คตง. เตรียมส่งเรื่องผู้ว่า สตง. ให้ศาล รธน. ตีความ

ผู้จัดการออนไลน์ - ปัญหาผู้ว่าฯ สตง.ส่อเค้าป่วนหนัก คตง.เลือกหนทางส่งศาล รธน.วินิจฉัยสถานะ "คุณหญิงจารุวรรณ" อ้างเป็นข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญจึงต้องหาข้อยุติ ขณะเดียวกันอีกทางหนึ่งเตรียมเดินหน้าสรรหาผู้ว่าฯ สตง.คนใหม่แล้ว

      

6 ตุลาคม ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่มีนายนรชัย ศรีพิมล ประธาน คตง.เป็นประธาน ได้พิจารณาปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หลังจากที่ คตง.ได้รับแจ้งจาก นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภาว่า นายวิสุทธิ์ มนตริวัต ได้ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานวุฒิสภาได้ทำหนังสือขอพระราชทานเรื่องคืนแล้ว

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 ว่ากระบวนการที่ได้มาของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงผูกพันกับ คตง. และวุฒิสภา ตามมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อนายวิสุทธิ์ขอถอนตัว คตง.ก็ต้องดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่อีกครั้ง

      

อย่างไรก็ตาม รายงานของ สตง.มีข้อเสนอแนะว่า คตง. ควรส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 266 เพราะขณะนี้เกิดปัญหาโต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าว จากคุณหญิงจารุวรรณ ส.ว. ส.ส. สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป

      

 "คตง.ได้รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย และมองว่าเป็นข้อขัดแย้งอันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของ คตง. อันเป็นข้อขัดแย้งทั้งภายในองค์กรและนอกองค์กร จึงจำเป็นต้องหาข้อยุติให้เป็นที่ยอมรับได้โดยทั่วไป ที่ประชุมวันนี้ลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ เห็นพ้องกับข้อเสนอของ สตง.ที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 266" นายนรชัย กล่าว

      

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการแถลงข่าว สื่อมวลชนพยายามสอบถามถึงประเด็นที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยระบุว่า จะไม่มีคำวินิจฉัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะของคุณหญิงจารุวรรณ ซึ่งนายเกรียงศักดิ์ วัฒนวรางกูร คตง.กล่าวว่า สถานะของคุณหญิงจารุวรรณ เป็น 1 ในข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น และจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

      

"แต่คงต้องดูว่า สตง.จะเขียนคำร้องอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจน และให้ประเด็นแตกต่างไปจากเดิม และศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยหรือไม่" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

      

ส่วนที่มี ส.ว.บางคนออกมาระบุว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากข้อผิดพลาดของระเบียบ คตง. และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะมีการเสนอให้ตีความด้วยหรือไม่นั้น นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากข้อผิดพลาดของกฎหมาย ขึ้นอยู่กับคนตีความว่า คำว่า "บัญชีรายชื่อ" ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 จะหมายความว่าอย่างไร เพราะอาจหมายความได้ทั้ง 1 คน หรือหลายคน

      

"ข้อผิดพลาดทั้งหมด หากจะมีการแก้ไขก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 333 ซึ่งมีการกำหนดชัดเจนว่า คตง.มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

 

ด้าน นายจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา รักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงการร่างคำร้องเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด แต่ยังกำหนดเวลาไม่ได้ เพราะเพิ่งได้รับทราบคำสั่งจึงยังไม่ได้พิจารณาว่าจะตั้งประเด็นใดบ้าง แต่ในกรอบสำคัญคือ คำร้องที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องมีความเด็ดขาด หรือชัดเจนมากกว่าที่ผ่านมา

 

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9480000137465

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท