Skip to main content
sharethis

 ยุทธศาสตร์การกำหนดสถานะ  โดยกำหนดกรอบการพิจารณากำหนดสถานะให้แก่บุคคลที่มีปัญหาในเรื่องสถานะและสิทธิ  โดยการทำสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรเพื่อให้ทราบที่มาและสภานะการดำรงอยู่ของคนกลุ่มนี้  ทั้งยังมีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณากลั่นกรองคำร้องขออนุมัติสถานะ  โดยลดกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาที่ซ้ำซ้อนลง


ทั้งนี้  กำหนดกรอบการพิจารณากำหนดสถานะให้แก่บุคคลที่มีปัญหาในเรื่องสถานะและสิทธิ ดังนี้



1.กรณีบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศ


1) ดำเนินการแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุคคลที่มีเชื้อสายไทยที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้  ตามหลักเกณฑ์ที่ราชการกำหนด


2)ให้สัญชาติไทยแก่บุตรที่เกิดในประเทศไทยของคนต่างด้าวตามข้อ 1) ที่ได้รับแปลงสัญชาติเป็นไทยหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้สืบสายโลหิตของบุคคลดังกล่าว


3)ให้สถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี  จนกลมกลืนกับสังคมไทยและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง  หรือไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดๆ กับประเทศต้นทางตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด


4)ให้สัญชาติไทยแก่บุตรของคนต่างด้าวตามข้อ 3) ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด



2.กรณีเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย


1)ให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดหรืออาศัยอยู่ในประเทศและจบการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย  ทั้งนี้กระบวนการให้สัญชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย


2)สำหรับเด็กที่ยังไม่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้นำเข้าสู่กระบวน  การพิจารณากำหนดสถานะตามข้อ 1)



3.กรณีบุคคลที่ไร้รากเหง้า


ให้สัญชาติไทยแก่บุคคลดังต่อไปนี้


1)บุคคลที่ขาดบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์และมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนของทางราชการและอาศัยอยู่ในประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี  จนกลมกลืนกับสังคมไทยและมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด


2)บุคคลที่ขาดบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่ได้รับสถานะเป็นบุตรบุญธรรมตามคำสั่งของศาล  เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย



4.กรณีบุคคลที่มีคุณประโยชน์แต่ประเทศชาติ


ให้สัญชาติไทยแก่บุคคลซึ่งมีผลงานหรือความรู้  ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ  ในด้านการศึกษา  ศิลปวัฒนธรรม  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   และการกีฬา  รวมทั้งด้านอื่นๆ ซึ่งรัฐมนตรีมหาดไทยเห็นสมควร



5.กรณีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า  ลาว  และกัมพูชา  ที่ได้รับการจดทะเบียนแต่ไม่สามารถเดินทางกลับได้เนื่องจากประเทศต้นทางไม่ยอมรับ  ให้ได้รับสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศชั่วคราว  และเข้าสู้กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะตามข้อ 1.-4. หากไม่สามารถกำหนดสถานะได้ให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาสถานะโดยกำหนให้มีคณะอนุกรรมการซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ  ภาควิชาการ  และภาคประชาชนพิจารณากำหนดแนวทางการให้สภานะที่เหมาะสมตามมาตรการระยะยาวแนวท้ายยุทธศาสตร์นี้



6.กรณีคนต่างด้าวอื่นๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติตามข้อ 1.-5. และ/ไม่ สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง  ให้ดำเนินการต่อไปนี้


1)ให้สิทธิการอาศัยอยู่ชั่วคราวแก่แก่กลุ่มคนต่างด้าวทั้งในส่วนที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว  และที่จะมีการสำรวจจดทะเบียนเพิ่มเติม  ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในการขอรับสถานะตามหลักเกณฑ์ข้างต้นดังกล่าว  และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้  โดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง


2)กำหนดให้คณะอนุกรรมการ  ซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ  ภาควิชาการ  และภาคประชาชน  พิจารณากำหนดแนวทางให้สถานะที่เหมาะสมดังปรากฏตามมาตรการระยะยาวแนวท้ายยุทธศาสตร์  เช่นเดียวกับกรณีในข้อ 5.


 


**ข้อมูลจากเอกสารประกอบการประชุมเรื่อง  "ยุทธศาสตร์และแนวปฏิบัติในการสำรวจบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน"  จัดทำโดย  ศูนย์สังคมพัฒนาฯ ราชบุรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net