Skip to main content
sharethis



"โลกาภิวัตน์คือการที่เทคโนโลยีก้าวหน้า จนสามารถเชื่อมโยงประเทศต่างๆ เข้าด้วยกัน" นักศึกษาระดับปริญญาโทด้านการสื่อสารของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งให้คำจำกัดความ

 


"ถูกต้องเลยค่ะ" อาจารย์ของสถาบันการศึกษาแห่งนั้นตอบ


 


โลกาภิวัตน์คืออะไรกันแน่ โลกาภิวัตน์เกิดจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจริงๆ หรือ ประโยคหลังนี้ ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนของสถาบันการศึกษาแห่งนั้น แต่อยู่ที่วงเสวนาว่าด้วยโลกาภิวัตน์และรัฐไทยร่วมสมัย ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


 


ถ้าจะเท้าความไปถึงการเดินทางมาของถ้อยคำประเภท การพัฒนา ประชาธิปไตย และเสรีนิยม ดูจะเป็นเรื่องที่พาเราๆ ท่านๆ ย้อนกลับไปไกลเกินยุคสมัยของเราไปสักหน่อย ส่วนเรื่องแนวทางพัฒนาของชาติ ก็อาจจะตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานประเภท น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ นั่นก็ยุคสมัยพ่อแม่เรายังเด็ก


 


ถ้าจะพูดถึงยุคของรัฐบาลทักษิณ เราก็รับรู้เรื่องราวของ รัฐวิสาหกิจ และการแปรรูป คุ้นๆ กับถ้อยคำประเภท ทุนนิยมทางการเงิน (ที่เราจะคิดถึงตลาดหุ้นก่อนเป็นอันดับแรก) ซึ่งแน่นอนว่า เรารับรู้สิ่งเหล่านี้ผ่านข้อมูลข่าวสารอันหลากไหล เชี่ยวกราก ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล และจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลังการรับรู้เรื่องราวเหล่านี้แล้วเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์มันได้เพราะเราอยู่ในสังคมเสรีประชาธิปไตย!!!!


 


มันต้องเป็นตลกร้ายแน่ๆ ถ้าจะบอกว่าทั้งหมดที่เรารับรู้เกี่ยวกับประเทศของเราเองตั้งแต่รัฐบาลสฤษดิ์ มาจนถึงผู้นำทักษิณของเรานั้น รวมถึงการที่เราคิดเกี่ยวกับตัวเองว่าเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือเลือกรับ หรือไม่รับข้อมูลบางอย่างได้นั้น อยู่ภายใต้การบงการของใครบางคนหรือประเทศบางประเทศ มันช่างเป็นคำอธิบายที่วิ่งกลับไปหาโครงสร้างที่ไม่เป็น โพสต์ โมเดิร์น เอาซะเลย แต่ก็เอาเถอะ "ประชาไท" จะพาไปฟังคนเชยๆ เขาพูดกันถึงเรื่องนี้ดูสักหน่อย เพราะถึงอย่างไร เด็กแนวอย่างเราๆ ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างหลากหลายอยู่แล้ว


 


.......................................................................................................


 


สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า โลกาภิวัตน์ไม่ใช่ของใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ "ขนาด" และ "แบบ" ของมัน และที่น่าสนใจกว่า "ขนาด" ก็คือ มันมี "เจ้าภาพ" อยู่ด้วย


 


โลกาภิวัตน์ มีเจ้าภาพ


โลกาภิวัตน์ไม่ใช่ของใหม่ในมุมมองของผม มันเคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ว่าในปัจจุบันนี้ ขนาดของมันเป็นแบบไหน แบบมันเป็นอย่างไร แต่ที่สำคัญคือผมมีจุดยืนชัดเจนและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลายคนก็คงจะค้านผม และถามผมแน่ๆ ก็คือ ผมเชื่อว่าโลกาภิวัตน์มีเจ้าภาพอยู่ และก็หนีไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกา


 


เพราะฉะนั้นแล้วตรงนี้ผมจำเป็นต้องชี้แจงก่อนว่าผมเห็นอย่างไร ผมไม่เชื่อด้วยว่าโลกภิวัตน์ในปัจจุบันเป็นสิ่งใหม่โดยสิ้นเชิง เพราะว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นยุโรปอยู่พอสมควรถ้าลองไปศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกา ถึงแม้ว่าอเมริกาในปัจจุบันจะมีความเชื่อเรื่อง will of right เรื่องสิทธิต่างๆ นานาที่ดูแตกต่างแต่ก็อิงอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า "การเป็นศูนย์ความคิดของยุโรป"


 


หลัง 1945 หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป เรายอมรับในเรื่องของ Pax Americana (การเป็นมหาอำนาจโลกของอเมริกา) มากขึ้น ทำไมผมถึงต้องพูดถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะว่าผมคิดว่าช่วงสงครามโลก ก่อนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 มันมีการตกลงกันแล้วและหลักฐานต่างๆ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่ามันมีแนวความคิดที่จะสร้างกฎเกณฑ์เศรษฐกิจการเมืองต่างๆ นานาค่อนข้างชัดเจนมาก ไม่ใช่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขอยืนยันเลยนะครับ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบด้วย


 


ในขณะเดียวกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศตะวันตกจะมีปัญหาในลักษณะที่เรียกว่าเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจล้วนๆ และจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาดหุ้นพังทลายในปี 1929 ในสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิด แฟรงคลิน เดลลาโน รูสเวล ขึ้นมาในปี 1933 เราจะได้เห็นฉันทานุมัติ (Consensus) ต่างๆ มากมาย แต่ตรงนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นเลยว่าในอีกซีกโลกที่กำลังพัฒนามีสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า


 


ความเปลี่ยนแปลงภายในของฝ่ายยุโรป ฝ่ายอังกฤษ และฝ่ายอเมริกานั้น มีกลไกลค่อนข้างสำคัญมากที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกา คำว่า Imperial Presidency มีความสำคัญมาก นั่นก็คือการที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจเทียบจักรพรรดิ และมีการสร้างความชอบธรรมในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมา หลังจาก 1945 อำนาจนี้ค่อนข้างมหาศาลมากเมื่อคอนเซ็ปท์ของการต่อต้านคอมมิวนิสต์มันเกิดขึ้นในบริบทของสงครามเย็น


 


สงครามเย็นเข้ามา การพัฒนาตามมาติดๆ แล้วประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน


ปัจจุบันนี้หลักฐานต่างๆ ก็ชี้ให้เราเห็นชัดเจนแล้วว่า สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาครองอำนาจได้อย่างไร CIA เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้หาอ่านได้หมดแล้ว ซึ่งคนสมัยก่อนบอกว่าเป็น Conspiracy Theory เป็นเรื่องคุยกันเอง คิดไม่ดีต่ออเมริกาอะไรทำนองนั้น วันนี้ ไม่ได้คิดต่อต้านอเมริกาทั้งสิ้นนะครับ กำลังเล่าความจริงให้ฟัง


 


คำว่า Development หรือ การพัฒนา จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยทรูแมน แต่เกิดขึ้นในสมัยรูสเวลท์ ไอ้คำว่า Development มันมีผลกระทบมากในการสร้างกฎเกณฑ์ของเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งหลังปี 1945 ก็จะเห็นได้ชัดเจนนะครับว่า IMF, World bank อะไรต่างๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และก็มีการใช้กลไกเหล่านี้มากมาย


 


เช่น ใน WTO มีวรรคหนึ่งซึ่งผมเพิ่งหาได้เมื่อไม่นานมานี้ และรู้สึกตกใจมาก บอกว่าอย่างนี้ครับว่า


 


"การที่ระบุไว้แล้วใน WTO ก็เป็นผลดีต่อรัฐชาติด้วย เพราะว่าถ้าประชาชนในรัฐชาตินั้นๆ ไม่พึงพอใจรัฐบาลก็สามารถหาทางออกได้โดยการบอกว่า เราทำอะไรไม่ได้ เพราะมันกำหนดไว้แล้ว"


 


เพราะฉะนั้นแล้ว พอถึงจุดๆ หนึ่งก็คงจริงนะครับว่า Nation State (รัฐชาติ) นั้นอาจจะไม่มีความหมาย แต่สำหรับผมมันเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนกว่านั้นมาก การเปลี่ยนแปลงภายในรัฐชาติเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญมาก


 


ก่อนที่จะเข้ามาถึงรัฐไทย ผมสนใจประเทศตุรกี ประเทศชิลี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และผมก็สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ เราจะพบว่ามันมีความคล้ายกันมากในหลายๆ เรื่อง ที่มาของมากอส ที่มาของออกัสโต ปิโนเชต์ สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการทำงานของจักรวรรดิอเมริกันมันค่อนข้างจะสลับซับซ้อนไม่ใช่ขาว-ดำ เสียทีเดียว นั่นหมายความว่าอย่างไร ในที่นี่ผมคงจะต้องยืมความคิดของ David Harvey ซึ่งเขียนเรื่อง New Imperialism ขึ้นมาและพยายามชี้แจงให้เห็นว่าศูนย์กลางเป็นแบบไหน และในขณะเดียวกันไอ้ที่อยู่ตามรัฐชาติมันมีโครงสร้าง ลักษณะอย่างไร ในการตอบสนองสิ่งต่างๆ


 


เราจึงค่อนข้างจะงงกับรัฐบาลทักษิณในปัจจุบันมากว่า เอ๊ะ ไหนบอกว่า ไทยต้องรักไทยไง แล้วทำไมต้องแปรรูปการไฟฟ้าด้วยละ ในขณะเดียวกัน ก็มี Free Trade (การค้าเสรี) มันคืออะไรกันแน่ มันคือ Keynesian (เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์) มันคือ Neo-Liberalism หรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าเขาเล่นได้ดีในการตีจะตบตา แหกตา มันงงมากนะครับ มันอาจจะเป็นแกงโฮะก็ได้นะครับ


 


การมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือการมีกองทุนหมู่บ้านละหนึ่งล้าน อันนี้มีไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะหนึ่งและในขณะเดียวกัน เอาไว้หุบปากตัวแทนทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอ็นจีโอ หรืออำนาจต่างๆ มันจำเป็นต้องมีมือนี้ในการล้างบางอำนาจอะไรบางประการด้วย และในขณะเดียวกันมันก็มีภาพมหภาคอันใหญ่ และไปไกลถึงขนาดที่ว่า ใน FTA ถึงขนาดมีการกำหนดชื่อของบริษัทของออสเตรเลียไว้ด้วยเลย ซึ่งตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยรู้เลยว่าในสัญญาการค้าเสรี คุณสามารถระบุชื่อบริษัทลงไปได้ด้วย


 


เมื่อพูดถึงตรงนี้ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญมากๆ ในการเปลี่ยนแปลงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือว่า ความพยายามลักษณะนี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงของ วูดโร วิลสัน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1


 


ฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นในวันนี้ ที่มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นมากอส เป็นซูฮาร์โต เป็นอะไรก็แล้วแต่ มันแสดงว่า ในช่วงนั้น สหรัฐอเมริกาไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตย คำว่าประชาธิปไตยมามีความเอาในตอนหลัง และเมื่อเราไปดูดีๆ เราก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าทำไมในปัจจุบันนี้ คำว่าเสรีประชาธิปไตยมันจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น


 


 


เสรีประชาธิปไตย - การแหกตาอันทรงพลัง


สิ่งที่ผมอยากจะอ่านให้ฟังตรงนี้สักนิดหนึ่ง ลองฟังดูนะครับ ลองดูนะครับว่าท่านรู้สึกอย่างไร


 


"กำแพงเบอร์ลินถูกพัง สหภาพโซเวียตสลายตัว ขั้วอำนาจโลกเปลี่ยนแปลง สงครามเย็นยุติ การสิ้นสุดของสหัสวรรษ การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ ความเป็นปรปักษ์ระหว่างอารยธรรม ระเบียบโลกใหม่ ระบบการผลิตเดิมล้าสมัย ตลาดไม่กว้างพอ โลกานุวัตร โลกาภิวัตน์ วิกฤติเศรษฐกิจ แผ่นดินแคบลง เวลาเร็วขึ้น เขตแดนหมดความหมาย อธิปไตยคลายความสำคัญ ความเป็นรัฐถูกท้าทาย ประชาธิปไตยอ่อนพลัง ชนบทพังทลาย ชุมชนอ่อนแอ ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ พลังงานเหลืออยู่อย่างจำกัด สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ประชากรย้ายถิ่น โลกร้ายระบาด พืชและสัตว์สูญพันธุ์ คนเปลี่ยนอัตลักษณ์ โลกยุคหลังสมัยใหม่ สังคมยุคหลังอุตสาหกรรม กระบวนทัศน์เปลี่ยน และอีกนานาปรากฏการณ์"


 


ถ้าอ่านออกมาทั้งหมด สิ่งที่ผมได้คือ สำหรับหลายคนอาจจะบอกว่า เออ ดีจังเลยเนอะ เรามีประชาธิปไตย เราสามารถคิด เกี่ยวกับโลกของเราได้อย่างหลากหลายมาก แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การทำให้คุณค่าของชุดความคิดมันเท่าเทียมกันหมดทั้งๆ ที่ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ไม่มีสิทธิที่จะไปจัดหมวดหมู่ให้เท่าเทียมกับความเป็นปรปักษ์ระหว่างอารยธรรมได้เลย


 


สิ่งที่ผมพยายามจะอธิบายให้เห็นก็คือ เสรีประชาธิปไตยมันมีศักยภาพในการแหกตาประชาชนอย่างรุนแรง มันอันตรายมากๆ เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราได้ใช้สิทธิในการคัดค้านมันไปแล้ว ในขณะเดียวกัน ไอ้ชุดความคิดทั้งหมดทำให้เท่าเทียม แต่ชุดความคิดบางประการมันถูกทำให้เกิดมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นชุดความคิดที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สหรัฐอเมริกาไปรบในสงครามต่างๆ นานา ได้ก็คงไม่พ้นคำอธิบายของ Sammuel Huntington ในหนังสือ Clash of Civilization


 


การทำงานของจักรวรรดิอเมริกันภายใต้เสรีประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเป็นแบบไหน เราค่อนข้างรู้สึกว่า ผู้นำมาจากการเลือกตั้ง ก็หมดแล้วนี่ประชาธิปไตยใครไม่พอใจก็เดินไปคัดค้านสิ ก็ใช้สิทธิไปแล้ว แต่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้นอีกเรื่อง


 


สิ่งที่น่าสนใจมากๆคือเสรีประชาธิปไตย ถูกโปรโมตด้วยสหรัฐอเมริกาอย่างไร เราต้องเข้าใจให้ได้ว่า State ของสหรัฐ ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจเรื่องโลกาภิวัตน์ มันทำงานคนละหน้าที่กันภายใต้ร่มเงาเดียวกัน เพราะฉะนั้นคุณก็จะเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศมี Human right Report เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เอาอาหารและระเบิดไปทิ้งในประเทศต่างๆได้ เพนทากอนก็ทำไป State Department ต่างๆ ก็ทำไป ซึ่งเราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่านี่คือความกำกวมที่ยากมากต่อการทำความเข้าใจ


 


ข้อมูลข่าวสาร - อาวุธสุดเวิร์ก


สิ่งที่ผมอ่านเมื่อสักครู่ ถ้าผมเปลี่ยนใหม่ ผมก็จะเสริมว่าอย่างนี้ครับ


 


"ไมเคิล พอร์เทอร์ การก่อการร้ายข้ามชาติ ซื้อสโมสรริเวอร์พูลแน่ ระเบิดปูพรมอาฟกานิสถาน เราไม่ยอมให้ใครขายถูกกว่า เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ สินค้าจำกัดจำนวนหนึ่งชิ้น หมดแล้วหมดเลย จิฮาดปะทะแม็คเวิลด์ ของสดๆ ลดสุดๆ โลกใบเดียวกัน เลิกซื้อสโมสรริเวอร์พูล พบความสดใหม่ ราคาพิเศษทุกวัน พอล ครุกแมนเยือนไทย ซีทีเอ็กซ์ มะละกอจีเอ็มโอ เจอนิ้วในแหนม สินค้าฮิต บึ้มยะลา อากู๋ฮุบบางกอกโพสต์-มติชน ราคาน้ำมันพุ่ง อิรักบึ้มตายรายวัน จักรวรรดิอเมริกัน อากู๋คายหุ้นทิ้ง หวังทองบาทละหมื่นห้า เก็งกำไรตลาดหุ้น และอีกนานาปรากฏการณ์"


 


สิ่งที่เราเห็นคืออะไรครับ ข้อมูลข่าวสารสำคัญมากๆ ในเสรีประชาธิปไตย และยิ่งโลกาภิวัตน์ทำให้คุณเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น คุณก็จะสนใจเรื่องเฉพาะหน้า เพราะฉะนั้นแล้ว ทรัพยากรร่อยหรอกับโลตัสลดสดๆ ทุกวันเนี่ยมีค่าเท่ากันได้เลยนะครับ และผมมีสิทธิที่จะคิดว่าข้อมูลไหนสำคัญ


 


เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้นในโลกาภิวัตน์คือ Homoginization of Individualization เราต้องเหมือนกันภายใต้ร่มเงาอันใหญ่และในขณะเดียวกัน คนต้องมีความเป็นปัจเจกชนมากยิ่งขึ้น เพราะ การเป็นปัจเจกชนมากยิ่งขึ้นมันยากต่อการเปลี่ยนแปลง มันยากต่อการรวมตัวกัน


 


กลับมาที่กรณีของเมืองไทย มีการพูดกันว่าสื่อเมืองไทยไม่เสรี สื่อที่ไหนก็ไม่เสรีครับ สื่ออเมริกาก็ไม่เสรี แต่ว่าสื่อเมืองไทยอย่าไปใช้คำว่าเสรีหรือไม่เสรีเลย น่าจะคุยกันต่อได้ว่า เสรีน้อยกว่าเดิมไปอีกหลายเท่า ทุกวันนี้ คุณสุภาพ คลี่ขจาย บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย จัดรายการวิเคราะห์ข่าวทุกเช้าเลย ผมว่า "Propaganda Model" ของนอม ชอมสกี ยังอธิบายไม่ได้เลย เพราะนี่คือ State Control Information อย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยรายละเอียดแล้วแตกต่างจากประเทศอื่นๆ


 


ทีนี้สิ่งที่สำคัญคืออะไรรู้ไหมครับ ไอ้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นภายใต้เสรีประชาธิปไตย และเราคิดว่าเรามีสิทธิเนี่ยนะครับ มันทำให้สำนึกของความเร่งด่วนสูญเสียไป และมันเป็นหนทางที่สวยงามที่สุดในการที่จะนำนโยบายเสรีนิยมใหม่มาใช้ได้อย่างถูกต้อง และมีความชอบธรรมที่สุด ลงตัวที่สุด


 


ผมคิดว่านายกทักษิณมีความฉลาดในหลายๆเรื่อง และมองบางเรื่องค่อนข้างจะสมาร์ทมาก เพราะคนอยู่ในธุรกิจระดับนี้แล้วต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และต้องรู้อย่างชัดเจนด้วยว่าอะไรกำลังเข้ามา แล้วอะไรกำลังเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจของเขาด้วย เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะต้องไปจัดการกับสิ่งเหล่านี้คืออะไร


 


ผมคิดว่าจำเป็นมากๆ ที่จะต้องเข้าใจว่าทำไม เสรีประชาธิปไตย จึงมีความสำคัญมากๆ เพราะว่าเสรีประชาธิปไตยนี้เป็นหนทางในการสร้างความชอบธรรมและรองรับแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ได้อย่างดีที่สุดเลยก็ว่าได้ การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นภายใต้บริบทของวิกฤติเศรษฐกิจ สงครามโลกครั้งที่ 2 และ ภายใต้การต่อต้านคอมมิวนิสต์มีอะไรแอบแฝงอยู่มากมาย


 


.......................................................................................................


 


รศ. แล ดิลกวิทยรัตน์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำให้ชัดเจนขึ้นว่า ทุนนิยมที่พูดๆ กันอยู่ ไม่ใช่ทุนนิยมเฉยๆ แต่เป็นทุนนิยมอุตสาหกรรมซึ่งนำขบวนโดยอเมริกา เอ๊ะ! แล้วมาเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์อย่างไร


 


 


"คนไทยหรือเปล่า" เป็น โลกาภิวัตน์ หรือเปล่า


โลกาภิวัตน์เป็นคำที่ไม่เสร็จสิ้นกระแสความในตัวของมันเอง เพราะเราต้องถามต่อว่า โลกาภิวัตน์ของอะไร วันนี้อาจจะมีโลกาภิวัตน์ของการก่อการร้าย ก่อนหน้าที่จะมีโลกาภิวัตน์ของระบบทุนนิยมก็มีโลกาภิวัตน์ของอะไรมาก่อนหน้านั้น ประเด็นที่น่าสนใจก็คือถ้าถัดจากสนธิสัญญาบาวริ่งมาเราจะพบว่าสิ่งที่มากระทบสังคมไทยหลายอย่างและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นกรณีเกิดกบฏ ร.ศ. 130 ถ้าอ่านคำให้การของกบฏเช่น ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หรือ ร.ต. เนตร์ พูนวิวัฒน์ ร.ต. ถัด รัตนพันธ์ คำให้การของคนพวกนี้น่าสนใจ เพราะว่าในตอนนั้น คนพวกนี้เรียนหนังสือมากที่สุด นักเรียนนายร้อยคือคนที่ได้เรียนหนังสือมากที่สุด และสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจมากที่สุดก็คือเขาอยากเป็นอย่างเคมาล อาตาเติร์ก  


(รัฐบุรุษของตุรกี http://www.thairath.co.th/thairath1/2548/column/dragon/aug/17_8_48.php) เขาอยากให้สยามประเทศเป็นเหมือนตุรกี เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงถูกเรียกว่าพวกกบฏยังเติร์ก


 


ถัดจากนั้นคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่านักเรียนนอกได้ความคิดมาใหม่ๆ ก็มีผลกระทบ หรือแม้แต่กระทั่งที่เราพูดกันถึงเรื่องชาตินิยม แล้วดูเหมือนกับว่ามันตรงข้ามกับโลกาภิวัตน์ คำถามก็คือว่า ชาตินิยมเป็นโลกาภิวัตน์ด้วยหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้ๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้าไปดูการแต่งตัวของรัฐบาลจอมพล ป. โดยเฉพาะจอมพล ป. เราจะเห็นว่าการใส่รองเท้าไอ้โอ๊บยาวๆ ที่ปิดน่อง แล้วก็ใส่เสื้อแล้วก็เอาเข็มขัดรัดข้างนอก นั่นคือวิธีการแต่งตัวแบบญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมัน นั่นคือโลกาภิวัตน์ด้วยหรือเปล่า จนกระทั่งถึงช่วงสฤษดิ์ เติบโตมาอย่างไร หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาวางแนวทางการเดินให้กับชาติที่ได้เอกราชหรือชาติใหม่อย่างไรบ้าง จะแข่งขันกับรัสเซียได้อย่างไร รวมมาถึงกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึงกระแสการต่อต้านสงครามเวียดนาม


 


ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นระลอกคลื่นแต่ละระลอกที่มากระทบประเทศเรา และการกระทบแต่ละครั้งก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย ฉะนั้นเราคงต้องดูว่าถ้าหากเกิดคลื่นแบบนี้แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่าอะไรอยู่ อะไรไป เราคงไม่ถูกกวาดไปโดยคลื่นของโลกาภิวัตน์ไปเสียทั้งหมดจนกระทั่งตัวตนของความเป็นสังคมไทยไม่มีอยู่ แต่ถ้าจะมีอยู่ อะไรอยู่ อะไรไป และเหตุใดสิ่งนั้นจึงดำรงอยู่ได้ ผมเข้าใจว่าทุกวันนี้ ทุกวันนี้เอ็นจีโอหลายคนก็พูดถึงกระแสวัฒนธรรมชุมชน ที่พูดว่า ถึงแม้จะถูกกระทบอย่างไรก็ตามแต่ แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่ารากเหง้าของสิ่งที่เราเรียกว่าวันธรรมชุมชนก็ยังสามารถที่จะต่อต้านหรืออย่างน้อยที่สุดชะลอการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอกได้พอสมควร


 


ด้วยเหตุนี้ เดิมที่เราเข้าใจว่าสิ่งนี้เหนี่ยวรั้งความเจริญพอสมควร ถ้าหลับไปอ่านหนังสือในยุคปี 1960 ซึ่งมีการรวบรวมผลของการสัมมนาต่างๆ แล้วพูดถึงว่าเหตุใดประเทศไทยถึงจะก้าวไปสู่ประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรมได้ช้า แล้วก็ยกตัวอย่างว่าคนไทยไม่นิยมออม แต่นิยมใช้เงินเพื่อการบริโภค ทำบุญ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งความเจริญ ซึ่งความเจริญก็ถูกอธิบายในแง่ของการเปลี่ยนไปสู่ทุนนิยม


 


แต่ว่าวันนี้หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ปี 2540 ขึ้นมา เราก็พบว่า ยังดีนะที่มีตัวพวกนี้ไม่พลอยไปกับเขาด้วย ไอ้วัฒนธรรมชุมชนอะไรต่างๆ มันยังยึดโยงสังคมอยู่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกว่าปัจจัยเหนี่ยวรั้งความเจริญในปี 1960 มันกลายเป็นรากเหง้า เป็นอัตลักษณ์ เป็นโครงสร้างที่มีฐานรากที่ยั่งยืนยาวนาน แล้วกระแสโลกาภิวัตน์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้อย่างที่ควรจะทำได้ ฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะถามว่าไอ้ตัวที่มีอยู่ตัวนี้ มันอยู่ได้อย่างไร


 


ทีนี้ถ้าเราจะย้อนกลับไปที่โลกาภิวัตน์ของระบบทุนนิยมจริงๆ ผมคิดว่าตัวที่จะแสดงให้เราเห็นได้ชัดคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็น ฉันทมติวอชิงตัน หรือการเกิดของระบบ เบรตตันวูดส์ (ระบบการจัดระเบียบการเงินระหว่างประเทศ-Bratton Woods) ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไอเอ็มเอฟ หรือธนาคารโลกก็ดี เหล่านี้ถูกผลักดันเข้ามาด้วยอิทธิพลทหาร อิทธิพลทางการเมือง และอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะล้างระบบเดิมของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบที่ถูกวางรากฐานไว้โดยชาตินิยมในสมัยจอมพล ป. สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2


 


สงครามเย็น ใครว่าทุนต้องอยู่กับประชาธิปไตย


แต่กระแสที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ มี 2 ลักษณะ ลักษณะหนึ่งคือการพยายามใช้ระบบเผด็จการมัดแข้งมัดขาคน เพื่อที่จะให้เอื้อต่อกระบวนการสะสมทุนอุตสาหกรรม ด้วยการที่ห้ามมีพรรคการเมือง ห้ามมีพรรคฝ่ายค้าน ยกเลิกกฎหมายแรงงาน พ.ศ. 2499 เพื่อให้คนงานไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงาน ไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า บรรยากาศการลงทุนหรือบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่มีเผด็จการ หรือไม่มีระบบทหารแบบจอมพลสฤษดิ์ สิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Cheap Labor Regime มันเกิดขึ้นไม่ได้ ก็คือเราจะต้องสร้างเงื่อนไขให้เกิดแรงงานราคาถูกเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ผมว่าตรงนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจ ถ้าเราพูดถึงบาวริ่งว่าเป็นการเปิดประเทศครั้งแรก ผมว่าสิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ ทำคือบาวริ่งครั้งที่ 2 คือการเปิดประเทศเพื่อให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าในแง่หนึ่งโลกาภิวัตน์ก็ไม่สามารถเข้ามาได้เต็มเหยียด เพราะในขณะที่ทุนเอกชนเข้ามาลง แต่ส่วนหนึ่งเราพูดได้ไม่เต็มปากก็คือเราเป็นระบบรัฐบาลเผด็จการ


 


เรามักจะโฆษณากันอยู่เรื่อยๆ ว่าระบบทุนนิยมกับการเมืองแบบประชาธิปไตยมันไปด้วยกัน ทีนี้เรามีทุนนิยม เราส่งเสริมทุนนิยม แต่สิ่งที่พูดได้ไม่เต็มที่ก็คือเราเป็นระบบเผด็จการทหาร ต่อมาแม้จะถูกต่อต้านมากๆ และเราพยายามขยับขยายและเรียกมันว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ มันก็ยังคงครึ่งใบอยู่จนกระทั่งมันมีพัฒนามาการมาจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ความเป็นครึ่งใบมันอาจจะน้อยลง จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านั้นนายทุนไปอิงอยู่กับอำนาจทหาร อำนาจราชการ พอถึง 14 ตุลามันเกิดการพังทลายของระบบทหาร ระบบราชการ


 


จากนั้นจึงถือเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการตั้งพรรคการเมืองของนายทุนชัดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคกิจสงคมกับพรรคชาติไทยซึ่งกลายมาเป็นปราการทางการเมืองให้เกิดการเติบโตของทุนภายในซึ่งโหนทุนต่างประเทศอยู่ หลายกลุ่ม เช่นกลุ่มราชครูเติบโตมาโดยการโหนทุนญี่ปุ่น โหนทุนไต้หวัน แล้วก็สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาแล้วก็มาแสวงหาอำนาจทางการเมืองได้อย่างเปิดเผย


 


และที่น่าสนใจก็คือว่า หลัง 14 ตุลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เราจะเห็นได้ชัดถึงอิทธิพลของการก่อตัวของกลุ่มธุรกิจในทางการเมือง รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นรัฐบาลแรก ถ้าเช็คภูมิหลังของรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2475 - 2516 รัฐบาลคึกฤทธิ์เป็นรัฐบาลแรกที่มีรัฐมนตรีมาจากนักธุรกิจมีจำนวน 51 เปอร์เซ็นต์ แต้ถ้าสูงสุดอาจจะเป็นสมัยรัฐบาลชาติชายที่มีรัฐมนตรีมาจากนักธุรกิจ 66 เปอร์เซ็นต์ และวันนี้ก็ไม่ต้องเช็คใช่ไหมครับว่านักการเมืองมีภูมิหลังอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสำคัญๆ


 


เส้นทางทุนนิยมไทย พึ่งพาเทคโนโลยี พึ่งพาตลาด พึ่งพาแรงงานต่างประเทศ


แล้วก็จะเห็นว่ากระแสโลกาภิวัตน์ที่พัดเอาทุนเข้ามา วันนี้ทุนมันทะลักเข้ามาแล้ว โลกาภิวัตน์ของทุน ผมว่ามันมี 3 ด้านที่น่าสนใจนะครับคือ เรื่องเทคโนโลยี เราส่งเสริมการลงทุน เราก็จะยกเว้นไม่เก็บภาษีเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ อันแรกที่ทำให้เกิดการพึ่งพาทางเทคโนโลยี


 


หลังปี 1980 เราเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนาจากการพัฒนาเพื่อทดแทนการนำเข้าไปสู่การพัฒนาเพื่อส่งออก ซึ่งตรงนี้เรากลายมาเป็นโรงงานของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องการใช้แรงงานราคาถูก เพราะฉะนั้นจะสังเกตว่าหลังจากนั้นแล้วตลาดของเราจะอยู่ข้างนอกหมด สินค้าที่ผลิตในประเทศนั้น ตลาดอยู่ข้างนอกหมด ทราบไหมครับว่า สินค้าแบรนด์เนมดังที่สุดในโลกอย่างเช่นไนกี้มีโรงงานผลิตสินค้าในประเทศไทย 70 กว่าโรงงาน เพราะฉะนั้นถามว่ามันจะกระทบอะไรแค่ไหนมันก็ต้องดูในเรื่องของการกีดกันทางการค้าอะไรต่างๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่าเรื่องของตลาดเราต้องพึ่งคนอื่น เราต้องส่งออก


 


วันนี้เราต้องสู้กับเขาด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ปัญหาก็คือว่าคุณไม่สามารถที่จะใช้คนไทยในการผลิตสินค้าเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าวันนี้โรงงานผลิตสินค้าระดับโลกทั้งหลายอยู่แถวๆ แม่สอด ใช้แรงงานพม่าเยอะมาก


 


เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ โลกาภิวัตน์หมายถึงการยกเลิกขอบข่ายความเป็นชาติ เพื่อที่จะเปิดให้มีการใช้แรงงานราคาถูกมากๆ ในสังคมเรา


 


คำถามก็คือว่าตรงนี้ทำให้อำนาจรัฐอ่อนตัวลงหรือเข้มแข็งขึ้น สุดแต่ว่าคนที่กุมอำนาจรัฐนั้นมีผลประโยชน์อยู่กับใคร บางคนก็บอกว่ามันทำให้คนที่กุมอำนาจรัฐเข้มแข็งขึ้น บางคนก็บอกว่ามันอ่อนแอลง อย่างไรก็ตามเขตแดนของอำนาจรัฐคงดูหลวม ดูไม่สำคัญ แต่คำถามก็คือว่าคนที่กุมอำนาจรัฐอ่อนแอลงจริงหรือเปล่าหรือว่าเข้มแข็งขึ้น ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าสิ่งที่อำนาจรัฐเข้าไปไม่ถึงหรือเข้าไปเขย่าไม่ได้ คืออำนาจรัฐนั้นเข้าไปไม่ถึงหมู่บ้าน แต่ชุมชนก็คงจะต้องอ่อนแอลงถ้าเราไม่พยายามไปกระตุ้นมัน


 


โลกาภิวัตน์ในวันนี้กระทบรัฐไทยไปถึงไหน และคนที่อยู่ในสังคมนั้นมันถูกครอบงำมากน้อยแค่ไหน เป็นตัวของตัวเองมากน้อยแค่ไหน หากว่าเราพยายามรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์เอาไว้ มันจะอยู่ได้ไหมโดยไม่ต้องใช้จมูกคนอื่นเขาหายใจ และหากว่ามีวิกฤติเกิดขึ้นที่ภายนอกมันจะไม่กระทบกระเทือนไปมาก นี่ก็คงเป็นสิ่งที่ต้องคุยกันต่อ


 


......................................................................................................


รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มีดส์ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ทุนนิยมนั้นก็คือสิ่งที่ขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ โดยที่เทคโนโลยีสื่อสารเป็นเครื่องมือ พร้อมกับสรุปว่า เรา (ประเทศไทย) ยังเรียนรู้เรื่องน้อยเกินไปในเรื่องอำนาจจากภายนอกที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลง


 


เมื่อผู้นำไม่สบาย ไทยก็เปิดประเทศครั้งที่ 2


เห็นด้วยกับอาจารย์แลว่า ยุคจอมพลสฤษดิ์ นั้นถือว่าเป็นสนธิสัญญาบาวริ่งครั้งที่ 2 แต่ต้องเน้นว่าเป็นจอมพลสฤษดิ์ที่กลับมาปฏิวัติครั้งที่ 2 ไม่ใช่ครั้งแรก จอมพลสฤษดิ์ ครั้งแรกไม่ได้มีไอเดียที่จะรับโครงสร้างอำนาจสหรัฐต้องไปนอนไม่สบายที่วอเตอร์ลีดเสียก่อน แล้วก็มีการเล็คเชอร์อย่างค่อนข้างจะเข้มข้น จากนั้นไทยก็รับ ยอมเปิดประเทศให้กับการเข้ามาของทุนนิยม


 


สิ่งที่สหรัฐพยายามเผยแพร่ให้เราก็คือทุนนิยมอุตสาหกรรม เรายอมเปิดประเทศให้กับการเข้ามาของทุนนิยมอุตสาหกรรม ถ้าเผื่อว่าสหรัฐเป็นผู้นำของโลกอุตสาหกรรม สิ่งเขาพยายามเข้ามายัดเยียดให้เรา เผยแพร่ให้เรายอมรับก็คือทุนนิยมอุตสาหกรรม


 


ไม่มีทุนนิยม ไม่มีโลกาภิวัตน์


ถ้าเราจะดูโลกาภิวัตน์ต้องดูให้ขาด ในแต่ละยุคว่าในแต่ละยุคมีแรงผลักดันอะไรอยู่เบื้องหลัง ไม่อย่างนั้นเราก็พูดไปเรื่อย ด้านโน้นด้านนั้น อาจารย์สุรัตน์ให้คำนิยามโลกาภิวัตน์ซึ่งดิฉันเห็นด้วย แต่ขอเติมว่า มันเป็นปรากฏการณ์ที่โลกส่วนต่างๆ มันเชื่อมเข้าด้วยกัน มันเป็นสภาวะที่มีทุนนิยมผลักดัน มันเป็นพลังของสภาวะที่มีการเชื่อม ข้อมูลข่าวสารนี้เป็นเพียงเครื่องมือของโลกาภิวัตน์ การมี Information Technology แต่ไม่มีทุนนิยมมันก็คงไม่ทำให้เกิดสภาวะของการเชื่อม เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ชัดเจนว่า เรือกลไฟ กับชวเลขในอดีต และอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันนั้นเป็นเครื่องมือของการแพร่ขยายของระบบทุนนิยม


 


ประเด็นที่ 2 เราได้พูดถึงโลกาภิวัตน์ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน มันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ตามตั้งแต่ครึ่งหลังศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา โลกาภิวัตน์มีลักษณะพิเศษในแง่ที่ว่ามันมีรัฐชาติที่มีพลานุภาพยิ่งใหญ่ผลักดันหนุนหลัง ในส่วนที่ดิฉันศึกษามาก็คือโลกาภิวัตน์ที่มีอังกฤษเป็นเจ้าภาพ ดิฉันขอเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทนที่จะมองว่ามันเป็นอาณานิคม ว่าจริงๆ แล้วมันมีโครงสร้างอำนาจของระบบทุนนิยมอังกฤษที่อยู่เบื้องหลัง แต่โครงสร้างอำนาจนี้อาจจะต้องไปประนีประนอมกับมหาอำนาจทุนนิยมอื่นๆ เช่นฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ แต่อย่างไรก็ตามโลกาภิวัตน์ที่มีอังกฤษเป็นผู้นำก็คือพลังที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 19 ในภูมิภาคนี้


 


นี่คือการเสริมสิ่งที่ อ.สุรัตน์ พูดไปแล้วเพื่อชี้ให้เห็นว่า มันมีลักษณะที่โลกาภิวัตน์ในปัจจุบันต่างไปจากอดีตอย่างไร ข้อที่แตกต่างสำคัญก็คือมันมีมหาอำนาจหลักเป็นตัวผลักดัน ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านั้นไม่มี ก่อนหน้านั้นเมืองอัมสเตอร์ดัมก็เป็นศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลก อัมสเตอร์ดัมเป็นศูนย์กลางของยุโรป แต่เนเธอแลนด์ก็เป็นเพียงประเทศเล็กๆ ในยุโรปที่จะดำรงสภาพท่ามกลางมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรป ต้องต่อสู้กับฝรั่งเศสที่พยายามเข้ามาแย่งชิงความเป็นใหญ่ เพราฉะนั้นที่มันชัดเจนขึ้นมาในฐานะที่เป็นโครงสร้างอำนาจของโลกมันเกิดขึ้นชัดเจนในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาเพราะว่ามันถูกผลักดันโดยมหาอำนาจในระบบโครงสร้างอำนาจโลกด้วยก็คืออังกฤษ และต่อมาก็คืออเมริกา เพราะฉะนั้นเมื่อเรามี Pax Britannica (ยุคความเป็นมหาอำนาจโลกของอังกฤษ) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็มี Pax Americana (ยุคความเป็นมหาอำนาจโลกของอเมริกา)


(อ่านเพิ่มเติมใน http://econ.tu.ac.th/class/archan/rangsun/Books-%20Collected%20Articles/The%20World%20Economy-%20Structure%20and%20Changes/Part%201%20The%20World%20Cpitalism.pdf)


 


และญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในฐานะที่พยายามมาแทนที่ Pax Britannica และในกรณีของประเทศไทยเขาก็ทำได้สำเร็จ คือเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และในที่สุดเขาก็ดึงเราเข้าสู่สงครามด้วย ก็ถือว่าเป็นความพยายามของมหาอำนาจในภูมิภาคที่จะเข้ามาครอบครองทรัพยากรในบริเวณ และในที่สุดเขาก็ทำได้สำเร็จในช่วงของครึ่งหลังทศวรรษ 1980 เพราะฉะนั้นถ้าเราจะพูดถึงพลวัต ก็เป็นพลวัตที่เกิดขึ้นมาในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 ด้วย


 


มันมีความสลับซับซ้อนที่ต้องใช้เวลาในการคลี่ออกมาให้ได้ ดิฉันมีเอกสารอยู่เต็มห้องไปหมด ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะเขียนอะไรเป็นระบบได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ดิฉันตระหนักถึงบทบาทของสหรัฐในการที่จะเข้ามาจัดการกับกิจการของประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งเช่น ประเทศไทย แล้วลองคิดดูสิคะว่า สหรัฐเข้าไปจัดการอย่างนี้กับทุกประเทศมันเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากในความรู้สึกของดิฉัน เอกสารที่ได้มานี้มันบอกทุกแง่ทุกมุมของสิ่งซึ่งเขาพยายามจะทำในสังคมไทย ดิฉันยังไม่รับรองว่ามันมีข้อพิสูจน์ว่าสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ด้วยเอกสาร ทั้งนี้เพราะเอกสารส่วนหนึ่งที่จะไม่มีการเปิดเผยเลย ยกเว้นรายงานเพนทากอนซึ่งเป็นเอกสารของกระทรวงกลาโหม สหรัฐ ที่เหลือนอกจากนั้น ไม่ต้องหวังเลยค่ะว่าจะมีการเปิดเผย


 


แต่ว่าที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือว่า การเชื่อมกันระหว่างรัฐไทยกับโครงสร้างอำนาจโลกอีกครั้งหนึ่งอย่างเป็นทางการ สมัยจอมพล ป. นั้น เชื่อม แต่เชื่อมทางด้านความมั่นคง อยากจะได้รับความช่วยเหลือทางการทหาร แต่ไม่ยอมเปิดระบบเศรษฐกิจเพื่อจะให้ทุนอเมริกัน ทุนอุตสาหกรรมอเมริกันได้เข้ามาลงทุนอย่างเต็มที่ จอมพล ป. มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน แต่ก็ยังไม่ถูกใจอเมริกา เพราะฉะนั้นตอนไปนอนวอเตอร์ลีด จอมพลสฤษดิ์ ก็รีบสั่งให้ทางกรุงเทพ ฯ ให้ส่งต้นฉบับให้อ่านหน่อย แล้วหลังจากนั้นก็มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในเพื่อมารองรับกับทุนอเมริกันอย่างเต็มที่


 


โลกาภิวัตน์สร้างเผด็จการ และโลกาภิวัตน์ก็ทำลายเผด็จการด้วย


ต้องแยกให้ชัดเจนว่าสาเหตุพลังอยู่เบื้องหลังโลกาภิวัตน์ กับอีกส่วนหนึ่งคือผลกระทบของโลกาภิวัตน์ ไม่งั้นก็พูดกันไม่รู้เรื่อง ทุนนิยมเป็นตัวผลักดันที่อยู่เบื้องหลังให้เกิดโลกาภิวัตน์ เมื่อไปเชื่อมแล้วมันก็ไปก่อให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่ตามมาที่หนังสือเขาเรียกว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทีนี้มันมีอะไรที่น่าสนใจอยู่ในช่วงของรัชกาลที่ 5 จนถึงช่วงของจอมพลสฤษดิ์ ก็คือมี 2 ช่วงที่เป็นการเชื่อมกับโลกาภิวัตน์ทั้งคู่ การเปลี่ยนแปลงนั้นมีลักษณะร่วมกันหลายประการด้วยกัน นั่นก็คือมีลักษณะของการใช้อำนาจรัฐที่ศูนย์กลาง เป็นการใช้อำนาจเผด็จการ แต่ตัวโลกาภิวัตน์เป็นตัวที่ไปเพาะเชื้อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้ระบบเผด็จการที่เกิดจากโลกาภิวัตน์นั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป


 


นั่นก็คือว่า ความจำเป็นของโลกาภิวัตน์ก็ต้องสร้างคนที่มาทำงานให้ระบบ เพราะฉะนั้นก็ต้องให้การศึกษา พอให้การศึกษาแล้วมันก็จะมีคนที่มีความคาดหวังกับระบบ สงคามเวียดนามมันทำให้คนตั้งคำถามว่า ไอ้ที่คิดว่าอนาคตจะรุ่ง รุ่นของดิฉันก็คือคนรุ่นที่ตั้งคำถามว่าเราจะอยู่อย่างไรเมื่อสหรัฐกำลังจะถอนทหารออกไป แล้วตรงนี้มันก็เป็นที่มาของขบวนการส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด นี่คือส่วนหนึ่งของขบวนการนิสิตนักศึกษาที่ตั้งคำถามกับระบบอำนาจที่เป็นอยู่ ในที่สุดก็ทำให้ระบบนั้นอยู่ไม่ได้ก็ต้องล่มสลายไป ไม่แตกต่างจากการตั้งคำถามของข้าราชการในยุคตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ไหนว่ารัฐเลือกฉันเข้ามาเพราะว่าฉันมีความสามารถ แต่พอฉันเข้ามาก็พบว่ามันมีระบบอุปถัมภ์อยู่ และฉันก็ไม่เห็นจะสามารถก้าวหน้าได้อย่างที่ฉันคาดหวัง เพราะฉะนั้นโลกาภิวัตน์มันมีพลังของการเปลี่ยนแปลง และก็พลังของการเปลี่ยนแปลงนี้มันทำให้ระบบที่โลกภิวัตน์ค้ำอยู่มันอยู่ไม่ได้ โลกาภิวัตน์มันสร้างความคาดหวังบางประการ และเมื่อระบบพัฒนาไปดำเนินไป ความคาดหวังนี้ก็จะเริ่มถดถอยไป


 


ก้าวสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่ออเมริกา ด้วยทุนนิยมแบบ Neo Liberalism


อีกประเด็นดิฉันกำลังทำวิจัยอยู่ก็คือเรื่อง Neo-Liberalism ในช่วง 1980-2000 ดูสิว่ามันจะอธิบายได้อย่างไร Neo Liberalism ต้องการอะไร แน่นอนว่ามี 4 ประการแต่คำถามก็คือว่า แล้วเราเข้าใจมันจริงๆ หรือ


 


ให้ฟันธงลงไป Neo-Liberalism ก็คือพัฒนาการระบบทุนนิยม ระบบโลกาภิวัตน์ของศูนย์อำนาจอันหนึ่งที่เริ่มจากมาถึงจุดเสื่อม จุดเสื่อมนี้คืออะไร


 


จุดขึ้นของอำนาจทุนนิยมนั้นขึ้นมาด้วยการทำงานหนักด้วยการมี การสร้างสิ่งใหม่ๆ และทำงานหนัก และมันทำให้สามารถสร้างคนให้เข้ามาสู่ศูนย์กลางของระบบทุนนิยมได้ แล้วพอเวลาผ่านไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกๆ ศูนย์อำนาจที่มันเกิดขึ้นมาแล้วในยุโรปตะวันตกก็คือว่า เริ่มงอมืองอเท้า เริ่มคิดจะหากินโดยไม่ทำงานหนัก การหากินโดยไม่ทำงานหนักก็คือการมาเล่นกับทุนนิยมทางการเงิน ก็คือเริ่มต้นจากการทำมาค้าขาย ทำมาหากินจนกระทั่งประสบความสำเร็จ ต่อจากนั้นก็สร้างเงินกระดาษขึ้นมา และความที่มันเป็นศูนย์กลางของทุนนิยมโลกมันก็มีความเชื่อถือว่ากระดาษที่สร้างขึ้นมานั้นจะได้รับความน่าเชื่อถือ และกระดาษจะเป็นตัวสร้างความมั่งคั่ง และไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสถานะของระบบเศรษฐกิจจริงๆ กับกระดาษที่สร้างขึ้นมามันไม่สอดคล้องกัน แล้วระบบนั้นมันก็จะล่มไป


 


ทีนี้ที่เรามาดูก็คือว่า Neo Liberalism มันตั้งอยู่บนฐานที่สหรัฐอเมริกาเกิดความอหังการ์ที่จะบอกว่าใครก็ตามมี 35 ดอลล่าร์ เดินมหาฉัน ฉันจะให้ทองคำคืนไป 1 ออนซ์ ภายใน 24 ชั่วโมง มาเมื่อไหร่ให้ได้เมื่อนั้น และเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็พิมพ์เงินดอลล่าร์เกินกว่าที่จะให้ทองคำไปได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องปิดหน้าต่างนี้ ซึ่งน่าจะเป็นจุดเสื่อมของสหรัฐ แต่ จริงๆ แล้วสหรัฐฉลาดมาก สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสั้นๆ ก็คือว่า สหรัฐได้พัฒนาให้ธุรกรรมการเงินเป็นทุนนิยมรูปแบบใหม่ที่สหรัฐเป็นผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น Neo Liberalism จริงๆ ก็คือการให้ทุกๆ ประเทศไปรับทุนนิยมการเงินที่สหรัฐเป็นผู้นำ นี่คือหัวใจของ Neo Liberalism


 


Privatization (การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ) เป็นส่วนประกอบ เป็นส่วนประกอบในแง่ที่ว่า ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ มีการบีบบังคับให้เราเลิกรัฐวิสาหกิจแบบหนึ่ง คือรัฐวิสาหกิจที่ผู้มีอำนาจและหยิบยื่นรัฐวิสาหกิจแบบหนึ่ง คือเป็นฐานของเศรษฐกิจของทุนนิยมอุตสาหกรรม


 


ในกระบวนการรัฐวิสาหกิจอันหนึ่ง เขาสร้างรัฐวิสาหกิจอีกอันหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ชัดเจนมากๆ ว่าเขามาผลักดันเพื่อประโยชน์ของเขาและประชาชนอเมริกันก็สามารถบริโภคไฟฟ้าราคาถูก เมื่อเขาทำเพื่อธุรกิจในประเทศไม่ได้เขาก็ออกมาทำนอกประเทศและเขาก็ทำในนามของ Privatization ฉะนั้นก็มีบริษัทที่ไม่เป็นที่รู้จักที่ลิตเติ้ลร็อก แต่พอคลินตันเข้ามาเป็นประธานาธิบดีก็ได้เข้ามาผูกขาดกิจการไฟฟ้าในปากีสถาน ก็เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาทุนนิยมแบบ Neo Liberal ที่จะให้ทุนนิยมอเมริกันสามารถเข้ามามีบทบาทแผ่ขยายธุรกรรมของตนทั่วโลก ภายใต้การสนับสนุนของเจ้าภาพ คือรัฐบาลสหรัฐอยู่เบื้องหลังแนบแน่น


 


ตรงนี้เราก็คงต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยว่าส่วนหนึ่งมันเกิดขึ้นจากแรงผลักดันของสหรัฐที่จะให้เกิดการเปิดเสรีทางการเงิน และเราก็เปิดรับอย่างเต็มที่ ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนที่ดีของ IMF เพราะว่าเราได้เปิดรับการเปิดเสรีทางการเงินมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค


 


จากการศึกษาเรื่องศตวรรษที่ 19 ดิฉันเสนอว่า เรายังให้น้ำหนักโครงสร้างภายนอกไม่เพียงพอ ถ้าเกิดเราอยากทำความเข้าใจว่าเรามาอยู่ในที่นี้ด้วยเหตุผลอะไร เราต้องไปดูลักษณะของโลกาภิวัตน์ที่เข้ามาในรัฐและสังคมไทยในแต่ละยุคแต่ละสมัย


 


 


............................................................................................................................


หมายเหตุ


งานเสวนา "โลกาภิวัตน์และรัฐไทยร่วมสมัย" จัดโดย ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬา ฯ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ. แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด คณะรัฐศาสตร์ อาจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net