Skip to main content
sharethis



 


                        


                        


 


"เอาใจเขามาใส่ใจเรา" อาจเป็นทางออกง่ายๆ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ แต่ดูเหมือนจะทำได้ยากเสียเหลือเกินในปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะหลายครั้งความแตกต่างกลายเป็นอคติที่ปิดกั้นให้ไม่อาจรับฟังเสียงกรีดร้องของอีกฝ่าย ทั้งๆ ที่เสียงกรีดร้องนั้นเป็นเสียงกรีดร้องของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


 


อัมพร หมาดเด็น อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้สะท้อนชีวิตและตัวตนของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านบทความที่ชื่อ "จากอาะเด๊ะ ถึงเมาะจิ๊" โดยได้ยกตัวอย่างคำบอกเล่าในการถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมและไม่เป็นมนุษย์ หลายกรณีไม่ควรจะเกิดขึ้น ไม่ว่ากับคนในสังคมแบบใดก็ตาม


 


จึงขอคัดบางคำบอกเล่าแห่งความอยุติธรรมจากหนังสือที่ อัมพร เขียน มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้


 


"เขาไปหยุดที่กระท่อมหลังหนึ่ง เสร็จแล้วก็อุ้มเราขึ้นไป ไม่พูดไม่จาลงมือทำทันที ขอร้องสารพัดอย่างก็ไม่ยอมหยุด ทำรุนแรงมาก ทั้งตบทั้งกัด เจ็บปวดมาก จนเสร็จมัน เท่านั้นยังไม่พอ มันยังเอาเชือกมามัดมือเราและผูกกับไม้ เสร็จแล้วก็ข่มขืนเป็นรอบที่สองจนสำเร็จความใคร่อีก หลังจากนั้นมันก็ปล่อยเรา และพูดว่า ขอบใจน้อง ของแขกนี้มันดี"


 


อัมพร อธิบายไว้ในหนังสืออีกด้วยว่า การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงมักถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธีเขย่าขวัญประชาชน เป็นวิธีการเพื่อสนองความต้องการทางเพศแก่เหล่าทหาร และเป็นการแสดงอำนาจแบบหนึ่งของผู้ชายในภาวะไม่สงบ นอกจากนี้การข่มขืนของผู้หญิงโดยผู้เข้าครอบครอง แสดงให้เห็นถึงอำนาจการปกครองที่เหนือกว่า


 


"และ (ผู้ชายคนนั้น) พูดต่ออีกว่า กลับไปบอกหัวหน้าโจรว่า หากยิงพวกกู กูจะกลับลงมาอีก"


                  


นอกจากนี้ อัมพร ยังได้นำเสนอทัศนคติผ่านคำบอกเล่าของชาวบ้านที่มองเจ้าหน้าที่รัฐอีกว่า


 


"ภาครัฐขาดความจริงใจในการแก้ปัญหา เอาแต่ได้ จากงบประมาณที่ลงมาเยอะแยะ ใครๆ ก็รู้... ไม่ค่อยถึงชาวบ้านหรอก"


 


ในขณะเดียวกันทัศนคติที่มีต่อประเทศมาเลเซีย คนในพื้นที่ก็เป็นไปในทางบวกมากขึ้น "อยู่ทางโน้นก็ทำงานหนักพอๆ กับอยู่ที่นี่ แต่รายได้ดีกว่าเกือบสามเท่า อยู่แบบสบายใจ ไม่ต้องกลัวเรื่องยิงกันและถูกดูถูก ถูกทำร้ายจากคนของรัฐ ........... รัฐน่าจะขอบคุณเขาด้วยซ้ำที่ช่วยให้คนบ้านเรามีรายได้"


 


อ่านมาถึงตรงนี้ หากเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นจริง ก็ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเหตุการณ์จึงยังไม่เห็นทางที่จะสงบลงได้ หากใครมีโอกาสได้อ่านประสบการณ์ในกรณีอื่นๆ ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ก็คาดว่าคงรู้สึกไม่ต่างกันนัก


 


ในหนังสือเล่มนี้ บทความอีกเรื่องที่มาจากมุมมองของ รศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ "ประชาธิปไตยอำนาจนิยม ผลการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งเป็นมุมมองที่เปิดเผยให้เห็นความรุนแรงที่กำลังกลายเป็นความชอบธรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาชน และนั่นคือโฉมหน้าหนึ่งที่น่ากลัวของ "ประชาธิปไตย"


 


บทความโดยสรุปก็คือ โดยปกติรัฐบาลประชาธิปไตยเองก็สามารถใช้ความรุนแรงได้ในสถานะยกเว้น ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในสถานะเวลานั้น แต่ในยุคนี้ที่เข้ายุคสงครามการก่อการร้าย หรืออีกความหมายก็คือการเข้าสู่ สงครามบริสุทธิ์ (Pure War) ซึ่งก็คือ แม้จะอยู่ในสภาพปกติ คนในสังคมก็จะถูกกระตุ้นให้ใช้ความรุนแรงตลอดเวลา คือทำให้มีความรู้สึกถึง Crisis อยู่ตลอดเวลา


 


สถานการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นกับทั่วโลกในยุคหลังเหตุการณ์ 911 ทำให้ "ประชาธิปไตย" อาจหันด้านอำนาจนิยมออกมาใช้ได้ในระยะเวลาที่นานขึ้น ท่ามกลางการยอมรับหนักแน่นของมหาชน


 


ด้านอำนาจนิยมที่กล่าวถึงนี้ รศ.ชัยวัฒน์ เขียนโดยอธิบายโดยใช้แนวคิด "บุคลิกอำนาจนิยม" ของ T.W.Adorno ที่ให้ภาพลักษณะทางบุคลิกภาพของอำนาจนิยมไว้ ได้แก่ ทัศนะในการลงโทษอาชญากร ความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติที่กำหนดชะตากรรมของบุคคล ความไม่ชอบชนกลุ่มน้อย ความสัมพันธ์ทางเพศที่มีลักษณะควบคุมครอบงำ และความสัมพันธ์อันลักลั่นที่มีต่อผู้มีอำนาจ คือยอมศิโรราบกับคนที่มองว่ามีอำนาจเหนือกว่าในสายสัมพันธ์ลำดับชั้นและข่มเหงรังแกคนที่อยู่ต่ำกว่า


 


แนวคิดดังกล่าวยังเห็นด้วยกับความรุนแรงว่าสำคัญต่อหลักการพลวัตรทางจิตใจขั้นพื้นฐานของลัทธิฟาสซิสต์ เพราะการโฆษณาชวนเชื่อของฟาสซิสต์ชักนำให้ชมชอบใช้ความรุนแรงต่อคนอื่นที่ถูกเห็นเป็นศัตรู ขณะเดียวกันก็พอใจการใช้ความรุนแรงก้าวร้าวของตัวเอง และแนวคิดดังกล่าวนี้เป็นการศึกษาที่มุ่งไปที่ "อเมริกัน" ไม่ใช่กลุ่มฟาสซิสต์ในอิตาลี หรือนาซีในเยอรมัน และด้วยอิทธิพลการโฆษณาชวนเชื่อก็ทำให้ยอมรับลัทธิฟาสซิสต์ได้ง่าย


 


สิ่งที่ รศ.ชัยวัฒน์ เป็นห่วงก็คือบุคลิกอำนาจนิยมนี้ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งประเทศไทยซึ่งกำลังจะใช้ความรุนแรงเป็นทางออก


 


บทความของ รศ.ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในกรณีเหตุการณ์ตากใบ แม้สังคมจะประจักษ์ในความรุนแรงของรัฐที่โหดร้ายเกินขอบเขต จนทำให้ผู้ถูกจับกุมเสียชีวิตถึง 78 คน แต่เสียงสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยความรุนแรงก็ดูจะไม่ได้ลดลง


 


ในขณะที่ก่อนหน้านี้จากการสำรวจความเห็นของเอแบ็คโพลล์ ประชากรถึง 94 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับวิธีการของรัฐบาลในสงครามยาเสพติด ทั้งๆ ที่ในสงครามครั้งนั้นมีการตายโดยหาสาเหตุไม่ได้เกือบสามพันคน


 


นอกจากนี้ในการแก้ปัญหาภาคใต้ รัฐบาล "ทักษิณ" ก็ปฏิเสธ "ข้อเสนอจาตุรนต์" ทั้งๆ ที่เป็นข้อเสนอที่เน้นแก้ปัญหามาข้างล่างสู่ข้างบน และป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นด้วยการลดความรุนแรง แต่การปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวก็ทำให้รัฐไทยหวนกลับไปหาวิธีการที่คุ้นเคยตามธรรมชาติแห่งรัฐ นั่นก็คือการใช้ความรุนแรงที่จะสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นในท้องที่ซึ่งอำนาจรัฐคลอนแคลน จากนั้นความรุนแรงรายวันก็เกิดขึ้นตามมา


 


หากพิจารณาจากปฏิกิริยาต่างๆ ข้างต้น ก็เป็นดัชนีที่ชี้ถึงการเดินทางสู่อำนาจนิยมที่เข้มข้นขึ้นในสังคมไทย ซึ่งหมายความถึงการยอมรับว่า ความรุนแรงจะกลายเป็นยุทธศาสตร์หลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง จะมีการใช้ความโหดร้ายและหลอกลวงจัดการต่อการชุมนุมประท้วงสาธารณะ ท่ามกลางการยอมรับอย่างหนักแน่นของมหาชน


 


 


(กรุณาอ่านต่อตอนต่อไป)


-------------------------------------------------------------------------------------------------------


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net