Skip to main content
sharethis

หลังจากที่มีข่าวคนไทย131 คน ลี้ภัยไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งในจำนวนนี้มีคน 2 สัญชาติ คือไทย-มาเลเซียปะปนอยู่ จนกลายเป็นประเด็นร้อนระหว่างประเทศ เป็นผลให้ทางการไทยมุ่งประเด็นว่า การลี้ภัยดังกล่าวเกิดขึ้นจากความพยายามสร้างสถานการณ์โดยคน 2 สัญชาติ อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์สำทับยืนยันสาเหตุนี้ และระบุด้วยว่าทางการเริ่มทยอยถอนสัญชาติและจับคนกระทำผิดมาลงโทษแล้ว อีกทั้งจะมีการไล่ตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกหลังคาเรือนนั้น


 


จากกรณีปัญหาดังกล่าว เท่ากับว่าทางการและนายกรัฐมนตรีมองเห็นคน 2 สัญชาติประหนึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นผู้ก่อเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่นั่นคือการมองอย่างฉาบฉวยเกินไปหรือไม่ เพราะความเป็นจริง การที่คนๆ หนึ่งจะมี 2 สัญชาตินั้น อาจถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะแม้แต่นักการเมืองดัง อดีตรองนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงดาราและคนสาธารณะจำนวนมากมายก็ถือ 2 สัญชาติด้วยกันทั้งนั้น


 


ใครๆ ก็อยากมี 2 สัญชาติ


การให้สัญชาติโดยทั่วไปนั้น อาศัยตามหลักการสืบสายโลหิตหรือหลักดินแดน จึงทำให้คนเราสามารถมีสัญชาติได้มากกว่าหนึ่งสัญชาติ ด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้มีความสะดวกทั้งในการเดินทาง การประกอบกิจการธุรกิจ รวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งย่อมเกิดกับประเทศและคนที่ได้รับสัญชาตินั้นด้วย 


 


ขณะที่ชาวบ้านจำนวนมากที่ตั้งหน้าทำมาหากินและพร้อมที่จะพลีชีวิตและเลือดเนื้อให้กับผืนแผ่นดินไทย ถูกกฎหมายกีดกันกันให้เป็นคนตกขอบ อยู่ในภาวะไร้สัญชาติ ทว่ามีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติที่ 2 หรือพยายามแปลงสัญชาติด้วยความกระเสือกกระสน นั่นก็เพราะสัญชาติคือเครื่องบ่งชี้ว่าเรามีตัวตน มีสังกัดที่รัฐต้องให้ความคุ้มครองในฐานะเจ้าของแผ่นดินคนหนึ่ง การมีหรือไม่มีสัญชาติจึงเท่ากับจุดตั้งต้นของการได้มาซึ่งสิทธิและผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากรัฐและสังคม


 


จึงไม่แปลกที่ใครๆ ก็อยากจะมี 2 สัญชาติ เพราะมันหมายถึงโอกาสที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ในชีวิต อย่างน้อยก็มีทางเลือกมากกว่าคนที่มีสัญชาติเดียว


 


ขณะเดียวกัน นโยบายด้านสัญชาติในหลายประเทศ ก็ใช้สัญชาติเป็นเครื่องมือในการสร้างประโยชน์เข้าประเทศของตน เราพบว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีนโยบายในเรื่องนี้และใช้มันได้อย่างโดดเด่น ด้วยการให้สัญชาติหรือสิทธิทำกินในประเทศของตนสำหรับชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดนักลงทุน และเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยในแต่ละปีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกใบอนุญาตที่เรียกว่า กรีนการ์ดให้กับคนต่างด้าวถึง 50,000 ราย ซึ่งมีผู้สมัครทั่วโลกเพื่อช่วงชิงสิทธิ์นี้ถึงเกือบสิบล้านคน


 


ในประเทศไทย เราจะพบว่า นักธุรกิจ ศิลปิน ดารานักร้องของไทยจำนวนมาก ก็มักจะมีอีกสัญชาติหนึ่ง โดยส่วนใหญ่จะขอมีสัญชาติที่ 2 ในประเทศที่เจริญมั่งคั่ง และแสดงถึงความมีรสนิยมสูง รวมถึงนักการเมืองอย่างนายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่า กทม. ที่ได้สัญชาติอเมริกา ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนได้รับการยอมรับจากสังคม โดยมีน้อยรายหรือแทบจะหาไม่ได้ที่จะปรากฏข่าวการขอสัญชาติที่ 2 จากรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนา


 


เมื่อหันมามองชาวบ้านทางจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ส่วนใหญ่พวกเขาจะได้รับ 2 สัญชาติแทบอัตโนมัติ เนื่องจากความเกาะเกี่ยวในด้านดินแดนผนวกกับความสัมพันธ์ทางสายเลือด และที่จริงพวกเขาก็ใช้สิทธิในความเป็นคน 2 สัญชาติเพื่อสร้างโอกาสในชีวิตไม่แตกต่างจากดารานักร้องนักการเมือง 2 สัญชาติที่โลดแล่นอยู่ในสาธารณะเลย


 


หากจะต่างกันก็ตรงที่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ภาคใต้มี 2 สัญชาติโดยความชอบธรรมและใช้มันเพื่อการดิ้นรนเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตามความจำเป็น ขณะที่คน 2 สัญชาติจำนวนหนึ่งกลับใช้มันเพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง หรือแม้กระทั่งเพื่อบ่งบอกรสนิยม ร้ายกว่านั้น พวกเขา- ชาวบ้านที่ภาคใต้ กลับถูกมองอย่างหวาดระแวงและพร้อมที่จะโยนความผิดใส่มือในฐานะสาเหตุของความวุ่นวายที่ภาคใต้ ขณะที่คนอีกกลุ่มกลับได้รับการยกย่อง


 


แล้วทำไมคน 2 สัญชาติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราถึงมีปัญหาขึ้นมาได้ หรือว่ามีใครพยายามทำให้เป็นปัญหา สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดด้านสัญชาติของไทยที่ตรงข้ามกับนานาประเทศที่มองถึงการใช้ประโยชน์จากสัญชาติ แต่สำหรับประเทศไทยกลับมองว่าสัญชาติเป็นเรื่องของการแก่งแย่งทรัพยากร หรือจำเป็นต้องกีดกัน และที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือการเหมามองคน 2 สัญชาติทางภาคใต้เป็นพวกก่อการร้ายไปเสียนี่


 


คำว่า "สัญชาติ" ของไทย  คืออะไร?


"บ้านเรามองสัญชาติเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่ต่างประเทศเขามองว่าสัญชาติเหมือนกับเสื้อ  ใส่เมื่อมีประโยชน์และเมื่อไม่มีประโยชน์ก็ถอดออกได้" รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กาญจนะจิตรา  สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวขึ้น


 


โดยหลักกฎหมายของไทย มีการระบุเรื่องสัญชาติถึงการได้ เสีย และกลับคืนเท่านั้น แต่กลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้มองหลักการสร้างประโยชน์แต่อย่างใด ขณะที่หลักเกณฑ์ต่างๆ กลับเอื้อต่อการให้สัญชาติและสิทธิอยู่ถาวรแก่นักลงทุนที่ขนเงินออกนอกประเทศมากกว่า


 


จากตัวอย่างกรณี แหม่ม คัทลียา แมคอินทอช ที่เดินทางไปอเมริกา รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ เห็นว่า กรณีนี้ลูกจะได้สัญชาติอเมริกันตามหลักดินแดนและได้สัญชาติไทยโดยสายโลหิต เท่ากับว่าเด็กจะมี 2 สัญชาติไปโดยปริยาย ทั้งนี้อาจารย์เชื่อว่านอกจากแหม่มจะหนีเสียงครหานินทาแล้ว อีกแง่หนึ่งก็คงอยากให้ลูกมีสัญชาติอมริกาด้วยเช่นกัน


 


อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยนำแนวคิดมนุษยนิยมมาใช้ก็จะทำให้การจัดสรรประชากรและสังคมเกิดความสงบสันติและน่าอยู่ขึ้น หากย้อนเวลากลับจะพบว่าในสมัยรัชกาลที่ 5,6 พระองค์ทรงมีแนวคิดเน้นประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ทำให้ชาตินิยมในสมัยก่อนไม่มีการผลักไสแต่มีลักษณะหลอมรวม โดยไม่ได้มองอะไรตามอารมณ์และแสดงค่านิยมติดลบแบบคนในสมัยนี้


 


2 สัญชาติ  ความลวงในโลกของความจริง


รัฐหนึ่งรัฐอาจทำให้คนหนึ่งคนมีหลายสัญชาติในเวลาเดียวกัน หรืออาจทำให้คนหนึ่งคนไม่มีสัญชาติของรัฐใดเลยก็ได้ ดังนั้น ปัญหาการมีหลายสัญชาติจึงทำให้บุคคลได้รับความคุ้มครองและใช้ทรัพยากรจากหลายรัฐได้ ส่วนปัญหาไร้สัญชาติก็จะทำให้บุคคลปราศจากความคุ้มครองจากทุกรัฐที่เกาะเกี่ยวกับตนและตกเป็นคนต่างด้าวในทุกรัฐบนโลกนี้


 


ตามหลักจารีตประเพณีระหว่างประเทศนั้น แสดงให้เห็นว่าอารยประเทศที่เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ไม่มีการถอนสัญชาติที่มาจากหลักสืบสายโลหิตให้ตกเป็นคนไร้รัฐทั้งโดยข้อเท็จจริงหรือโดยข้อกฎหมาย เนื่องจากการตกเป็นคนไร้รัฐย่อมทำให้มนุษย์หลุดลอยจากสิทธิมนุษยชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหาให้กับคนที่ตกหล่นจนไร้รัฐเหล่านี้ ในที่สุดจึงมีการออกกฎหมายคน 2 สัญชาติในเวลาต่อมา


 


"เมื่อก่อนแต่ละประเทศมักไม่ยอมให้สัญชาติกันง่ายๆ ก็เพราะต่างต้องการดึงคนเป็นทรัพยากรของชาติตัวเอง แต่ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วเมื่อโลกใบนี้เล็กลงและการติดต่อไปมาก็ทำได้ง่ายขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปสำหรับการมีความสัมพันธ์กับรัฐต่างๆ อาทิ การมีพ่อหรือแม่เป็นคนต่างด้าวหรือคู่สมรสเป็นคนต่างด้าว แม้กระทั่งการไปตั้งรกรากในต่างประเทศ ซึ่งไม่อาจตีความโดยอัตโนมัติได้ว่า บุคคลเหล่านี้จะสิ้นความผูกพันกับประเทศไทยเสมอไป หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นประสงค์ร้ายต่อสังคมไทยโดยทันที  ดังนั้นเรื่องความพยายามทำให้คนมีสัญชาติเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่สอดคล้องกับยุคสมัย


 


เช่นเดียวกัน ความเป็นภัยต่อรัฐไทยอาจเกิดขึ้นได้แม้บุคคลนั้นมีสัญชาติไทยแต่เพียงสัญชาติเดียว โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์หรือเกาะเกี่ยวใดๆ กับรัฐต่างประเทศเลยก็ได้


 


จึงอาจจะกล่าวได้ว่าการมีหลายสัญชาติและความเป็นภัยต่อรัฐเป็นคนละเรื่องกัน และไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน การเอาเหตุที่มีหลายสัญชาติมาเป็นเหตุให้ถูกถอนสัญชาติไทยจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมีเหตุผล เพราะหากมีคนหลายสัญชาติสักคนที่เป็นภัยต่อรัฐ ก็ควรที่จะลงโทษคนหลายสัญชาติคนนั้นเฉกเช่นคนที่มีสัญชาติไทยเพียงอย่างเดียว


 


หรือว่ามาตรฐานการมองและตัดสินใจของสังคมนั้น พร้อมที่จะมีอคติสำหรับคนที่มีสัญชาติประเทศเพื่อนบ้านเป็นสัญชาติที่ 2 แต่กลับเชิดชูนิยมคน 2 สัญชาติที่หยิบฉวยประเทศตะวันตกมาเป็นส่วนหนึ่งของตนอยู่เสมอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net