สัมภาษณ์พิเศษ : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์..."สุวรรณภูมิ" นครที่ต้องมี "หลัก" เมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ





 


 

09.09 น. ของวันที่ 29 เดือน 9 เสียงเครื่องบินเที่ยวปฐมฤกษ์ครางกระหึ่มขณะลงจอดที่สนามบินประวัติศาสตร์ "สุวรรณภูมิ" แต่เสียงที่ดังยิ่งกว่า คงเป็นเสียงเครื่องบินเอฟ-16 ที่โฉบไล่ฝูงนกปากห่างบริเวณนั้น เงาของเครื่องบินลำใหญ่ทาทาบลงบนพื้นดินเดิมที่มีชื่อว่า "หนองงูเห่า" ดั่งเงาเงียบของการย่างกรายแห่งเงื้อมมือมหาอำนาจที่พร้อมกางตะปบ แล้วใครเล่าจะหลุดรอดไปได้แม้แต่นกปากห่างฝูงนั้น

 

เสียงเครื่องบินยังไม่ทันจางหาย เสียงจากท่านผู้นำยิ่งย้ำให้ดังเป็นทวีคูณ เมื่อจู่ๆ ประเทศไทยก็จะแตกหน่อเพิ่มจังหวัดที่ 77 ขึ้นมาปานพลุไฟ และขณะนี้ได้เริ่มหายวับไปในท้องฟ้ามืด เหลือแต่สิ่งที่ผุดราวดอกเห็ดในตอนนี้ก็เห็นจะเป็นป้ายปักขายที่ดินแถบนั้น ด้วยราคาที่พุ่งพรวดแบบฉุดไม่อยู่ แถมยังมีข่าวลือว่าเจ้าผู้ครอง "นครสุวรรณภูมิ" คงหนีไม่พ้นคนของพรรคไทยรักไทยเสียด้วย

 

มีน้อยคนนักที่จะก้าวมาพูดวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ หากแต่ "ประชาไท" ได้ค้นพบผู้ที่ซ่อนฝีไม้ลายมือและความชำนิชำนาญทั้งในแง่ผังเมืองและเรื่องรัฐศาสตร์ ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้จักเขาในมุมนี้ นอกจากเขาจะรู้แต่เพียงว่าเขาเป็นเจ้าของคอลัมน์ "อยากตอบ" ใน a day weekly "เพี้ยน นักเรียนนอก" ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ และอาจารย์รัฐศาสตร์แบบโพสโมเดิร์น

 

ด้วยท่าทีลีลากวนๆ แบบผ่าเหล่าผ่ากอและมุมมองชนิดที่ไม่มีใครกล้าเหมือนตามแบบฉบับของเขานี้ จะมีใครรู้สักกี่คนรู้ว่าเขาจบปริญญาโทและกำลังจะจบปริญญาเอกในสาขาผังเมืองที่อเมริกา

 

ด้วยฤกษ์เหมาะเคราะห์ดี "ประชาไท"จึงได้รับเกียรติจากอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยถึงเรื่องนี้กัน

 

ข่าวว่าจะเกิดจังหวัดที่ 77 ของประเทศชื่อ "นครสุวรรณภูมิ" อาจารย์มีความเห็นอย่างไรบ้างในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

ก่อนอื่นผมต้องขอเริ่มว่า แม้สิ่งที่รัฐบาลนำเสนอนั้นจะยังไม่ได้ออกมาเป็นนโยบายและร่างกฎหมายที่ชัดเจน แต่ในฐานะ "พลเมือง" นั้น เรามีสิทธิที่จะตั้งคำถามและแสดงความเห็น หรือแม้กระทั่งแสดงความวิตกกังวลต่อประเด็น "สาธารณะ"

 

ความเป็นพลเมืองหมายถึงการที่เราเป็นผู้สร้าง ให้ความหมาย รวมทั้งให้ชีวิตและใช้ชีวิตกับเมือง สิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเป็นพลเมือง เราจึงมีทั้ง "สิทธิ" "หน้าที่"และ"ความผูกพัน" กับความเป็นไปของเมือง อย่าลืมว่าพลเมืองคือคนที่สร้างเมืองและทำให้เมืองมีชีวิต มิใช่สถาปนิก รัฐบาลและตัวเลขทางเศรษฐกิจ

 

เรามิใช่เพียง "ประชาชน" ที่ถูกปกครอง หรือถูกสั่งให้มีส่วนร่วมไปตามพิธีกรรมของประชาธิปไตยที่ตายตัวและแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา อาทิ การลงประชามติ การไปแสดงความเห็นเพียงแค่ในเวทีประชาพิจารณ์ หรือการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือติดตามข่าวสารและเชื่อฟังผู้ปกครอง

 

นอกจากนี้เรามิใช่ "ผู้บริโภค" นโยบายของผู้บริหาร แต่เราเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบาย นโยบายแอบแฝง (อาทิการไม่มีนโยบาย) หรือการครอบงำทิศทางการพัฒนาในหลายรูปแบบเสมอ

           

อาจารย์คิดว่า "นครสุวรรณภูมิ" เป็นสินค้า "คิดใหม่ ทำใหม่" ของรัฐบาลอย่างนั้นหรือ

สำหรับ "แนวคิด" ในการตั้งนครสุวรรณภูมิในฐานะรูปแบบการปกครองพิเศษ ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่น่าสนใจคือ ทำไมแนวคิดแบบนี้ของรัฐบาลปัจจุบันจึง "ขายได้" เสมอๆ ตั้งแต่เรื่องนายกซีอีโอ ผู้ว่าซีอีโอ สงครามปราบยาเสพติด เขตเศรษฐกิจพิเศษ จนมาถึงเขตปกครองรูปแบบพิเศษ ทำไมรัฐบาลก่อนๆ ที่เคยมีความพยายามผลักดันเรื่องแบบนี้มาโดยระบบราชการ แต่ไม่ "ติดตลาด" ทั้งในแง่ของความสนใจของผู้คนที่เห็นด้วย และผู้คนที่ออกมาแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐบาล

 

แล้วทำไมรัฐบาลทักษิณถึงยังสามารถทำให้ "ของเก่า" ขายได้แบบทะลุตลาดได้ถึงขนาดนี้

ผมคิดว่าวิธีคิดอย่างหนึ่งของรัฐบาลปัจจุบันก็คือการใช้อำนาจอย่างเข้มข้นในพื้นที่และภารกิจหนึ่งๆ โดยเชื่อว่าความเข้มข้นของการใช้อำนาจนั้นคือทางออกของสังคม คือประสิทธิภาพของการประกอบการทางสังคมและเศรษฐกิจ

 

การใช้อำนาจชนิดเข้มข้นมันเป็นอย่างไร

เราจะเห็นว่าสูตรสำเร็จดังกล่าวในเรื่องของการกระจุกตัวของอำนาจอย่างเข้มข้นในพื้นที่และภารกิจนั้น ผมคิดว่าเป็นสูตรที่ใช้ได้เสมอ และเป็นสูตรที่ถูกนำมาใช้มากจนเกินไปเสียด้วย จนบางครั้งน่าจะพูดได้ว่า วิธีการนี้ของรัฐบาลนำมาใช้มากเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียอีกไม่ยากถ้าจะคาดการณ์ว่าผู้บริหารบ้านเมืองจะนำพาสังคมไปในทิศทางนี้ เพราะการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญนั้นมีจุดมุ่งหมายให้นายกฯสามารถทำงานได้โดยปราศจากการต่อรองอำนาจในเกมสภา แต่ขณะเดียวกันในรัฐธรรมนูญนั้นให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจไปสู่หน่วยการปกครองท้องถิ่นด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่เคยได้รับความสนใจในฐานะวาระทางสังคมของรัฐบาลปัจจุบันเลย

 

เมื่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมีแนวทางเช่นนี้ คือให้อำนาจกับผู้นำมากและยังกระจายสู่ท้องถิ่นด้วย แต่รัฐบาลชุดนี้เลือกปฏิบัติ?

รัฐบาลปัจจุบันได้ฉวยเอาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำทางการบริหารที่เข้มแข็งมาปรับขายในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น โดยใช้จุดขายการเพิ่มความเข้มข้นให้กับการปกครองส่วนภูมิภาคที่ไม่มีที่ยืนและต้องดิ้นรนหาที่ยืนในจินตนาการของรัฐธรรมนูญประชาชน จนออกมาเป็นรูปของผู้ว่าซีอีโอ ขึ้นตรงกับนายกฯ ซีอีโอ (มากเท่าที่จะเป็นไปได้) และขณะเดียวกันก็พยายามปรับแนวคิดเรื่องความเข้มข้นของอำนาจมาใช้เฉพาะพื้นที่ ทั้งกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตการปกครองพิเศษอย่างที่เห็นๆ กันอยู่

 

แล้วจะเกิดผลอะไรตามมา

ผมมองอย่างนี้นะ ความคิดเรื่องอำนาจที่เข้มข้นนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพนั้น อันตราย เพราะบางครั้งการแก้ปัญหาอาจต้องเริ่มจากการเปิดกว้างให้พลเมืองมาร่วมกันกำหนดว่าอะไรคือปัญหาเสียก่อน นอกจากนี้แล้ว บางครั้งอำนาจที่เข้มข้นนั้นอาจไม่ได้แก้ปัญหา หากแต่จบลงด้วยการผูกขาดอำนาจ และการเรียกร้องอำนาจที่มากกว่าและเหนือกว่าในการแก้ปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

 

นอกจากรัฐบาลเลือกใช้ประโยชน์จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลยังมีสูตรสำเร็จอื่นๆ อีกไหม

สูตรสำเร็จประการที่สองของรัฐบาลนี้ก็คือการ "ขายฝัน" กับประชาชนในแง่ของความร่ำรวยและความสะดวกสบายทางวัตถุ พูดง่ายๆ ว่าทุกคนจะร่ำรวย และพ้นไปจากความยากจนที่ได้รับการนิยามว่าเป็นเรื่องของความไม่สะดวกสบายทางวัตถุ และการไม่มีรายได้และไม่มีทุน ดังนั้นจึงต้องมีโอกาสเข้าถึงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกู้ยืม และการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน เพื่อสร้างรายได้

 

หากอาจารย์คิดว่า "นครสุวรรณภูมิ" เป็นนโยบาย "ขายฝัน" ของรัฐบาลชุดนี้ด้วย แล้วฝันที่ว่านี้คืออะไรบ้าง

ฝันที่รัฐบาล "ขาย" สำหรับนครสุวรรณภูมิก็คือความสะดวกสบายทางการคมนาคม และโอกาสที่ที่ดินจะมีราคาเพิ่มมากขึ้น

 

อะไรทำให้อาจารย์คิดว่า "นครสุวรรณภูมิ" ขายฝันเช่นนี้

ผมว่าผมคงจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีและไร้เดียงสาไปสักหน่อย เพราะไม่คิดว่ารัฐบาลจะคิดง่ายๆ แค่นำเสนอแนวคิดเรื่องนครสุวรรณภูมิขึ้นมาเพื่อแลกกับการถูกด่าและแรงเสียดสีทางการเมืองขนาดนั้น และอย่าลืมว่าโครงการหนองงูเห่าเดิม ที่เปลี่ยนชื่อเป็นสุวรรณภูมินั้นเป็นที่รับรู้ของสังคมมาเป็นเวลาหลายสิบปี ดังนั้นการเก็งกำไรที่ดินนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาในพื้นที่แถวนั้นมาโดยตลอด ไม่เชื่อลองดูในโฆษณาขายบ้านและที่ดินแถวนั้นก็ได้ จะไม่เห็นการขายบ้านราคาถูกเหมือนแถวรังสิต ดอนเมืองแน่นอน

 

อาจารย์คิดว่าใครอยู่เบื้องหลังโครงการขายฝันนี้

ผมไม่ค่อยสนใจว่าใครจะอยู่เบื้องหลังโครงการดังกล่าว เพราะผมเชื่อว่ารัฐบาลก็หวังดีต่อบ้านเมืองไม่ต่างจากพลเมืองทั้งหลาย เพียงแต่มุมมองอาจจะต่างกัน เราไม่ควรเริ่มวิจารณ์รัฐบาลด้วยการระบายสี หรือแขวนป้ายว่ารัฐบาลนั้นจงใจจะหวังร้ายต่อบ้านเมือง จนกว่าเราจะพบขั้นตอนและกระบวนการที่ชัดเจน

 

ผลประโยชน์จาก "นครสุวรรณภูมิ" อาจารย์คิดว่าจะตกอยู่ในมือใคร

ผมไม่กล้าสรุปว่าใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จาก "นครสุวรรณภูมิ" เพราะถ้านครสุวรรณภูมิเป็นนครที่พลเมืองทั้งหลายกระตือรือร้นที่จะสร้าง ให้ความหมาย และใช้ชีวิตร่วมกันในนครสุวรรณภูมิจริงๆ ทุกคนก็จะได้ประโยชน์ร่วมกันมากกว่าความเชื่อที่ว่านครสุวรรณภูมินั้นควรจะอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบเดิมของ กทม.

 

งานนี้ผมคิดว่ารัฐบาลก็มีความหวังดี ในแง่ที่จุดประเด็นออกมาว่า การพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่นั้นจำเป็นจะต้องมีการจัดการที่ดี เพราะน่าจะมีบทเรียนมาจาก อิสเทิร์นซีบอร์ด และดอนเมือง แต่ผมขอย้ำว่าความเข้มข้นของอำนาจไม่ใช่ทางออกเดียวในการแก้ปัญหาของชุมชน

 

ทำไมอาจารย์คิดว่าอำนาจที่เข้มข้นยังไม่สามารทำอะไรได้

อย่าลืมว่าเมื่อเราพูดถึงการพัฒนาที่ดินนั้น หรือเมื่อเราพูดถึงการซื้อขายที่ดิน รัฐบาลท้องถิ่นย่อมจะได้รายได้ ดังนั้นการเก็งกำไรที่ดินนั้นก็จะมีผลต่อการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ดี รายได้จากบริโภคก็จะตกอยู่กับรัฐบาลท้องถิ่นเช่นกัน (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่วนรายได้จากการจ้างงานก็จะตกเป็นของรัฐบาลกลางที่จะกระจายกลับสู่ท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ อยู่ดี

 

อย่างไรก็ตามการพัฒนาพื้นที่แห่งหนึ่งเฉพาะขึ้นมานั้นเป็น "วิสัยที่ถูกทำให้เป็นปกติ" ในการพัฒนาเมืองและภูมิภาค โดยการกระจุกทรัพยากรและอำนาจในพื้นที่หนึ่งๆ เพราะเชื่อว่าการเติบโตนั้นจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของทรัพยากรเป็นพิเศษ และผลจากการพัฒนานั้นจะไหลล้นออกมาสู่พื้นที่อื่นๆ

 

คล้ายๆ กับครอบครัวหนึ่งนั้น อาจจะมีเงินไม่พอส่งลูกไปเรียนพร้อมกัน ก็เลยส่งลูกคนโตให้เรียนสูงกว่าคนอื่นๆ เพราะเชื่อว่าลูกคนโตนั้นเมื่อเรียนจบมีงานทำจะมาช่วยน้องๆ แต่บางทีลืมไปว่าลูกคนโตนั้นเมื่อโตแล้วก็มีปัญหาของตัวเองที่ต้องตามแก้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้

 

แต่สำหรับคนในพื้นที่ "นครสุวรรณภูมิ" คุณภาพชีวิตคงจะดีขึ้น

เมื่อพูดถึงคุณภาพชีวิตนั้น เราอาจจะต้องเข้าใจก่อนว่า เราจะพูดถึงคุณภาพชีวิตของใครบ้าง ของคนในหรือนอกพื้นที่ และในพื้นที่เองนั้นเราจะต้องเข้าใจถึงความหลากหลายของคนในพื้นที่ อาทิ คนที่มีที่ดิน คนที่ไม่มีที่ดิน คนที่เป็นแรงงาน หรือคนที่เป็นลูกจ้างระดับกลางของบริษัท ตรงนี้เรายังไม่เห็นภาพของ "ประชากร" ในพื้นที่อย่างชัดเจนเลยในข่าวต่างๆ ซึ่งมักทำหน้าที่แค่คาบคำพูดของนายกรัฐมนตรีมาบอกประชาชน แล้วก็รอฟังความเห็นของนักวิชาการ ข่าวแนวสืบค้น และข่าวแนวสกู๊ปนั้นแทบจะหาไม่ได้ในสังคมไทยมุงแบบทุกวันนี้

 

อาจารย์คิดว่า "นครสุวรรณภูมิ" จะมีความเป็นอิสระขนาดไหน

ผมว่าความเป็นอิสระนั้นเป็นเรื่องที่ "ขายได้" อีกเหมือนกัน เพราะความเป็นอิสระนั้นมักจะขายคู่กับการชี้ให้เห็นประสบการณ์ร่วมของนักการเมือง นายทุน และประชาชน ว่าเขาต้องการเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์ของราชการที่ล่าช้า และไร้ประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากการพูดถึง "การออกนอกระบบ"ของมหาวิทยาลัย ที่เน้นว่าอิสระจากระบบเดิมนั้นนำไปสู่ประสิทธิภาพ โดยลืมถามว่าระบบใหม่ที่ทำงานนั้นหน้าตาจะเป็นอย่างไร และจะต้องผูกพันและรับผิดชอบต่อใครบ้าง

 

การเป็นนครอิสระจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบประชาชนในพื้นที่อย่างไร

เรายังไม่เห็นว่าเขตปกครองพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะมีกลไกในการทวงถามและให้หลักประกันในการทำงานและความรับผิดชอบขององค์กรสาธารณะดังกล่าวกับประชาชนในและนอกพื้นที่อย่างไร เราหลักเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงความสัมพันธ์ภายในพื้นที่ และความสัมพันธ์กับพื้นที่โดยรอบอยู่ดี ต่อไปขยะจะทิ้งตรงไหน น้ำเสียจะทิ้งตรงไหน ถนนที่ตัดเข้ามาในพื้นที่นั้นจะเป็นอย่างไร จะสร้างผลกระทบต่อพื้นที่อย่างไร เมืองไม่ใช่แค่นิคมอุตสาหกรรม และอย่าทำให้เมืองกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม

 

ผมคิดว่ารัฐบาลส่งสารให้เราหลายรูปแบบมาก ทางแรกให้ความสำคัญกับอำนาจในการบริหารอย่างเข้มข้น อย่างที่สองให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากการลงทุนต่างประเทศ และจะมีความเติบโตจากการพัฒนาพื้นที่ อย่างที่สาม รัฐบาลเชื่อว่าการตั้งเขตปกครองพิเศษนี้จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะจะมีเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ มีอำนาจการจัดการที่เข้มข้นและมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วย

 

ในมุมมองของอาจารย์ เราควรมีการเตรียมความพร้อมปรับตัวรับเมืองใหม่อย่างไรถ้าหากมันเกิดขึ้นจริง

 

ผมยังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลอธิบายได้เลยว่าเดิมนั้นพื้นที่นี้เป็นอย่างไร แล้วการเปลี่ยนแปลงนั้นจะกระทบต่อชีวิตที่เป็นอยู่เดิมอย่างไร และจะใช้เวลาในการปรับตัวอย่างไรใน "ระยะเปลี่ยนผ่าน"

     

รัฐบาลนี้ชอบขายฝันโดยไม่รับผิดชอบต่อการบริหารจัดการ "ระยะเปลี่ยนผ่าน" ยกตัวอย่างเรื่องการกู้ยืมเงินเพื่อไปลงทุน รัฐบาลไม่ได้ทุ่มเทความสนใจไปในเรื่องของการให้ความรู้ในการประกอบการมากเท่าการปล่อยเงินกู้

 

เรื่องเอฟทีเอ รัฐบาลสนใจการทำข้อตกลงมากกว่าเตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับเกษตรกร เรื่องสามสิบบาทรักษาทุกโรค รัฐบาลไม่ได้ทุ่มเทเรื่องของการปรับปรุงระบบป้องกันสุขภาพให้คนไม่ต้องไปโรงพยาบาล

 

และเรื่องการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่สุวรรณภูมิ ผมยังไม่เห็นโครงการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ราวกับพื้นที่นี้เต็มไปด้วยความว่างเปล่าที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามจินตนาการของรัฐบาลได้เสมอ

 

การจัดผังเมืองในเมืองไทยที่เป็นอยู่ อาจารย์มองว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ผมขออนุญาตไม่ตอบตามตำราผังเมืองแบบเถรตรง เพราะผังเมืองนั้นมีหลายตำรา ผมว่าพวกเราควรจะเลิกสนใจเรื่องผังเมืองในฐานะ "พิมพ์เขียว" ที่มีอำนาจและเหตุผลชุดเดียวในการวาดและระบายสีแล้วใช้อำนาจบังคับใช้ในพื้นที่ได้แล้ว พิมพ์เขียวเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการรับรองและจัดความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่

 

เรื่องแรกที่ต้องพูดถึงก็คือ เราเลิกแปลคำว่า planning ว่าการวางผังเมือง หรือการวางแผนพัฒนาพัฒนาเมืองก่อน เรามาตั้งหลักกันแบบ "บ้านๆ" ดีกว่า คือแปลว่าการวาง "หลักเมือง"

 

"หลักเมือง" ที่อาจารย์พูดถึงนี้ เป็นอย่างไร

ถ้าเราแปลกิจกรรมที่เราทำว่าเป็นการวางหลักเมือง เรากำลังพูดถึงพลังศรัทธาบางประการที่ทุกคนมีร่วมกัน ซึ่งผมว่ากินความกว้างกว่าคำว่า (รัฐ) ธรรมนูญที่ไม่เคยศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเราเสียด้วยซ้ำไป เพราะว่ามันฉีกได้

 

ถ้าเป็นเช่นนั้น อาจารย์มองว่า "หลักเมืองนครสุวรรณภูมิ" มันจะมีรูปร่างหน้าตายังไง

ถ้าตั้งหลักกันที่ "หลักเมือง" เนี่ย ผมอยากรู้เหมือนกันว่าหลักเมืองของรัฐบาลที่เสนอนั้นมันจะเหมือนกับที่พลเมืองต้องการไหม เอาภาษาที่เขาฮิตกัน ว่าด้วยเรื่องเมืองน่าอยู่ หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่หมายความว่าการพัฒนาในปัจจุบันจะไม่ไปลดทอนและขัดขวางประโยชน์ที่คนรุ่นๆ ต่อไปจะได้รับ เราก็ต้องตั้งคำถามว่า เมืองที่รัฐบาลเสนอนั้นจะยั่งยืนด้วยอะไร ด้วยการลงทุน ด้วยเม็ดเงิน เท่านั้นเหรอ ด้วยรัฐบาลที่มีอำนาจที่เข้มข้นเหรอ ประชาชนจะมีชีวิตร่วมกันอยู่ในเมืองได้อย่างไร? หลักเมืองจะกำกับพวกเราทุกคนอย่างไร ด้วยศรัทธาที่จะอยู่ร่วมกัน และคนที่เข้ามาอยู่ในเมือง เข้ามาลงทุนจะเคารพหลักเมืองของเราอย่างไร

 

ที่สำคัญเราต้องรู้ก่อนว่าหลักเมืองที่ดีเป็นยังไงก่อนใช่ไหม

ใช่ หลักเมืองที่ดีน่าจะประกอบด้วยสามส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือ คำถามหลักว่า เราจะมีชีวิตร่วมกันในเมืองนี้อย่างไร เราจะมีชีวิตที่ดีร่วมกันอย่างไร ส่วนที่สองคือคำถามที่ว่า เราจะกำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างไร และในส่วนที่สามก็คือ เราจะ "ควบคุม" ทิศทางการพัฒนาอย่างไร ดังนั้นเราอย่าหลงทางแล้วตั้งต้นด้วยความมหัศจรรย์ของเครื่องมือในการควบคุมการพัฒนาว่าเป็นทุกอย่างของการวางหลักเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ผังการใช้ที่ดิน เครือข่ายถนน อัตราส่วนที่ว่างต่อพื้นที่ใช้สอย หรือระบบการจราจรอัจฉริยะราคาแพง เพราะเครื่องมือเหล่านี้บางทีก็มีอคติบางอย่างแอบแฝงอยู่ อาทิ มาตรฐานการก่อสร้างบางอย่างที่แม้จะยึดหลักความปลอดภัยเป็นเบื้องต้น แต่คนยากคนจนก็อาจไม่สามารถจ่ายราคาเหล่านั้นได้

 

นอกจากนี้วิธีการแบ่งผังเมืองตามกฎหมายของผังเมืองว่า มีผังเมืองปกติกับผังเมืองเฉพาะนั้นก็เป็นเพียงเครื่องมือเดียวของการวางหลักเมือง ในอดีตเรามักจะฝันว่าผังเมืองเฉพาะจะเป็นทางออกของการวางผังเมือง เพราะผังเมืองทั่วไปใช้เวลานานมากในการจัดทำและประกาศใช้  และส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมพื้นที่นอกเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานของตน แต่ปัญหาของผังเมืองเฉพาะก็คือ ผังเมืองเฉพาะนั้นไม่ใช่ทั้งหมดของหลักเมืองดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

ผังเมืองเฉพาะก็น่าจะเข้ากันดีกับเขตปกครองพิเศษ

ผังเมืองเฉพาะนั้นดูเหมือนจะเข้ากับหลักการจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตการปกครองพิเศษ แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้ที่จะบังคับใช้ผังดังกล่าวนั้นจะมีความรับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไร เรามักอยากได้ความเข้มข้นของอำนาจ โดยไม่เชื่อในพลังในการควบคุมอำนาจเหล่านั้น ซึ่งทำให้ความเข้มข้นของอำนาจกลายเป็นการผูกขาดของอำนาจมาโดยตลอด

 

เอาละเราไม่ใช้คำว่าผังเมือง เราควรจะใช้คำว่าหลักเมือง แล้วการวางหลักเมืองต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

การวางหลักเมืองในปัจจุบันนั้น ไม่ได้เน้นแค่เรื่องของเครื่องมือผังเมืองอย่างเดียว หากแต่สนใจคำถามสำคัญอย่างน้อยอีกสองประการ ประการแรก หลักเมืองที่ดีจะต้องบรรจุเครื่องมือในการสร้างเจตจำนงร่วมกันของคนในเมืองว่า เมื่อมีความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ในการพัฒนา จะมีการฟัง ยอมรับ และชดเชยกันอย่างไร ไม่ใช่คนส่วนน้อยต้องยอมคนส่วนใหญ่ลูกเดียว คนส่วนใหญ่อาจจะต้องยอมคนส่วนน้อยก็ได้ เพราะการมีคนส่วนน้อยอยู่นั้นเป็นเครื่องแสดงให้เห็นความเป็นอารยะของชุมชนที่ต้องการความหลากหลายและอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่จะตัดถนน เวนคืน และเอาเงินฟาดหัวเพราะสามารถบวกค่าเวนคืนไปในต้นทุนการพัฒนาให้ลูกค้าจ่ายได้

 

ประการที่สอง การวางหลักเมืองต้องคำนึงด้วยว่า การพัฒนาในปัจจุบันมีทั้งมิติของการเชื่อมโยงกันในระดับโลก อาทิ เงินลงทุนที่ไหลมาอย่างรวดเร็ว และมิติของการผลักคนบางคนที่มูลค่าน้อยให้ออกจากระบบ หรือได้รับผลจากการพัฒนาที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ อาทิ คนที่ขึ้นทางด่วนได้ และคนที่อยู่ใต้ทางด่วน คนที่บ้านมีเคเบิ้ลทีวีกับคนที่บ้านไม่มีเคเบิ้ล จะเห็นว่าเทคโนโลยีที่เชื่อมโลกเข้าด้วยกันนั้น สามารถตัดคนที่มูลค่าน้อยออกจากพื้นที่ได้ง่ายขึ้น ทั้งที่เดิมทำได้ยาก

 

ประการสุดท้าย อันนี้เป็นคำถามที่ท้าทายจุดยืนทางการเมืองของผมเองมาก คือผมอยู่เขตบางนา แต่ชอบกินปลาสลิดบางบ่อ ผมอยากมีโครงข่ายการคมนาคมที่ดีซึ่งคงได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาสุวรรณภูมิ แต่ขณะเดียวกันผมก็อยากกินปลาสลิดบางบ่อ (อาจไม่ได้อยู่ในสุวรรณภูมิแต่คงได้รับผลกระทบเช่นกัน) ด้วย ผมจะทำอย่างไรดี ชีวิตที่ดีของผมคือคืออะไร เรื่องนี้ผมเองก็ยังคิดไม่ตก ยังไม่กล้าเลือก นี่แค่ผลประโยชน์เล็กๆ ของผมนะ ถ้าเป็นรัฐบาล เป็นเจ้าของที่ดิน เป็นชาวบ้านในพื้นที่แถวนั้นจะทำอย่างไร คนเหล่านี้มีเรื่องที่ต้องคิดกันอีกเยอะ 

 

ประชาชนควรทำอย่างไรก่อนที่รัฐบาลจะตั้ง "นครสุวรรณภูมิ" ขึ้นมาจริงๆ

เราต้องออกมาส่งเสียงกันมากๆ พูดถึงเรื่องราวที่เรากังวล ยิ่งมากก็จะเป็นข้อมูลที่รัฐบาลต้องนำมาคิด นำมาตอบ ถือว่าช่วยรัฐบาลทำงานในฐานะเป็นพลเมือง เราไม่ได้ออกมาเรียกร้องและยืนตรงข้าม เราต้องการร่วมคิดตั้งแต่ต้น มิใช่แค่รอรับ เราต้องการกำหนดหลักเมืองของเรา และเราต้องการให้คนอื่นๆ รักและเคารพหลักเมืองของเราด้วย เราอยากให้หลักเมืองคุ้มครองพวกเรา เราอยากให้เมืองนี้เดินได้ หรืออยากให้เมืองนี้ต้องเคลื่อนที่ด้วยรถยนต์และการจราจรไฮเทคอย่างเดียว เราอยากให้เมืองนี้มีน้ำสะอาด โดยไม่ปล่อยสารพิษออกไปที่เมืองรอบๆ เป็นต้น เราต้องออกมาร่วมคิด ร่วมกันออกเสียง เมืองที่เข้มแข็งและเป็นอิสระนั้นจะต้องเป็นเมืองที่พลเมืองเข้มแข็งและกำหนดชะตาชีวิตของเขาเองได้

 







ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท