Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis








รายงานฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากชาวรัฐฉานจำนวน 66,868 คน ที่อพยพเข้าอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดือนมิถุนายน ปี 2540 - เดือนธันวาคม ปี 2545 เพื่อเสนอหลักฐานที่ชี้ว่าชาวรัฐฉานจำนวนมากที่อพยพเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2539 นั้น แท้จริงแล้ว เป็นผู้อพยพเพราะหลบหนีการประหัตประหาร ไม่ใช่การเข้ามาในลักษณะแรงงานอพยพ


 


ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสัมภาษณ์โดยสมัครใจ ซึ่งหลายคนยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของตนขณะอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นจึงยังมีผู้อพยพมาใหม่อีกกว่า 40% ที่ยังไม่ถูกสัมภาษณ์


การเก็บข้อมูลนี้ได้ทำเป็นรายเดือนและเก็บรักษาข้อมูลโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน (SHRF)


 


ความเป็นมา


สงครามกลางเมืองในพม่า เป็นสงครามระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 4 ทศวรรษ จนกระทั่งปี 2539 กองทัพเมิงไต ประกาศยอมแพ้ต่อรัฐบาลทหารพม่า จากนั้นมาสถานการณ์ภายในก็เริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากรัฐบาลทหารได้ดำเนินการบังคับโยกย้ายถิ่นฐานของประชาชนขนานใหญ่ในรัฐฉานตอนกลาง โดยมีเหตุผลเพื่อตัดกำลังพลเรือนที่ให้ความสนับสนุนรัฐฉานใต้ (SSA-South) ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่


 


จากกรณีดังกล่าวทำให้ชาวบ้านกว่า 300,000 คน จาก 1,400 หมู่บ้าน ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านเดิมไปเขตจัดสรรใหม่ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มีกองทหารพม่าควบคุม ส่วนผู้ที่ออกมานอกเขตไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทหารพม่าสามารถยิงได้ทันที หรือนำไปทรมาน ส่วนผู้หญิงอาจโดนข่มขืน นอกจากนี้ชาวไทใหญ่ยังถูกเพิกถอนสิทธิในที่ดินและวิถีชีวิตของตนเอง มีการบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนจากกองทัพ ผู้คนเหล่านี้จึงต้องเผชิญกับความหวาดกลัวจากเหตุผลดังกล่าว ดังนั้นทางออกหนึ่งคือการอพยพเข้าสู่ประเทศไทย


 


ผู้อพยพจากรัฐฉานเหล่านี้เริ่มเดินทางมาถึงประเทศไทยในเดือนเมษายน ปี 2539 ในเดือนถัดมาจำนวนผู้อพยพดังกล่าวก็สูงถึง 20,000 คน  และการหลั่งไหลของผู้อพยพดังกล่าวก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2541 มีจำนวนสูงถึง 80,000 คน (ผู้ถูกช่วงชิง,SHRF,2541)


 


ต่อมา SHRF และ SWAN ได้ประเมินจำนวนผู้อพยพชาวรัฐฉานในประเทศไทยจากปี 2539 ถึง เดือนมิถุนายน 2545  จึงพบว่ามีจำนวนสูงถึง 150,000 คน (รายละเอียดเพิ่มเติม "ใบอนุญาตข่มขืน",SHRF และ SWAN ,2541 )


 


นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้อพยพจากรัฐฉานที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย ร้อยละ 60 จะมุ่งหน้าไปที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีความต้องการแรงงานสูงโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพาะปลูกส้ม ทั้งนี้จะมีเส้นทางการหลบหนีและเครือข่ายการประสานงานที่มีการจัดตั้งเป็นอย่างดีในการติดต่อแรงงานที่อพยพมาจากรัฐฉาน ทำให้ผู้อพยพเข้ามาใหม่รู้สึกว่าจะมีโอกาสสูงในการหางานเพื่อจุนเจือตัวเองได้ทันที


 


ส่วนเหตุผลหลักในการอพยพนั้นมาจากเรื่องความรุนแรงจากการกดขี่โดยรัฐบาลทหารพม่าดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่เรื่องของเขตแดนที่ใกล้เคียงกับไทย ดังตัวอย่างจากจำนวนที่สูงสุดของผู้อพยพเข้ามาใหม่จะเป็นผู้เดินทางมาจากเมืองกุ๋นฮิง ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองที่ประชาชนท้องถิ่นถูกรัฐบาลกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรงด้วยยุทธการปราบปราม


 


ในปี 2540 มีบันทึกว่า ประชาชน 664 คน ถูกรัฐบาลทหารพม่าฆ่าตามอำเภอใจ ซึ่งมี 314 คนถูกฆ่าในเมืองกุ๋นฮิง เป็นการสังหารหมู่ประชาชนกว่า 96 คน ที่มีทั้งเด็กและผู้หญิงอยู่ด้วย


 


สาเหตุที่ในพื้นที่ดังกล่าวมีความรุนแรงและกดขี่สูงมาจากการเป็นพื้นที่สำคัญในปฏิบัติการทหารของกองกำลังรัฐฉานใต้ (SSA-South) นอกจากนี้อาจมองได้ว่าเป็นยุทธวิธีอันแยบยลของ SPDC ในการจงใจกวาดล้างพลเมืองทั้งหมดออกจากตอนใต้ของเมืองกุ๋นฮิง เนื่องจากบริเวณนี้จะเป็นเขตที่จะถูกน้ำท่วมจากเขื่อนท่าซาง ซึ่งจะสร้างบนแม่น้ำสาละวินของรัฐฉาน


 


 (คลิ๊กที่รูป..ดูภาพขนาดจริง)


คลิ๊กที่รูป..เพื่อดูภาพขนาดใหญ๋


 


เส้นทางการอพยบเข้าสู่ประเทศไทย


 



ถิ่นฐานเดิมของรัฐฉานที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย


 


 


การหลั่งไหลออกเนื่องด้วยสาเหตุการละเมิด-ทำร้าย


การละเมิดสิทธิมนุษยชนในวงกว้างโดยรัฐบาลทหารพม่า เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการหลั่งไหลของชาวรัฐฉานเข้าสู่ประเทศไทย อย่างกรณีการสังหารหมู่ชาวตำบลกุนบู เมืองกุ๋นฮิง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2543 ก็เป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้การอพยพเข้าสู่ประเทศไทยมีสูงขึ้น


 


ข้อมูลจากวารสารรายเดือนของ SHRF ประจำเดือนมีนาคม 2543 มีดังนี้


 


ในวันที่ 12 ก.พ. 2543  ชาวบ้าน 20 คน ทำพิธีเคารพเทพเจ้าผู้คุ้มครองเขตหลบซ่อนของตนบริเวณแท่นบูชาเทพเจ้าที่ ลอยหมากหินแตง ได้ถูกสังหารหมู่โดยกองทหารของรัฐบาลพม่า จากกองพล IB246 ตำบลกุนบู เมืองกุ๋นฮิง นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านอีก 5 คน ในต่างพื้นที่ถูกกองทหารเดียวกันนี้ฆ่าภายในวันเดียวกัน


 


ชาวบ้านเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนที่ถูกกองกำลังรัฐบาลพม่าบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้หลบซ่อนตัวอยู่นับตั้งแต่บัดนั้น พวกเขายังชีพอย่างหลบๆ ซ่อนๆ โดยการปลูกข้าวในพื้นที่เพียงเล็กน้อย หาของป่า ล่าสัตว์ และตกปลา ชาวบ้านได้ทำพิธีกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองพวกตนเป็นประจำทุกปีมาเป็นเวลานาน พวกเขาได้เตรียมของถวายและมีชาย 20 คน เอาของเหล่านั้นไปยัง ลอยหมากหินแตง ซึ่งมีแท่นบูชาที่บรรพบรุษของพวกเขาสร้างไว้อยู่


 


กองลาดตระเวน จำนวน 80-90 คนของกองทหารรัฐบาลพม่าจากกองพล IB246 นำโดยนายพล ฮลา ขิ่น พบชาวบ้านเหล่านี้เข้า และยิงทั้งหมดจนเสียชีวิต จากนั้นกองทหารก็กินอาหารที่พบในพิธีกรรม และเดินลาดตระเวนต่อไป และยังยิงเด็กอีก 5 คน ที่ซ่อนตัวในกระท่อมชั่วคราวบริเวณป่าแถบนั้นจนเสียชีวิตด้วย


  (คลิ๊กที่รูป..ดูภาพขนาดจริง)



หมู่บ้านในเขตเมืองกุ๋นฮิงที่ถูกบังคับโยกย้าย


 


ลักษณะการอพยพ มีความหลั่งไหลต่อเนื่อง


แผนภูมิด้านล่างตัวเลขรวมของผู้มาใหม่ใน อ.ฝาง ระหว่างเดือนมิถุนายน 2540 - ธันวาคม 2545 แม้ว่าจะไม่มีการบันทึกตัวเลขการอพยพในช่วงก่อนปี 2539 ทว่าชาวท้องถิ่นประเมินว่า ระหว่างปี 2543 - 2548 จำนวนผู้อพยพของชาวฉานมีไม่เกิน 4,000 คนต่อปี ตัวเลขรวมในแต่ละปีจึงอยู่ระหว่าง 8,000 - 15,000 คนโดยประมาณจากปี 2540 - 2545 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงอย่างมีนัยยะสำคัญ และชี้ให้เห็นสาเหตุของผู้อพยพมาใหม่ว่า มาจากการกดขี่ที่ต่อเนื่องในรัฐฉานหลังจากการบังคับโยกย้ายถิ่นฐานในปี 2539


 (คลิ๊กที่รูป..ดูภาพขนาดจริง)


 


จำนวนคนต่อเดือนทีของชาวรัฐฉานที่อพยบเข้าเขตอ.ฝาง (ปี 2540-2545)


 


ปราศจากฤดูกาล


จากการสำรวจในช่วงหลังปี 2539 ยังยืนยันได้ว่า การอพยพดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอพยพตามฤดูกาลเหมือนก่อนหน้านั้นที่ต้องการเข้ามาทำงานในบางช่วง เช่น ในเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งก่อนหน้าปี 2539 แรงงานอพยพชาวฉานจะเข้ามาใช้แรงงานในส่วนเกษตรกรรม เพื่อเก็บเงินและจะเดินทางกลับรัฐฉานเมื่อถึงฤดูเพราะปลูกของตัวเอง


 


แต่เมื่อมีนโยบายความรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่าหลังจากปี 2539 พบว่า รูปแบบการอพยพมีความผันผวน โดยค่าความผันผวนของการอพยพแต่ละเดือนใน 1 ปี นั้น มีมากถึง 8 %


 (คลิ๊กที่รูป..ดูภาพขนาดจริง)


 


 



 


จำนวนชาวรัฐฉานที่อพยบเข้าเขตอ.ฝาง (ปี 2540-2544) แยกตามอายุ


 


 


ลี้ภัยทั้งครอบครัว


ผู้อพยพในระยะหลัง 32% มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และ 15% มีอายุ 45 ปี หรือมากกว่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้อพยพมาใหม่เท่านั้นที่อยู่ในช่วงอายุของคนวัยทำงาน 


 


ข้อมูลดังกล่าวจึงต่างจากช่วงก่อนปี 2539 ที่แรงงานอพยพในอำเภอฝางล้วนเป็นวัยทำงานและมาแบบไม่มีคนติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ เพราะเป็นการมาทำงานตามฤดูกาลเท่านั้น หากพานำเด็กหรือผู้สูงอายุมาด้วยมาด้วยอาจกลายเป็นภาระในการทำงานเพื่อเก็บเงินในเมืองไทย


 


ดังนั้นการอพยพแบบทั้งครอบครัวในช่วงหลังปี 2539 จึงกลายเป็นอีกดัชนีชี้วัดว่า ชาวรัฐฉานอพยพมาในลักษณะลี้ภัย ไม่ใช่การหลบหนีเข้าเมืองมาเพื่อขายแรงงานตามปกติ



 


 (คลิ๊กที่รูป..ดูภาพขนาดจริง)


 



จำนวนชาวรัฐฉานที่อพยบเข้าเขตอ.ฝาง (ปี 2540-2544) แยกตามเพศ


เพศ


จากการวิเคราะห์เพศของผู้อพยพชาวรัฐฉานพบว่า ตัวเลขของผู้อพยพระหว่างชายและหญิงมีจำนวนเท่ากัน ข้อมูลจากชาวบ้านที่อาศัยในอำเภอฝางระบุว่า ก่อนหน้า ปี 2539 คนย้ายถิ่นประมาณ 70% ล้วนเป็นผู้ชาย ดังนั้นการอพยพภายหลังปี 2539 จึงไม่ใช่แรงงานอพยพตามรูปแบบทั่วไป  



 


................................................


รายงานชิ้นนี้จัดทำโดย : มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน (SHRF) 2546














 ไฟล์ประกอบ
 ภาพประกอบเส้นทางการอพยพของรัฐฉาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net