แนะนำหนังสือ : มาอ่านหนังสือ "ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งฯ" กันเถอะ (ตอนที่ 2)

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=1351&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai)

 

หลังจากการอ่านหนังสือ "ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งกรณีวิกฤติการณ์ชายแดนภาคใต้"  ทำให้ได้รู้จักกับวิกฤติการณ์ชายแดนภาคใต้ผ่านข้อมูลและการวิเคราะห์ของนักวิชาการในพื้นที่  ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่จะทำให้สังคมเข้าใจรากของปัญหาที่สะสมมานานจนเรื้อรัง และการเข้าใจดังกล่าวจะนำไปสู่การวางรากฐานโยบายการจัดการปัญหาอย่างเหมาะสมได้

 

ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นนักวิชาการในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่เกาะติดสถานการณ์ปัญหาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดคนหนึ่ง และนำเสนอบทความในหนังสือเรื่อง "วิกฤตการณ์ชายแดนใต้" โดยใช้การศึกษาข้อมูลจากในพื้นที่โดยตรง

 

จากข้อมูลจึงทำให้ ผศ.ชิดชนก วิเคระห์และแยกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกได้เป็น  4 กลุ่มใหญ่ คือ

 

1.กลุ่มแบ่งแยกดินแดน หรือกลุ่มขบวนการต่างๆที่มีอุดมการณ์มาจากประวัติศาสตร์ และนโยบายของรัฐที่กดดันจนทำให้คนในพื้นที่เสียวิถีชีวิตแบบมุสลิม

2.กลุ่มอิทธิพล สาเหตุจูงใจในการก่อความไม่สงบของกลุ่มนี้ก็คือผลประโยชน์ โดยมีบารมีที่สะสมในทางผิดกฎหมายมาก บางทีอาจอาศัยฝีมือของกลุ่มโจรสร้างสถานการณ์เพื่อคุมผลประโยชน์ในท้องถิ่นให้อยู่ในอิทธิพลตัวเองมากที่สุด

3.กลุ่มแอบอิงอำนาจรัฐ ซึ่งบางทีอาจมาจากนโยบายความมั่นคงของรัฐเองที่ใช้วิธีเลี้ยงโจรปราบโจร ซึ่งต้องตอบแทนผลประโยชน์กันไม่สิ้นสุด บางครั้งก็มีส่วนช่วยนายสร้างผลงาน หรือในอีกกรณี ก็อาจเป็นพวกข้าราชการส่วนน้อยที่ไม่ดี จ้างโจรสร้างสถานการณ์เพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง

     

ผศ.ชิดชนก ชี้ว่า กลุ่มนี้เองที่ทำให้เจ้าหน้าที่เสียภาพลักษณ์ในพื้นที่ และทำให้ประชาชนรู้สึกว่าความไม่สงบส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ ในเวทีเสวนาวันที่ 19 ต.ค. ผศ.ชิดชนก ก็ได้ยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง โดยระบุว่าเป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่รัฐให้ข้อมูลมา เช่น ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เจ้าหน้าที่ก็ได้จ้างกลุ่มโจรให้สร้างสถานการณ์รุนแรงขึ้น เพื่อล้มรัฐบาลในตอนนั้น

 

หรือใน กรณี พ.ศ.2544 ช่วงที่เกิดยุทธการใบไม้ร่วง คือมีการยิงตำรวจตายเป็นรายวัน แต่ทหารคนหนึ่งกลับถูกระเบิดของตัวเองระเบิดใส่มือจนแขนขาดกลางชุมชน กรณีนี้ก็ทำให้คนในพื้นที่สงสัยเจ้าหน้าที่ว่าสร้างสถานการณ์เพื่อแย่งอำนาจในพื้นที่กันเอง

 

หรืออีกตัวอย่าหนึ่งเป็นการปะทะกันเองระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับทหาร เคยมีกรณีที่ทหารค่ายเสนาณรงค์ขับรถฝ่าด่านตำรวจ จนทำให้รถทหารถูกตำรวจล้อมยิงล้อ ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่อาจสร้างสถานการณ์ใส่กัน จนทำให้ประชาชนไม่เชื่อว่าปัญหาความไม่สงบจะเกิดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพียงกลุ่มเดียว

 

4.กลุ่มผสมโรงเรื่องส่วนตัว แต่ทำให้สถานการณ์เหมือนการก่อการร้าย ซึ่งสื่อไม่ได้นำเสนอต่อเนื่อง เช่น การฆ่าตัดคอ 11 ศพ ครึ่งหนึ่งระบุได้ว่ามาจากความขัดแย้งส่วนตัว

 

อย่างไรก็ตาม บทความของ ผศ.ชิดชนก ยืนยันว่า การปลูกฝังอุดมการณ์แยกดินแดน หรือปลูกฝังให้เกลียดชังรัฐไทยนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2529 แต่เนื่องจากรัฐบาลในช่วงนั้น มีนโยบายที่ไม่ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกถูกกระทำมากจนแปรเปลี่ยนมาเป็นการปฏิบัติการณ์ที่รุนแรง

 

นโยบายดังกล่าว ได้แก่ นโยบาย 66/23 ที่ใช้ในการเอาชนะคอมมิวนิสต์ การตั้ง พตท.43 และศอ.บต. การนำรัฐธรรมนูญในส่วนที่มีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้  และแม้ว่าความขัดแย้งในช่วงนี้จะยังมีอยู่ในลักษณะการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการในป่า แต่ก็ยังถือว่าเป็นช่วงสงบ

 

ด้วยการข่าวที่ผิดพลาดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำให้มองว่ากลุ่มดังกล่าวมีแค่ไม่กี่คนในป่า และเป็นกลุ่มสร้างอาชญากรรมธรรมดา จึงทำให้เกิดยุทธศาสตร์แบบปราบด้วยความรุนแรงเพราะคิดว่าอำนาจรัฐอันมหาศาลจะกดเหตุการณ์ไว้ได้

 

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผนวกกับบรรยากาศแห่งความเป็นธรรมถูกปิดกั้น เพราะรัฐบาลเอาตำรวจมามีอำนาจกลุ่มเดียว ส่วนหน่วยงานที่เคยเป็นช่องทางแห่งความเป็นธรรมของชาวบ้าน เช่น ศอ.บต. ถูกยกเลิกไป

 

ในขณะเดียวกันรัฐก็มองว่า ปอเนาะเป็นแหล่งปลูกฝังการก่อการร้าย ทั้งๆ ที่สถิติพบว่ากลุ่มที่ก่อเหตุมาจากปอเนาะน้อยกว่าเด็กที่มาจากอาชีวะที่ถูกกดดันเสียอีก การข่าวที่ผิดพลาดจึงทำให้กำหนดนโยบายผิดพลาดนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ผศ.ชิดชนก เสนอแนวทางการแก้ปัญหาไว้ด้วยว่า ต้องยอมรับก่อนว่าสิทธิในการกู้ชาติไม่ใช่เรื่องที่ล้าสมัยและเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก แต่การสร้างความเป็นธรรมจะเป็นสิ่งที่แก้ไขได้

 

ที่ผ่านมามีเรื่องเล่าต่อๆ กันมามากมายที่ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกได้ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งรัฐไทยต้องยอมถอย 1 ก้าวมาสร้างความเป็นธรรม เพื่อชดใช้กรรมในอดีตที่เคยสร้าง และรัฐต้องทบทวนปัจจัยภายในมากกว่าคิดว่าปัญหาภาคใต้มาจากขบวนการที่เป็นเครือข่ายจากภายนอก รวมทั้งรัฐบาลต้องยอมรับความผิดพลาด และไม่ใช้ความรุนแรง เพราะจะทำให้เกิดการตอบโต้กันไปมา











 ข่าวประกอบ
 แนะนำหนังสือ : มาอ่านหนังสือ "ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งฯ" กันเถอะ (ตอนที่...



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท