Skip to main content
sharethis

ในท่ามกลางปัญหาสารพัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใครจะนึกเล่าว่า "โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand : IMT-GT)" ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาร่วมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย จะเดินหน้าไปอย่างเงียบๆ


 


"สมเกียรติ อนุราษฎร์" ที่สภาหอการค้าถูกส่งตัวมากำกับโครงการ IMT-GT ผ่านสถานภาพ "ประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้" เปิดข้อมูลความคืบหน้าของโครงการนี้กับ "ประชาไทออนไลน์" ชนิดหมดเปลือก ดังต่อไปนี้    


 


อยากทราบที่มาของความเปลี่ยนแปลงในสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้


 


การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ เมื่อต้นปีที่ 2547 สาเหตุจากทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา และก่อนหน้านั้นค่อนข้างสงบนิ่ง จึงมีหนังสือถึงคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ที่มีสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เป็นสมาชิก ขอให้ช่วยทบทวนบทบาทสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ให้หน่อย


 


ขณะนั้นที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีผมเป็นกรรมการฯ อยู่ด้วย พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งข้อสังเกตจริงๆ คือ กิจกรรมไม่เดินเท่าที่ควร เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทางคณะกรรมการฯ ก็มอบหมายให้ผมเป็นประธานคณะทำงานปรับโครงสร้าง และนโยบายสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้


 


ผมเชิญกรรมการฯ จาก 3 องค์กรๆ ละ 3 คน คือ สภาหอการค้าไทย 3 คน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 3 คน จากสมาคมธนาคารไทย 3 คน แล้วเชิญผู้แทนจากหอการค้า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาปรึกษาหารือกัน แล้วก็มาลงตัวตรงที่ว่า ประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้จะไม่มีการปรับเปลี่ยนเวียนกันให้แต่ละจังหวัดผลัดกันดำรงตำแหน่งเหมือนที่ผ่านมา เพราะหากไปตรงกับจังหวัดที่ประธานหอฯ ขยันทำงานเก่งก็ดีไป แต่ถ้าไม่ขยันตรงนี้ก็ไม่ขยับ


 


ก็ขอให้องค์กรต่างๆ ส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการฯ ส่วนตัวประธานจะเลือกจากกรรมการฯ ที่มีมอบหมายกันมา แล้วมาร่างระเบียบข้อบังคับกันใหม่ เราก็ได้มีการลงมติว่า จะต้องมีผู้แทนจากหอการค้าทั้ง 5 จังหวัด หรือถ้าเพิ่มไปอีกกี่จังหวัดก็จะมีการเชิญจากจังหวัดนั้นๆ เข้ามา แล้วก็มีผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมของแต่ละจังหวัด แล้วจากชมรมธนาคารของแต่ละจังหวัด และผู้ว่าราชการของทุกจังหวัด เข้ามาเป็นกรรมการ


 


ในที่สุดมีมติว่า คณะกรรมการของสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ ภายใต้ระเบียบข้อบังคับใหม่จะมี 49 คน มีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิรองรับผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีบทบาท มีความสำคัญ มีบารมี เข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ


 


จากนั้นเราพยายามผลักดันของบประมาณจากทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อสร้างสำนักเลขาธิการฯ ให้เข้มแข็ง เนื่องจากจุดอ่อนของนักธุรกิจต่างจังหวัด มีความเป็นนักวิชาการน้อย แต่มีประสบการณ์เยอะ หลายคนเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าจะให้พูดว่า จีดีพีจังหวัดนี้เป็นอย่างไร การเพิ่มจีดีพีจะทำอย่างไร อะไรพวกนี้ ผมคิดว่าบางคนพูดได้ บางคนพูดไม่ได้ เราจึงเป็นต้องสร้างสำนักเลขาธิการฯ ให้เข้มแข็ง เราต้องหาผู้จัดการที่จะเข้ามาดำเนินการภารกิจของสำนักเลขาธิการฯ วันต่อวันที่เข้มแข็ง ภาษาอังกฤษต้องดี สามารถประสานงานกับส่วนต่างๆ ได้ เราก็ของบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มา 3 ล้านบาทต่อปี ก็ได้รับอนุมัติมา


 


สภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ตอนนี้ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นอย่างมาก อาจจะเป็นเพราะภาครัฐเห็นว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้ทำงานจริงจัง กระทรวงพาณิชย์ก็เข้ามาสนับสนุน เป็นสปอนเซอร์ให้ผู้ประกอบการในภาคใต้ ได้พบกับผู้ประกอบการมาเลเซีย 2 - 3 เดือนที่แล้ว เขาก็เชิญคณะกรรมการฯ ของเราไปเยือนรัฐต่างๆ ในมาเลเซีย ประมาณ 2 เดือนก่อน ก็เชิญคณะกรรมการฯ ไปเยือนอินโดนีเซีย มีการพบปะกันระหว่างผู้ประกอบการที่เรียกว่า บิสสิเนสแมชชิ่ง


 


ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (Indonesia - Malaysia - Thailand : IMT - GT) เราพูดกันแต่เรื่องเมกะโปรเจ็กต์ โครงการใหญ่ๆ ว่า จะทำโน่นทำนี่ ลงทุน 10 ล้านบาท 100 ล้านบาท ในการประชุมครั้งแรกของกรรมการฯ ชุดใหม่ ผมเสนอต่อที่ประชุมว่า ส่วนของโครงการใหญ่ๆ หรือนักธุรกิจใหญ่ๆ เขาไม่ต้องการเวทีนี้ เขามีเวทีของเขาเอง อย่างผู้ว่าฯ จากเกาะสุมาตรา ประธานกรรมการบริษัทเหมืองบ้านปู ประธานกรรมการบริษัทซีพี ประธานกรรมการ ปตท. อย่างนี้ กลุ่มบริษัทพวกนี้เขาไม่จำเป็นต้องใช้เวทีนี้ เขาเจอกันอยู่แล้ว


 


ผมบอกว่า เวที IMT - GT เหมาะสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม


 


ผมเสนอในที่ประชุมที่ปัตตานี ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกที่คณะกรรมการฯ ชุดใหม่เข้ามาว่า เราควรที่จะเน้น 2 อย่างก่อนในช่วงนี้


 


หนึ่ง เน้นให้ประชาชนพบกับประชาชน หรือพีเพิลทูพีเพิลคอนแทรค


 


สอง เน้นการพัฒนาความร่วมมือของผู้ประกอบการ SMEs เขาก็จะมีการจัดตั้ง คลัสเตอร์ ของผู้ประกอบการต่างๆ ขึ้นมา ตอนนี้มีการจัดตั้งแล้ว 2 คลัสเตอร์ คือ 1. ผู้ประกอบการหัตถกรรม 2. โรงแรมระดับ 2 - 3 ดาว รองรับนักธุรกิจ ในพื้นที่ IMT - GT


 


ผู้ประกอบการมาเลเซียอาจจะมีเงินเยอะหน่อย แต่ผู้ประกอบการอินโดนีเซีย เดินทางมาติดต่อธุรกิจ ผมคิดว่าเขาอยากจะพักห้องราคา 5 - 600 บาท ห้องสะอาด ไม่ต้องหรูหรา ล็อบบี้ไม่ต้องสวย มีที่ส่งแฟ็กซ์ได้ มีโทรศัพท์ให้เขาใช้ แค่นั้นเขาก็พอใจแล้ว พวกนี้พกเงินมาซื้อของแค่หลักหมื่น ไม่ได้พกมาเป็นแสน เราควรจะมีที่ทางให้กับคนกลุ่มนี้ เพื่อให้เขาเข้ามาแล้วสบายอกสบายใจ เราก็ให้จัดตั้งกลุ่มโรงแรมระดับ 2 ดาว และจัดตั้งกลุ่มโรงแรมระดับ 3 ดาว เพื่อให้นักธุรกิจใน IMT - GT สามารถเดินทางมาพักได้


 


พวกมาเลย์เดินทางมาหาดใหญ่เขาอาจจะรู้จักสถานที่ต่างๆ แต่ถ้าเขาไปพัทลุงละ ไปตรัง ไปปัตตานี พวกนี้เขาไม่รู้จักสถานที่ ไม่รู้จะไปพักที่ไหน เราต้องมีโรงแรมให้สมาชิกพวกนี้ไปพักได้ เราก็เหมือนกัน IMT - GT ในอินโดนีเซียมีอยู่ 8 จังหวัดเช่นกัน เรารู้จักแต่เมดาน ถ้าไปเมืองอื่นเราไม่รู้จักเลย ถ้ามันมีโครงข่ายของโรงแรมพวกนี้ เราก็รู้ว่าโรงแรมไหนอยู่ในเครือข่าย เราจะได้ไปใช้บริการได้


 


2 คลัสเตอร์นี่เริ่มมานานหรือยัง


 


เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 ช่วงนี้กลายเป็นไทยเสนอเรื่องใหม่ๆ เข้าสู่ความร่วมมือในพื้นที่ IMT - GT เราอยากเห็นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว อยากจะให้ความสะดวกกับนักท่องเที่ยว ต้องการเห็นความร่วมมือด้านการขนส่ง การอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้ประกอบการ หรือนักท่องเที่ยวในพื้นที่นี้


 


ในการสัมมนาทิศทางใหม่ของแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อิโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ครั้งที่ กลุ่มจังหวัดสงขลา สตูล และกลุ่มจังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2548 ที่ประชุมเห็นชอบให้รวมอีก 6 จังหวัด หรืออีก 2 กลุ่มจังหวัด คือ กลุ่มจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง และกลุ่มจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่


 


กลุ่มจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง มีจุดแข็งตรงที่ชุมพร เป็นจังหวัดที่มีความเด่นทางด้านผลไม้ ผลไม้ของเราเป็นที่ต้องการของชาวมาเลเซีย และอินโดนีเซียอย่างยิ่ง อันนี้เป็นจุดแข็ง


 


กลุ่มจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ มีจุดแข็งตรงที่เป็นกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว ขณะนี้กลุ่มจังหวัดนี้ก็กำลังกระทบกระเทือนจากสึนามิ ช่วงไฮซีซั่นไม่เป็นปัญหา เขามีปัญหาตรงช่วงโลว์ซีซั่น ทีนี้ปกติคนเอเชียเรามักจะเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่นอยู่แล้ว เพราะช่วงไฮซีซั่นไปแย่งจองโรงแรมกับพวกยุโรป พวกอเมริกาไม่ไหว เพราะราคามันทบขึ้นไป 3 เท่าตัว


 


อีกเหตุผลหนึ่ง คนอินโดนีเซียเดินทางออกนอกประเทศ เขาจะต้องเสียภาษีเดินทางคนละ 1 ล้านรูเปีย หรือประมาณ 5 พันบาท ถ้าภูเก็ตเข้ามาอยู่ใน IMT - GT คนอินโดนีเซียเดินทางมาภูเก็ตไม่ต้องเสียภาษีเดินทาง เพราะมีการยกเว้นภาษีเดินทางในพื้นที่ IMT - GT อันนี้จะเป็นจุดแข็ง ที่ผมคิดว่าช่วยดึงนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ หรือนักเดินทางจากเกาะสุมาตรา มาเที่ยวฝั่งอันดามันของเราได้


 


มันมีความเป็นไปได้สูงว่า เมื่อภูเก็ตเข้ามาอยู่ในพื้นที่ IMT - GT การผลักดันให้มีการบินตรงระหว่างภูเก็ตกับเมดาน สามารถเกิดขึ้นได้ ผมเคยคุยกันสายการบินที่เคยบินระหว่างหาดใหญ่กับเมดาน เขาบอกว่าถ้าเป็นสายภูเก็ต - เมดาน เขาอยากบิน ถ้ามีการบินตรง ผมเชื่อว่าสามารถขยายการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้เยอะทีเดียว


มีการพูดคุยกันเรื่องรวมเอา 6 จังหวัดนี้ เข้ามาใน IMT - GT มาหลายระดับแล้ว ตอนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จังหวัดตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช เข้ามาอยู่ใน IMT-GT ที่ประชุมวันนั้น มีคอมเมนท์ว่า ทำไมไม่เอาภาคใต้ทั้งหมดเข้ามาอยู่ใน IMT-GT


 


ช่วงนี้การขับเคลื่อนของไทยใน IMT-GT รวดเร็วและเป็นรูปธรรม ตั้งแต่เรื่อง 2 คลัสเตอร์ การขยายพื้นที่เพิ่ม 3 จังหวัด และจะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภาคใต้ ในระยะเวลาไม่ถึงปี ทำไมถึงรวดเร็วขนาดนี้


 


ผมคิดว่า เป็นเพราะส่วนกลางเข้ามาช่วยรีโฟกัส ช่วยทำนโยบาย ช่วยรีออร์แกไนท์โครงสร้าง คณะ กรรมการจากส่วนกลางที่ลงมา 9 คน เรารู้นโยบายรัฐบาล เรารู้อะไรผลักดันได้ อะไรไม่ควรผลักดัน สมัยก่อน เราเป็นแต่เพียงพี่เลี้ยงเฉยๆ ไม่ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหาร แต่ขณะนี้เราเป็นประธาน เราเป็นกรรมการบริหารอยู่ จึงทำให้ไปได้เร็ว


 


ในทางปฏิบัติเมื่อไปเร็ว นักธุรกิจท้องถิ่นตามทันไหม


 


เขายังงงๆ อยู่ เราเลยต้องจัดสัมมนา มีการประชุมกรรมการสัญจร เมื่อก่อนไทยเราจะล้าหลังกว่าชาวบ้านเขา เขาเชิญประชุมแล้วประชุมอีก เราก็ไปประชุมร่วมกับเขาไม่ได้ เขาต้องเลื่อนตลอด แต่ตอนนี้การประชุม 3 ฝ่าย ทุกอย่างไปเร็วมาก


 


ตอนนี้เรารุกแล้ว เรารุกเพราะเราต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ของเรา เรามีปัญหาเรื่องจังหวัดอันดามัน เรามีปัญหาเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เราต้องการสร้างความมั่นใจให้กับชาวมาเลเซียว่า ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มสมาชิกสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ยังปกตินะ เพราะฉะนั้น มาเที่ยวกัน มาลงทุนกัน อินโดนีเซียก็เหมือนกัน แต่อินโดนีเซียความคล่องตัวในการเดินทางมาที่นี่มีน้อย เพราะไม่มีบินตรง แต่ที่มาเลเซียเรามีบินตรงจากกัวลาลัมเปอร์ทุกอย่างก็สะดวก


 


แล้ว "IMT-GT+1" กับพม่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว


 


เรายังชะลออยู่ เพราะไทยยังต้องการสร้างความร่วมมือ 3 ฝ่าย ให้เข้มแข็งก่อน เรายังไม่อยากให้พม่าเข้ามาตรงนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับพม่าต้องมี แต่จะไม่ให้เข้ามาในสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ จะเป็นสามเหลี่ยมบวกหนึ่งก็ว่าไป ไม่ว่ากัน แต่จะไม่มีการเพิ่มเป็นสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอย่างนี้ไทยไม่เอา


 


ความร่วมมือกับพม่า เรามีหลายเวทีอยู่แล้ว เรามีเวที 4 เหลี่ยมเศรษฐกิจ เรามีเวที 5 เหลี่ยมเศรษฐกิจ เรามีเวที 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เราจึงขอสงวนกันพม่าออกไปจาก IMT-GT


 


หลังจากที่เราตั้งตัวได้แล้ว เราไม่ง้อมาเลเซียเรื่องปาล์ม เพราะเรามีบริษัทจากส่วนกลาง ยินดีที่จะมาร่วมลงทุนและพัฒนาสวนปาล์มในภาคใต้ เป็นบริษัททำธุรกิจพัฒนาการเกษตร ในกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ที่พัฒนาการปลูกข้าวมอลล์ ตอนนี้เขาพัฒนาการปลูกปาล์มด้วย เขาก็ยินดีที่จะพัฒนา ที่จร่วมลงทุนด้วย โดยนำเอาโนว์ฮาวมาด้วย เราเคยร้องขอมาเลเซียช่วยเรื่องปาล์ม แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง เราเคยขอให้เขาช่วยเรื่องอาหารฮาลาล เราจะไม่ง้อแล้ว เราจะพัฒนาของเราเอง และผมเองก็เชื่อว่าคนไทยเก่งเรื่องอาหาร สินค้าชนิดเดียวกัน อาหารไทยอร่อยกว่าอยู่แล้ว


 


ถ้าจะตอบตอนนี้ก็คือ เราจะรีโฟกัสเพื่อจะไม่ขึ้นกับเขา ในส่วนนี้ เราจะเดินหน้าต่อไป เราจะพยายามดึงผู้ประกอบการของไทยเราเอง จากส่วนกลางเข้ามาช่วยทางภาคใต้


 


ผมยกตัวอย่างให้ฟัง มาเลเซียกำลังจะผลักดันเรื่องโปรเฟสชันแนลเซอร์วิส ผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอทีของเขา ให้เข้ามาบริการในสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ในส่วนของไทยเราจะดันเอ็นจิเนียริ่ง กับอาร์คิเท็คเจอร์เซอวิส ต่อที่ประชุมที่มะละกาของมาเลเซีย ปลายกันยายน 2548 สมาคมวิศวกรรมฯ ได้ประชุมกันที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ก็ยินดีที่จะมาตั้งสาขาที่ภาคใต้ เพื่อให้อยู่ในพื่นที่สามเหลี่ยม IMT-GT ตอนนี้เรารุกพอสมควรทีเดียว


 


นอกจากนี้ เราจะส่งเสริมการนวดแบบสปาในมาเลเซีย ขณะนี้มี 2 หน่วยงานส่วนกลาง คือ กรมส่งเสริมการส่งออกร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผลักดันที่จะเอ็กซปอร์ตสกิลเลเบอร์พวกนี้อยู่ เพียงแต่ต้องสร้างกฎเกณฑ์ไม่ให้มีใคร หรือไม่มีผู้หญิงเข้าไปทำธุรกิจแฝง เพราะถ้ามีธุรกิจแฝง จะทำให้วงการนี้ของไทยเสื่อมเสีย


 


คนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แจ้งว่าคนที่จะไปต้องเทรนกับกรมฯ ไม่ต่ำกว่า 320 ชั่วโมง แล้วจะได้ประกาศนียบัตร เรื่องนี้จะนำเสนอในที่ประชุมที่มาเลเซียว่า หมอนวดของเราเป็นโปรเฟสชั่นนอล ขอให้มาเลเซียรับผู้เชี่ยวชาญหรือสกิลเลเบอร์ด้านนี้ของเราด้วย ตรงนี้จะขยายความร่วมมือด้านการลงทุน ผมคิดว่าเขาอยากชวนนักธุรกิจไทยไปร่วมลงทุนกับเขา เพราะเขาทำไม่เป็น


 


บทบาทการผลักดันโครงการต่างๆ ใน IMT-GT เดิมเป็นของมาเลเซีย เมื่อไทยมาเล่นบทนี้ทางมาเลเซียอึดอัดไหม


 


เขาเองอาจจะยังไม่ทันตั้งตัว


 


ดูแล้วผลักดันกันคนละแนว มาเลเซียผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ ไทยผลักดันธุรกิจ SMEs


 


ช่วงนี้เป็นเรื่องของถ้อยทีถ้อยอาศัย เนื่องจากว่าประธานนักธุรกิจของเขากับผมนี่ เจอกันในเวทีใหญ่อยู่แล้ว เพราะประธานของเขา เป็นประธานหอการค้าประเทศมาเลเซีย ผมเป็นกรรมการบริหารของสภาหอการค้าไทย เราเจอกันในเวทีใหญ่อยู่แล้ว ก็จะรู้มือกันพอสมควร


 


เมกะโปรเจ็กต์ที่มีความคืบหน้าเห็นอยู่โครงการเดียว คือ ท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย โครงการอื่นๆ ละ


 


ก็มีในเรื่องของความร่วมมือทางด้านการขนส่งทางน้ำ ผมมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าท่าเรือปากปาราดำเนินการได้เมื่อไหร่ มันจะเปิดศักราชใหม่การค้าภาคใต้กับเกาะสุมาตรา


 


จริงๆ แล้วในส่วนของ IMT - GT ธุรกิจระหว่างไทยกับมาเลเซียก็ไปของมันเรื่อยๆ การค้าชายแดน ซื้อกันไปซื้อกันมา ข้ามไปข้ามมา แต่ผมคิดว่าตลาดใหญ่ของเราอยู่ที่เกาะสุมาตรา คนรวยที่นั่นเยอะ เป็นเกาะที่มีประชากรอยู่ 40 - 50 ล้านคน มีทรัพยากรน้ำมัน มีทรัพยากรถ่านหิน มีทรัพยากรประมง มีทรัพยากรป่าไม้ มีทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ มีคนรวยเยอะมาก


 


คนไทยก็ไปลงทุนที่นั่นเยอะ


 


ใช่ คนไทยก็ไปลงทุนที่นั่นเยอะ ศรีตรังอินดัสตรี้ก็ไป เหมืองบ้านปูก็ไปลงทุนเหมืองอยู่ 2 เหมืองใหญ่ คุณสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไปทำไม้ ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ ศรีตรังไปพัฒนาสวนยาง กำลังซื้อของคนที่นั่นเยอะ ที่สำคัญที่สุด คนบนเกาะสุมาตราชอบสินค้าไทย ชอบผลไม้ไทย ชอบเครื่องสุขภัณฑ์ไทย ชอบสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เขามาร่วมประชุมกับเรา พอเสร็จวิ่งเข้าโลตัสซื้อของ แล้วรวมๆ กันส่งตู้กลับไป แล้ววิ่งไปบิ๊กซีซื้อของกลับไป สนใจจักรยานยนต์ไทเกอร์ราคาถูกของเรา จะให้เราส่งมอเตอร์ไซค์ไปให้ อยากจะให้เราส่งอุปกรณ์การทำเกษตร ควายเหล็ก หรืออะไรพวกนี้ไปขาย เกาะสุมาตราจะเป็นตลาดที่ดีของไทย


 


ส่วนตัวผมคิดว่า โอกาสทางการค้าระหว่างเรากับเกาะสุมาตรายังเยอะมาก ตรงนี้ผมบอกกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ผมเห็นโอกาส เมื่อท่าเรือเสร็จเมื่อไหร่ โอกาสทางการค้าระหว่างเรากับเกาะสุมาตราจะไปโลด


 


ในส่วนของโครงการต่างๆ ที่ทางสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ทำอยู่ขณะนี้ มีอีก 3 โครงการที่เราได้เสนอไปในการประชุม IMT - GT ครั้งที่ 16 ที่เกาะบาตัม อินโดนีเซีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2548


 


โครงการที่หนึ่ง คือ โครงการจัดตั้ง IMT - GT พลาซ่า เป็นที่จัดแสดงสินค้า ขายสินค้า ขายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ IMT - GT จากมาเลเซีย จากอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันทางมาเลเซียก็จัดตั้ง IMT - GT พลาซ่า ขายสินค้าของมาเลเซีย ของไทย และของอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ก็มี IMT - GT พลาซ่า ขายสินค้าของอินโดนีเซีย ขอมาเลเซีย ของไทยด้วย


 


อีกหน่อยนักท่องเที่ยวไปที่ไหน ก็สามารถจับจ่ายซื้อของจากพื้นที่ IMT - GT ของทั้ง 3 ประเทศได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณการค้าของทุกประเทศ ในอนาคตอาจจะมีการส่งสินค้าอื่นๆ ด้วย เช่น อาจจะซื้อข้าว ซื้อน้ำตาลผ่าน IMT - GT พลาซ่า ขณะนี้กำลังขอให้รัฐบาลเรายกเว้นภาษีสินค้าพวกนี้ เราขอแต่ว่าเราจะไม่รอ เพราะมันมีสินค้าบางตัว ที่ไม่มีภาษีอยู่แล้ว เราจะดำเนินการในส่วนนั้นๆ ไปก่อน ปลายเดือนกันยายน 2548 นี้ก็จะคุยกัน ขณะนี้มาเลเซียดำเนินการไปบางแล้ว พอเราเสนอเสร็จทางมาเลเซียเขารับลูกเลย เขาจะเริ่มก่อนเราด้วยซ้ำ


 


อีกโครงการ ก็คือ โครงการ IMT - GT เทรดแฟร์ เพื่อกระตุ้นการค้ากับการลงทุน เราได้ประสานกับจังหวัดสงขลา ขอให้สนับสนุนการจัด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลารับจะให้กาสรสนับสนุน ขณะนี้ของบประมาณไปทางส่วนกลางแล้วประมาณ 5.5 ล้านบาท เพื่อจัด IMT - GT เทรดแฟร์ ซึ่งจะรวมสินค้าโอทอปด้วย จะมีผู้มาแสดงสินค้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย คาดว่าจะจัดในช่วงสงกรานต์ปี 2549


อีกโครงการที่จะสนับสนุนพีเพิลทูพีเพิลคอนแทรก หรือการพบปะของประชาชนต่อประชาชน เราเสนอตัวเป็นเจ้าภาพค่ายเยาวชน IMT - GT เราได้เสนอให้แต่ละประเทศส่งเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 16 - 18 ปี มาเข้าค่ายกับเรา เพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดใน IMT - GT  เพื่อที่ว่าเขาโตขึ้นจะได้มีความรู้สึกที่ดี โครงการนี้ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมร่วม 3 ฝ่ายแล้วว่า จะให้เป็นโครงการประจำปี แต่ละประเทศจะเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพก่อน


 


ปัญหา 2 วิกฤตใหญ่ คือ สึนามิที่กระทบพื้นที่ IMT - GT ทั้ง 3 ประเทศ และปัญหาชายแดนภาคใต้ เป็นอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน


 


ทางด้านจิตวิทยามันมีแน่นอน ขณะนี้ที่ผมเจอกับเพื่อนๆ ต่างชาติ เขาก็ถามว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ต้องยอมรับว่า ข่าวที่เกิดขึ้นมันถูกแพร่ออกไปเกินความเป็นจริงมาก ก็บอกเขาว่า ในพื้นที่ประชาชนยังอยู่เป็นปกติ เพียงแต่ขณะนี้ชีวิตประจำวันของเขา อาจจะต้องระวังกว่าเมื่อก่อน เช่น พอพระอาทิตย์ตกดิน เขาอาจจะไม่ออกจากบ้าน แต่ตอนกลางวันชีวิตยังเป็นปกติ


 


สภาธุรกิจชายแดนภาคใต้มีคณะทำงานหลายระดับด้วยกัน เรามีคณะทำงานศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสนอผลการศึกษาให้ท่านนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เมื่อตอนที่ท่านนายกรัฐมนตรีกับรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ลงไปจังหวัดปัตตานี ขอให้มีการพิจารณาเก็บภาษีบุคคลและนิติบุคคล เพื่อจะสนับสนุนผู้ประกอบการมาลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงผู้ที่ประกอบการในพื้นที่อยู่แล้วก็จะได้ประโยชน์ด้วย เพราะปัญหาที่ผ่านมาธุรกิจมันตกไป 70 - 80% มันอยู่ไม่ได้แล้ว


 


ทราบว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2548 รับหลักการปรับโครงสร้างภาษี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อนุมัติให้ 3 เมืองท่องเที่ยวชายแดน มีสะเดา เบตง สุไหงโก-ลก เป็นเขตปลอดภาษี


 


ในส่วนสึนามิคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน มีคณะทำงานอยู่ 1 ชุด ศึกษาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ 6 จังหวัดอันดามัน เพราะถ้ามองย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จะเห็นว่ามีมาตรการต่างๆ จากทุกกระทรวงทบวงกรมออกมาแล้วว่า กระทรวงนั้นจะทำอย่างนี้ กรมนี้จะทำอย่างนั้น ขาดแต่เพียงการจัดลำดับความสำคัญ หนึ่ง สอง สาม ยังไม่มีคนทำ บางทีบางกระทรวงต้องการผลงาน ยังไม่ถึงคิวตัวเองก็รีบไปทำเสียก่อน แล้วก็ไปขวางทางคนอื่นเขา


 


ขณะนี้ เรากำลังศึกษาแล้วจะเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ) ก่อนจะครบรอบ 1 ปี คาดว่าจะเสนอในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2548 เราจะดูว่าภาครัฐทำอะไรมาบ้าง แล้วยังไม่ได้ทำอะไร ภาคเอกชนอยากจะเห็นอะไรบ้าง


 


ตอนนี้โครงสร้างทางด้านกฎ ระเบียบ ข้อตกลงระหว่าง 3 ประเทศ พัฒนาไปไกลมาก แต่ด้านโครงสร้างพื้นฐานกลับคืบหน้าได้ช้า จะเร่งอย่างไร


 


ท่าเรือปากบาราไม่ช้าแล้วนะ มีการจัดสรรงบประมาณมาให้แล้วประมาณ 5 พันล้านบาท เพิ่งจะผ่านกันเมื่อ 3 - 4 เดือนนี่เอง แต่ในภาพรวม ผมเห็นด้วยว่าช้า


 


ผมเองทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลพอสมควร เพราะเป็นกรรมการกลั่นกรองประเด็นที่จะพบท่านนายก รัฐมนตรีทุกวันศุกร์ ของสภาหอการค้าไทย ผมเห็นว่าการนำเสนอต่อภาครัฐ จำเป็นจะต้องนำเสนอให้ชัดเจน แล้วกระชับ เพราะท่านนายกรัฐมนตรีสมาธิท่านสั้นมาก ถ้านำเสนอไม่ชัดท่านจะตัดบท ถ้าหากสรุปไม่ดีท่านจะปฏิเสธเลย แต่ถ้าสรุปดี ท่านเห็นชัดเจน ท่านจะปรึกษารัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงต่างๆ ว่า นั่นทำได้ไหม นี่ทำได้ไหม จะดีไหม ถ้ารัฐมนตรีเห็นชอบก็สั่งเดี๋ยวนั้นเลย ซึ่งเป็นเรื่องดี


 


บังเอิญกรรมการสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ เรามีหลายเวทีที่จะพบกับส่วนราชการ ตรงนี้ก็มีส่วนช่วย อย่างที่ได้งบประมาณมาผมก็ต้องเข้าไปชี้แจงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายรอบ กว่าจะได้งบประมาณมาทำงานปีละ 3 ล้านบาท อันนี้เป็นส่วนดีที่ส่วนกลางมาช่วย เราไม่ได้ไปวุ่นวายกับผู้ประกอบการ เพียงแต่ช่วยดันก้นเขาเท่านั้นว่าประตูนี้เปิดแล้วนะ ช่วยดันเขาออกไป


 


ดีหรือไม่ที่โครงสร้างพื้นฐานเสร็จช้า ถ้าเร็วกว่านี้นักธุรกิจในพื้นที่อาจจะตามไม่ทันก็ได้


 


ขณะนี้นักธุรกิจท้องถิ่น ตามไม่ทันครับ ผมจึงจำเป็นต้องจัดสัมมนาที่จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 เดือนกันยายน 2548 ที่หาดใหญ่ ยังจะต้องจัดประชุมกรรมการสัญจรไปจังหวัดต่างๆ ให้ครบทุกจังหวัด ขณะที่เราประชุมสัญจร เราจะเชิญกรรมการหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ชมรมธนาคารของเขา พร้อมผู้ประกอบการเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ หรือแม้แต่จะถามคำถามก็ถามได้ ผมคงต้องเล่าถึงบทบาทของสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ว่า ตอนนี้เราทำอะไรกันบ้าง เราคาดหวังอะไรบ้าง เป้าหมายของเราเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมได้รับฟังรายละเอียด


 


เนื่องจากโครงสร้างของ IMT - GT มันค่อนข้างจะหลากหลาย มี 6 คณะทำงาน หรือ 6 คณะเทคนิคปฏิบัติการ แต่ละคณะยังมีอนุกรรมการชุดนั้นชุดนี้อีก บางชุดก็เลิกไป บางชุดก็โยกไปคณะอื่นเพื่อความเหมาะสม ต้องเป็นผู้ติดตามใกล้ชิดถึงจะเข้าใจชัดเจน บางครั้งผมเองก็ยังงงๆ อยู่เลย มันมีเรื่องต่อเนื่องกันมาเป็นสิบปี บางเรื่องยังอยู่ บางเรื่องไม่อยู่แล้ว มันมีการลงนามเป็นร้อยๆ ข้อตกลง การประชุมแต่ละครั้งเราก็ต้องมาสกรีนกัน


 


มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ยังดำเนินการอยู่


 


ที่ผมเห็นอยู่ชัดเจนยังดำเนินการอยู่ประมาณ 30% ถ้าพูดไปแล้วไม่เลวเลยนะ เพียงแต่หลายโครงการที่เราอยากจะเห็น มันยังไม่ได้เห็น เพราะมีอุปสรรคหลายๆ อย่าง แต่หลายโครงการที่พับไปแล้ว ก็อาจจะยกขึ้นมาเจรจากันใหม่ได้ในเวลาอันควร 3 - 4 ปีที่แล้ว อาจจะไม่เหมาะสม แต่ปีหน้าอาจจะเหมาะสมก็ได้


 


ถ้าบางโครงการฯ ถูกยกขึ้นมาใหม่ ผู้ทำ MOU ก่อนหน้านี้ จะมีสิทธิ์ก่อนไหม


 


อาจจะใช่หรือไม่ใช่ เพราะคู่เจรจาอาจจะล้าๆ กันไป อาจจะมีผู้ประกอบการอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจคล้ายกันของ 3 ประเทศ มาจับมือกันใหม่ ผมขอยกตัวอย่างศรีตรังอินดีสตรี้ ที่จับมือกับรองประธานหอการค้าเมืองปาเลมบัง มันไปได้เร็วเพราะต่างอยู่ในกรอบความร่วมมืออยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นนาย ก. หรือนาย ข. นี่ผมว่าต้องคุยกันนาน เมื่อมันมีกรอบความร่วมมืออยู่แล้ว มันทำให้ต่างคนต่างรู้จักกันไปด้วยกันได้ อย่างที่บอกมันจึงไม่จำเป็นว่า MOU ที่ยกเลิกไปแล้ว จะกลับมาไม่ได้


 


ในส่วนของสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ของเรา ผมคิดว่าคงจะเน้น SMEs ในระยะเวลา 2 - 3 ปีเท่านั้น เราไม่ทิ้งโครงการขนาดใหญ่ ถ้าโครงการขนาดใหญ่มา เราก็พร้อมจะเจรจา อย่างโครงการของศรีตรังอินดัสตรี้กับทางโน้น ถือเป็นโครงการใหญ่มาก เป็นธุรกิจครบวงจร


 


โครงการที่มาเลย์ต้องการแต่ติดอยู่ที่ไทย คือ ท่อน้ำมัน ในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจปีนัง - สงขลา ที่ปัจจุบันขยายเป็นโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสงขลา - ปีนัง - เมดาน ขณะนี้มาเลเซียยังพยายามผลักดันอยู่หรือไม่


 


เดี๋ยวนี้เขาก็ยังดิ้นรน แต่เราขอสงวนตลอด เนื่องจากเราต้องการจะแลกให้เขาร่วมมือกับเราเรื่องปาล์ม ผมว่าการเจรจามันก็มีที่ต่างคนต่างต้องกันไว้ เพื่อจะแลกเปลี่ยน คือ เราไม่เปิดหมด ของเขาก็ไม่เปิดหมด เรามีอยู่ในกระเป๋าของเรา ไม่ใช่ให้เขามีอยู่ในกระเป๋าคนเดียว แต่มาถึงตอนนี้ เราไม่ง้อเขาเรื่องปาล์มแล้ว เราเอาความร่วมมือกับบริษัทของไทยจากส่วนกลางลงมาแล้ว


 


เป็นไปได้หรือไม่ ที่ไทยอาจจะยอมให้มาเลเซียขึ้นท่อน้ำมัน ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจสงขลา - ปีนัง - เมดาน


 


ก็เป็นไปได้ คือ ช่วงนี้หลายๆ อย่างมันยังเปิดอยู่ ไม่ปิดเสียทีเดียว ยังเปิดรอข้อต่อรองที่เหมาะสม จริงๆ แล้วมาเลเซียเป็นคู่เจรจาที่น่ากลัว เพราะช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าของกรรมการฯ IMT-GT ของเขาแข็งกว่าเรามาก เขามาระดับประเทศ ของเราแค่ระดับท้องถิ่น แต่ก่อนผมก็เป็นกรรมการที่มาจากส่วนกลาง ก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไรมาก แต่พอมาช่วงหนึ่ง เราเห็นว่าเพื่อนเราทางภาคใต้มีข้อจำกัดเยอะ ก็เลยต้องเข้ามาช่วย


 


สาขาตลาดเสรี เรื่องเขตโทรคมนาคมพิเศษดำเนินการไปถึงไหนแล้ว


 


มาหยุดตรงที่ใช้คอลลิ่งการ์ดใบเดียวกันทั้ง 3 ประเทศไม่ได้ เพราะมีผู้ประกอบการของแต่ละประเทศอยู่ แต่ตอนนี้มันก็โรมมิ่งกันอยู่แล้ว ในส่วนที่จะทำสถานีวิทยุโทรทัศน์ IMT - GT ขณะนี้ชะลอไป เพราะมาเลเซียเขามีกฎหมายค่อนข้างจะเข้มงวด แต่ในส่วนของ open market ในการประชุมคราวหน้า ที่มะละกาของมาเลเซีย เราต้องการให้มีการพิจารณาเรื่องโทรคมนาคมกันใหม่ จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านโทรคมนาคม ในคณะกรรมการสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ของเราร่วมไปด้วย ส่วนบริษัทที่เสนอตัวเข้ามาลงทุนเรื่องนี้ ก็ยังเหมือนเดิม


 


การขยายไปครอบคุลมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ จะทำให้มีประสิทธิภาพหรือไม่


 


เรื่องสำคัญ ก็คือ เราจะมีตัวสินค้าของเราที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะ ผมถามว่า ขณะนี้ถ้าเราดูจาก 8 จังหวัดของเรา จังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ เราต้องการให้จังหวัดปัตตานี เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล เราต้องการที่จะพัฒนาจังหวัดนราธิวาสเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดน เราต้องการพัฒนาจังหวัดยะลาให้เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดน ถามว่าจังหวัดนราธิวาสกับจังหวัดยะลาชัดเจนไหม ก็ไม่ชัดเจน


 


จังหวัดตรังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ดำน้ำ แต่งงาน นี่ชัดเจนไหม ก็ไม่ใช่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนี้จริงๆ ก็มีเรื่องของประมงอยู่บ้าง เรื่องของการเพาะเลี้ยงกุ้งอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจน จังหวัดพัทลุงเป็นศูนย์กลางพัฒนาทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตร อันนี้โอเค แต่ถ้าถามว่าจังหวัดชุมพรละ ชัดขึ้นมาเลยด้านผลไม้ แล้วตลาดผลไม้นี่ในมาเลเซียกว้างใหญ่ไพศาล อินโดนีเซียรับไม่อั้น เพราะผลไม้ไทยในอินโดนีเซียขายดีมากราคาก็สูง จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็มีความชัดเจนเรื่องการท่องเที่ยว เกาะสมุย เกาะต่างๆ ถ้าพูดถึงภูเก็ตโอ้ ! ชัดเจนมากเลย


 


ความชัดเจนทางด้านโปรดักส์ต่างๆ มันจะเห็นชัดขึ้น ถ้าเราสามารถจัดทัพบุกตลาดท่องเที่ยวได้ ผมคิดว่าดึงคนมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ต แล้วดึงให้ไปเที่ยวจังหวัดตรัง เที่ยวหาดใหญ่ด้วย ผมว่าเขามา แต่ถ้าจะมาหาดใหญ่แล้วไปต่อที่อื่น ผมว่าเขาไม่ไป อันนี้น่าจะเป็นจุดขายที่ดีที่จะดึงผู้ประกอบการ ผู้ลงทุน นักท่องเที่ยวให้เข้ามาอยู่ใน IMT - GT ในส่วนของไทยจะได้เพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก


 


หมายเหตุ - ตัวอย่างบริษัทของไทยที่เสนอตัวเข้าไปลงทุนทางด้านโทรคมนาคม ใน IMT - GT ประกอบด้วย การสื่อสารแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านโทรคมนาคม ในพื้นที่อนุภูมิภาค, กลุ่มชินวัตร โครงการก่อสร้างบำรุงรักษาและดำเนินการสถานีโทรทัศน์เอกชนในพื้นที่ ใช้ลังกาวีเป็นศูนย์กลาง, จัสมินเทเลคอมมิวนิเคชั่น โครงการสร้างเครือข่ายไฟเบอร์ออพติค, บริษัท ยูคอม จำกัด (มหาชน) โครงการระบบวิทยุติดตามในรถบรรทุก พื้นที่ภาคใต้ของไทย ภาคเหนือ และภาคกลางของมาเลเซีย เป็นต้น 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net