โค้งสุดท้ายการเจรจาก่อน "ดับบลิวทีโอ" ที่ฮ่องกง


 

 

เจนีวา - 18 ต.ค.48 ช่วงสัปดาห์นี้มีการประชุมคณะมนตรีทั่วไป (General Council) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะเดียวกันระหว่างวันที่ 17-22 ต.ค. องค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคมจากทั่วโลกก็ได้รวมตัวกันเพื่อติดตามการเจรจา และทำกิจกรรมการรณรงค์ในระหว่างการประชุมเช่นกัน

 

ทั้งนี้ การประชุมคณะมนตรีทั่วไปเป็นการพิจารณาในประเด็นการค้าต่างๆ ก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของชาติสมาชิก โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจกำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 13-18 ธ.ค.นี้ที่เกาะฮ่องกงนี้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการอนุมัติข้อตกลงรูปธรรมอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน มิฉะนั้น ก็จะถูกหลายๆ ฝ่ายมองว่าการเจรจามาถึงทางตันแล้ว

 

การประชุมคณะมนตรีทั่วไปที่เจนีวาครั้งนี้ มีความสำคัญมากขึ้นหลังจากที่ประเทศสมาชิกบางประเทศได้ตกลงกันในเดือนกรกฎาคมปี 2547 ที่จะมีกรอบที่เรียกว่ากรอบเดือนกรกฎาคมซึ่งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปตกลงที่จะลดการอุดหนุนภาคการเกษตรลง อย่างไรก็ตาม การเจรจายังไม่มีความก้าวหน้าใดๆ จนกระทั่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของหลายประเทศ

 

นายจักรชัย โฉมทองดี จากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา กล่าวว่า ภาคประชาสังคม รวมถึงหลายประเทศสมาชิกไม่ได้เห็นด้วยกับการเจรจากรอบเดือนกรกฎาคมอยู่แล้ว เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้สหรัฐฯและสหภาพยุโรปเพิ่มการอุดหนุนมากขึ้นแทนที่จะลดลง แม้ว่าจะมีการกล่าวอ้างถึงการลดการอุดหนุนการส่งออก อีกทั้งข้อเสนอของสหรัฐฯที่จะลดการอุดหนุนที่บิดเบือนตลาดโดยตรง 60% และสหภาพยุโรปลดลง 70% เมื่อเร็วๆนี้ ก็ชัดเจนว่าจะไม่ได้ส่งผลกับการอุดหนุนที่จ่ายจริง แต่เป็นเพียงการลดปริมาณการอุดหนุนที่ได้ผูกพันภายใต้ดับบลิวทีโอเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป สามารถเพิ่มการอุดหนุนได้อีกในทางปฏิบัติ

 

มาร์ติน คอร์ จากเครือข่ายประเทศโลกที่สาม กล่าวว่า การอุดหนุนหลายอย่างที่บิดเบือนการค้าอยู่ในกล่องเขียวซึ่งถือว่าไม่บิดเบือนการค้าเพราะไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต แต่กล่องเขียวมีคำนิยามกำกวมมาก งานศึกษาของอ็อกซ์แฟม เสนอว่าเมื่อรวมการอุดหนุนทั้งหมดเข้าด้วยกันทั้งที่ทำได้และไม่ได้ภายในดับบลิวทีโอ มูลค่าการอุดหนุนแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย

 

"แล้วหากไม่เกิดการลดการอุดหนุนอย่างแท้จริงแล้ว ทำไมเราจะต้องแลกกับการเปิดตลาดในด้านอื่นๆด้วย" มาร์ตินกล่าว

 

ทั้งนี้ การอุดหนุนสินค้าเกษตรภายในประเทศมีมาตรการ 3 อย่าง คือ 1.กล่องเขียว เป็นมาตรการอุดหนุนที่ให้ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเจาะจงสินค้าและปริมาณ แต่มีข้อกำหนดว่าสินค้าเกษตรกลุ่มนี้ต้องส่งผลน้อยที่สุดหรือไม่มีผลบิดเบือนการค้าหรือการเกษตร 2. กล่องสีอำพัน เป็นมาตรการอุดหนุนที่ต้องลดลง 3. กล่องสีแดงเป็นมาตรการอุดหนุนที่ห้ามใช้สำหรับมาตรการอุดหนุนภายในประเทศที่ให้แก่สินค้าเกษตรกรรมนั้น

 

นายฟอลคอร์เนอร์ ประธานกลุ่มเจรจาด้านเกษตรกล่าวว่า สหรัฐฯและสหภาพยุโรปก็มีข้อเสนอที่ก้าวหน้าในเรื่องการมีเนื้อหาบนโต๊ะ  และการเปิดเสรีจะไม่กระทบสิ่งที่ประชาชนแสดงความกังวล เช่น เรื่องสินค้าพิเศษ และกลไกป้องกันพิเศษ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร

 

นักเจรจาจากประเทศกลุ่มจี 90 หรือกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาและประเทศยากจน แสดงความกังวลว่า ขณะนี้รอบโดฮาซึ่งสมควรจะเป็นรอบของการพัฒนาได้กลายเป็นรอบแห่งการแย่งกันเข้าถึงตลาด แต่ถ้าประเทศไม่มีความสามารถในการผลิต ตลาดที่ได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร และหากรอบนี้ไม่ใช่รอบเพื่อการพัฒนา เราก็หวังได้ยากที่จะเห็นประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา

 

นายเนลสัน นักเจรจาจากประเทศเคนย่า กล่าวว่า มีการรับรู้กันว่าบางประเทศจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นสำหรับการพัฒนาหรือเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร แต่ปัญหาคือ จะมีรายละเอียดอย่างไร เพราะประเด็นเหล่านี้มักจะถูกนำไปไว้คุยในภายหลัง  ประเด็นเรื่องสินค้าพิเศษ มาตรการปกป้องพิเศษ ต้องคุยไปพร้อมๆกับประเด็นอื่น ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับความสำคัญ

 

นายอเลคาเนโร่ วียามาน จากเครือข่ายปฏิบัติการการค้าเสรีจากเม็กซิโกกล่าวว่า เมื่อถามนักเจรจาและประธานกลุ่มเจรจาว่า มีการประเมินผลของการเจรจาต่อการพัฒนาหรือไม่ ทุกคนตอบว่ายังไม่มีประเทศใดร้องขอ ซึ่งเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อรอบนี้คือรอบของการพัฒนา เป็นไปได้หรือไม่ที่กลุ่ม จี 90 จะร้องขอให้ดับบลิวทีโอทำการประเมิน เพราะว่ามันเป็นวัตถุประสงค์ของการเจรจารอบนี้

 

นายราเจช นักเจรจาด้านเกษตรของอินเดีย กล่าวว่าหลายประเทศมักจะหวังให้อินเดียเป็นผู้นำในหลายประเด็นเพื่อประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา แต่พออินเดียขอให้ร่วมสนับสนุนจริง กลับไม่มีสักประเทศ สถานการณ์ตอนนี้คือ ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเองแข่งกันเอง

 

โสเปรีย จีระโซเปรีย จากองค์กรวาระเพื่อการเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงจากประเทศกัมพูชากล่าวว่า  การเข้าองค์การการค้าโลกไม่ได้ให้ประโยชน์กับเรา การได้รับเงินกู้จากไอเอ็มเอฟและเอดีบีทำให้รัฐบาลต้องแปรรูปกิจการหลายอย่างในประเทศ ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เราต้องร่วมมือกัน ต้องไม่แข่งกัน ไม่เช่นนั้นประชาชนก็มีแต่จะจนลงๆ

 

นอกจากประเด็นเกษตรแล้ว ประเด็นการเปิดเสรีบริการและสินค้าที่ไม่ใช่เกษตร (NAMA-นามา) ก็เป็นประเด็นห่วงใยของภาคประชาสังคมเช่นกัน

 

ประธานกลุ่มเจรจานามากล่าวว่า สมาชิกได้ตกลงที่จะได้ข้อสรุปเรื่องกรอบการเจรจาภายในการประชุมที่ฮ่องกง เพราะหากจะจบรอบนี้ให้ได้ภายในปี 2549 จะต้องมีความเคลื่อนไหว ไม่เช่นนั้นจะไม่ทัน

 

รูเปโตร อเลโรซา ชาวประมงจากประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า หากเปิดเสรีในนามา นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในกิจการที่ไม่เป็นมิตรต่อคนจน เพราะจะกลายเป็นอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ นั่นหมายความว่า คุณไม่จำเป็นต้องปกป้องป่าชายเลน ก็จะไม่มีที่สำหรับสัตว์น้ำได้อยู่อาศัยและหากิน ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีความยั่งยืน

 

ส่วนผู้แทนจากประเทศแอฟริกาใต้กล่าวว่า ในประเทศของตนมีปัญหาที่เกิดจากการแปรรูป ประชาชนอยู่ในภาวะยากลำบาก ทำไมดับบลิวทีโอถึงให้ประเทศเปิดบริการน้ำ ไฟ และบริการสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่ควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท