Skip to main content
sharethis

ประจักษ์ ก้องกีรติ


อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


14 ตุลา : คำถามว่าด้วยประชาชนคนธรรมดาที่เข้าร่วมเดินขบวนในเหตุการณ์


 


"ผ่านไป 32 ปี ผมคิดว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับ 14 ตุลาในปัจจุบัน มีหลากหลายด้านมากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ขาดหายไป เรามีคำอธิบายระดับโครงสร้างมหภาคมากพอสมควรเกี่ยวกับ 14 ตุลา (ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ) แต่เราไม่ค่อยมีคำอธิบายในระดับจุลภาคเกี่ยวกับตัวละครกลุ่มต่างๆ ที่มีบทบาทอยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาอย่างได้น้ำได้เนื้อที่สมดุลนักกับคำอธิบายเชิงโครงสร้าง ในแง่นี้


 


"ปัจจุบันเรารู้มากและละเอียดพอสมควรเกี่ยวกับกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนว่า พวกเขาคิด รู้สึก และกระทำอะไรบ้าง เราพอรู้เกี่ยวกับผู้นำรัฐบาล และชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ อยู่บ้างพอสมควร (แต่ก็ยังไม่พอ) แต่ที่รู้น้อยมากหรือแทบไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังเป็นระบบ คือ ประชาชนเดินดินเป็นแสนๆ คนที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ (ordinary people) ขาดคนเหล่านี้ เราจะไม่มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่าง 14 ตุลา และเราจะไม่สามารถล้มรัฐบาลเผด็จการทหารลงได้


 


"คำถามคือ พวกเขาคิด รู้สึกอย่างไรภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร เข้าใจสถานการณ์ในช่วงนั้นอย่างไร และอะไรเป็นแรงขับดันให้พวกเขาเข้าร่วมเหตุการณ์- ความกลัว ความหงุดหงิดระบบเผด็จการ ความเดือดร้อนลำบากทางเศรษฐกิจ ความรู้สึกอยากเข้าร่วมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ อิทธิพลจากกลุ่มสังคมที่สังกัด ฯลฯ  แม้เรายังไม่รู้ว่าจะตอบคำถามหรือวิจัยเรื่องนี้ได้อย่างเป็นระบบครอบคลุมได้อย่างไร แต่ผมคิดว่าเป็นคำถามที่สำคัญ   


 


"เราควรถามเลยต่อไปด้วยว่า แล้วกลุ่มคนเดียวกันนี้ คิดและรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างหลัง 14 ตุลา พวกเขากลับบ้านไปรับผิดชอบการงานหน้าที่ของตัว เลิกยุ่งเรื่องการเมือง หรือกลายเป็นผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองที่กระตือรือร้น หรือยังคงเข้าไปมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อ ถ้าเข้าร่วม ร่วมกับกลุ่มฝ่ายใด ตอบคำถามนี้จะช่วยทำให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลังเชิงโครงสร้าง-ผู้นำกลุ่ม/องค์กรทางการเมืองต่างๆ-ประชาชนคนธรรมดา ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีพลวัตร


 


"นี่เป็นคำถามหรือหัวข้อที่ผมคิดว่าควรจะถามและตั้งต้นศึกษาวิจัยในวาระ 32 ปี 14 ตุลา"


 


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


นักวิชาการอิสระ


 


"ถ้าเสรีภาพคือหัวใจของสิบสี่ตุลา  และการลุกฮือของประชาชนในวันนั้นก็คือสัญลักษณ์ที่แสดงออกว่าประชาชนไทยถือว่าเสรีภาพคือสิ่งที่คุณค่าที่สุดในสังคมการเมือง  สังคมไทยในโอกาสที่สิบสี่ตุลาเวียนมาครบ 30 ปี ก็คือสังคมที่เสรีภาพถูกแปรรูปให้เป็นกรรมสิทธิส่วนบุคคลไปอย่างครบถ้วน  ไม่มีรัฐทรราชย์  ไม่มีเงื่อนไขทางสังคมที่จะพูดได้เต็มปากว่าทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม  แต่ผู้คนในสังคมกลับสูญเสียความเชื่อมั่นในการดัดแปลงสภาวะวิสัย เอกบุคคลเสื่อมสภาพกลายเป็นปัจเจกชนล่องลอย  ปราศจากสายใยเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับมนุษย์คนอื่น  สูญเสียความเชื่อในพลังแห่งภราดรภาพ  และไม่มีความสามารถในการคิดถึงสังคมที่ใหญ่โตออกไป


"จะใช้เสรีภาพที่มีอยู่ไปเพื่อทำให้เกิดความมั่นคงได้อย่างไรคือคำถามที่ท้าทายที่สุดในยุคสมัยนี้  แต่ภายใต้สภาวะที่มนุษย์เผชิญกับความไม่มั่นคงในทุกอาณาบริเวณของชีวิตเช่นนี้  การเดินทางไปเพื่อค้นหาคำตอบสำหรับปริศนาข้อนี้จะบังเกิดขึ้นได้อย่างไร


 


"Cornelius Castroliadis นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการปฏิวัติของนักศึกษาปัญญาชนในปี 1968 เคยตั้งข้อสังเกตต่อสังคมในยุคปัจจุบันว่าเป็นสังคมที่อารยธรรมของมนุษย์นั้นหยุดตั้งคำถามกับตัวเอง  เมื่อถึงจุดนั้น  จะมีรัฐเผด็จการหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ  เพราะเมื่อมนุษย์หยุดคิด  สังคมที่เป็นอิสระก็ย่อมบังเกิดขึ้นไม่ได้  และมนุษย์ทุกรายก็จะกลายเป็นหุ่นกระบอกของโครงสร้างที่กดผู้คนไว้ภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน


 


"สถานะของสังคมไทยในยุค 30 ปี สิบสี่ตุลา ก็คือสังคมที่เป็นแบบนี้  เป็นสังคมที่สูญเสียความสามารถในการตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่  และปราศจากสมรรถนะในการจินตนาการถึงสังคมในอนาคต
หรือพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ก็คือสังคมที่ปราศจากปัญญาในการผลักดันสังคมไปสู่หนทางที่ดีที่สุดในวันข้างหน้านั่นเอง"


 


(จากบทความ 30 ปี 14 ตุลา พิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 10 ตุลาคม 2546 ปีที่ 23 ฉบับที่  1208)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net