Skip to main content
sharethis

ประชาไทคัดสรร - ผู้จัดการออนไลน์ 20 ตุลาคม 2548 10:17 น....นักวิทยาศาสตร์ชาวไต้หวันรางวัลโนเบลปี 29 ชี้ปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อมกำลังคุกคามโลก การพัฒนาทั่วโลกเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน และจะพ่วงวิกฤติอาหารตามมา ระบุนักวิทยาศาสตร์ต้องมีสำนักรับผิดชอบการกระทำของตนเอง วอนให้มีการแบ่งปันเทคโนโลยีอย่างอิสระ แจงสงครามเทคโนโลยีกำลังจะมาเร็วๆ นี้


      


ศ.ยุน ที.ลี นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2529 กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "พลังงาน สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบของนักวิทยาศาสตร์" (Energy, Environment and Responsibilities of Scientists) ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโลยีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 31 หรือ วทท. 31 วานนี้ (19 ต.ค.) ว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของมนุษยชาติ โลกเรากว้างใหญ่มาก ประชากรมีเพียงไม่มากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่ของโลก ผลกระทบจากมนุษย์ต่อโลกจึงมีน้อยมาก แต่หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 20 แล้ว โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 1.5 พันล้านคนเป็น 6 พันล้านคน


      


"เทคโนโลยีการสื่อสารและการขนส่งได้เปลี่ยนแปลงให้โลกเราเล็กลง เปลี่ยนแปลงจากโลกที่ไร้ขีดจำกัดมาเป็นโลกที่ถูกจำกัด ซึ่งเมื่อพิจารณาพื้นที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดบนโลก โดยที่มีคนจำนวนมากที่เสาะหาความสุขสบายทางวัตถุที่ไร้ขีดจำกัดแล้ว สิ่งที่ท้าทายที่สุดของนักวิทยาศาสตร์น่าจะเป็นปัญหาการใช้พลังงานและผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ ช่องว่างในชั้นโอโซน แนวโน้มอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และการลดลง 15% ของแสงอาทิตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา" ศ.ลี กล่าวและว่า


      


"ถ้าเราพิจารณาโลกในองค์รวมจะพบว่า โลกนี้พัฒนามากเกินไปหลายแง่หลายมุม โดยเฉพาะการบริโภคทรัพยากรที่มากเกินไป และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่" เขากล่าวและชี้ว่า เนื่องจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนการพัฒนาของประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆ กำลังเจริญรอยตามประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากการครอบงำและการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางวัตถุ


      


"รูปแบบการเติบโตของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งต้องบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากเกินไป หรือสิ้นเปลืองนี้ไม่ใช่รูปแบบอุดมคติเพื่อประเทศที่ยังไม่พัฒนาเกินไปที่จะนำไปลอกเลียนแบบ เราควรแสวงหาวิธีการสำหรับสังคมมนุษย์ใหม่และยั่งยืน โดยเน้นทำความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติให้กลมกลืนกัน"


      


ทั้งนี้ ศ.ลี ได้อ้างถึงมหาตมคานธีด้วยว่า เมื่อมีผู้ถามว่า คนอินเดียจะตามมาตรฐานการครองชีพให้เท่ากับคนอังกฤษได้อย่างไร คานธีตอบว่า การบรรลุมาตรฐานการครองชีพตามแบบคนอังกฤษนั้นคือการล่าอาณานิคมทั่วโลก ซึ่งหากทำแบบเดียวกันกับอินเดียซึ่งมีประชากรมากกว่าหลายเท่าแล้ว ก็คงต้องหาโลกให้ล่าอาณานิคมหลายโลกถึงจะเพียงพอ


      


ศ.ลี กล่าวต่อว่า แนวโน้มโลกที่ร้อนขึ้นกลายเป็นปัญหาสำคัญต่อมนุษยชาติ ซึ่งปัญหานี้จะหมดไปก็ต่อเมื่อเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันและถ่านหินหมดไปจากโลกนี้ โดยวิกฤติการณ์พลังงานได้กลายเป็นสิ่งท้าทายมนุษย์เพื่อสิ่งทดแทน ซึ่งมีการประมาณการณ์กันว่า ภายใน 40-60 ปีข้างหน้า น้ำมันดิบทั่วโลกจะหมดไป และภายใน 80-100 ปี ก๊าซธรรมชาติก็จะหมดไปเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ช่องว่างของระหว่างความต้องการและการมีอยู่ของพลังงานจะยิ่งกว้างขึ้นอีก และหลังจากนั้น วิกฤติพลังงานจะอยู่กับเราตลอดไป


      


"ความจริงแล้ว การมาถึงของวิกฤติพลังงานก็จะเป็นสัญญาณของการมาถึงของภาวะขาดแคลนอาหารด้วย เนื่องจากปัจจุบัน การเกษตรต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีอย่างมาก ซึ่งมันเองก็ต้องใช้พลังงานมหาศาลในการผลิตเช่นกัน ดังนั้นวิกฤติพลังงานและการขาดแคลนจึงน่าจะเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งในอนาคต" นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลกล่าว พร้อมชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วและบริโภคทรัพยากรธรรมชาติในปริมารที่มากเกินไปนั้นที่จะถามตัวเองว่า "ถ้าทุกคนบนโลกจะมีชีวิตเหมือนเราแล้ว โลกของเราจะแบกภาระนี้ไหวหรือไม่"


      


นอกจากนี้ สาเหตุความขัดแย้งประการหนึ่งของโลกคือ กระแสโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจโลกกำลังผลักเราไปยังสังคมที่ไร้พรมแดน ประชากรโลกจะสื่อสารกันมากขึ้น ขณะที่ความแตกต่างของประชาคมทั่วโลกจากภูมิภาคต่างๆไม่ได้ลดลง ดังนั้นการที่เราจะเป็นพลเมืองที่ดีของหมู่บ้านโลกนี้ เราจะต้องเรียนรู้อย่างเร็วและสอนเยาวชนของเราให้มองโลกในองค์รวมด้วยความเคารพ การตระหนักในคุณค่า และการทำความเข้าใจความแตกต่างต่างๆ ของประชากรโลก


      


จากนั้น ศ.ลี ยังกล่าวถึงความรับผิดชอบของนักวิทยาศาสตร์ว่า เขาได้ถามตนเองเสมอว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้นำประโยชน์มาให้แก่มวลมนุษยชาติหรือไม่ ซึ่งบางคนอาจโต้แย้งว่า ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้นำประโยชน์มาให้มนุษย์เพียงเศษหนึ่งส่วนสามของประชากรโลกเท่านั้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วดูจะได้เปรียบมากที่สุด


      


"ถึงแม้ว่า การร่วมมือในระดับนานาชาติได้เจริญก้าวหน้าไปพอสมควร ทั้งโลกกำลังดำเนินการตามรูปแบบของการแข่งขันในระดับเศรษฐกิจบนฐานเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งคงไม่ต้องกล่าวว่า ในการแข่งขันนี้ย่อมจะมีผู้แพ้และผู้ชนะอยู่ด้วย ประเทศทั้งหลายที่ติดตามการแข่งขันครั้งนี้ไม่ทัน จะถูกผูกมัดด้วยความยากจนและความลำบากมากขึ้น" เขากล่าว และแจกแจงต่อว่า เราต้องตระหนักว่า โลกที่มีการเชื่อมโยงกันมากไม่อาจเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยได้ ถ้าประชากรส่วนใหญ่ยังทนทุกข์กับความยากจน โรคภัยไข้เจ็บ การอ่านหนังสือไม่ออก และการว่างงาน ฯลฯ


      


ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงควรทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นใจว่า จะไม่มีใครใช้วิทยาศาสตร์เพื่อการครอบงำผู้อื่นและเพื่อที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมของเราเสียหาย ดังที่ เซอร์ โยเซฟ ร็อดแบลด (Sir Joseph Rotblat) ได้กล่าวปาฐกถาภายหลังการรับรางวัลโนเบลในปี 2538 ว่า "เวลาได้มาถึงแล้วที่เราต้องร่างแนวทางการดำเนินการเชิงจริยธรรมของนักวิทยาศาสตร์ โดยอาจเป็นรูปแบบของคำสาบานของฮิพโพเครติส (Hippocrates) ซึ่งแพทย์ทุกคนต้องปฏิญาณตนก่อนการปฏิบัติวิชาชีพ" โดยนักวิทยาศาสตร์ไม่สมควรจะแสวงหาสัจจะทางวิทยาศาสตร์โดยไม่พิจารณาผลกระทบทางจริยธรรมของการวิจัยนั้นๆ


      


อย่างไรก็ตาม ศ.ลี ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็อาจมีส่วนร่วมในการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบและขาดสำนึกได้ภายใต้การแข่งขันทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเราต้องตระหนักว่า ความเจริญก้าวหน้าของประเทศหนึ่งๆ จะยั่งยืนก็ต่อเมื่อประเทศนั้นๆ ถูกห้อมล้อมด้วยประเทศที่เจริญเช่นเดียวกัน ดังนั้น ความรับผิดชอบที่จะช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านของเราให้เจริญก้าวหน้าจึงน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในยุคโลกาภิวัตน์นี้


      


ต่อมา เขากล่าวถึงการแบ่งปันความรู้ทางวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีในยุคโลกาภิวัตน์ว่า เป็นเวลานานแล้วที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมนุษย์ได้สั่งสมมาได้มีการแลกเปลี่ยนอย่างอิสระในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเชื่อกันว่าความรู้ที่พวกเขาค้นพบควรเปิดเผยให้ทุกคนได้รับทราบ ซึ่งเมื่อมีผู้ถาม มาดาม คูรี (Madame Curie) ว่าทำไมจึงไม่จดสิทธิบัตรในสิ่งที่เขาค้นพบ เขาตอบว่า เขาไม่ขอรับความได้เปรียบนั้น เพราะเขาเชื่อว่า มนุษยชาติทั้งมวลควรเป็นเจ้าของความรู้ทางวิทยาศาสตร์


      


"อย่างไรก็ดี ในสังคมปัจจุบัน เมื่อความรู้วิทยาศาสตร์ถูกเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยี ความรู้นั้นก็จะกลายเป็นฐานแห่งการแข่งขันทางเศรษฐกิจไปทั้งหมด การสงวนลิขสิทธิ์และสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาจึงเกิดขึ้นและกลายเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง ซึ่งความรู้ที่มีการแบ่งปันในขณะนี้กลับเป็นความรู้พื้นฐานก่อนการแข่งขันได้ การแบ่งปันเทคโนดลยีไม่ได้เกิดขึ้นอย่างอิสระ อันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากบางประเทศจะเน้นการพัฒนาเพื่อเปิดเผยแก่สาธารณะ ขณะที่บางประเทศพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการกีดกัน และการแข่งขันทางธุรกิจ" ศ.ลี กล่าว ซึ่งในประเด็นนี้เอง เขาชี้ว่า เราควรหาทางทำให้ระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้สั้นลงเพื่อลดช่องว่างด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เล็กลง


      


นอกจากนี้ ศ.ลีได้กล่าวถึงสงครามด้วยว่า ภาวะโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจโลกจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงของการเกิดสงครามที่ใช้ในการตัดสินความขัดแย้งระหว่างนานาชาติลง แต่สิ่งที่เข้ามาแทนคือ การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่มีฐานเทคโนโลยีระดับสูง ความตึงเครียดระหว่างการพัฒนาวิทยาศาสตร์และการแบ่งปันเทคโนโลยี และความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจกับความต้องการทางการเมืองของประเทศต่างๆ โดยวิทยาศาสตร์อาจถูกใช้เพิ่อการครอบงำผู้อื่นแทนที่จะใช้สำหรับการปลดปล่อย


      


"ขณะนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้กำลังเผชิญการเรียนรู้ การทำงาน และการอยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน จึงควรเป็นเวลาที่ตระหนักในที่สุดว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้มีความจำกัดในเนื้อที่ ปริมาณ และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด การตื่นตัวนี้จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้มนุษยชาติสามารถอยู่รอดและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ถ้าเราเลือกทางที่ถูกต้องแล้ว ศตวรรษที่ 21 จะถูกจารึกว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ยิ่งใหญ่หรือการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ"


      


งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโลยีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 31 หรือ วทท. 31 โดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค. ภายใต้แนวความคิด "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา โดยมีการนำเสนองานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ พร้อมทั้งมีการแสดงนิทรรศการงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net