Skip to main content
sharethis

แนะตั้งกองทุนนอกตลาดช่วย อัดรัฐบาลขจัดคนคิดตรงข้าม ทำภาพลักษณ์ไทยแย่กว่าพม่า


 


โดย หนังสือพิมพ์มติชน 19 กันยายน 2548


 


 


พรรคฝ่ายค้านร่วมหาช่องป้องกันกลุ่มทุนครอบงำกิจการสื่อ "อภิสิทธิ์"นำทีม ส.ส.ปชป.ถกทางแก้ไข เตรียมแก้กฎหมาย จี้รัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ.สกัดการผูกขาดในตลาดมาใช้อย่างจริงจัง นักวิชาการ-เอ็นจีโอ เดินหน้าสกัดฮุบสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์ระดม บก.หารือ


 


พรรคฝ่ายค้านหยิบยกกรณีบริษัทจีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด(มหาชน) พยายามเข้าครอบงำกิจการบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) และบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน) ด้วยการซื้อหุ้นกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นมาเป็นประเด็นในการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาทางแก้ไขป้องกันนายทุนเข้าครอบงำหรือซื้อสื่อ รวมทั้งหามาตรการแก้ไขกฎหมายบางฉบับหรือออกกฎหมายใหม่


 


ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน พรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงให้รัฐบาลนำ พ.ร.บ.ป้องกันการผูกขาดในตลาดมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยออกกฎกระทรวงหรือออกระเบียบใดๆ ให้กฎหมายบังคับใช้ได้ ยังปล่อยให้มีการผูกขาดในตลาดในหลายๆ ธุรกิจ


 


ส่วนพรรคชาติไทยนั้นประกาศจะร่วมกับภาคประชาสังคม และผู้ประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชน เพื่อร่วมกันยกร่างกติกา หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในคุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้านการรับรู้ข่าวสาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนไม่ถูกละเมิด


 


ขณะที่องค์กรภาคประชาชนและนักวิชาการ ยังแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องโดยจะมีการจัดสัมมนาเรื่องของการป้องกันการครอบงำสื่อและการคุ้มครองเสรีภาพของสื่อ ส่วนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะระดมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เพื่อหารือในเรื่องนี้เช่นกัน


 


**"อภิสิทธิ์"ลุ้นหาช่องป้อง"ฮุบ"สื่อ


 


นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า แม้ความพยายามของกลุ่มบริษัทแกรมมี่ในการฮุบหนังสือพิมพ์มติชนจะยุติลงแล้ว แต่พรรคประชาธิปัตย์มองว่าการต่อสู้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเพราะเชื่อว่าความพยายามครอบครองสื่อคงจะไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ และนับจากนี้ไปรูปแบบที่จะเข้าไปซื้อกิจการสื่อสารมวลชนที่เป็นเอกชนอิสระต่างๆ จะมีความแยบยลมากขึ้น ซึ่งเป็นความยากลำบากของสื่อและประชาชนที่จะปกป้องตัวเอง ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของพรรคในวันที่ 20 กันยายนนี้ เพื่อจะหาทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้นายทุนเข้ามาครอบงำสื่อหรือซื้อสื่อได้ และหาทางป้องกันการแทรกแซงสื่อระดับต่างๆ โดยจะมีมาตรการออกมา อาจเป็นมาตรการการแก้ไขกฎหมายบางฉบับ หรือการออกกฎหมายใหม่มาบังคับใช้ เพื่อไม่ให้กลุ่มนายทุนเข้าไปแทรกแซงหรือซื้อกิจการได้โดยง่าย


 


**ชี้เป้าครอบสื่อหวังปิดกั้นสอบโกง


 


"พรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเป็นความพยายามของกลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ร่วมกันทางธุรกิจและการเมืองที่ต้องการเข้าไปครอบงำเพื่อจะได้มีอิทธิพลเหนือการทำงานสื่อสารมวลชน และใช้อำนาจให้สื่อทำงานตอบสนองความต้องการของตนเอง โดยเป้าหมายต้องการทำให้การตรวจสอบการทุจริตเป็นหมันทำให้การตรวจสอบทุจริตเป็นไปอย่างลำบากมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาสื่อทำหน้าที่เข้มแข็งในการตรวจสอบทุจริตของรัฐบาลชุดนี้" นายองอาจกล่าว


 


โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรนำ พ.ร.บ.ป้องกันการผูกขาดในตลาดมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะตั้งแต่มี พ.ร.บ.นี้ รัฐบาลกลับไม่เคยออกกฎกระทรวง หรือออกระเบียบใดๆ ให้กฎหมายบังคับใช้ได้ ยังปล่อยให้มีการผูกขาดในตลาดในหลายๆ ธุรกิจ


 


**ระบุรูปแบบน่ากลัวขั้นทำลายล้าง


 


นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้กรณีฮุบมติชนจะคลี่คลายลงไประดับหนึ่งแล้ว แต่สถานการณ์การคุกคามสื่อมวลชนหรือความพยายามที่จะเข้ามาควบคุมการทำหน้าที่อย่างอิสระสื่อมวลชนยังดำรงอยู่และนับวันจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ พรรคประชาธิปัตย์มีความห่วงใยในประเด็นนี้อย่างมาก จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนผู้รักในสิทธิเสรีภาพช่วยกันตรวจสอบ และจับตามองปัญหานี้อย่างใกล้ชิดต่อไป


 


นายอภิชาตกล่าวว่า การควบคุมสื่อมวลชนในวันนี้ได้พัฒนามาถึงรูปแบบที่น่ากลัวคือถึงขั้นของการทำลายล้างแล้ว ทั้งนี้ การควบคุมสื่อในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับเริ่มจากการเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ ผ่านทางผู้บริหารกองบรรณาธิการหรือใช้สถานะความเป็นเจ้าของสื่อกำหนดบทบาทและทิศทางในการเสนอเนื้อหาที่ไม่กระทบกับอำนาจรัฐ เมื่อยังควบคุมไม่ได้ก็ยกระดับสู่ขั้นที่สอง คือการครอบงำ โดยผ่านทางการกล่อมเกลาความคิดให้ยอมรับว่าอำนาจรัฐทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง รวมถึงใช้วิธีเสนอผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อดึงคนในวงการสื่อบางคน บางประเภทเข้ามาเป็นพวก


 


ส่วนขั้นที่สาม คือการกดดัน ด้วยการใช้เงื่อนไขทางกฎหมาย เช่น กรณี พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่พร้อมจะหยิบมาใช้กับสื่อมวลชนเมื่อใดก็ได้ การใช้วิธีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วยเงินจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ ยังมีการต่อรองด้วยเรื่องงบฯโฆษณาทั้งจากโฆษณาหน่วยงานของรัฐ หรือโฆษณาจากบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเสนอหรือไม่เสนอข่าวบางข่าว


 


**เตือนสื่อแนวกีฬาระวังเช็คบิล


 


นายอภิชาตกล่าวว่า เมื่อใช้ความพยายามทั้งสามระดับแล้วยังไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในกรอบที่ต้องการได้ วันนี้จึงได้เห็นวิธีการที่แยบยล และสลับซับซ้อนมากขึ้น อย่างเช่น การเข้ามายึดครองด้วยอำนาจทุนผ่านกลไกตลาดหลักทรัพย์ การใช้กลไกอำนาจรัฐเข้าไปคุกคามตรวจสอบทรัพย์สิน การบีบบังคับให้กลุ่มทุนยุติการให้เงินสนับสนุนในการทำธุรกิจ เพื่อหวังให้สื่อมวลชนต้องยุติบทบาทที่เคยดำเนินมา หรือเลิกทำงานสื่อสารมวลชนไปเลย ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมาตลอด


 


"น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเขม็งเกลียวมากขึ้น ระดับของการทำลายล้างสื่อ จะรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิตกันหรือไม่" นายอภิชาตกล่าว และว่า ทุกค่ายหนังสือพิมพ์วันนี้ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการถูกรุกคืบทำลายล้างทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะแต่หนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจ การเมืองเท่านั้น แม้แต่แนวกีฬา มีข่าวทางลึกว่ากำลังจะถูกเช็คบิลเช่นกัน


 


**"มาร์ค"ชี้ถอดรายการ"สนธิ"ขัดรธน.


 


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์จัดโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการว่า หากจำไม่ผิด ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ถอดรายการออกจากผังรายการโทรทัศน์ใช้เหตุผลเรื่องเนื้อหา ที่ผ่านมา จะใช้เหตุผลเรื่องการปรับโครงสร้างผังรายการ หรือใช้เหตุผลอื่น การใช้เหตุผลเรื่องเนื้อหาจะเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 ที่บัญญัติไว้ว่า พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ


 


**สงสัย"อสมท"ปล่อย"สมัคร"จ้อ


 


ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ อสมท ถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่ารัฐบาลใช้อำนาจแฝงผ่าน อสมท เพื่อกำจัดคนที่คิดตรงข้ามกับรัฐบาล หรือกำจัดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นวิธีการใช้อำนาจแฝงผ่านองค์กรที่รัฐบาลมีอำนาจในองค์กรนั้น อย่างไรก็ตามการที่ อสมท ใช้ 2 เหตุผลหลักมาอ้างในการปลดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ โดยระบุว่าก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และรายการเมืองไทยรายสัปดาห์มีการกล่าวอ้างถึงบุคคลภายนอก โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงนั้น อยากถามกลับ อสมท ว่าเหตุใดจึงไม่มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับรายการ "คิดรายวัน" ที่ดำเนินรายการโดยนายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ ที่ออกอากาศเวลา 11.00 น.ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ซึ่งมีพฤติกรรมในการกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์พาดพิงบุคคลอื่นๆ อยู่เสมอ และไม่เคยให้บุคคลอื่นที่ถูกพาดพิงได้ชี้แจง รวมทั้งยังพูดในประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เช่น การแก้ไขปัญหาภาคใต้


 


**ฉะอำนาจรัฐขจัดคนคิดตรงข้าม


 


รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนและประชาชนจับตามองทิศทางของรัฐบาลชุดนี้ในอนาคต เพราะจะมีการใช้อำนาจแฝงเช่นนี้เรื่อยๆ ทั้งในองค์กรต่างๆ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทมหาชนที่รัฐบาลมีหุ้น ซึ่งวิธีการคือตั้งคนตัวเองเข้าไปให้มีอำนาจตัดสินใจ และบอกประชาชนว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องขององค์กรนั้นๆ เหมือนกรณีซื้อหุ้นของมติชน เชื่อว่าต่อไปการใช้อำนาจเช่นนี้จะมีมากขึ้นเพื่อขจัดคนที่คิดตรงข้ามกับรัฐบาลและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นอกจากนี้รัฐบาลยังเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตนเอง โดยการตั้งคนของตัวเองเข้าไปรับเงินเดือนสูงมากในองค์กรที่รัฐบาลมีอำนาจ เช่น รัฐบาลตั้งคนเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัททีพีไอ โดยตั้งเงินเดือนสูงถึง 2 ล้านบาท แต่การดำเนินการใดๆ ในองค์กรนั้นๆ เน้นหนักการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง


 


**ชท.ร่วมจี้"รบ."คุ้มครองสื่อ


 


ที่พรรคชาติไทย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แถลงถึงกรณีบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด(มหาชน) เข้าซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) และบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน) และกลุ่มทุนเข้าซื้อหุ้นในกิจการสื่อมวลชนอื่นๆ เช่น ไอทีวี เดอะเนชั่น ว่า กรณีเหล่านี้เป็นการกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมไทยตื่น เพราะจากการศึกษาและติดตามงานวิจัยของนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการ ที่เขียนในหนังสือชื่อสื่อมวลชนบนเส้นทางทุนนิยมระบุเมื่อมีกลุ่มทุนเข้ามาครอบงำด้านสื่อมวลชนจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับรู้ข่าวสารที่เที่ยงตรง ดังนั้น ประชาชนต้องรวมตัวกัน เพื่อสร้างสถาบันประชาสังคมให้แข็งแรงและเพื่อป้องกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง


 


**จับมือองค์กรสื่อออกกฎกติกา


 


นายวีระศักดิ์กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 41, 50 และ 87 ระบุชัดเจนว่า กิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเจ้าของกิจการและข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้างย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพ รวมทั้งบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการและอาชีพ และแข่งขันโดยเสรีภาพและเป็นธรรม อีกทั้งรัฐต้องสนับสนุนในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ต้องดูแลให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมถึงป้องกันการผูกขาดและการตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม และเข้าไปยกเลิกธุรกิจที่ไม่สอดคล้องและไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม


 


"สำหรับเรื่องนี้รัฐต้องแสดงความชัดเจน ไม่ใช่ออกมาระบุเพียงว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ พรรคชาติไทยจะร่วมกับภาคประชาสังคม และผู้ประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชน เพื่อร่วมกันยกร่างกติกา หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในคุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้านการรับรู้ข่าวสาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนถูกละเมิด" นายวีระศักดิ์กล่าว


 


**ภาพลักษณ์ไทยเลวร้ายกว่าพม่า


 


นายไพศาล พรมยงค์ กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) กล่าวว่า ความพยายามในการเข้าครอบงำมติชนครั้งนี้จะเห็นว่าทุกอย่างซื้อได้ด้วยเงินเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เชื่อว่ากระบวนการนี้จะไม่หยุดนิ่งแน่ กระบวนการบีบรัดในรูปแบบทางเทคนิคหลังจากนี้จะมีตามมาทั้งในรูปแบบการใช้อำนาจ จึงขอให้มติชนคอยตั้งรับ รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ด้วย เชื่อว่าหลังจากเหตุการณ์นี้จะไม่มาแบบทางเดียว จะมีเรื่องอื่นๆ เข้ามาครอบงำ เกี่ยวไม่เกี่ยวโยงเข้ามาทุกเรื่อง คุณธรรมและความเข้มแข็งจะเป็นเกราะในการต่อสู้


 


นายไพศาลกล่าววว่า ภาพลักษณ์ของประเทศเวลานี้ในสายตาชาวโลก ไม่ว่าจะเรื่องการแทรกแซงสื่อ ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ท่าทีแข็งกร้าวกับสหประชาชาติและกรณีล่าสุดที่คณะกรรมการบริหาร อสมท สั่งถอนผังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการไม่ต่างอะไรกับพม่า เลวร้ายกว่าด้วยซ้ำตรงที่เผด็จการพม่าไม่มีความชอบธรรม แต่เผด็จการที่เห็นกันอยู่เวลานี้อ้างความชอบธรรมได้


 


**รุกสอบ"ไทยพาณิชย์"ปล่อยกู้


 


นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และนักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ปรากฏการณ์ยึดครองกิจการของสื่อสารมวลชนคือ หนังสือพิมพ์มติชนและบางกอกโพสต์นั้นมีข้อน่าพิศวงว่า กลุ่มทุนเหล่านี้มีเงินมาซื้อหุ้นเพื่อครอบงำกิจการเป็นจำนวนมากถึงกว่า 3 พันล้านบาท ในจำนวนนั้นได้กู้มาจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งถึง 2,200 ล้านบาท


 


นายสมเกียรติกล่าวว่า วงการของวุฒิสภาและภาคประชาชนให้ความสงสัยธนาคารไทยพาณิชย์มาก ว่า ทำไมถึงปล่อยกู้ไปโดยง่ายดายถึง 2,200 ล้านบาท ทั้งๆ ที่บทเรียนของธนาคารกรุงไทยที่เคยปล่อยเงินกู้ให้แก่นายทุนประมาณ 10 กลุ่ม ทำให้เกิดหนี้เน่าประมาณ 4 หมื่นกว่าล้าน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาตรวจสอบ ปรากฏการณ์ในกรุงเทพฯและหัวเมืองโดยเฉพาะสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบความเหมาะสม หรือความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารพาณิชย์แห่งนี้ให้เงินกู้แก่บริษัทจีเอ็มเอ็ม มีเดียไปทั้งหมด 2,200 ล้านบาท


 


**เรียกร้องแจงเหตุผลต่อสาธารณะ


 


"มีข้อเรียกร้องให้ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยโครงการการขอเงินกู้และหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันว่า ธนาคารใช้เหตุผลอะไร เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากธนาคารเป็นบริษัทมหาชน ประชาชนผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะใช้ระบบธรรมาภิบาล เพื่อไม่ให้เกิดบทเรียนซ้ำอีก โดยเฉพาะการล้มของธนาคารและสถาบันการเงินเมื่อปี 2540 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติเป็นเงินมหาศาลถึง 14 แสนล้านบาท" นายสมเกียรติกล่าว


 


นายสมเกียรติกล่าวว่า อยากขอร้องนายทุนกลุ่มนี้ว่า ขอเหลืออำนาจให้กับประชาชนไว้สักเรื่อง คือ อำนาจของสื่อมวลชนของประชาชนที่จะคอยเป็นปากเสียงและคอยตรวจสอบรัฐบาล ถ้าไม่มีเครื่องมือนี้ประชาชนจะอ่อนเปลี้ย ระบบการเมืองจะนำไปสู่วงจรอุบาทว์ อาจจะก่อให้เกิดการรวมกลุ่มใช้พลังอำนาจพิเศษขับไล่รัฐบาลออกไปได้เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯและพฤษภาทมิฬ


 


**"ทรท."ซัด"ปชป."คุกคามสื่อ


 


ที่พรรคไทยรักไทย อาคารไอเอฟซีที นายจตุพร พรหมพันธุ์ รองโฆษกพรรคไทยรักไทย แถลงตอบโต้กรณีนายอภิสิทธิ์กล่าวในระหว่างสัมมนาภาคอีสานที่ จ.อุบลราชธานี ระบุรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ปิดกั้นสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า ขณะนี้ประชาชนและสังคมเกิดความรู้สึกอึดอัดเพราะรัฐและอำนาจทุนกำลังบีบรัดการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระของประชาชน "พรรคประชาธิปัตย์คงลืมไปแล้วว่าในยุคที่เป็นรัฐบาล มีเหตุการณ์ทุบตีสื่อมวลชนที่ลานพระรูปทรงม้า และใช้กำลังบุกทุบแท่นพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์คุกคามสื่อและบีบรัดสื่อโดยตรง แต่วันนี้มีเพียงข้อกล่าวหา ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะไม่ว่าจะเป็น พรรคประชาธิปัตย์ องค์กรประชาธิปไตย มวลชนและประชาชน สามารถจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่คิดว่าน่าจะเป็นความอึดอัดของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าที่จะต้องฝ่ายค้านยาวนานถึงสองสมัย" นายจตุพรกล่าว


 


**ครป.ห่วงอำนาจครอบสื่อ


 


นายพิทยา ว่องกุล ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) แถลงว่า ปัจจุบันระบบการเมืองที่อยู่ภายใต้ระบอบทักษิณ โดยรวบอำนาจผูกขาดทั้งอำนาจการเมืองผ่านระบบรัฐสภา อำนาจทางเศรษฐกิจที่เชื่อมกับทุนผูกขาดในกระแสโลกาภิวัตน์ อำนาจทางการสื่อสารและโทรคมนาคม ที่ครอบงำความคิด และการรับรู้ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแทรกแซง และปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอิสระของสื่อมวลชน เช่น กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ก้าวเข้ามามีอำนาจในธุรกิจสื่อ ไอทีวี หนังสือพิมพ์เครือเนชั่น แนวหน้า บางกอกโพสต์ ไทยโพสต์ และมติชน หลายกรณีมีเงื่อนงำ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสยบให้สื่อมวลชนยอมศิโรราบต่อการดำเนินการของรัฐภายใต้ระบอบทักษิณ โดยไม่สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ และทุนที่ครอบงำรัฐได้อีกต่อไป


 


"ที่ประชุมสมัชชา ครป.วิตกกังวลและมีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์สังคมการเมืองที่มีลักษณะย้อนกลับและถดถอยแทนที่จะพัฒนาก้าวไป" นายพิทยากล่าว


 


**ไม่เชื่อ"แกรมมี่"ยุติบทบาท


 


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า กรณีกลุ่มทุนเครือแกรมมี่พยายามเข้ามาไล่ซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน และโพสต์ แม้ว่าจะได้ข้อยุติในระดับหนึ่งจากการที่ทางผู้บริหารบริษัทแกรมมี่ขายหุ้นทิ้ง 10% และคงไว้เพียง 20% ครป.เห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการปรับกลยุทธ์ของกลุ่มทุนผูกขาดที่พยายามหลบเลี่ยงกระแสต่อต้านจากพลังทางสังคม มิใช่การยอมแพ้ ในขณะเดียวกันมิใช่ชัยชนะที่แท้จริงของพลังทางสังคม เพราะกลุ่มทุนธุรกิจการเมือง ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ควบรวมอำนาจธุรกิจ อำนาจการเมืองและอำนาจสื่อเข้าไว้ด้วยกันหรือที่เรียกว่า "ชินวัตรโมเดล" มาก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่กรณีการเทคโอเวอร์ไอทีวี กรณีการประกาศอิทธิพลของกลุ่มทุนในหนังสือบางกอกโพสต์ กรณีบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นฟ้อง เรียกค่าเสียหายกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) 400 ล้านบาท


 


"ผมไม่เชื่อว่าแกรมมี่จะยุติบทบาทกับการเจรจาขายหุ้นคือเพียงเท่านี้ แต่เชื่อว่าจะมีการใช้กลุ่มทุนพันธมิตรเข้าไปซื้อหุ้นแทน เหมือนกรณีเนชั่น และในที่สุดจะส่งคนเข้ามาแทรกแซงในกองบรรณาธิการจึงไม่ต้องการให้มองว่านี่เป็นชัยชนะของใคร เพราะเชื่อว่านี่เป็นเพียงการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเท่านั้น และอีกไม่นานกลุ่มทุนนี้จะกลับมาใหม่ซึ่งเราก็ไม่ควรลืม" นายสุริยะใสกล่าว และว่า ครป.ขอประณามการดำเนินการที่ปิดกั้นการรับรู้ของประชาชนโดยผู้มีอำนาจ ถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ


 


**สภา"น.ส.พ."เชิญบก.หารือสกัดฮุบ


 


นายชวรงค์ ลิมปัทมปานี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในเร็วๆ นี้สภาการหนังสือพิมพ์ฯจะระดมบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ร่วมหารือถึงแนวทางการปกป้องเสรีภาพสื่อเนื่องจากขณะนี้มีกระแสธุรกิจการเมืองพยายามเข้าครอบงำกิจการสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งหารือถึงแนวทางการพัฒนาทางด้านจริยธรรมเนื่องจากปรากฏการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า สังคมคาดหวังกับวิชาชีพหนังสือพิมพ์อย่างมาก


 


ทางด้านคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) จัดเสวนาในหัวข้อ "ผ่าทางตันธุรกิจการเมือง บ่อนทำลายเสรีภาพประชาชน" ณ คณะวารสารฯ มธ. ท่าพระจันทร์ ในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2548 เวลา 13.30-16.00 น. ณ ห้อง วส.101


 


ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ส.ว.นครราชสีมา นายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กทม. เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ ส.ว.อุบลราชธานี ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน รศ.ดร.สุรัตน์ เมธีกุล ประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ผศ.ธนัญญา เชรษฐา คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ.


 


**จุฬาฯจัดเวทีสัมมนาเสรีสื่อ


 


ขณะที่ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดสัมมนาเรื่อง "เสรีสื่อ : เสรีประชาชน" ในวันอังคารที่ 20 กันยายน 2548 ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 13.00-17.00 น. ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางรสนา โตสิตระกูล เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น และนายพิทยา ว่องกุล โครงการปฏิรูปสื่อ และผู้แทนหนังสือพิมพ์มติชน


 


ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ เสนอแนวทางปัองกันกลุ่มทุนครอบครองกิจการสื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ว่า องค์กรสื่อน่าจะระดมจัดตั้งกองทุนนอกตลาดขึ้นมาเพื่อสกัดไม่ให้กลุ่มทุนกว้านซื้อหุ้นในสัดส่วนมากๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net