"สภาชูรอ" ที่ชายแดนใต้ : ศีลธรรมกับการมีส่วนร่วม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ








การสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นการลดภาระให้กับรัฐได้มาก

 

วิธีการอย่างหนึ่ง คือการการสร้างเวทีการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหา ภายในกรอบของศีลธรรม จริยธรรม ย่อมมีส่วนสร้างสังคมให้สันติสุข

 

ในเวทีเสวนาเรื่อง "กระบานทัศน์อิสลามกับการพัฒนา" จัดโดยโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ : ดับบ้านดับเมือง ในงานมหกรรมสันติวิธี ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกระบบ "ชูรอ" หรือ สภาที่ปรึกษา ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

นายอับดุลเลาะ สารีมิง ครูโรงเรียนจริยศาสน์อิสลาม บ้านตาแปด ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในฐานะเจ้าหน้าที่ภาคสนามโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ : ดับบ้านดับเมือง กล่าวว่า สภาชูรอ หมายถึงสภาที่ปรึกษา โดยข้อตกลงจากที่ประชุมสภาชูรอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกว่า "ฮูก่มปากัต" หรือข้อตกลงจากความร่วมไม้ร่วมมือ

 

เขากล่าวถึงการใช้ระบบชูรอของหมู่บ้านตาแปดว่า เริ่มต้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 โดยทางโครงการดับบ้านดับเมือง ได้สุ่มเลือกบ้านตาแปด เพื่อทำโครงการชุมชนเข้มแข็ง เริ่มด้วยได้ เรียกโต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ของบ้านตาแปด และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มาคุยกันว่า ในหมู่บ้านมีปัญหาอะไรบ้าง จึงทราบว่าเป็นหมู่บ้านที่ล้าหลังที่สุดในตำบลตาแปด ที่ผ่ามาแต่ละคนต่างคนต่างอยู่ การบริหารจัดการไม่เป็นระบบ ผู้นำในหมู่บ้านไม่สามัคคี 

 

จึงเสนอไปว่าจะทำอย่างไรที่จะให้กลายเป็นหมู่บ้านที่เจริญที่สุดในตำบล อะไรบ้างที่ต้องพัฒนาด่วนที่สุด มีการเสนอว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้นำแต่ละฝ่ายมาร่วมกันแก้ปัญหา ในวงสนทนาจึงคิดว่า น่าจะให้ระบบสภาชูรอ จึงตกลงจะเรียกประชุมใหญ่ของหมู่บ้าน นั่นคือ โดยใช้รูปแบบสภาชูรอเป็นครั้งแรก

เราเน้น 4 ประเด็นที่จะต้องมีการพัฒนา คือ เรื่องการประกอบศาสนกิจของคนในหมู่บ้าน การศึกษา เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการชุมชน ครั้งนั้นที่ประชุมเลือกจะพัฒนาด้านการศึกษาเป็นอันดับแรก แต่ในเมือมาพิจาณากันใหม่พบว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนาก่อนคือ การบริหารจัดการชุมชน จากนั้นจึงให้ชาวบ้านเสนอว่าอะไรที่ต้องบริหารจัดการก่อน นั่นคือการมาจัดลำดับความสำคัญของปัญหา และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของหมู่บ้าน เพราะทำให้ชาวบ้านเห็นปัญหาของหมู่บ้าน

 

วันแรกของการประชุมสภาชูรอ ก็มีการท้าทายเกิดขึ้น เมื่อมีคนขโมยวัวของชาวบ้าน ทำให้โต๊ะอิหม่าม รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านคิดว่า นี่คือปัญหาที่ทุกคนจะต้องร่วมกันแก้ไขและถือว่าเป็นปัญหาของตัวเองด้วย

อับดุลเลาะ อธิบายเพิ่มเติมว่า สภาชูรอ ของบ้านตาแปดจะมีกันเดือนละครั้ง จะเรียกทุกคนในหมู่บ้านมาประชุม แล้วให้เสนอว่าในรอบเดือนที่ผ่านมามีปัญหาอะไรในชุมชนบ้าง แล้วก็มาวิเคราะห์แล้วจัดลำดับว่า เรื่องใดสำคัญที่สุด จึงมาหาแนวทางแก้ไข ในการประชุมจะไม่กำหนดว่าให้ใครเป็นประธานในที่ประชุม แต่จะใช้รูปแบบเสวนา จากนั้นก็หาเจ้าภาพรับผิดชอบแต่ละเรื่อง จากนั้นก็จะเอาผลการประชุมไปเสนอให้ อบต.รับทราบ สิ่งที่ได้คือ ชาวบ้านมีความรู้มากขึ้น การบริหารจัดการปัญหาชุมชนเป็นระบบมากขึ้น

 

ในการประชุมครั้งแรก ชาวบ้านเห็นว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนก่อน คือคณะกรรมการมัสยิด จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนตัวบุคคลให้เหมาะสมมากขึ้น เกิดการผสมผสานกันระหว่างกรรมการชุดเก่า กับคนใหม่ จากนั้นการบริหารมัสยิดจึงเป็นระบบมากขึ้น เมื่อชาวบ้านเห็นว่าการบริหารมัสยิดเป็นระบบมากขึ้น ชาวบ้านก็จะเชื่อถือหันมาให้ความร่วมมือมากขึ้น

 

ผลที่ได้คือ เดิมจะไม่ค่อนสนใจปัญหาในชุมชนมากนัก แต่เดี๋ยวนี้จะช่วยกันเฝ้าระวังมากขึ้น ช่วยกันสังเกตว่ามีอะไรที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นบ้าง ผู้ปกครองรวมทั้งเยาวชนมีความต้องการทางด้านการศึกษามากขึ้นเพราะเห็นอนาคตของการศึกษา ส่วนในชุมชนรอบข้าง ก็มีความสนใจจะเข้ามาเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านได้เชิญเข้ามาประชุมด้วยทุกครั้ง เพื่อต้องการขยายแนวคิดนี้ออกไป ซึ่งก็ได้ผลเพราะมีคนมาเรียนรู้มากขึ้น

อับดุลเลาะ ได้เปรียบเทียบว่า กรณีนี้จะต่างกับที่ 4 หมู่บ้านที่ ตำบลเกาะไซ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ที่นั่นจะใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลาง โดยใช้ "ฮูก่มปากัต" ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูลกำหนด 20 ข้อ แต่จะเลือกเอา 3 ข้อเท่านั้น คือ มาตรากรจัดการคนที่ไม่ปฏิบัติศาสนกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง และเรื่องอบายมุข ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง มี้เยาวชนมารับสารภาพว่าดื่มเหล้าหรือเสพยาเสพติดจำนวนมาก เนื่องจากที่เกาะไซจะมีชาวบ้านที่ขายสิ่งของมึนเมาอยู่ด้วย เมื่อไม่ยอมรับมาตรการนี้ก็จะถูกอับเปหิออกจากหมู่บ้าน จนบางครั้งก็เกิดความขัดแย้งขึ้นมาด้วย

 

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้จัดการโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ : ดับบ้านดับเมือง ถามในวงเสวนาว่า สภาชูรอต่างกับคณะกรรมการมัสยิดอย่างไร และบางคนคิดว่าสภาสูงสุดของประเทศมุสลิม จะนำมาใช้ในชุมชนได้หรือไม่และจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากผู้ที่ละเมิดกับฮูก่มปากัต แต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย จะจัดการอย่างไร

 

อับดุลเลาะตอบว่า ที่ผ่านมาทั้งโต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญบ้าน หรือ อบต. ต่างก็จะดูแลเฉพาะเรื่องที่ตนเองต้องรับผิดชอบเท่านั้น แต่เมื่อมีชูรอแล้วจะทำให้ทุกคนเห็นว่าทุกปัญหาเป็นเรื่องของตนเอง คำว่า "สภาชูรอ" ในความหมายของคนมุสลิม คือ สภาที่ทุกคนจะต้องมาร่วมกันคิดและแก้ปัญหา ส่วนในบางประเทศที่ใช้สภาชูรอ หมายถึงนอกจากจะมีผู้นำในการบริหารประเทศแล้ว ก็จะมีสภาที่คอยกำกับดูแลการบริหารการพัฒนาประเทศด้วย

 

ส่วน นายมูฮำหมัดยาลาลุดดีน สะมะแอ โต๊ะอิหม่ามบ้านตะโละ หมู่ที่ 5 ตำบลตะโละ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เล่าถึงประสบการณ์ของตนว่า ได้เป็นโต๊ะอิหม่าม 10 แล้ว เนื่องจากพ่อเป็นโต๊ะอิหม่ามมาก่อน แต่ไม่ถนัดเรื่องงานของทางราชการ จึงแต่งตั้งในตนเป็นแทน

 

"จากนั้นพอผมไปเรียนนิติศาสตร์อิสลามที่ประเทศอียิปต์ ได้เห็นการบริหารจัดการมัสยิดของที่นั่น พบว่า ครบวงจรตามแบบอิสลาม ซึ่งต่างกับของไทยที่จะมองว่ามัสยิดเป็นเพียงสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเท่านั่น ที่นั่นจะมีทั้งคลินิก มีการติววิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ให้นักเรียนรวมทั้งสวัสดิการชุมน ที่นั่นจะมีการอบรมผู้ที่จะมาเป็นอิหม่ามในเรื่องการบริหารจัดการด้วย

 

เมื่อกลับมาบ้านก็คิดจะทำเช่นที่อียิปต์ ช่วงแรกมีการต่อต้านและระแวงมากว่า เหตุใดโต๊ะอิหม่ามจึงมาแทรกแซงงานของผู้ใหญ่บ้าน ผมจึงปรับใหม่ ด้วยการแทรกแนวคิดเรื่องภารกิจของมุสลิมต่อการพัฒนาชุมชน ในการเทศนาธรรมวันศุกร์(คุตบะห์) เช่น มุสลิมจะมีศรัทธาที่สมบูรณ์ไม่ได้ ตราบใดที่เขายังไม่สนใจปัญหาสังคม จากนั้นก็หาแนวร่วม ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชนรุ่นเดียวกับผม ภายในเวลา 3 ปี จึงทำได้ตามต้องการ โดยปีแรก สามารถโอนงานด้านประปาของหมู่บ้านเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของมัสยิด

 

ผมเชื่อว่า การบริหารจัดการชุมชนมุสลิมถึง 80 % มีความไม่โปร่งใส่ ขณะที่ชุมชนชาวไทยพุทธจะมีการพัฒนาได้ดีกว่า ปีที่ 2 โอนกองทุนสวัสดิการชุมชน หรือ กองทุนมิยาซาว่า มาให้มัสยิดบริหารจัดการ จากที่เมื่อก่อนกองทุนนี้มักจะเข้าไปอยู่กับหมู่ญาติพี่น้องของกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน

 

ในระบบชูรอ เราเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านมาเป็นที่ปรึกษา จากที่เมื่อก่อนเวลาประชุมก็จะแยกกัน ไม่ว่าเป็นการประชุมของกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต. ผมพยายามดึงให้มาอยู่ภายใต้มัสยิดทั้งหมด ไม่ว่างานสาธารณสุขมูลฐาน การศึกษานอกโรงเรียน"

 

นายสะมะแอ สะมะแอ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตะโละ บอกว่าเขาเข้ามาเป็นประธานสภา มา 3 เดือนแล้ว ได้นำรูปแบบชูรอ เข้าไปใช้ในการประชุมสภา อบต. รู้สึกว่าใช้ได้ผลมาก

วันแรกของการประชุมสภา จะเชิญผู้นำศาสนามาร่วมประชุมด้วย มาอธิบายว่า ระบบชูรอ หมายถึงอะไร มีรูปแบบวิธีการอย่างไร ซึ่งที่ตำบลตะโละ จะมี อบต.ที่เป็นคนไทยพุทธอยู่ด้วย 6 คน วันแรกเราให้ผู้นำศาสนาไปอธิบายให้เขาถึง 3 ชั่วโมง เพื่อให้เขาเข้าใจ พอเข้าใจแล้วจึงมาประชุมด้วยกัน ซึ่งก็ไม่มีใครคัดค้าน แต่กลับเห็นด้วยว่าใช้ได้ผลมาก แต่ตอนนี้ยังไม่มีเสียงสะท้อนออกมาว่าเป็นอย่างไร

 

ในการประชุมเราจะเน้นเรื่องความสามัคคี จะไม่ใช้อารมณ์ ถ้ามีการใช้อารมณ์ ก็จะเอาหลักศาสนามาดูว่าเรื่องนี้ศาสนาบัญญัติว่าอย่างไร ถ้ามีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ก็จะเอาศาสนาเป็นตัวตั้ง เช่น จะยกโองการนั้น โองการนี้ จากคัมภีร์อัล - กุรอ่าน มาอธิบาย เป็นต้น ซึ่งทุกคนก็ยอมรับ เลยทำให้บรรยากาศการประชุมดีขึ้นด้วย

 

การประชุมทุกครั้ง เราจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับวาระการประชุม คนอื่นก็สามารถเข้ามาร่วมประชุได้ด้วย เมื่อเข้ามาแล้ว จะถือว่าทุกคนเหมือนกันหมด ไม่ว่าใครจะเป็น อบต. โต๊ะอิหม่าม กำนัน ผู้ใหญ่ ถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

 

ถ้าจะพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะเอาหลักการทางศาสนามาดูก่อนว่าเป็นอย่างไร ถ้าเรื่องใดขัดกับหลักศาสนาก็จะไม่ทำ หลักการก็คือว่า 1.ต้องไม่ขัดกับหลักศาสนา 2.มีประโยชน์ต่อส่วนรวม และ 3.เคารพความเห็นของผู้เข้าประชุม

 

ที่ประชุมจะไม่มีประธานในที่ประชุม แต่จะใช้รูปแบบการเสวนา จากนั้นก็จะหาเจ้าภาพ ว่าใครจะจัดการเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะไม่มีวิธีการโหวต หรือยกมือให้คะแนน ถ้ามีเรื่องที่จะต้องตัดสินใจก็จะยึดหลัก 3 ข้อดังกล่าว จะเน้นการอธิบายว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อส่วนร่วมอย่างไร แต่ก็จะให้ยกมือสนับสนุนด้วย

 

ด้านนายแพทย์บัญชา ได้สะท้อนในวงเสวนาว่า ในสังคมพุทธ ปัจจุบันเวลาประชุมมักจะเน้นความชอบของคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน แต่จะไม่ได้ยึดหลักว่าในทางศีลธรรมว่าเป็นอย่าง ทั้งที่ในอดีตเวลาจะมีการเชิญพระมาร่วมประชุมด้วย เพื่ออธิบายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งแรกว่า "สังคะ" แต่ปัจจุบันถ้าคนส่วนใหญ่ชอบอย่างไรก็จะเลือกอย่างนั้น แม้ว่าเรื่องนั้นจะผิดศีลธรรมก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครขึ้นมาเรียกร้องให้เอาเรื่องมาใช้

การบริหารจัดการภายในชุมชน ที่เริ่มด้วยเรื่องการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แต่ให้ศีลธรรมจริยธรรมอันดี และกรอบของศาสนามากำกับ เป็นเกราะป้องกันสังคมไม่ให้แหลกเหลวได้ แล้วไม่ต้องมาเหนื่อนยกับการตามแก้

 







ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท