สัมภาษณ์พิเศษ : 10 คำตอบของ 10 คน "14 ตุลา" เรายังมีคำถามอะไรอีกไหม

ในทุกเดือนตุลาคม สื่อมวลชนและวงวิชาการจะต้องนำเสนอหรือจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาราวกับเป็นกิจกรรมภาคบังคับ ในหลายปีช่วงหลัง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง ไม่กี่ปีมานี่เอง ถึงกับต้องปิดถนนราชดำเนินด้วยผู้คนถูกเกณฑ์กันมาจากทุกสารทิศ ทว่าหลายคนกลับอดรู้สึกไม่ได้ว่า ทั้งๆ ที่คนที่เข้าร่วมมากขนาดนั้น ทำไมจึงรู้สึกไปได้ว่า คนกลับ "สนใจ" เหตุการณ์นี้น้อยลง

 

นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามกึ่งเสียดสีว่า "เรายังมีคำถามอะไรเกี่ยวกับ 14 ตุลาอีกไหม" ที่จะมีคำตอบอย่างจริงจังจาก 10 ผู้ทรงคุณวุฒิต่อจากนี้

 

1

วัฒนชัย วินิจจะกูล

ผู้จัดการอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

 

"สังคมไทยได้เรียนรู้จาก 14 ตุลาแล้วจริงหรือเปล่า เพราะว่าจนถึงวันนี้ โดยส่วนตัว เริ่มไม่แน่ใจว่าสังคมไทยและใครหลายๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 14 ตุลาได้เรียนรู้หรือได้อะไรจาก 14 ตุลาจริงไหม มันเริ่มเกิดคำถามจากคนในสังคมที่มีต่อกลุ่มคนที่เคยต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา แล้วไปทำงานในหลากหลายอาชีพ และอาชีพที่หลากหลายที่สุดก็คือการเข้าไปสู่วงจรอำนาจการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ก็ตาม แล้วดูเหมือนว่าคนเหล่านั้นได้ละทิ้งในสิ่งที่เรียกว่าเป็นเจตนารมณ์หรือว่าความคิดแบบเมื่อครั้ง 14 ตุลา ไปแล้ว

 

"ทีนี้พูดแบบนี้ก็อาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่เคยต่อสู้มาในอดีต เพราะว่ามันผ่านไป ทุกอย่างมันมีความเปลี่ยนแปลง สังคมเปลี่ยน ความคิดของคนเปลี่ยน เงื่อนไขสารพัดในสังคมเปลี่ยน เราจะไปคาดหวังว่าคนที่เคยต่อสู้มาเมื่อ 30 ปีที่แล้วว่าเขาจะต้องมีอุดมคติหรืออุดมการณ์หลงเหลืออยู่ทั้งหมด มันก็คงไม่จริง ความไม่ยุติธรรมมันอยู่ที่ว่า เป็นเพราะเราไปคาดหวังคนเหล่านั้นเอง

 

"แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนที่มีอำนาจวาสนาอยู่ในขณะนี้เองก็ได้กระทำตัวเองด้วย โดยการที่พยายามเชื่อมโยงตัวเองเข้าไปผูกพันกับวีรกรรม อุดมคติ คุณค่าที่ดีงามของ 14 ตุลาในอดีต จนกระทั่งมาถึงวันนี้ คือมันเป็นปฏิสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายที่เอา 14 ตุลาเป็นตัวอ้างอิง แล้วพอถึงจุดหนึ่งคนที่เคยอ้างอิงหรือคนที่คาดหวังเพราะได้ยินคำอ้างอิงแบบนี้บ่อย ๆ พอมาได้เจอว่าไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป ก็เกิดความผิดหวัง เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ หมดศรัทธา

 

"ถ้าพูดโดยทั่ว ๆ ไป 14 ตุลา มีสิ่งที่เรียนรู้ได้เยอะอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เคยถูกนำมาใช้อย่างจริงจังในแง่ของการสร้างวิถีชีวิตหรือคุณค่าในเชิงอุดมคติที่อ้างอิงได้ ประพฤติปฏิบัติได้ หรือแม้แต่เป็นวิถีชีวิตของตัวเองได้ คุณค่าเหล่านั้นก็ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราพูดถึง 14 ตุลา เรายอมรับกันโดยดุษฎีว่า มันเป็นวีรกรรมของคนสามัญธรรมดาที่มีความกล้าหาญ เรายกย่องสิ่งที่เกิดขึ้นในวีรกรรมเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วว่า เป็นการกระทำของคนธรรมดาที่มีความเสียสละคิดถึงผลประโยชน์ของคนอื่น ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวหรือแม้แต่ชีวิตของตัวเอง ซึ่งนี่เป็นคุณค่าขั้นสูง เป็นคุณค่าที่เป็นสากล

 

"เราไม่เคยยึดเอาคุณค่าเหล่านั้นไว้เป็นแนวทางหรือวิถีทางในการปฏิบัติ ในระดับที่เป็นพฤติกรรม ทัศนะในการใช้ชีวิต ในการมองโลก ในชีวิตเราเลย ใช่หรือเปล่า เราได้แต่พูดถึงคำโตๆ คำใหญ่ๆ มาตลอด 30 ปี แต่ไม่ได้ทำอะไรให้มันเกิดดอกผลที่จริงจังเลย

 

"ถึงวันนี้มันช้าไปแล้วที่เราจะไปเรียกร้องถามหาคนที่มีความกล้าหาญในทางจริยธรรม คือการยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และถูกต้องในการเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มาเรียกร้องวันนี้ โดยส่วนตัวคิดว่ามันสายกันมากแล้ว เราไม่สามารถที่จะแสวงหาดอกผลในเหตุการณ์ที่ผ่านมา 3 ทศวรรษกว่าได้เลย เพราะที่จริงมันต้องเกิดก่อนหน้านี้ตั้งนานแล้ว ถ้าคุณคิดว่า 14 ตุลาฯ เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้จริง  ถึงวันนี้คุณมาร้องแร่แห่กระเชิง เรียกร้องให้เยาวชนทั้งหลายจงเสียสละเพื่อคนอื่น มันหายไปแล้ว เพราะว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา คุณหล่อหลอมคุณมอมเมา (คุณในที่นี้คือใครก็ไม่รู้) ให้เยาวชนตกอยู่ภายใต้กับดักของความเชื่อทางความคิด หรือระบบ ที่คิดถึงแต่ตัวเองโดยตลอด

 

"จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง มันมาจากคนไม่มากนัก ในบรรดาคนไม่มากที่ว่า 14 ตุลาฯ สอนแล้วว่า มักจะถูกเรียกว่าเป็นพวกนอกคอก พวกแกะดำ ถ้าจะพูดอย่างมีความหวัง ก็คือว่าถึงแม้ว่าคุณจะเรียกร้องหาคุณค่าในเชิงสากล เช่นความกล้าหาญความเสียสละไม่ได้ทีเดียวนัก  เพราะมันสายไปในปัจจุบัน แต่ว่า คุณต้องมีความหวังว่า ถ้าจะต่อสู้ ให้สภาพความเสื่อมทรามทั้งหลายในปัจจุบันมันลดลง หรือนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มต้นทำตั้งแต่วันนี้ แม้ว่าจะมีคนทำไม่มาก แม้ว่าจะเป็นคนนอกคอก แม้ว่าจะเป็น minority of the minority

 

"ยกตัวอย่างเช่น  เอ็นจีโอเป็นพวก minority ในสังคมไทย แต่คุณอย่าลืมนะว่ามันมีคนกลุ่มน้อยที่อยู่ในแวดวง เอ็นจีโอที่บางทีก็กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกกับบทบาทเอ็นจีโอเหมือนกัน บางทีการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มันอาจจะเกิดจากพวกนอกคอกในแวดวงของเรานี่แหละ คนที่คิดต่างกับคนที่กล้าจะยืนยันว่ามันควรจะคิดทางอื่นบ้างสิ ไม่จำเป็นที่ชาวบ้านจะต้องเสิศเลอที่สุดก็ได้ กล้าที่จะท้าทายหรือเผชิญอะไรกับสิ่งที่ จริงๆ เขาเข้ากับกระแสหลักไม่ได้อยู่แล้ว แต่บางทีพวกเรากันเองไม่เคยเปิดพื้นที่ให้กับคนที่คิดแตกต่างอย่างนี้เหมือนกัน

 

"เรายังมีอะไรเรียนรู้จาก 14 ตุลาฯ ได้อีก ทำยังไงที่จะทำให้คนที่คิดต่างจากพวกเราเขาได้พูดได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของเขาออกมา ไม่ใช่ไปกดไปกำหลาบ ไปเซ็นเซ่อร์เขา คุณอาจจะไม่ชอบเลยกับสิ่งที่ไอ้หมอนี่มันพูด แต่ไอ้หมอนี่ก็รับประกันเลยว่ามันก็ไปเข้ากับกระแสหลักไม่ได้แน่ๆ แทนที่คุณจะหาพื้นที่ให้เขา แต่เพราะคุณไม่เห็นด้วย จึงบอกเขาว่าอย่าพูด ไปเพิกเฉย ไปทำให้เขาเป็นตัวตลก อย่างนี้แล้วต่อไปจะทำให้เกิดความกล้าของคนเล็กๆ น้อยๆ อย่าง 14 ตุลาฯ ได้อย่างไร

 

"เพราะฉะนั้นถ้าจะเรียนรู้ ต้องกลับมาเรียนรู้ เลิกพูดคำใหญ่ๆ โตๆ แล้วลองลงมือทำ กล้าที่จะท้าทายต่อสิ่งที่เรารู้สึกว่า มันไม่ถูกต้องชอบธรรม เพราะนี่คือเจตนารมณ์ของ 14 ตุลา "

 

2

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

"14 ตุลาฯ มักจะถูกทำให้คล้ายกับหยุดนิ่ง หากเราคิดถึง 14 ตุลา ในแง่การเรียกร้องประชาธิปไตย  ในแง่ของการทำให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการปกครองมากที่สุด ผมก็คิดว่าสิ่งที่ดูเหมือนคนจะไม่ค่อยพูดกันก็คือ ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างนี้ ปัญหาที่เราเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบันนี้เชื่อมโยงกับ 14 ตุลาอย่างไร หรือเมื่อพูดถึง 14 ตุลาฯ มันสัมพันธ์กับปัญหาในปัจจุบันอย่างไร

 

"ผมคิดว่า 14 ตุลาฯ ไม่น่าจะแค่มาพูดถึงว่ามารำลึกมาฉลอง แต่มันมีความหมายเกี่ยวกับหลักการทางประชาธิปไตยอย่างไร ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่น เรื่องการมีส่วนร่วมของคนในการเมืองปัจจุบัน มันอยู่ในระดับไหนมีปัญหาอะไรบ้าง ในเชิงรูปแบบ มันต่างจากอดีต แต่โดยเนื้อหาถามว่าต่างหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องตอบคำถามกันเยอะ อย่างเช่นตอนนี้เรื่องที่พูดกันมากคือเรื่องการคุกคามสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพโดยอาศัยกฎหมาย มันเป็นปัญหาประการหนึ่งด้วยหรือไม่

 

"ผมคิดว่าถ้าอุดมการณ์ของสิ่งที่เรียกว่ารูปแบบของประชาธิปไตย คือทำยังไงให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการปกครองให้มากที่สุด สิ่งที่ผ่านมาเรามักอธิบายว่ามีตัวแทน แต่เอาเข้าจริงพรรคการเมืองในปัจจุบันเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองจริงหรือไม่ ผมคิดว่า ถ้าดูสัดส่วนของผู้แทนในประเทศไทยที่รับเลือกตั้งมาในประเทศไทย นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2475 ผลปรากฏว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองไม่ได้เป็นตัวแทนที่ได้สัดส่วนกับประชาชน  อย่างชาวนาเป็นประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในสังคมไทย มีสัดส่วนร้อยละ 2 ร้อยละ 3 เรามีส่วนร่วมที่จะไปเลือกตั้ง แต่เอาเข้าจริงพรรคการเมืองก็ถูก take over ไปด้วยกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นชัดมากขึ้นในปัจจุบัน

 

"ถามว่าการกำหนดนโยบายของรัฐปัจจุบันมันเอื้ออะไรกับใครมาก ผมคิดว่าปัญหาในการตอบคือผลประโยชน์จริงๆ ที่ได้รับมีใครบ้าง

 

"14 ตุลา ได้มาสิ่งหนึ่ง คือได้รัฐธรรมนูญมา แต่รัฐธรรมนูญไม่ใช่เป้าหมาย รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่มีเป้าหมายในตัวเอง เป็นเครื่องมือที่จำกัดอำนาจของรัฐ แล้วทำยังไงให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการส่งเสริมมากขึ้น แต่มาถึงสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร พูดถึงมันในฐานะเครื่องมือของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว มันกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้อำนาจนิยมขยายตัวขึ้น"

 

3

ศรีศักร วัลลิโภดม

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์

 

"เราควรจะตอกย้ำเรื่อง 14 ตุลา ว่าเป็นการเคลื่อนไหวจากข้างล่างขึ้นข้างบน เพราะก่อนหน้านี้การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มันมาจากข้างบนทั้งสิ้น ต้องตอกย้ำว่ามันเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เราต้องทำให้เห็นว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเส้นทางสำคัญที่นำไปสู่ประชาธิปไตย  เราต้องมองภาพรวมให้ได้เพื่อที่เราจะทราบว่า เราจะเคลื่อนไปในอนาคตได้อย่างไร

 

"ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังอยู่ในภาวะที่อันตราย ภาวะที่ฝ่ายข้างบนกำลังจะจัดการกับเราอีกแล้ว ข้างบนนี้หมายถึงหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทุนนิยมทั้งหมด เหตุการณ์ 14 ตุลา มันเป็นการเคลื่อนจากข้างล่างเพื่อให้เราดูแลประเทศตัวเอง ประเทศของประชาชน และเรากำลังต้องการเสียงอย่างนั้นอีกในปัจจุบัน เพื่อที่จะจัดการกับอำนาจข้างบน"

 

4

มาลินี คุ้มสภา

อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

"ถ้ามอง 14 ตุลา โดยตัวของมันเอง 14 ตุลาฯ ไม่ควรจะจบและนิ่งอยู่ตรงนั้น แต่ควรจะเป็นการทำงานกับคนรุ่นต่อไป ไม่ว่าจะวิธีอะไร เพราะการเรียนรู้ประวัติศาสตร์นั้นจะเชื่อมโยงกับการมองอนาคตของเราต่อไป

 

"ถ้ามอง 14 ตุลา เชื่อมโยงกับรัฐไทย เหตุการณ์ 14 ตุลา คือเป็นการลุกขึ้นมาพูดถึงเรื่องที่ต่างไปจากรัฐที่เป็นอยู่ขณะนั้น ที่สำคัญก็คือ ความต้องการที่แตกต่างหรือความเป็นอื่น เนื่องจากในช่วงนั้นรัฐไทยไม่เคยเปิดโอกาสให้ได้แสดงความเห็น มันก็เลยทำให้เกิดความรุนแรง และความขัดแย้ง

 

"14 ตุลา จึงน่าจะเป็นบทเรียนในการอยู่กับความเป็นอื่น ความเป็นอื่นในที่นี้คือความคิดอื่น เพราะว่าไม่มีสังคมไหนที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ที่คนจะหันไปทางเดียวกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นมันเรียกว่าเผด็จการ เพราะฉะนั้นต้องมองความต่างในลักษณะว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย"

 

5

ชาตรี ประกิตนนทการ

อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

 "ผมเคยฟังเรื่องราวจากผู้ใหญ่บางคนบอกว่า แถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อก่อนนี้มีมูแลงรูจ (สถานบันเทิงยามราตรี) ในช่วง 14 ตุลา ก็มีพวก สาวคาบาร์เรย์ สาวค่าเฟ่ ออกมาแจกอาหารให้กับนักศึกษา ประชาชนที่มาร่วมชุมนุม แต่การเข้ามาของคนกลุ่มนี้เขาอาจจะไม่ได้คิดถึงอุดมการณ์ การเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่าง 13 นักศึกษาที่ถูกจับ แต่เขามาร่วมด้วยความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมบางอย่าง หรือมนุษยธรรมบางอย่าง มีหลายเรื่องที่มาประกอบกัน ตรงนี้ผมเลยคิดว่าเรื่องที่สังคมไทยควรรู้เกี่ยวกับ 14 ตุลาก็คือ ประวัติศาสตร์จากมุมมองของคนที่หลากหลาย

 

"แน่นอนว่าคนทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะไม่ได้ลึกซึ้งในอุดมการณ์อย่างนั้น อย่างหญิงบริการเขาออกมาร่วมให้ความช่วยเหลือเพราะอะไร อาจจะเป็นเพื่อมนุษยธรรมที่เห็นพวกทหารยิงประชาชน ซึ่งหากมองตรงนี้เป็นเรื่องของวีรกรรมก็เป็นเรื่องที่น่ารักดี คือหากมองเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ไม่ใช่เพียงแต่มองเรื่องของความโหดร้าย หรืออุดมการณ์อันสูงส่ง มันก็จะช่วยเพิ่มมุมเล็กๆ อีกมากมาย ที่จะทำให้เห็นภาพของ 14 ตุลาฯ ที่เข้าใกล้บรรยากาศความเป็นจริงมากขึ้น"

 

6

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

"เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีประเด็นสำคัญที่ยังมืดมนมาจนถึงปัจจุบันคือ เกิดอะไรขึ้นที่หน้าสวนจิตรลดาในตอนเช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งๆ ที่นิสิตนักศึกษาประชาชนสลายตัวกลับบ้านกันแล้ว หลังจากที่ได้รับคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งโดยเร็ว ทำไมถึงมีการตั้งแถวตำรวจขวางไว้ไม่ให้นักศึกษาประชาชนกลับบ้าน และทำไมตำรวจจึงเริ่มใช้กระบองตีนักศึกษาประชาชน ซึ่งทำให้เหตุการณ์ที่จบลงอย่างสงบ และประชาชนได้รับชัยชนะโดยไม่เสียเลือดเนื้อกลับลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรง มีการปราบปรามโดยอาวุธสงคราม และการเสียชีวิตของนักศึกษาประชาชนกว่า 70 คน ตามมาด้วยจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ต้องลาออก และลี้ภัยไปต่างประเทศ

 

"การได้รับคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งโดยเร็ว คือชัยชนะของนักศึกษาประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นชัยชนะที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อใดๆ ทั้งสิ้น แต่การออกจากตำแหน่งของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร มีปัจจัยสำคัญจากสิ่งที่เกิดขึ้นที่หน้าสวนจิตรลดาในตอนเช้าตรู่วันที่ 14 ตุลา

 

"ถ้าเรารู้ว่าใครคือไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ และถ้าเราสามารถยอมรับความจริงในข้อที่ว่าการออกจากตำแหน่งของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร มีปัจจัยสำคัญมาจากความขัดแย้งของชนชั้นนำ และชนชั้นนำคือผู้ที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการสิ้นอำนาจของจอมพลทั้งสอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อเพราะความขัดแย้งของชนชั้นนำอีกในอนาคต"

 

7

พิภพ ธงไชย

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ

 

"สิ่งที่สังคมไทยยังไม่รู้เกี่ยวกับ 14 ตุลา ก็คือ ข้อเท็จจริงทั้งหมดทางประวัติศาสตร์ ซึ่งรวมไปถึง 6 ตุลา 2519 และพฤษภาคม 2535 การจะทำให้รู้เป็นเรื่องที่เหนื่อยมาก ต้องพึ่งนักวิชาการอิสระ แต่ถ้ารัฐไม่เอื้อก็เข้าไปตรวจสอบบางเรื่องไม่ได้ เหมือนประวัติศาสตร์ไทยอีกหลายเรื่องที่คลุมเครือแบบนี้เพราะเราเข้าไม่ถึงชั้นความลับของราชการ

 

"การรู้ความจริงจะทำให้มนุษยชาติมีบทเรียนและเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะถ้าได้รู้ความจริงทั้งหมดการวิเคราะห์ก็จะถูกต้อง ถ้าไม่รู้ก็จะเหมือนกับเป็นการการวิเคราะห์บนฐานข้อมูลหลักฐานที่มีไม่พอ ทั้งๆ ที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตเรา แต่กลับไม่สามารถหาความจริงได้ ต่อไปอีกร้อยสองร้อยปีจะยิ่งหาความจริงยากขึ้นอีก

 

"ตอนนี้สังคมไทยจึงก้าวไปช้าและย่ำอยู่กับที่ในหลายๆเรื่อง ความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ ก็เข้าใจไม่ได้เพราะไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง จนตอนนี้ยังถกเถียงกันอยู่เลยว่า 14 ตุลา เกิดจากอะไร และจะนำไปสู่อะไร"

 

 

8

จาตุรนต์ ฉายแสง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

"การเรียนรู้จาก 14 ตุลา เราต้องพูดถึงสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ในความหมายที่มันสอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน คือเรื่องการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ความไม่ชอบธรรม ซึ่งเราควรจะมาดูกันต่อว่า จากการที่เราได้มีการต่อสู้เรียกร้องกันจนได้ประชาธิปไตยมา แล้วผ่านการกลับไปกลับมา สลับไปสลับมา แต่ประชาธิปไตยก็มีความต่อเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์มากขึ้น และความรู้สึกหวงแหนประชาธิปไตยยังคงอยู่สืบเนื่องต่อไป

 

"หากจะพูดเรื่อง 14 ตุลาให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ก็ต้องพูดถึงเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นประโยชน์ การเรียนรู้จากบุคคลที่มีประสบการณ์ ผ่านเหตุการณ์ เคยศึกษาและเข้าใจเหตุการณ์ 14 ตุลา เพื่อต่อมาจะได้ใช้สติปัญญาดังกล่าวมาทำความเข้าใจพัฒนาการและปัญหาของสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งช่วยกันคิดผลักดันให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก"

 

9

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

"ในทุกๆ ปีที่ผ่านมาเราเฉลิมฉลองเหตุการณ์ 14 ตุลาในแบบวันหยุดราชการหรือวันสำคัญทางราชการมากขึ้นทุกที เราเอาพิธีกรรมมาบดบังจิตวิญญาณของเหตุการณ์

 

"การค้นหาจิตวิญญาณของการเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลา ไม่จำเป็นต้องพูดถึงความถูกต้องหนึ่งเดียวของประวัติศาสตร์ เพราะจากประสบการณ์ของสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบันเราเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า ความจริงนั้นไม่ได้แยกออกจากเรื่องของโครงสร้างทางอำนาจและผลประโยชน์ของแต่ละคน ในเรื่องบางเรื่องแม้ว่าจะมีข้อมูลอยู่ตรงหน้าเรา เราก็เลือกที่จะไม่เชื่อ ไม่ฟัง หรือไม่เห็นว่ามันสำคัญ อาทิ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากปัญหาภาคใต้ หรือแม้กระทั่งเรื่องงของปัญหาความยากจน คนหลายคนอาจจะเลือกข้างและเลือกชุดข้อมูลที่จะรับรู้และมีชีวิตอยู่กับมัน

"ดังนั้นการส่งผ่านข้อมูลและความจริงลงไปในสังคมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และการส่งผ่านข้อมูลและความจริงด้วยวิธีจากบนลงล่างก็ไม่ใช่วิธีการเดียวในการรับรู้ความจริง และวิธีการดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเป็นการผูกขาดความจริงและเป็นลัทธิคลั่งไคล้ประชาธิปไตย (democratic fundamentalism) ได้

"ทางออกทางหนึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ได้มีโอกาสตีความและให้ความหมายกับเหตุการณ์ 14 ตุลา "เพิ่มเข้าไป" จากท่วงทำนองของการเฉลิมฉลองและยืนยันความสำคัญของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา เหนือเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ดังที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งในแง่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ผมคิดว่าการให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ 14 ตุลานั้นควรเป็นเรื่องของรสนิยม จุดยืน และอุดมการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งต้องเปิดกว้างที่จะอยู่ร่วมกัน และคุยกันได้

 

"อย่าลืมว่าอีกไม่นานคนที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลาก็จะตายไปแล้ว ความสำคัญของการเฉลิมฉลองเหตุการณ์ 14 ตุลาก็จะกลายเป็นเรื่องของการให้ความหมายและการตีความเหตุการณ์ของคนรุ่นต่อๆไปอยู่ดี

 

"ในฐานะที่ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งสองเหตุการณ์ แต่ก็เสพข้อมูลของทั้งสองเหตุการณ์ พอๆกัน โดยเฉพาะจากผู้ที่มีความผูกพัน ศรัทธาและเชื่อมั่นในจิตวิญญาณของเหตุการณ์เหล่านั้น โดยส่วนตัวแล้วผมเองมีรสนิยมชื่นชอบเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 มากกว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพราะผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 24 มิถุนา ผมได้เรียนรู้ว่าแต่ละฝ่ายมีความพยายามจะพูดถึงทิศทางในการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกันทั้งสิ้น

 

"ขณะที่สิ่งที่ผมเรียนรู้จากเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยเฉพาะจากงานทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ผมคิดว่าเราเริ่มเห็นว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยและความยั่งยืนนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่มาจากหลักการประชาธิปไตยล้วนๆ ดังนั้น "ประชาธิปไตย" แบบไทยๆ ทั้งในแบบจอมพลสฤษดิ์ และแบบ 14 ตุลา ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและน่าค้นหาเช่นเดียวกัน (ไม่เชื่อลองดูปรากฏการณ์ความนิยมอ้างถึงหนังสือ "พระราชอำนาจ" และทิศทางของการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในปัจจุบันก็ได้)

 

"ผมเองก็อยากฟังว่าคนอื่นจะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมเขียนอย่างไร เพราะผมจะได้เรียนรู้และมีชีวิตร่วมกับคนอื่นๆมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งผมเองยังไม่แน่ใจว่าสังคมกล้าหรือเคยคิดจะถามคำถามแบบนี้หรือเปล่า ทั้งที่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการถามคำถามแบบนี้ต่างหากที่จะทำให้เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ตากใบ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์อื่นๆอีกมากมายมีชีวิตขึ้นมาและมีความยั่งยืนอย่างมีความหมายในความทรงจำของผู้คนต่อๆไป

 

10

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา

 

"14 ตุลา ไม่เป็นวันที่สำคัญของรัฐบาลทุกรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง บทบาทของรัฐบาลต้องไม่ใช่ในการช่วยจัดงานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีบทบาทในแง่ของการบันทึกไว้ด้วย แต่ไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดไหนเลยที่จะตอบแทนการลุกขึ้นสู้ของนิสิตนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา รวมทั้งไม่มีนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมประเทศไทยในการลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตย

 

"ประเด็น 14 ตุลานั้น พูดกันจนไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว พูดกันไปหมดแล้วทุกคน แต่ปัญหาคือการไม่เผยแพร่ เพราะรัฐบาลไม่ยอมให้มันเผยแพร่"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท