Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 23 ก.ย.48      ในการประชุมเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการจัดการลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา มีการพูดถึงกรณีเขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาตามที่กรมชลประทานเสนอให้ศึกษาผลกระทบการก่อสร้างโครงการนี้อีกครั้ง หลังจาก ครม.มีคำสั่งให้ชะลอโครงการชั่วคราวตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา


 


ชาวบ้านจากจ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านโครงการนี้แบบไม่ลืมหูลืมตา แต่อยากให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการศึกผลกระทบให้รอบคอบ และให้มีการจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรม โดยหลังจากชาวบ้านเคลื่อนไหวคัดค้านจน ครม.สั่งชะลอโครงการตั้งแต่ ปี 2540 พร้อมกับตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่มี รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ  เป็นประธาน คณะกรรมการดังกล่าวก็ได้ดำเนินการศึกษาโดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมาจนกระทั่งในที่สุดต้องชะงักไปเพราะขาดงบประมาณ


 


ทั้งนี้ เขื่อนจำนวน 5 แห่งที่มีมติครม. 29 เม.ย.2540 ให้ชะลอโครงการเพื่อให้ทำการศึกษาโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วส่งผลสรุปหรือแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ประกอบด้วย เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี ส่วนเขื่อนคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช นั้น ครม. มีมติเพิ่มเติมในปี 2543


 


นางสุนี ไชยรส ประธานอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่ากล่าวว่า การที่กรมชลประทานเสนอครม. ให้หน่วยงานตนเองได้ทำการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ของโครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชรเองนั้นจะเป็นปัญหาอย่างมาก เท่ากับว่าเป็นการตัดตอนคิดใหม่ ทำใหม่ ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่ผ่านมากลายเป็นศูนย์ เพราะการศึกษาครั้งที่แล้วได้มีการระดมความคิดจากชาวบ้านอย่างกว้างขวาง และมีการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย แต่ชะงักไปเพราะขาดงบประมาณ ดังนั้น ทางกรรมการสิทธิฯ จะสอบถามไปยังรัฐบาลถึงมติ ครม.ครั้งนี้


 


ด้านนายธีรวัฒน์ ตั้งพาณิชย์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แม้มติ ครม.จะอนุมัติให้กรมชลประทานเป็นผู้ทำการศึกษาเอง แต่ถ้าคณะกรรมการชุดที่ชาวบ้านเรียกร้องยังมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาอยู่ ก็สามารถทำได้ ไม่ขัดข้องอะไร อย่างไรก็ตาม ระหว่างการศึกษานี้ได้มีการซื้อที่ดินเพื่อจัดทำโครงการไปกว่า 90% แล้ว


 


"โครงการนี้ประชาชน 98-99% ต้องการให้สร้าง ช่วงทัวร์นกขมิ้นชาวบ้านเรียกร้องกับนายกรัฐมนตรี กรมชลประทานจึงเสนอให้เพิกถอนมติเก่า เพื่อศึกษาผลกระทบอีกครั้ง" รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว


 


นายบารมี ไชยรัตน์ อนุกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญอีกประการของโครงการนี้คือระหว่างที่มติครม.สั่งชะลอโครงการทั้งหมด กลับมีการปักหลักเขตใหม่ที่กว้างกว่าเดิม และกระบวนการจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านก็มีการทุจริตไม่ต่างจากเขื่อนป่าสัก รวมทั้ง "ชาวบน" ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่เก็บหาของป่าเป็นอาชีพ ก็ถูกละเลยไม่ได้รับการดูแลค่าชดเชยในที่อยู่ที่ทำกินแต่อย่างใด


 


อนึ่ง รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ  เป็นประธานคณะกรรมที่ทำการศึกษาผลกระทบเขื่อนทั้ง 5 แห่ง โดยมีการตั้งคณะทำงานรับฟังปัญหากรณีเขื่อนโปร่งขุนเพชร และเขื่อนลำโดมใหญ่ จำนวน 5 คน มี ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ เป็นประธาน ข้อสรุปของคณะทำงานระบุว่า โครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร ข้อมูลไม่ครบถ้วน ล้าสมัยเพราะศึกษาความเป็นไปได้ไว้ตั้งแต่ปี 2532 และนับตั้งแต่ได้รับอนุมัติสร้างเขื่อนเมื่อปี 2522 ไม่ได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) แม้กระทบต่อชุมชนถึง 3 หมู่บ้าน แต่ไม่มีพื้นที่รองรับผู้อพยพ คณะทำงานจึงสรุปด้วยว่า หากจะก่อสร้างโครงการควรมีจัดทำอีไอเอ และศึกษาผลกระทบทางด้านสังคม(เอสไอเอ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net