Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 26 ต.ค.48      หลังจากนักวิชาการออกมาแถลงข่าวจนเกิดกระแสต่อต้านร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้าฮุบกิจการ 20 สาขาซึ่งควรสงวนไว้ให้คนไทย


 


ล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ได้รับเชิญให้ชี้แจงในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภาในวันนี้ ก่อนเข้าชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อ กมธ.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา ในวันพรุ่งนี้


 


นางเกษศิริ ศิริภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงเหตุผลที่มีการปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวต่อที่ประชุม กมธ.การเศรษฺฐกิจฯ ว่า เป็นไปเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน เนื่องจากธุรกิจทั้ง 20 สาขามีกฎหมายเฉพาะที่รัดกุมกว่าอยู่แล้ว แม้ที่ผ่านมาเจ้าของธุรกิจต่างด้าวจะต้องมาขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน แล้วจึงไปขออนุญาตกับหน่วยงานตามกฎหมายเฉพาะ แต่ในการพิจารณาของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ก็ต้องสอบถามไปยังหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนั้นๆ เพื่อขอความเห็นก่อนพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอยู่ดี


 


รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวด้วยว่า แม้แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็มีหนังสือเร่งรัดให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันกฎกระทรวงที่จะยกเว้นธุรกิจธนาคารออกจาก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน


 


อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้สอบถามถึงจำนวนของกิจการของคนต่างด้าวทั้ง 20 ประเภทที่ขออนุญาตไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่า หลังจาก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวบังคับใช้ มีธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับใบอนุญาตแล้ว 22 ราย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 4 ราย ส่วนธุรกิจต่างด้าวที่ดำเนินการอยู่ก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็มีบทเฉพาะกาลให้สามารถมาขอใบรับรองได้ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 96 ราย เป็นธุรกิจธนาคาร 26 ราย ธุรกิจประกันชีวิต 7 ราย ธุรกิจหลักทรัพย์ 3 ราย และอื่นๆ


 


"กระทรวงพาณิชย์ต้องชี้แจงให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่กฎกระทรวงออกปุ๊บ ฝรั่งจะฮือเข้ามาได้ มันมีกฎหมายกำกับอยู่ เหมือนรั้ว 2 ชั้น ชั้นหนึ่งคือรั้วกฎหมายต่างด้าว อีกชั้นคือรั้วกฎหมายเฉพาะ รั้วที่ 2 เข้มข้นอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจชั้นแรกให้มันซ้ำซ้อน" นายนิรัตน์ อยู่ภักดี ส.ว.ชัยภูมิหนึ่งในกมธ.ฯ กล่าว


 


นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้ (27 ต.ค.) กระทรวงพาณิชย์ยังจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 รวมถึงการแก้ไขกฎกระทรวงที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ จากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนที่โรงแรมดิ อิมเมอรัล เวลา 9.00-12.00 น. โดยนางเกษศิริ ระบุว่า การรับฟังความเห็นครั้งนี้เป็นโครงการที่จะดำเนินการอยู่แล้ว เนื่องจากทางกระทรวงฯ ได้เสนอแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้กับคณะกรรมการพัฒนากฎหมายแห่งชาติ โดยปัญหาใหญ่ที่เป็นอุปสรรคคือ ความไม่ชัดเจนในการนิยาม "คนต่างด้าว" และบทลงโทษที่ขาดความยืดหยุ่น เพราะกำหนดให้ดำเนินคดีอย่างเดียว ไม่มีโทษปรับในกรณีที่ความผิดไม่ร้ายแรง


 


อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพัฒนากฎหมายแห่งชาติ ได้ให้ทางกระทรวงฯ กลับมาทำการศึกษาวิจัยผลดีผลเสียในการปรับแก้กฎหมายอีกครั้ง ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้มอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้


 


ด้านนายทรงศักดิ์ ตันตะโยธิน อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงแรงงานไม่มีปัญหากับนโยบายของรัฐบาล และการปรับปรุงกฎกระทรวงในครั้งนี้ เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ชัดเจนอยู่แล้วหากธุรกิจต่างด้าวจะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน ส่วนขั้นตอนในการขออนุญาตนั้น หากเป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และเตรียมเอกสารให้พร้อม ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียว ก็ทำเรื่องขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้ 


 


"ผมอยากจะฝากไว้ว่า ในยุคที่เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้เป็นที่ทำมาหากินของคนที่แข็งแรง เราจะมีปราการอะไรของเราหรือไม่ หรือจะพัฒนาคนของเราอย่างไรเพื่ออย่างน้อยจะได้ใช้ทรัพยากรร่วมกับคนที่จะเข้ามา อันนี้เราต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย" นายทรงศักดิ์กล่าว


 


ทั้งนี้ ธุรกิจทั้ง 20 สาขาที่แนบท้ายบัญชี 3 ของ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ประกอบด้วย 1.ธนาคารพาณิชย์ 2.การทำกิจการให้กู้ยืมเงิน 3.การประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย 4. การทำกิจการโรงรับจำนำ 5. การทำกิจการคลังสินค้า 6. การทำกิจการโรงเรียน 7. การทำกิจการโรงมหรสพ


 


นอกจากนี้ยังมีธุรกิจหลักทรัพย์ได้แก่ 8. การค้าหลักทรัพย์ 9.การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 10.การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน 11. การจัดการกองทุนรวม 12. การจัดการกองทุนส่วนบุคคล 13. การเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 14. การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ 15. การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ 16. การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ 17. การเป็นตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการจำหน่ายหลักทรัพย์ และการเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด 18.การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ 19.การเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม 20.การเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net