Skip to main content
sharethis

หนึ่งช่วงชีวิตที่หายไปของเอเชีย (1)


 


รายงานชิ้นนี้ เป็นการเรียบเรียงจากการทำงานของเครือข่ายผู้สื่อข่าวเอเชีย (Asia News Network-ANN) ที่เฝ้าดู ติดตามสถานการณ์เกิดขึ้นในบางพื้นที่ของเอเชีย และได้เห็นว่า ความขัดแย้งและสงครามได้ทำลายชีวิตของเด็กลงไปเป็นจำนวนมาก เหยื่อเหล่านี้ไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ และถูกบังคับให้ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร และเด็กๆ ยังคงถูกเอาเปรียบและถูกใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ว่าจะโดยความสมัครใจหรือถูกบังคับ ด้วยสาเหตุนานาประการที่เด็กเองก็อาจไม่เข้าใจ เนื้อหาของรายงานชิ้นนี้จัดแบ่งออกเป็น 4 ตอน เริ่มจาก เรื่องราวของเด็กผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่า ในเรื่อง "ดาวดวงใหม่" ต่อด้วย "เสียงครวญจากบัตติคาโลอา" จากศรีลังกา และ "ขอความเป็นธรรมให้เด็กมินดาเนา" จากฟิลิปินส์ สุดท้าย "แล้วเด็กอาเจ๊ะห์จะเป็นอย่างไรต่อไป" จากอินโดนีเซีย


 


 


1. ดาวดวงใหม่


 


เด็กๆ กว่า 20 คนเดินทางจากรัฐกะเหรี่ยง (Karen State) จากประเทศพม่าที่ใช้เวลากว่า 3 เดือนในป่าทึบโดยมีเป้าหมายที่ประเทศไทย โดยมีความหวังว่า อาจจะได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น


 


ในนี้มีเด็กที่อายุน้อยที่สุดคือเด็กหญิงวัย 10 ขวบซึ่งในที่สุดก็ต้องเสียขาไปหนึ่งข้างเมื่อเดินไปเหยียบกับระเบิดเข้าระหว่างการเดินทาง พวกเด็กๆ ประทังชีวิตด้วยผลไม้ในป่า หน่อไม้ และน้ำจากแม่น้ำ ใช้ดวงอาทิตย์เป็นผู้นำทาง ใบไม้เป็นผ้าห่ม และแผ่นดินเป็นเตียงนอน ดื่มด่ำกับดวงดาวที่ประกายแสงอยู่เหนือศีรษะเพื่อเป็นยานอนหลับ


 


พ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านี้ยังอยู่ที่พม่า พวกเขาส่งลูกๆ ออกมาโดยที่ก็ยังไม่แน่ใจ แต่ก็ได้แต่หวังว่าลูกจะได้พบกับสิ่งที่ดีที่สุดแม้ว่าจะรู้ว่า พวกเขาอาจจะไม่ได้พบหน้าลูกอีกเลย มันเป็นเกมชีวิตที่ต้องพนันว่า จะยอมให้เด็กๆ อยู่ในพม่าเพื่อถูกแสวงประโยชน์ต่อไป หรือจะให้เด็กมาที่เมืองไทยที่อาจจะมีโอกาสได้ไปโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วๆ ไป


 


ในศูนย์อพยพแห่งนี้ (ที่แม่ฮ่องสอน) มีผู้อพยพชาวคาเรนนีอยู่ประมาณ 5,000 คน และในนั้นเป็นเด็กถึง 1,500 คน


 


"ดาวดวงใหม่" ( New Star) เป็นชื่อของบ้านพักของเด็กๆ เหล่านี้ มีป้ายบอกที่เป็นภาพดวงดาวซึ่งเป็นโลโก้ของบ้านติดอยู่ที่ลานอเนกประสงค์ มีความหมายว่า ความหวัง ความมานะอุตสาหะและการเริ่มต้นชีวิตใหม่


 


ในบ้านหลังนี้มีเด็กอาศัยอยู่รวมกัน 61 คน เป็นเด็กหญิง 28 คน เด็กที่มีอายุมากที่สุดคือ 19 และน้อยที่สุดคือ 10 ปี


 


ทุกๆ วัน เด็กต้องเดินทางไปโรงเรียนบนเส้นทางแคบๆ ตามไหล่เขาที่สุดแสนจะลำบาก ในช่วงหน้าฝน ถนนก็จะกลายเป็นโคลนลื่นมากเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตมาแล้ว


 


"อาหารก็มีไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้ทุกคนและเสื้อผ้าที่พอใช้การได้ก็ขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าหนาวช่วงปลายปี การอนามัยและโภชนาการก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน" เชย์ เซย์ พ่อบ้านวัย 60 กล่าว


 


ภายใต้สภาวะยากลำบาก


โรคผิวหนัง ท้องร่วง ปัญหาระบบทางเดินหายใจ มาเลเรีย และปอดบวม เป็นสิ่งพบได้ทั่วไปในเด็กที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย


 


บ้านดาวดวงใหม่นั้นได้รับงบประมาณและอาหารมาจากคณะกรรมการค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากองค์กร Thai Burma Border Consortium (TBCC) ซึ่งเป็นเครือข่ายกลุ่มให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ


 


ข้าว ถั่วต่างๆ และ ปลาขูด (เหมือนกับที่เตรียมสำหรับทำทอดมัน) ได้รับจาก TBBC และนี่ก็เป็นอาหารที่เด็กๆในค่ายผู้ลี้ภัยใช้ยังชีพตลอดปี เนื้อมีน้อยมากและถือว่าเป็นสินค้าที่มีค่ามากๆ ส่วนผักก็ปลูกกันเองในสวน แต่สำหรับบางบ้านก็โชคร้ายหน่อยเพราะไม่มีพื้นที่พอที่จะปลูกผักได้


 


ทางการไทยไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัย รวมทั้งเด็กๆ ออกนอกค่าย ดังนั้น คนเหล่านี้จึงไม่สามารถจะมีรายได้และถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง และอยู่ได้ด้วยของแจกเท่านั้น


 


หนทางในการรับรู้ข่าวสารนั้นทำได้เพียงผ่านทางวิทยุทรานซิสเตอร์ที่สามารถรับจากสถานีไทยและพม่า และหนังสือพิมพ์ที่ทำขึ้นโดยชุมชนพม่าชื่อ กันทรวดี ไทมส์ ซึ่งแจกจ่ายให้กับชาวคาเรนนีที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย มีบางคนได้พยายามที่จะลักลอบเอาโทรศัพท์มือถือเข้ามาใช้ในค่ายด้วย


 


บางคนได้แต่นั่งเหม่อมองไปอย่างไร้ชีวิตชีวาและไร้จุดหมาย บางคนก็ยังเจ็บปวดจากการที่ต้องต่อสู้และสภาพภาพอันแสนเลวร้ายที่ต้องมาเป็นผู้ลี้ภัยและได้ลงเอากับเด็กๆ ซึ่งต้องถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยน้ำมือของพ่อแม่หรือญาติๆ นั่นเอง


 


พ่อแม่บางคนพยายามหาทางที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวเอง คนที่กล้าหาญและมีความสามารถจะหลบหนีออกจากประตูด้านหลังของค่าย แล้วเดินต่อไปอย่างน้อยกว่า 5 ชั่วโมง ต้องผ่านเส้นทางในป่าที่สุดแสนจะอันตราย เพื่อไปหางานจากหมู่บ้านของไทยที่อยู่ในบริเวณนั้น


 


การศึกษาที่เฝ้าฝัน


ในขณะที่เด็กหลายๆ คนถูกส่งมาที่นี่เพราะต้องการการศึกษาที่ดีกว่า ทว่า แม้แต่เด็กที่สามารถทำได้ คือได้รับการศึกษาแล้ว แต่ก็ยังพบกับความไม่แน่นอนในอนาคตอยู่ดี หลักสูตรในค่ายผู้ภัยนั้นสูงสุดถึงชั้น ม.4 และไม่ได้รับการรับรองจากทั้งรัฐบาลไทย รัฐบาลพม่าและแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศใดๆ และในค่ายนี้ก็มีเด็กเรียนจบม. 4 ประมาณ 200 คน


 


เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้มีภาษาอังกฤษดี ดังนั้นจึงต้องพบกับปัญหาในการจะไปเรียนต่อในชั้นสูงๆ หรืออบรมอาชีพ ถึงแม้ว่าจะมีสถาบันใดยอมรับเด็กเหล่านี้ให้เข้าไปเรียนในระดับการศึกษาที่สูงกว่านี้ ก็มีปัญหาอีกว่า พวกเขาไม่มีเงิน หรือไม่มีเอกสารแสดงตนที่เหมาะสม กล่าวคือ ไม่มีหนังสือเดินทาง หรือไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน นั่นเอง


 


ดร. กษมา วรวรรณ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวกับผู้สื่อข่าวของ ANN ว่า ก็มีแนวโน้มที่ดีเรื่องการศึกษาของเด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ทางกระทรวงฯได้มีนโยบายที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่งในประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้ด้วย


 


โครงการดังกล่าวนี้จะงบประมาณจำนวน 9 -10 ล้านบาทที่กำลังจะได้รับการอนุมัติจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ


 


ดร.กษมา คาดว่าคงจะได้รู้ผลของข้อเสนอที่ส่งเข้าไปภายใน 1 เดือนนี้ งบประมาณจะใช้เพื่อการตั้งศูนย์การเรียนรู้ในค่ายผู้ลี้ภัย รวมทั้งการจัดเบื้องต้น


 


"ตอนนี้เราได้เห็นถึงความพยายามร่วมกัน ศูนย์การเรียนรู้นี้จะสอนภาษาไทยเบื้องต้นให้กับเด็กๆ ผู้ลี้ภัย รวมทั้งสอนเนื้อหาในหลักสูตรที่เทียบเท่าชั้นประถมและมัธยมต้น นอกจากนี้ทางศูนย์การเรียนรู้ก็จะได้มีการอบรมอาชีพให้กับผู้ใหญ่ด้วย" ดร.กษมากล่าว


 


ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะมีเด็กเข้ามาเรียนถึง 65,000 คน จากทุกค่ายผู้ลี้ภัย ปัจจุบันนี้ศูนย์แบบนี้มีอยู่แห่งเดียวคือที่ค่ายผู้ลี้ภัยแม่ลา แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด


 


ดร.กษมา ประมาณการณ์ว่าในแต่ละศูนย์จะต้องใช้ครูอาสาอย่างน้อย 10-20 คน นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า ข้อท้าทายตอนนี้อยู่ที่เรื่องของการส่งเสริมให้ใช้ภาษาไทยในกลุ่มผู้ลี้ภัยด้วยกัน เจ้าหน้าที่ในกระทรวงที่จะมาดำเนินการโครงการนี้ และการกระตุ้นให้มีการสื่อสารกันในค่ายฯเป็นภาษาไทย


 


ถึงแม้ว่าบางค่ายฯจะเริ่มมีความหวังจากนโยบายใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการศึกษาของคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งได้ประกาศออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม ทว่า นักวิเคราะห์กลับชี้ว่า นี้กลับเป็นแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดที่จะทำให้เด็กในค่ายผู้ลี้ภัยได้มีโอกาสศึกษาต่อ


 


นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ครูทั้งหลายจะเข้าไปที่ค่ายฯได้อย่างไร เนื่องจากแต่ละที่อยู่ในป่าลึกและไม่มีถนนที่ดี สภาพความเป็นอยู่ที่ปกสรกในค่ายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะต้องนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน


 


ในขณะที่การเปลี่ยนระบบการศึกษาของไทยเพื่อเด็กผู้ลี้ภัยอาจจะใช้เวลานานเป็นปีกว่าจะบรรลุเป้าหมายนั้น ในส่วนเด็กอย่าง เมียว ทู อายุ 15 และ โซว์ มิน อายุ 16 (ชื่อทั้งสองเป็นนามสมมติ) บอกว่า พวกเขาต้องการเพียงพัฒนาภาษาอังกฤษเพื่อให้ทำงานได้เท่านั้น


 


เด็กทั้งสองเคยเป็นทหารเด็กมาก่อน ปัจจุบันได้แยกจากครอบครัวมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนี ทั้งคู่หลบหนีออกมาจากกองทัพพม่าเมื่อ 8 เดือนก่อนในขณะที่กำลังปฏิบัติงานอยู่


 


โซว์ กล่าวว่า เขาไม่ได้มีความต้องการงานใดๆ เป็นพิเศษ เพียงแต่ให้ได้งานที่เขาจะสามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ก็พอแล้ว ส่วนเมียวนั้น ฝันว่าจะได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม แต่เมื่อถามถึงความมุ่งหวัง เขาก็ได้ตอบโดยยืนอยู่บนฐานของความเป็นจริงว่า อยากเป็นคนขับรถ ต้องการมีรายได้ "ยากที่จะฝันถึงตำแหน่งสูงๆ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net