Skip to main content
sharethis


"ตอนแรกที่จะหาคนเข้าโครงการ เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ก็เอาใจเราสารพัด แต่พอเราไม่ผ่านกระบวนการคัดกรอง ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ แม้แต่หางตาก็ไม่เหลียวมามองเรา" 


 


ข้างต้นเป็นคำพูดที่ออกมาจากปากผู้ใช้ยา (เสพติด) ชนิดฉีดคนหนึ่งที่ถูกทาบทามให้เข้าร่วมโครงการทดลองยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "การศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิผลของการได้รับยาทินอฟโฟเวียร์อย่างต่อเนื่อง" เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประชากรที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นในกรุงเทพมหานคร


 


โครงการทดลองยาทินอฟโฟเวียร์ในกรุงเทพมหานครนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และมีบริษัท จิลเลียด ไซน์ส อิงค์ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนด้านเวชภัณฑ์ (ยาทินอฟโฟเวียร์) โดยมีนายแพทย์ขจิต ชูปัญญา อดีตรองผู้ว่า กทม. เป็นผู้วิจัยหลักของโครงการ


 


โครงการดังกล่าวทำการทดลองในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 1,600 คน ใช้คลินิกบำบัดยาเสพติดของกรุงเทพมหานคร 17 แห่ง เป็นสถานที่ทดลอง ใช้เวลาในการทดลองนาน 30 เดือน โดยเริ่มรับอาสาสมัครคนแรกของโครงการวันที่ 2 มิถุนายน 2548


 


และจากปากคำของผู้ใช้ยาฯ คนเดิม สาเหตุที่เขาไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ก็เพราะว่า เขามีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด ซี อยู่ในร่างกาย ซึ่งยาทินอฟโฟเวียร์ ที่ใช้ในการทดลองจะมีผลต่อตับและไต และเขาไม่ใช่ผู้ใช้ยาฯ คนเดียวเท่านั้นที่ประสบกับการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ยังมีเพื่อนอีกหลายๆ คน ที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเขา


 


 "มีเพื่อนที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพราะตรวจพบเชื้อเอชไอวี เจ้าหน้าที่ก็บอกกับเขาว่า เสียใจด้วยนะ และก็ไม่มีคำแนะนำอื่นๆ และเมื่อเขาถามเจ้าหน้าที่คนเดิมว่า จะทำตัวอย่างไรดี เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ถ้าติดเชื้อก็ให้ไปหาหมอสิ เขาไม่ใช่หมอจะช่วยอะไรได้ เพื่อนผมคนนั้นก็หันกลับมาใช้ยาอีก หลังจากที่หยุดใช้ไปนานแล้ว เพราะเขารู้สึกหมดกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเนื่องจากทราบว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี แถมยังไม่ได้รับข้อมูลหรือคำแนะนำที่จะทำให้เขาสามารถต่อสู้กับโรคร้ายนั้นได้  ผมเองก็พูดอะไรไม่ออกเหมือนกัน ลำพังไอ้โรคที่ผมเป็นอยู่ก็ไม่มีความรู้เลย จะดูแลตัวเองอย่างไรก็ทำไม่เป็น จะเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ก็กลัวเขาจะรำคาญ ดีไม่ดีก็จะพลอยโดนลดยา (เมธาโดน) ที่เรากินอยู่ก็เป็นไปได้"


 


NGO กับการเคลื่อนไหว


เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ซึ่งทำงานด้านเอดส์ และสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้ยาฯ  ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการทดลองดังกล่าว เนื่องจากเป็นการวิจัยที่ละเมิดมาตรฐานด้านจริยธรรมอย่างชัดเจน โดยนายเสรี จินตกานนท์ ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทยได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า


 


"พวกเราไม่มีเจตนาที่จะคัดค้านการศึกษาวิจัยยาทินอฟโฟเวียร์ ตรงกันข้ามพวกเราต้องการสนับสนุน และอยากเห็นการศึกษาวิจัยยาทิโนโฟเวียร์ครั้งนี้ เป็นการทดลองที่คำนึงถึงเรื่องจริยธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่แค่การศึกษาวิจัยที่มุ่งหวังแต่เพียงผลของการศึกษาวิจัยที่ไม่คำนึงถึงอันตรายและความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีของผู้ร่วมโครงการ ซึ่งข้อมูลจากโครงการจะให้ยาทีนอฟโฟเวียร์กับอาสาสมัครเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นการขัดกับมาตรฐานจรรยาบรรณสากล อย่างชัดเจนว่า ในแผนการศึกษาทดลอง จำเป็นจะต้องระบุว่า เมื่อเสร็จสิ้นการทดลองแล้ว ผู้เข้ารับการทดลองจะต้องได้รับการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรค โดยต้องระบุถึงประโยชน์ที่ผู้เข้ารับการทดลองนั้น หรือว่าผู้เข้ารับการทดลองจะได้รับการรักษาวิธีอื่นที่เหมาะสมต่อไป แต่การที่อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับยาทินอฟโฟเวียร์เพียง 1 ปี คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะว่าหากอาสาสมัครที่ติดเชื้อเอชไอวีควรจะได้รับยาต้านไวรัสตลอดชีวิต"


 


จริงอยู่ที่ว่า ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและผู้ใช้ยาหรือขี้ยา เป็นคนไม่ดีในสายตาของคนทั่วๆ ไป แต่คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องหากสังคมจะหยิบฉวยหรือจ้องฉกเอาแต่ผลประโยชน์จากคนเหล่านั้น และพอไม่มีประโยชน์ หรือมองไม่เห็นประโยชน์ก็จะทำอย่างไรก็ได้กับคนที่ได้ชื่อว่า เป็นขี้ยาเป็นขยะของสังคม ล่าสุดทางกลุ่ม NGO ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ชะลอโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทำการตรวจสอบโครงการดังกล่าวแล้ว และที่ผ่านมาการทดลองยาทินอฟโฟเวียร์ในต่างประเทศประสบปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ประเทศกัมพูชามีคำสั่งยกเลิกการทดลอง ในเดือนสิงหาคม 2548 เพราะเกรงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากยาชนิดนี้ต่อผู้เข้าร่วมทดลอง


 


เช่นกันกับประเทศไนจีเรียที่มีคำสั่งยกเลิกการทดลองอย่างถาวร โดยมีสาเหตุมาจากนักวิจัยในประเทศไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นในการทดลองได้ และอีกหลายประเทศที่ชะลอโครงการดังกล่าวเนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันหรือการรักษาเอดส์อย่างเพียงพอ


 


เงิน-ผลประโยชน์ตอบแทนใคร ?


หากโครงการทดลองนี้ประสบผลสำเร็จ ยาทินอฟโฟเวียร์สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ ใครที่จะได้รับผลประโยชน์ แน่นอนคงไม่พ้นบริษัทผู้ผลิตยาจากต่างประเทศที่จะรับผลประโยชน์ไปเต็มๆ แล้วการที่ผู้วิจัยออกมาพูดอย่างสวยหรูว่า การทดลองนี้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ แต่เคยคิดกันบ้างหรือเปล่าว่า ผลลัพธ์ที่จะตามมาคืออะไร เพราะเมื่อมียาดีใช้รักษาโรคแล้ว แต่มีบริษัทที่ผลิตยาอยู่บริษัทเดียว (ยาทินอฟโฟเวียร์ผลิตโดยบริษัทจิเลดไซเอนเซส-Gilead Sciences ขึ้นทะเบียน US FDA October 26,2001) การกำหนดราคาก็คงจะเป็นไปตามความต้องการของบริษัทผู้ผลิต (ปัจจุบันราคายาทินอฟโฟเวียร์ตกอยู่ประมาณ 400-600 บาท/เม็ด) เพราะข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ การผลิตยาที่มีสูตรที่เหมือน หรือใกล้เคียงกันไม่สามารถที่จะกระทำได้ และยานี้ต้องกินทุกวันๆ ละ 1 เม็ด คิดเป็นต่อเดือน ต่อปี จะเป็นเงินเท่าไร


 


"นอกจากนี้ถ้าโครงการนี้ไม่แจกเงิน ผมก็ไม่เข้าไปหรอก เรื่องอะไรผมจะเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงฟรีๆ"


 


เสียงสะท้อนออกมาจากผู้ใช้ยาฯ ที่เข้าร่วมโครงการทดลองฯ ทางผู้วิจัยนำเงินมาเป็นตัวล่อเพื่อหาอาสาสมัครให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นประเด็นที่เปราะบางมาก เพราะ ส่วนใหญ่ของผู้ใช้ยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดอยู่ตามศูนย์บำบัดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ จะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย การเข้าร่วมโครงการของอาสาสมัครก็เป็นไปแบบไม่เต็มใจ ซึ่งก็จะมีบางคนไม่ยอมกินยาตามที่ระบุไว้ในโครงการ เมื่อเป็นอย่างนี้ผลการวิจัยที่ออกมาจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด


 


นอกจากเรื่องเงินแล้ว การดูแลตลอดจนความรับผิดชอบหลังจากเสร็จสิ้นโครงการก็เป็นอีกหนึ่งในความต้องการของอาสาสมัคร และที่ผ่านมามีอยู่หลายโครงการที่ผู้เข้าร่วมต้องทนรับกับผลร้ายที่ตามมาจากการวิจัย ตัวอย่างเช่น โครงการทดลองวัคซีนเอดส์ โดย กทม.ร่วมกับ ม.มหิดล กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ความร่วมมือการวิจัยโรคเอดส์ (ไทย-สหรัฐฯ) และบริษัทแวกซ์-เจน ศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในประเทศไทย โดยมีนายแพทย์ขจิต ชูปัญญา เป็นผู้วิจัยหลักของโครงการเช่นกัน และโครงการนี้ก็ถือได้ว่า ประสบความล้มเหลว เพราะขาดกระบวนการให้การปรึกษาที่มีประสิทธิภาพทำให้อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ ต้องติดเชื้อเอชไอวีเป็นจำนวนมาก เพราะตัวอาสาสมัครมีความเข้าใจผิดว่า วัคซีนที่ตนเองได้รับขณะที่เข้าโครงการจะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ และเมื่อโครงการสิ้นสุดลงอาสาสมัครที่ติดเชื้อเอชไอวีก็ไม่ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ ตามที่ระบุไว้ในรายละเอียดของโครงการ


 


โครงการทดลองยาทินอฟโฟเวียร์มีปัญหาแบบเดียวกับการทดลองของแวกซ์เจนเช่นกัน เพราะมีอาสาสมัครบางรายที่ได้รับยา แล้วคิดว่า ยาที่กินนั้นจะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ จึงทำให้อาสาสมัครละเลยการป้องกันการติดเชื้ออย่างถูกวิธี กอปรกับการให้การปรึกษาของเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีความชัดเจน และเพียงพอ ซึ่งปัญหาลักษณะนี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป หากผู้วิจัยหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังจะเห็นชีวิต หรือค่าของผู้ใช้ยาเป็นแค่เพียง "หนูทดลองยา" โดยไม่สนใจถึงเรื่องมนุษยธรรม ความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน และเชื่อแน่ว่าโครงการวิจัยต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตก็จะยังคงประสบกับปัญหาเรื่องมาตรฐานและจริยธรรมของการวิจัยที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน รวมถึงผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทยที่จะได้รับจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งเข้ามาแสวงหาผลกำไรจากทรัพยากรของประเทศเรา และเราก็คงจะยอมเสียเปรียบอย่างนี้ตลอดไป เพื่อแลกกับ "เศษเงินที่ต่างชาติหยิบยื่นให้" แค่นั้นหรือ…?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net