

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net